วันศุกร์ ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 19:16 น.

ภูมิภาค

คาตู้!ทั้งราดำ-เพลี้ย-อ่อน ทุเรียนหมอนส่งจีนถูกตีกลับ

วันพุธ ที่ 07 กันยายน พ.ศ. 2565, 19.25 น.

ด่านตรวจพืชตีกลับทุเรียนหมอนทองล้งที่ จ.ชุมพร 38 ตัน ส่งขายประเทศจีน พบมีทั้งเพลี้ย ราดำ อ่อน ไม่มีคุณภาพ เผยทุเรียนราคาถูกลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านสวมสิทธิ์ทุเรียนไทยระบาดหนัก อาจดับอนาคตทุเรียนไทย
              

วันที่ 7 ก.ย.65 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตร นำโดย นายธรรมนูญ แก้วคงคา ผอ.สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร พร้อมด้วย นายก้องกษิต สุวรรณวิหค ผอ.สำนักวิจัยและพัฒนาเกษตร เขต 7 สุราษฎร์ธานี นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดชุมพร และกำลังสารวัตรเกษตร นายตรวจพืช ลงพื้นที่ตรวจสอบล้งรับซื้อทุเรียนเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน หมู่ที่ 7 ตำบลนาขา อ.หลังสวน จ.ชุมพร ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวจีน หลังจากเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืช จ.นครพนม และ จ.มุกดาหาร แจ้งว่ามีรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์นำทุเรียนหมอนทองที่ไม่ผ่านการตรวจของด่านตรวจพืช ได้ถูกส่งกลับไปยังล้งรับซื้อทุเรียนต้นทางดังกล่าว โดยมี นายวีรวัฒน์ จีระวงส์ นายกสมาคมชาวสวนผลไม้ชุมพร นำคณะมาร่วมสังเกตุการณ์ด้วย  
               

เจ้าหน้าที่ได้ใช้เครื่องมือตัดอุปกรณ์ล็อคตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเปิดแล้วนำเอาทุเรียนหมอนทองที่บรรจุในกล่องกระดาษจำนวนมากมีน้ำหนักรวม 18 ตัน ออกมาตรวจสอบทุกคนถึงกับตกตะลึงเมื่อพบว่าลูกทุเรียนทั้งหมดมีสภาพไม่สมบูรณ์ ไม่มีคุณภาพ ไม่ได้ขนาดส่งออก เป็นตำหนิ มีทั้งเป็นโรคจากแมลง เพลี้ย และราดำ ไม่ได้มาตรฐานการส่งออกอย่างชัดเจน จึงได้สั่งอายัดทุเรียนเหล่านี้ไว้ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมาย
           

จากนั้นคณะเจ้าหน้าที่ได้เดินทางไปอีกจุดซึ่งเป็นสาขาเจ้าของล้งเดียวกัน ที่บริเวณสี่แยกเขาปีป หมู่ที่ 6 ตำทุ่งตะไคร อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร ซึ่งเป็นที่ตั้งของล้งทุเรียนอีกราย เนื่องจากได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตรวจของด่านตรวจพืชเช่นเดียวกันว่า มีล้งทุเรียนส่งออกถูกเจ้าหน้าที่ด่านตรวจพืชตีกลับทุเรียนหมอนทองมายังล้งดังกล่าวจำนวน 20 ตัน เมื่อตรวจก็พบว่ามีทุเรียนหมอนทองจำนวนหนึ่งเป็นโรคและติดเพลี้ย เป็นราดำ ทุเรียนอ่อน ปะปนอยู่ด้วย  จึงได้ทำการอายัดตรวจสอบดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  
            

สำหรับจำนวนทุเรียนหมอนทองที่ส่งออกประเทศจีนทั้งหมดรวม 38 ตัน  ที่ไม่ผ่านด่านตรวจพืชชายแดนที่ จ.นครพนม และ จ.มุกดาหาร มีมูลค่าส่งออกประมาณ 19 ล้านบาท  หากหลุดลอดส่งออกไปยังปลายทางประเทศจีนได้ หากถูกตีกลับและสร้างความเสียหายแก่วงการทุเรียนจากประเทศไทยเป็นอย่างมาก
                    

ด้าน นางสาวมธุรา ศรีพรหม อายุ 43 ปี ผู้จัดการ ล้งทุเรียนที่ไม่ผ่านด่านตรวจพืชกล่าวว่า ทุเรียนจำนวน 17,000-18,000 กิโลกรัม ที่ล้งรับซื้อนี้มาจากชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช เป็นทุเรียนที่ตกไซส์ ไม่ได้ขนาด ไม่ใช่ทุเรียนเกรด A ได้รับซื้อมาเพียงกิโลกรัมละ 140-150 บาท  เพราะเป็นทุเรียนที่ไม่ได้คัดเกรดตอนรับซื้อก็ไม่ได้มีการตรวจคุณภาพคัดกรองแต่อย่างใด เพียงแค่แยกของดีกับของเสียออกจากกันเท่านั้น การส่งออกไปขายยังประเทศจีนก็จะมีชิปปิ้งเป็นผู้ดำเนินการ ก่อนส่งออกก็มีการตรวจสอบที่ล้งก่อนแล้วแต่ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด อาจจะเป็นเพราะใช้เวลาขั้นตอนในการส่งออกนาน เมื่อทุเรียนไปถึงด่านตรวจพวกโรคพืชและเพลี้ยที่มันอาจฝักตัวอยู่ในผลทุเรียนจึงแสดงออกมาให้เห็นก็เป็นไปได้
              
นายธรรมนูญ แก้วคงคา ผอ.สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่าขั้นตอนก่อนส่งออกทุเรียนเมื่อถึงด่านตรวจพืชชายแดนจะมีการตรวจสินค้าก่อนออกใบรับรองไปยังต่างประเทศ และหากสงสัยว่าทุเรียนด้อยคุณภาพ เป็นโรค มีราดำ มีเพลี้ย มีน้ำหนักต่ำกว่าที่แจ้ง ก็จะระงับการส่งออกและตีกลับมายังต้นทาง  แต่อย่างไร้ตามทั้งนี้ก่อนจะส่งทุเรียนออกจากจังหวัดชุมพร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการตรวจสอบก่อนและมีการติดสติกเกอร์รับรองให้ และเมื่อไปถึงด่านตรวจพืชจะมีการตรวจเอกสารและสินค้าเพื่อรับรองสินค้าก่อนออกจากด่านไปยังต่างประเทศ แต่ถ้าไม่ตรงกันก็จะไม่ออกเอกสารให้  ในด้านกฎหมายนั้นก็ต้องให้ส่วนที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป ส่วนจะมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงเกษตรเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่นั้นตนคงตอบไม่ได้ ซึ่งคนในพื้นที่ต้องช่วยกันตรวจสอบดูแลด้วย
               

ขณะที่ นายดำรงศักดิ์ สินศักดิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 11 ตำบลบ้านนา อ.เมือง จ.ชุมพร เจ้าของสวนทุเรียนขนาดใหญ่ ที่เดินทางมาร่วมดูการตรวจสอบในครั้งนี้ด้วยกล่าวว่า ทุเรียนเป็นพืชสุดท้ายที่ผลผลิตราคายังไปได้ดี ถ้าชาวสวนหรือพ่อค้า เห็นแก่ตัว จะเป็นการดับอนาคตของทุเรียนไทย ส่วนทุเรียนที่เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบในครั้งนี้ ตนพบความผิดปกติเนื่องจากดูคุณภาพของผลผลิตทั้งขนาด ผิวสีของเปลือกทุเรียนแล้ว ไม่น่าจะใช่ทุเรียนที่ปลูกในประเทศไทย น่าจะเป็นทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกกิโลกรัมเพียง 40-50 บาท เท่านั้น แล้วลักลอบนำเข้ามามาสวมสิทธิ์เป็นทุเรียนไทย แต่โชคดีที่ถูกตรวจพบเสียก่อนไม่งั้นเสียชื่อประเทศไทยแน่นอน
              

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านี้ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากเจ้าของล้งทุเรียนแห่งหนึ่งซึ่งเป็นคนไทยมาเปิดรับซื้อทุเรียนในพื้นที่ จ.ชุมพร ได้มีผู้พ่อค้าซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลในจังหวัด เข้าไปพูดจาลักษณะเชิงข่มขู่ให้รับซื้อทุเรียนที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศเวียดนาม เพื่อสวมสิทธิ์เป็นทุเรียนไทยที่ปลูกในพื้นที่ จ.ชุมพร แต่เจ้าของล้งรายดังกล่าวไม่ยินยอมเพราะกลัวถูกจับและจะมีปัญหาสร้างความเสื่อมเสียงให้กับประเทศไทย และไม่กล้าไปร้องเรียนหน่วยงานเกี่ยวข้องในจังหวัด เพราะเกรงกลัวอิทธิพล จนตัวเองไม่ค่อยกล้าอยู่ที่ล้งรับซื้อทุเรียน ต้องให้ลูกน้องคอยดูแลรับหน้าที่แทนเรื่อยมา .

หน้าแรก » ภูมิภาค