วันอังคาร ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2567 19:45 น.

ภูมิภาค

“เกาะทะลุ” ถิ่นกำเนิด “เต่ากระ” สัตว์ทะเลหายากขึ้นไว้ไข่อย่างต่อเนื่อง

วันพฤหัสบดี ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2564, 06.28 น.

 

วันที่ 9 มิ.ย. นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (สบอ.3) สาขาเพชรบุรี เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก นายภัทร อินทรไพโรจน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม(เตรียมการ) ขณะร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) ร่วมกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเล สยาม ลาดตระเวนการขึ้นวางไข่ของเต่ากระในพื้นที่เกาะทะลุ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ พบร่องรอยการขึ้นวางไข่ของแม่เต่ากระอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่พบตัวแม่เต่ากระ ขึ้นวางไข่บริเวณอ่าวในหุบ พิกัด 47 P 560197 E 1223849 N ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) เจ้าหน้าที่จึงสำรวจบริเวณโดยรอบ พบหลุมวางไข่จึงทำการขุดหลุมรังไข่ ทำการย้ายรังไปไว้ในที่ซึ่งปลอดภัยจากสัตว์ที่จะเข้ามากินไข่เต่าและน้ำทะเลที่อาจท่วมถึงในช่วงเวลาน้าทะเลขึ้นสูง โดยนับเป็นรังที่ 7 มีจำนวนไข่ทั้งหมด 155 ฟอง วัดขนาดรอยพายได้ 50 เซนติเมตร ความกว้างของหลุม 24 เซนติเมตร ความลึกของหลุม 43 เซนติเมตร และได้ทำการเคลื่อนย้ายไข่เต่าไปยังจุดอนุบาลฯต่อไป ทั้งนี้ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเฝ้าระวังและเก็บข้อมูลตลอด 24 ชั่วโมง

 

 

 


นายพิชัยกล่าวว่า เกาะทะลุ ภูมิประเทศเป็นเกาะในอ่าวไทย อยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 8 กิโลเมตรตั้งอยู่ในตำบลทรายทอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีเนื้อที่ 1.178 ตารางกิโลเมตร (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง,2551) หรือประมาณ 736 ไร่ รูปร่างคล้ายวาฬวางตัวในแนวจากทิศเหนือมาทางทิศใต้ มีความยาวประมาณ 2.5 กิโลเมตร ด้านเหนือของเกาะจะเป็นหน้าผาสูงชันตั้งฉากกับท้องทะเลไล่ระดับมาถึงตอนกลางของเกาะซึ่งเป็นภูเขาระดับความสูง 90 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางด้านตะวันออกจะเป็นแนวโขดหินและซากปะการัง ด้านทิศตะวันตกจะเป็นชายหาด 2 หาด จนถึงด้านท้ายเกาะจะเป็นแหลมยื่นออกไป เมื่อเวลาน้ำทะเลลดลงจะเป็นหาดทรายยาวไปทางทิศใต้ชื่อเกาะทะลุ เกิดจากสัณฐานของเกาะบริเวณตอนเหนือที่มีช่องทะลุเป็นโพรงขนาดใหญ่เกิดจากสายน้ำและแรงลมที่กัดกร่อนจนเกิดเป็นช่องทะลุมองลอดผ่านไปอีกฝั่งหนึ่งได้จนกลายเป็นที่มาของ“เกาะทะลุ”เกาะทะลุจัดเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายทางชีวภาพสูง คือมีทั้งความหลากหลายด้านพืชบก พืชทะเล สัตว์ชนิดต่างๆ รวมถึงระบบนิเวศแนวปะการัง ซึ่งระบบนิเวศเหล่านี้จัดเป็นบริเวณที่มีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตในแง่ของการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยหลบภัยและเป็นแหล่งหาอาหาร ปัจจุบันเกาะทะลุ มีการเข้ามาใช้ประโยชน์และทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ อย่างมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจดำน้ำชมปะการังเนื่องจากบริเวณเกาะทะลุ มีแหล่งดำน้ำชมปะการังที่มีความสวยงามอีกแห่งหนึ่ง

 

 

 

 


สำหรับพื้นที่เกาะทะลุ เป็นแหล่งที่เต่ากระขึ้นมาวางไข่ทุกปี ในช่วงเดือน พ.ค.-ต.ค. ซึ่งในปีนี้แม่เต่าได้ขึ้นมาวางไข่เป็นรังที่ 7 แล้ว “เต่ากระ” ถือเป็นสัตว์ทะเลหายาก เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และจัดอยู่ใน Appendix 1 ของอนุสัญญาไซเตส (CITES) ด้วย.

หน้าแรก » ภูมิภาค