วันเสาร์ ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 14:40 น.

ภูมิภาค

สืบสาน "ตะคันดินเผา" พุทธบูชาเสริมรายได้สร้างงานให้ครอบครัว

วันพฤหัสบดี ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2564, 20.10 น.
“ตะคัน” หรือ “ตะคันดินเผา” มีลักษณะคล้ายจานขนาดเล็กที่ทำมาจากดินโดยการนำไปปั้นให้เป็นรูปทรงแล้วนำไปเผา บางบ้านใช้สำหรับวางเทียนอบ วางกำยาน แต่บางบ้านก็นำตะคันมาใส่น้ำมันหรือเทียนขี้ผึ้งและใส่ไส้เส้นด้ายใช้เพื่อจุดไฟ ซึ่งจะพบเห็นในอดีตหรืออาจจะยังมีบ้างในชนบทที่หลงเหลือใช้งานในปัจจุบัน 
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บ้านตะคัน คุณจูคุณจิต ณ ชุมชนบ้านใหม่ตะพังทอง ที่บ้านเลขที่ 633/3 หมู่ 3 ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.สุโขทัย เป็นแหล่งผลิตตะคันดินเผา โดยมีคุณชัยรัตน์  ภุมราเศวต หรือ ลุงจู อายุ 59 ปี บอกเล่าให้ฟังว่า ตะคันดินเผา ปกติตนเองจะทำขายในช่วงงานประเพณีลอยกระเผาเทียนเล่นไฟของจังหวัดสุโขทัยเท่านั้น ซึ่งทำขึ้นมาเพียงน้อย ๆ แต่พอนับวันนานขึ้นก็เป็นที่รู้จักและเรื่องของราคาที่ไม่แพง จึงเริ่มมีลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ มีลูกค้าที่สั่งทำเพื่อนำไปตกแต่งสถานที่ อาทิ รีสอร์ท โรงแรม ร้านกาแฟ หรือ นำไปประกอบการแสดงร่ายรำก็มี ลูกค้าของตนเองจะมีทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด โดยตนเองขายไม่แพงเริ่มต้นที่ราคา 5 – 30 บาท สำหรับตะคันใหญ่ที่ราคา 30 บาท จะจุดได้นาน 5 – 6 ชั่วโมง ตนเองประกอบอาชีพนี้มาได้เกือบ 7 ปี จนกระทั่งหน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุนเปิดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้บ้านตะคัน” โดยจะมีนักเรียนเข้ามาเรียนรู้การทำตะคันดินเผากันมากมาย ตนเองรู้สึกภูมิใจได้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้จังหวัดสุโขทัยต่อการสืบสานการทำตะคันดินเผา และ บ้านตะคันของตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความสวยงามให้กับงานลอยกระทงสุโขทัยมาทุกปี หากจะว่าไปของดีเมืองสุโขทัยก็มีเยอะ ตนเองก็ได้สั่งถ้วยตะคันดินเผาจาก ต.ทุ่งหลวง อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย ทำให้กระจายรายได้ทั่วถึงกัน พอถึงช่วงเทศกาลงานประเพณีก็จะลูกค้าสั่งตะคันกันล้นหลาม ทำให้มีรายได้ในแต่ละปีเกือบ 50,000 บาท หลังจากหักต้นทุนเรียบร้อยแล้วก็สามารถสร้างเสริมรายได้สำหรับไว้เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวได้เป็นอย่างดี
 
 
ลุงจูกล่าวต่อไปว่า ในช่วงเข้าสู่เทศกาลลอยกระทงในแต่ละปี โดยเฉพาะงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จ.สุโขทัย การทำตะคันดินเผาจะเป็นช่วงที่เร่งผลิตเพื่อการตกแต่งสถานที่ตามโบราณสถานภายในสถานที่จัดงาน ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งตนเองรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานเพื่อสุโขทัยทุกปี
 
ทั้งนี้ การเผาเทียนเล่นไฟของเมืองสุโขทัยนั้น มีถ้อยคำอ้างอิงในหลักศิลาจารึก หลังกรานกฐินในเมืองสุโขทัยนี้ขอเชิญ “...เข้ามาดูท่านเผาเทียน ท่านเล่นไฟ” (จารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามคำแหง ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 22) ถ้อยคำในจารึกตอนนี้แสดงถึงเทศกาลงานบุญใหญ่ และก่อเกิดสร้างคำในประเพณีประจำจังหวัดสุโขทัย เรียกว่า “ลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ”
 
 
โดยทั่วไปทุกคนจะรู้จักประเพณีลอยกระทงอยู่แล้ว แต่การ “เผาเทียน เล่นไฟ” นั้นหมายถึงสิ่งใดกันแน่ แท้จริงแล้วเผาเทียนเล่นไฟเป็นประเพณีในความเชื่อทางพระพุทธศาสนาเถรวาทแบบลังกาวงศ์ โดยจะมีการนำภาชนะดินเผาใส่ด้วยเส้นด้ายทำเป็นสามแฉกคล้ายตีนกา แล้วนำเทียนโรยด้านบน นำไปจุดให้แสงสว่างในศาสนสถานเพื่อเป็นพุทธบูชา 

หน้าแรก » ภูมิภาค