วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 20:34 น.

ภูมิภาค

"ดร.ฐิตารีย์" จัดตั้งล้งชุมชนทุเรียนภูเขาไฟแห่งแรกของศรีสะเกษส่งขายทั่วโลก

วันศุกร์ ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565, 10.47 น.
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2565  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ตลาดจำหน่ายผลไม้ บ้านซำตาโตง ต.พราน อ.ขุนหาญ  จ.ศรีสะเกษ  ดร.ฐิตารีย์ ไตรสรณปัญญา หรือ ดร.จุ๋ม คณะที่ปรึกษา รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร.สมเกียรติ  ไตรสรณปัญญา นายภูมิสิทธิ์   มาประจง  คณะที่ปรึกษา รมว.กระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางมาเยี่ยมบรรยากาศการขายทุเรียนภูเขาไฟและผลไม้ต่าง ๆ ซึ่งพบว่า มีบรรดาประชาชนที่ชื่นชอบกินทุเรียนภูเขาไฟที่เป็นชาวศรีสะเกษ และจากทั่วประเทศพากันมาหาซื้อทุเรียนไปกินและนำเอาไปฝากญาติพี่น้องกันอย่างคึกคักมาก  และได้พบกับ นายกุลดิลก หน่อคำผุย หรือฟีฟ่า อายุ 28 ปี  ซึ่งเป็นล้งชุมชนรับซื้อทุเรียนจากเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในเขต ต.พราน  อ.ขุนหาญ กำลังจัดเตรียมทุเรียนภูเขาไฟบรรจุกล่องอย่างดีเพื่อเตรียมส่งไปขายให้ผู้ที่สั่งซื้อทุเรียนจากทั่วประเทศ และนำเอาทุเรียนขึ้นบนรถบรรทุกเพื่อส่งไปขายที่ประเทศจีนด้วย 
 
จากนั้น  นายกุลดิลก หน่อคำผุยหรือฟีฟ่า  ได้นำ ดร.ฐิตารีย์ และคณะเดินทางไปที่สวนพงษ์สุภา  ตั้งอยู่ที่ 132 ม.8 บ้านหนองเก่า ต.พราน อ.ขุนหาญ  ซึ่งเป็นสวนของ นายวัชรพงษ์ บัวใหญ่ อายุ 55 ปี เพื่อชมการตัดผลผลิตทุเรียนภูเขาไฟจากต้น  ซึ่งนายกุลดิลก ที่เป็นล้งชุมชนได้รับซื้อทุเรียนทำการคัดผลทุเรียนเกรดพรีเมี่ยมเพื่อเตรียมส่งไปขายให้กับห้างสรรพสินค้าที่ได้สั่งซื้อทุเรียนจากล้งชุมชนโดยการประสานงานของ ดร.ฐิตารีย์  ไตรสรณปัญญา เพื่อเป็นการจัดหาตลาดในการจำหน่ายทุเรียนให้กับเจ้าของสวนทุเรียนภูเขาไฟ
 
นายกุลดิลก หน่อคำผุย หรือฟีฟ่า  อายุ 28 ปี อยู่บ้านเลขที่ 118 หมู่ 14 บ้านซำตาโตง  ต.พราน อ.ขุนหาญ  จ.ศรีสะเกษ  ล้งชุมชนคนแรกของ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า  ตนปลูกทุเรียนอยู่แล้วอยู่ที่บ้านซำตาโตง อ.ขุนหาญ  จำนวนเยอะพอสมควร ตนเป็นคนชอบกินทุเรียน ไปชิมทุเรียนที่อื่นมาถามว่าอร่อยไหมก็อร่อย แต่ไม่ถูกใจเท่ากับทุเรียนที่ตนเองปลูกขึ้นมาของจังหวัดตนเอง ก็เลยอยากให้พี่น้องประชาชนผู้ชอบบริโภคทุเรียนอยากให้ได้ลองกินทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษว่า รสชาติแตกต่างจากที่อื่นอย่างไร อยากให้ลิ้มลองความอร่อยของเกษตรกรพื้นบ้านของ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีฝีมือในการปลูกทุเรียนได้ผลผลิตเป็นเกรดพรีเมี่ยมขนาด 3 กิโลกรัม 5 พูเต็ม คือเราทำทุเรียนออกมาคุณภาพไม่แพ้ภาคใดในประเทศไทย จึงอยากให้พี่น้องชาวไทยทั่วประเทศเปิดโอกาสเปิดใจมาชิมลิ้มลองทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษของเราด้วย
 
นายกุลดิลก หน่อคำผุย หรือฟีฟ่า  กล่าวต่อไปว่า ส่วนในการส่งออกขายท้องตลาดนั้น ช่วงนี้เราได้ออร์เดอร์มาจากประเทศจีน โดยเรามีล้งในการคัดทุเรียนเกรดคัดออกคือเกรดเอบี คือ 5 พูเต็มเกรดพรีเมี่ยม จริงๆแล้วทุเรียนแบบนี้ ตนอยากส่งให้พี่น้องเกษตรกรพี่น้องชาวไทยเราได้ชิมลิ้มลองกัน เพราะว่าราคาที่นี่ก็ไม่แพงราคาย่อมเยาไม่สูงมาก จริงๆแล้วราคาก็ขึ้นลงสามารถติดต่อตนได้ ถ้าต้องการได้ทุเรียนคุณภาพไปลิ้มลองชิมหรือว่านำเอาไปขายต่อ ซึ่งการที่ตนเป็นล้งชุมชนได้ส่งผลดีต่อพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกทุเรียนมากคือ  1.พี่น้องไม่ต้องส่งทุเรียนไปขายไกล  2.มีแต่ญาติพี่น้องของเราเองเราสามารถที่จะพูดคุยราคากันได้เช่นช่วงราคาที่ล้งขึ้น เราก็ดันราคาขึ้น ช่วงที่ราคาล้งลง เราก็ลดราคาลง และอีกอย่างก็คือไม่เปลืองน้ำมันรถเพราะว่านำเอามาส่งขายที่ล้งชุมชนของเราก็พอแล้ว ตนอยากฝากขอให้พี่น้องชาวไทยทั่วประเทศเปิดใจลิ้มลองชิมทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษของขึ้นชื่อของดีศรีสะเกษ อยากให้ลองชิมทดลองดูว่าทุเรียนภูเขาไฟรสชาติกรอบหวานมันเป็นยังไงของดีศรีสะเกษ ติดต่อสั่งซื้อได้ที่ โทร. 080 469 - 9997
 
ดร.ฐิตารีย์ ไตรสรณปัญญา  คณะที่ปรึกษา รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวว่า  วันนี้เราได้มาเยี่ยมสวนทุเรียนพงษ์สุภาซึ่งเป็นแค่ 1 สวนที่นายกุลดิลกหรือน้องฟีฟ่าเป็นล้งชุมชนรวบรวมรับซื้อทุเรียน ความมุ่งมาดปรารถนาของตนที่ทำสานต่อระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็คือการตลาดนำการผลิต การตลาดคือต้องมีตลาดให้กับเกษตรกรและตัวเกษตรกรเองไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนด้วยตนเองที่จะไปขายในโมเดิร์นเทรดหรือห้างสรรพสินค้าหรือตลาดส่งออกได้ด้วยตนเอง เนื่องจากว่าเขาจะต้องดูแลทั้งสวนทุเรียนดูแลทั้งครอบครัวและดูแลพืชผลภายในสวน เพราะฉะนั้นแล้วเราต้องหาคนกลางที่ไม่ใช่พ่อค้าคนกลางเขาเรียกว่าล้งชุมชน เราจึงได้มาสร้างล้งชุมชนด้วยกันโดยเฉพาะ เราจะเปิดมิติใหม่ของเราในเรื่องของทุเรียนเป็นหลักก่อนว่า เราจะทำเรื่องล้งชุมชนทุเรียนภูเขาไฟ วันนี้เราก็ได้เจอดาวเด่นดาวในป่าทุเรียนคือน้องฟีฟ่าซึ่งเป็นเด็กรุ่นใหม่หัวไวใจสู้ ซึ่งตัวเขาเองก็เป็นเกษตรกรลูกหลานของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน เขาจะสามารถรู้ว่าสวนไหนคุณภาพ สวนไหนดีหรือถ้าซื้อไปแล้วทุเรียนอยู่ในลูกเป็นอย่างไร เขาก็จะสามารถที่จะเคลมทุเรียนลูกใหม่ให้กับลูกค้าได้หรือตอบโจทย์ลูกค้าได้ แล้วเขาสามารถที่จะมาปรับปรุงสวนที่เขาเอาไปว่าสวนนี้ไม่มีคุณภาพอย่างไรต้องปรับตรงไหน เพราะฉะนั้นตรงนี้คือประโยชน์ของล้งชุมชนและราคาก็เป็นธรรมกับเกษตรกร เพราะว่าเราสามารถคุยกับลุงป้าน้าอาญาติพี่น้องของเราที่ปลูกทุเรียนได้ เราก็ให้ราคาทุเรียนลุงป้าน้าอาที่ปลูกทุเรียนโดยที่ไม่กดราคารับซื้อ
 
ดร.ฐิตารีย์ ไตรสรณปัญญา  คณะที่ปรึกษา รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวต่อไปว่า  นี่คือบทบาทและหน้าที่ของล้งชุมชน ในส่วนของการส่งเสริมการตลาดนั้น  วันนี้ตนได้ดิวให้กับน้องฟีฟ่าล้งชุมชนเข้ากับตลาดโมเดิร์นเทรดคือเซ็นทรัลฟู้ดรีเทล ซึ่งเป็นเอฟซีของเซ็นทรัล คืนนี้รถจะนำทุเรียนส่งออกไป  มีการบรรจุกล่อง สเปคคือ 3 พูต้องเต็ม และหนึ่งพูรองหรือห้าพูเต็มยิ่งดี แต่ใน 1 กล่องนั้นจะต้องมีน้ำหนัก 15 กิโลกรัมแพ็คกล่องหนาดี วางซ้อนกันไปจะได้ไม่ทับกัน มีที่ระบายอากาศ เพื่อไม่ให้เวลาทุเรียนคลายน้ำออกหมดแล้วเพื่อไม่ให้เกิดการคับลูก ซึ่งเป็นวิธีการเมื่อไปถึงโมเดิร์นเทรดก็จะมีคนตรวจรับและเช็คเนื้อแป้งอีกครั้งหนึ่งและจะตอบกลับมาว่าสวนหรือคนรวบรวมนี้มีคุณภาพแค่ไหน ถ้ามีคุณภาพเขาก็จะดิวกับเราต่อ  เขาได้ให้ออเดอร์กับตนมา   2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ก็คือวันนี้จำนวน 1,500 ตันอีกครั้งหนึ่งก็คือวันที่ 27 มิถุนายน อีกจำนวน 1,500 ตันก่อน ขอดู 2 รอบนี้ก่อนถ้า 2 รอบนี้เราคัดคุณภาพได้แบบดีเยี่ยม โดยเมื่อสักครู่ได้ผ่าทุเรียนดูแล้วพบว่าเปลือกบางมากเต็มพูจริง ถ้าได้เกรดแบบนี้ส่งให้โมเดิร์นเทรดหรือห้างสรรพสินค้ารับประกันได้ว่าเขาจะเป็นคู่ค้ากับเราได้ตลอด ก็อยากจะให้น้องฟีฟ่าซึ่งเป็นคนกลางเป็นล้งชุมชนคัดเลือกคุณภาพสินค้าแบบนี้ เพื่อให้คนไทยได้รับประทานทุเรียนผลไม้ของ จ.ศรีสะเกษของเราได้ดีโดยที่พวกเราเองขายไปให้ล้งชุมชนแล้ว คนกลางคือล้งชุมชนก็ส่งต่อไปถึงผู้ขายโดยตรง จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนที่จะขายได้ในราคาเป็นธรรมและผู้บริโภคจะได้บริโภคทุเรียนภูเขาไฟที่มีคุณภาพเกรดพรีเมี่ยมด้วย

หน้าแรก » ภูมิภาค