วันศุกร์ ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2567 03:53 น.

ภูมิภาค

กราบไหว้หลวงปู่เสาร์-หลวงปู่มั่น ที่วัดเลียบ อารามแห่งบูรพาจารย์ เมืองดอกบัว

วันพุธ ที่ 07 กรกฎาคม พ.ศ. 2564, 19.13 น.
จังหวัดอุบลราชธานี  ได้ชื่อว่าเป็นเมืองนักปราชญ์ และเป็นแหล่งรวม พระเถรานุเถระฝ่ายวิปัสสนา มากมาย เช่น หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล (พระครูวิเวกพุทธกิจ), หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต , พระโพธิญาณเถร (หลวงปู่ชา) เป็นต้น และยังมีพระเถรานุเถระฝ่ายคันธถุระ เช่น พระอริยกวี , พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ , สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เป็นต้น 
 
วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี  เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาสายวิปัสสนาในประเทศไทย เพราะวัดนี้มีความเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ 2 รูป ที่เป็นต้นธารแห่งสายพระกัมมัฏฐาน คือ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งเมื่อหลวงปู่มั่น ได้อุปสมบทแล้ว ก็มาศึกษาวิปัสสนาธุระกับหลวงปู่เสาร์ที่วัดเลียบแห่งนี้ และออกธุดงค์บำเพ็ญเพียรยึดหลักธรรมวินัยในปฏิปทาของพระสายวิปัสสนาอย่างเคร่งครัดจนบรรลุขั้นสูงสุด และกลายเป็นพระอริยสงฆ์ที่ใกล้ชิดกับพุทธศาสนิกชนเกือบทั่วทุกภาคของประเทศไทย  โดยเฉพาะภาคอีสาน 
 
 
วัดเลียบ ตั้งอยู่เลขที่116 ถนนเขื่อนธานี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง อุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต  มีประวัติความเป็นมาจากหลักฐานและบันทึกของพระเดชพระคุณพระโพธิญาณมุนี (สุธีร์ ภทฺทิโย) ปรากฏว่า ก่อตั้งเมื่อวันพฤหัสบดี เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2391 จ.ศ.1210 ร.ศ.67 ปีวอก สัมฤทธิ์ศก ตรงกับปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 (ไม่พบหลักฐานที่เป็นเอกสารการขอตั้ง) 
 
ส่วนที่มาของชื่อวัดนั้น พระโพธิญาณมุนี ท่านสันนิษฐานไว้ว่า น่าจะเป็นวัดซึ่งสร้างเลียบคันคูเมือง เพราะลักษณะของแนวริมแม่น้ำมูลซึ่งเป็นชั้นสูงแล้วจึงลาดต่ำลงมา ทางทิศเหนือเป็นแอ่งอยู่ระหว่างแนวถนนศรีณรงค์ ในบริเวณซึ่งเรียกขานกันว่าหลุบยางใหญ่ มีหนองน้ำอยู่ เรียกว่าหนองนกทา อีกทั้งยังมีชื่อของถนนเขื่อนธานีปรากฏอยู่   แต่ก็มีบางท่านสันนิษฐานว่า ชื่อวัดนั้นมาจากกิริยาอาการเดินไปตามริมตามขอบของหลวงปู่เสาร์ สำนักสงฆ์แห่งนี้มีอายุได้ 44 ปี มีเจ้าอาวาสปกครองมา 10 รูป จนถึงยุคท่านพระอาจารย์ทิพย์เสนา ทิพฺพเสน (แท่นทิพย์) ซึ่งเมื่อท่านมรณภาพลง ก็ไม่มีพระสงฆ์ใดครองสำนักสงฆ์แห่งนี้ต่อ เป็นเหตุให้ต้องร้างไปเป็นเวลาเกือบปี 
 
 
ต่อมาหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล (พระครูวิเวกพุทธกิจ) เจ้าอาวาสวัดเลียบ รูปที่ 1ได้มาบุกเบิกเสริมสร้างวัดเลียบขึ้นเป็นวัดธรรมยุตและมาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ.2435 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีญาติโยมเข้ามาช่วย พระอุบลการประชานิจ (บุญชู พรหมวงศานนท์) พระสุรพลชยากร (อุ่น) ท้าวกรมช้างทองจัน และสังฆการีจารปัจฌา สังฆการจารเกษ และทายกทายิกาได้มีศรัทธาช่วยกันปฏิสังขรณ์วัด และขยายพื้นที่วัดเพิ่มเติม โดยสร้างรั้วรอบวัด เสนาสนะและถาวรวัตถุ  และขอพระราชทานขอเป็นวิสุงคามสีมา โดยท้าวสิทธิสารและเฟี้ยเมืองจัน ได้กราบบังคมทูลพระกรุณาเป็นวิสุงคามสีมา ตามพระบรมราชโองการที่ 87 / 303 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2439 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 
 
 
ปัจจุบัน ภายในวัดเลียบ มี ปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุ ที่สำคัญมากมาย เช่น อุโบสถ ซึ่งดั้งเดิมเป็นสิมไม้มีเฉลียงโดยรอบ สร้างโดยหลวงปู่เสาร์  จนปี พ.ศ. 2506  สิมไม้ได้ชำรุดทรุดโทรมมาก พระโพธิญาณมุนี เจ้าอาวาสในสมัยนั้น จึงได้รื้อถอนและก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ และได้ประดิษฐานพระประธานนามว่า พระพุทธจอมเมือง ที่หลวงปู่เสาร์ ได้ปั้นไว้  นอกจากอุโบสถที่สวยงาม วิจิตรตระการตาแล้วยังมีเจดีย์วิหารอนุสรณ์สถาน หลวงปู่เสาร์  กนฺตสีโล ที่ภายในประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่เสาร์ หล่อด้วยสำริด และมีอัฐิธาตุหลวงปู่เสาร์ ให้ พุทธศาสนิกชนกราบไหว้ และยังเป็นที่เก็บข้าวของเครื่องใช้ของหลวงปู่เสาร์ด้วย  และยังมี เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถานหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อยู่ใกล้ๆกันด้วย ภายในประดิษฐานรูปเหมือนหลวงปู่มั่นหล่อด้วยสำริดและมีอัฐิธาตุหลวงปู่มั่น เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้  และระลึกถึงธรรมะที่ท่านสั่งสอน นอกจากนี้ภายในวัดยังมี หอไตรพิพิธภัณฑ์ ประดิษฐานหุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และมีเสาพระเจ้าอโศก ตั้งสูงเด่นอยู่ข้างพระอุโบสถอีกด้วย    นอกจากนี้ ที่วัดเลียบ ยังมีพระพุทธรูปหรือพระแก้วศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด  นั่นคือ พระแก้วนิลกาฬ และ พระแก้วมรกต  ส่วนวัตถุมงคลที่มีไว้เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้บูชา ได้แก่  รูปหล่อลอยองค์หลวงปู่เสาร์ + หลวงปู่มั่น  เนื้อนะวะ บูชาชุดละ 500 บาท  รูปหล่อลอยองค์หลวงปู่เสาร์ + หลวงปู่มั่น เนื้อทองแดง บูชาชุดละ 300 บาท เหรียญหลวงปู่เสาร์ + หลวงปู่มั่น รมดำบูชาเหรียญละ 50 บาท 
 
 
พระครูอุบลคณาภรณ์  เจ้าอาวาสวัดเลียบ รูปปัจจุบัน  ท่านได้เล่าถึงที่มาของพระแก้วนิลกาฬ จากการได้พบกล่องลายไม้สักโบราณ ในขณะที่เป็นเจ้าอาวาสในปี พ.ศ.2545 โดยค้นพบบนฝ้าเพดานกุฎิสุขสวัสดิ์มงคล ซึ่งเป็นกุฎิหลังเก่าของวัดเลียบ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งท่านได้พบพระพุทธรูป 3 องค์ ได้แก่ พระพุทธรูปบุเงิน 2 องค์ และ พระแก้วนิลกาฬ 1 องค์ และได้จัดทำเครื่องทรงชฎา มงกุฎทองคำ ซึ่งทำจากพลอยแท้ ทองคำแท้ สวมให้กับ พระแก้วนิลกาฬ  จากนั้นท่านพระครู อุบลคณาภรณ์ ได้นำ พระแก้วนิลกาฬ มาให้ญาติโยมได้รดน้ำในวันสงกรานต์ เมื่อปี พ.ศ.2549 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน 
 
 
หากพุทธศาสนิกชน ท่านใด ยังไม่เคยไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัดเลียบ  และยังไม่เคยไปเที่ยวดูความงดงามอันวิจิตรตระการตา ของพระอุโบสถและ เจดีย์วิหารอนุสรณ์สถาน ภายในวัดเลียบ ก็ขอเชิญชวนหาเวลาว่าง ไปเที่ยวชมได้ทุกวัน ที่สำคัญเมื่อไปแล้ว ท่านจะได้กราบไหว้รูปเหมือนหลวงปู่เสาร์หุ่นขี้ผึ้งหลวงปู่เสาร์และรูปเหมือนหลวงปู่มั่น รวมทั้งจะได้ทราบถึงชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย ตลอดจนชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา ของหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่น โดยละเอียดลึกซึ้ง และมีความรู้สึกเหมือนว่า ได้ย้อนประวัติศาสตร์พุทธศาสนาสายวิปัสสนาในประเทศไทย  อีกด้วย 

หน้าแรก » ภูมิภาค