วันอังคาร ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567 17:13 น.

ภูมิภาค

อิทธิพลโกนเซิน เติมน้ำเขื่อนลำปาว 35% รับได้อีกกว่า 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร

วันอังคาร ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2564, 17.45 น.
เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ หลังจากที่ผ่านมาเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงนานหลายสัปดาห์ แม้เข้าสู่ช่วงปลายฤดูฝน กระทั่งล่าสุดจากอิทธิพลของพายุโกนเซินพาดผ่านเข้ามาในพื้นที่  ทำให้มีฝนตกติดต่อกัน 3 วัน ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำตามธรรมชาติต่างๆ มีปริมาณสูงขึ้น โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำปาวหรือเขื่อนลำปาว  ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งน้ำหลักที่ส่งน้ำให้กับเกษตรกรและใช้อุปโภค บริโภคของประชาชนหลายพื้นที่ มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นกว่า 35 ล้านลูกบาศก์เมตร
 
นายฤาชัย จำปานิล ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว กล่าวว่า หลังจากเข้าสู่ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะบริเวณเหนือเขื่อนลำปาว ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำมีปริมาณฝนตกค่อนข้างน้อย และต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยและปริมาณน้ำต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยไปด้วย กระทั่งล่าสุดจากอิทธิพลของพายุโกนเซินพาดผ่านเข้ามาในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ แต่ส่วนมากตกในบริเวณพื้นที่ใต้เขื่อนลำปาว ทำให้มีปริมาณน้ำไหลเติมเข้าอ่างเก็บน้ำลำปาว หรือเขื่อนลำปาว ในช่วง 3 วันที่ผ่านมา เฉลี่ยวันละ 10-14 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมมีน้ำเข้า 35 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น จนถึงขณะนี้เขื่อนลำปาวมีปริมาณอยู่ที่ 688 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 35% ซึ่งยังสามารถรองรับได้อีกกว่า 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุอ่าง 1,980 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณน้ำดังกล่าวมีเพียงพอที่จะส่งน้ำเสริมน้ำฝน โดยเฉพาะในช่วงระหว่างเกิดภาวะฝนทิ้งช่วง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งการทำเกษตร การทำนาปี พื้นที่กว่า 3 แสนไร่ และการประมง เลี้ยงกุ้งก้ามกรามและปลา ประมาณ  4,900 ไร่ ในพื้นที่ อ.เมืองกาฬสินธุ์ อ.กมลาไสย อ.ยางตลาด อ.ฆ้องชัย และพื้นที่ใกล้เคียง
 
นายฤาชัย กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์ดังกล่าวทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้ลดปริมาณการระบายน้ำ จากเดิมวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นวันละ 1.70 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดน้ำและสำรองใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค รวมทั้งกระจายให้กับพื้นที่การเกษตรและการประมงในอนาคต อย่างไรก็ตามจากการประชุมติดตามสถานการณ์ร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าในช่วงหลายเดือนกันยายนนี้จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากขึ้นด้วย แต่ก็ขอให้เกษตรกรผู้ใช้น้ำเองควรที่จะใช้น้ำอย่างคุ้มค่าและแบ่งปันกัน พร้อมกับจัดหาแหล่งกักเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนนี้ไว้ให้ได้มากที่สุด เนื่องจากปริมาณน้ำในอ่างในปัจจุบันมีเพียง 35% 

หน้าแรก » ภูมิภาค