วันจันทร์ ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 12:50 น.

ภูมิภาค

สาวปลูกผักสลัดอินทรีย์กินเอง ตลาดชอบใจออร์เดอร์สุดปัง!

วันอังคาร ที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2565, 16.56 น.

นครราชสีมา วันนี้ (27 ธ.ค.2565) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางสาวนิศามณี ชงชิด อายุ 41 ปี เกษตรกรบ้านซับสะเดา ต.บ้านใหม่ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ปรับเปลี่ยนพื้นที่การเกษตรของตนเองที่มีอยู่จำนวน 6 ไร่ เริ่มต้นทำการเพาะปลูกพืชต่างๆแบบอินทรีย์ทั้งระบบ หลังจากที่ตนเองต้องเข้าทำการผ่าตัดโรคมะเร็งหลายปีจนหายดี ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าวไร้สารเคมี รวมถึงพืชผักต่างๆไว้รับประทานเองภายในครอบครัว เนื่องจากกลัวที่จะต้องกลับไปเป็นโรคร้ายอีก จนล่าสุดได้ไปเรียนรู้วิธีปลูกผักสลัดมาจากศูนย์เรียนรู้หลายพื้นที่ และนำมาประยุกต์ปลูกในพื้นที่ของตนเอง โดยไม่ใช้สารเคมีและเป็นที่รู้จักจนมีตลาดทั้งระดับล่างและตลาดห้างติดต่อรับซื้อเป็นประจำแล้ว สร้างรายได้หลักหมื่นทุกเดือน
 


นางสาวนิศามณีฯ เล่าว่า ก่อนหน้านี้ตนเองต้องประสบกับโรคมะเร็งจนต้องทำการผ่าตัด จากนั้นก็พักรักษาตัวและดูแลตัวเองด้วยการพยายามหลีกเลี้ยงรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อการมีสารเคมีปลอมปน ซึ่งทำได้ยาก จึงทดลองปลูกสิ่งต่างๆ ไว้กินเองด้วยโดยไม่ใช้สารเคมีทั้งระบบ และด้วยความที่ชอบรับประทานผัก จึงทดลองปลูกผักต่างๆ จนได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องของการปลูกผักสลัด และนำมาประยุกต์ปลูกในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งก็ได้ผลดี ขยายการเพาะปลูกเรื่อยๆ และนำไปบอกขายตามตลาดต่างๆ ได้รับการตอบรับดี

 


มีตลาดเพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ เพราะผักอินทรีย์เป็นที่นิยมของลูกค้า จนทุกวันนี้ผักของตนเองมีแม่ค้ารับซื้อไปขายต่อบนห้างเป็นประจำ ที่สำคัญผักสลัดนั้นใช้เวลาเพาะปลูกไม่นาน เพียง 45 วัน และผักอินทรีย์ก็ขายได้ราคาดี กิโลกรัมละ 80 บาท ไม่ปรับขึ้นลงตามตลาดทั่วไป ออร์เดอร์เข้ามาจนปลูกกันไม่ทัน จึงทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้เป็นอย่างดี ตนเองก็จะอาศัยทำการปลูกหมุนเวียนเป็นรอบๆ เพื่อให้มีสินค้าขายได้ตลอดทั้งปี

 

 

ตอนนี้ก็มีรายได้ที่มั่นคงอีกทั้งสุขภาพดีไม่ต้องเสี่ยงกับสารเคมี โรคร้ายก็หายดีอีกด้วย ล่าสุดก็มีเพื่อนเกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกพืชผักอินทรีย์ส่งขายเหมือนเช่นตนเองอีกหลายรายเช่นเดียวกัน แม้ว่าผักสลัดจะมีปัญหาอยู่บ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของสภาพอากาศที่แปรปรวน โดยเฉพาะในช่วงที่มีฝนตก อย่างห้วงที่ผ่านมามีฝนตกต่อเนื่องผักก็จะเป็นโรคเชื้อราใบจุด แต่ก็เตรียมที่จะแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างโรงเรือน ยกแปลงผักแบบลอยพื้น เพื่อให้ฝนไม่ตกโดนผักจนเสียหายเหมือนเช่นที่ผ่านๆ มา ซึ่งคาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นในปลายปีนี้

 

 

 

 

หน้าแรก » ภูมิภาค