วันอาทิตย์ ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 16:27 น.

ภูมิภาค

ชวนกราบไหว้บูชาพระแก้วบุษราคัม พระพุทธรูปคู่บ้านเมือง จ.อุบลฯ ที่วัดศรีอุบลรัตนาราม

วันอังคาร ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2564, 19.03 น.
วัดศรีอุบลรัตนาราม หรือวัดศรีทอง  เป็นวัดสายธรรมยุต สร้างเมื่อปี พ.ศ.2398 สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงปีนี้ก็มีอายุกว่า 150 ปี ตั้งอยู่ที่  129  ถนนอุปราช  ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง  จังหวัดอุบลราชธานี สถานที่ตั้งวัด  เดิมเป็นสวนของท่านอุปฮาดโท (ต้นตระกูล  ณ  อุบล)  ซึ่งท่านเป็นพระบิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) ซึ่งเป็นกรมการเมืองอุบลราชธานี  และมีจิตศรัทธาอันแรงกล้าบริจาคสวน  มีเนื้อที่ประมาณ  25  ไร่  พระราชทานยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่  30  สิงหาคม  พ.ศ.  2522 หลังจากนั้นวัดก็ได้พระราชทานผ้ากฐินเป็นประจำทุกปี  พระเทวธัมมี (ม้าว)  เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก  (ซึ่งท่านเป็นลัทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ 4  เมื่อครั้งทรงผนวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร)  และท่านได้นำประชาชนสร้างโบสถ์หลังแรกสำเร็จ  และได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาเป็นสำนักอุปสมบทของพระภิกษุ สามเณรทั่วไปโดยเฉพาะผู้ที่อุปสมบทในอุโบสถหลังนี้เป็นครั้งแรก  ซึ่งถือเป็นนาคชัยมีอยู่  4  รูป  คือ  1. ท่านเจ้าคุณพระอริยกวี (อ่อน) 2.  พระอาจารย์สีทา  ส่วนรูปที่ 3 และรูปที่ 4  ไม่สามารถหาหลักฐานชัดเจนได้  ต่อมาได้เป็นที่บรรพชาอุปสมบทของท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจน.โท  จันทร์) และท่านธม.มธโร (แสง) 
 
ในสมัยนั้นมีพระเถระที่สำคัญมาประจำอยู่ที่ วัดสุปัฏนาราม  2  รูป  คือ  ท่านพันธุโล (ดี) และท่านเทวธัมมี (ม้าว) พระอุปฮาดโทพร้อมด้วยบริวารและคณะญาติได้ประกอบพิธีกรรมประชุมคณะสงฆ์  และฝ่ายคฤหัสถ์ผู้ใหญ่ในเมืองอุบลราชธานี  มีการกล่าวถวายที่ดินต่อหน้า พระเถระยกให้เป็นสมบัติในพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่ตั้งวัด  ในยามราตรีกาลของวันนั้นเกิดนิมิตประหลาดขึ้น คือ มีแสงสว่างพวยพุ่งขึ้นเป็นสีเหลืองทองภายในบริเวณสวนนั้น  จึงได้ถือนิมิตมงคลนี้ตั้งชื่อ“วัดศรีทอง” 
 
 
บรรดาพระเถระผู้ใหญ่ที่มีชื่อเสียงเกียรติคุณทั้งฝ่ายคันถธุระและวิปัสสนาธุระ  ซึ่งได้บรรพาชา  อุปสมบทในอุโบสถ์หลังเดิมนี้  ที่ควรนำมากล่าวไว้ในที่นี้คือ  สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติส.โส อ้วน), พระอาจารย์สีทา ชยเสโน, พระอาจารย์เสาร์ กน.ตสีโล, พระอาจารย์มั่น  ภูริทต.โต,  พระสังฆรักขิต (พูน),  พระราชมุนี (ศรี), พระศาสนดิลก (ชิตเสโน  เสน),  พระปราจีนมุนี  (จน.ทูปโม  เพ็ง),  พระธรรมเสนานี (เงิน),  พระปัญญาพิศาลเถระ (หนู),  พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์)  เป็นต้น 
 
วัดศรีอุบลรัตนาราม  มีพระอุโบสถหลังปัจจุบันงดงามมาก ซึ่งได้ถอดแบบจำลองมาจากพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม  กรุงเทพมหานคร ซึ่งการก่อสร้างอุโบสถหลังปัจจุบัน  ได้รับบริจาคทรัพย์จากท่านผู้หญิงตุ่น  โกศัลวิตร  และได้รับการสนับสนุนด้วยดีจากสมเด็จพระสังฆราชทั้ง  2  องค์  ในสมัยนั้นคือ  สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) วัดสระเกศ  เป็นองค์ผูกดวงประทานฤกษ์  และสมเด็จพระสังฆราช จวน  อุฏฐายีมหาเถระ  เมื่อครั้งดำรงยศเป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นองค์วางศิลากฤษ์  เมื่อวันที่  3  มิถุนายน  2508  และทรงเป็น ประธานสงฆ์ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาผูกพัทธสีมาอุโบสถ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2511 และในพิธีฉลองสมโภชฝังลูกนิมิตและยกช่อฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ  ได้เสด็จมาทรงประกอบพิธีดังกล่าวในวันที่  29  มีนาคม  2511  ทั้งทูลถวายอุโบสถหลังนี้ให้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเปลี่ยนชื่อวัดเป็น “วัดศรีอุบลรัตนาราม” 
 
 
นอกจากนี้ วัดศรีอุบลรัตนารามยังเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัม พระพุทธรูปคู่บ้านเมือง ที่มีมาก่อนตั้งเมืองอุบลราชธานี สำหรับพระแก้วบุษราคัม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปกรรมสมัยเชียงแสน แกะสลักจากแก้วบุษราคัม ขนาดหน้าตักกว้าง 3 นิ้ว สูง 5 นิ้ว เป็นสมบัติของเจ้าปางคำ ราชวงศ์จากเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า ที่แตกหนีพวกฮ่อมาจากเมืองเชียงรุ้ง และมาสร้างเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (จ.หนองบัวลำภู)  การมีพระแก้วบุษราคัมมีความเกี่ยวเนื่องกับพระแก้วมรกต เนื่องด้วยสมัยพระเจ้าพรหมมหาราช แห่งโยนกเชียงแสนนครเงินยาง มีพระแก้วมรกตไว้ในพระนคร ทำให้เจ้านายตามเมืองต่างๆ แสวงหาแก้วมณีมีค่ามาสร้างเป็นพระพุทธปฏิมากรไว้ในนคร เพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาที่ประกอบด้วยแก้ว 3 ประการ คือ พระพุทธรัตนะ, พระธรรมรัตนะ และพระสังฆรัตนะ  ดังนั้น ในดินแดนสิบสองปันนา ล้านนา ล้านช้าง ซึ่งมีลำธารที่อุดมด้วยรัตนชาติหลากสี จึงมีพระพุทธรูปสร้างด้วยแก้วมณี อาทิ พระเสตังคมณี นครลำปาง, พระแก้วขาว นครเชียงใหม่ และพระแก้วสีเหลืองที่เรียกว่า พระแก้วบุษราคัม 
 
ต่อมาพระแก้วบุษราคัมได้ตกทอดมาถึงพระเจ้าตาผู้เป็นลูกเจ้าปางคำ และปี พ.ศ.2314 นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานถูกเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ยกทัพมาตี พระเจ้าตาถึงอสัญกรรมในสนามรบ เจ้าพระวอ และท้าวคำผง จึงอพยพหนีศึกมาสร้างบ้านที่บ้านดอนมดแดง จ.อุบลราชธานี พร้อมอัญเชิญพระแก้วบุษราคัมมาด้วย และขออยู่ในขันธสีมาเจ้ากรุงธนบุรี โดยสร้างวัดหลวงใช้ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัม 
 
 
จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปการปกครอง ได้มีการส่งข้าหลวงมากำกับดูแลงานตามหัวเมือง ทำให้เจ้าราชบุตรหนูคำ เจ้าเมืองสมัยนั้น เกรงว่าข้าหลวงจะแสวงหาของสำคัญของบ้านเมืองไปเป็นของตน จึงนำพระแก้วบุษราคัมออกจากวัดหลวงไปซ่อนไว้ที่บ้านวังกางฮุง (ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านอยู่ใน อ.วารินชำราบ) 
 
กระทั่งพระอุปฮาชโท  สร้างวัดศรีอุบลรัตนาราม   มีญาท่านเทวธัมมี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ความเคารพนับถือ เป็นเจ้าอาวาส พระอุปฮาชโทจึงไปอัญเชิญพระแก้วบุษราคัมมาถวายเป็นพระพุทธปฏิมาประดิษฐานประจำวัดศรีอุบลรัตนาราม  พระแก้วบุษราคัมจึงได้ถูกอัญเชิญกลับเข้าเมืองอีกครั้ง และในอดีตจะให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชาเพียงปีละครั้ง ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อความสะดวกในการดูแลรักษาความปลอดภัยองค์พระแก้วบุษราคัม 
 
ในปัจจุบัน วัดศรีอุบลรัตนาราม  ได้เปิดให้พุทธศาสนิกชนเข้าไปกราบนมัสการพระแก้วบุษราคัมได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา  08.00-17.00 น.   ดังนั้นหากสาธุชนท่านใดมีโอกาสไปเที่ยวจังหวัดอุบลราชธานี อย่าลืมแวะไปชมความงดงามของอุโบสถภายในวัดวัดศรีอุบลรัตนาราม  ซึ่งถอดแบบมาจากพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนา  พร้อมกับกราบไหว้ขอพรจากพระแก้วบุษราคัม เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองตลอดไป. 
 

หน้าแรก » ภูมิภาค