วันเสาร์ ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:37 น.

ภูมิภาค

แก่งสะพือคึกคัก! คนแห่เล่นน้ำคลายร้อน ทั้งกลางวันและกลางคืน

วันศุกร์ ที่ 07 เมษายน พ.ศ. 2566, 19.49 น.
พอถึงฤดูร้อน  ในแต่ละปี ที่ภาคอีสานอากาศจะร้อนอบอ้าวเป็นอย่างมาก ทำให้หลายๆครอบครัวต่างพากันหนีร้อนไปเที่ยวทะเล เล่นน้ำตามหาดทราย หรือเกาะแก่ง ตลอดจนลำน้ำสายต่างๆในพื้นที่จังหวัดของตนหรือจังหวัดใกล้เคียง เพื่อเป็นการคลายร้อน  ท่องเที่ยวและ พักผ่อนไปในตัว
ผู้สื่อข่าวของเรา รายงานว่า จังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีสภาพอากาศร้อนอบอ้าวเป็นอย่างมาก  ทำให้ผู้คนต่างพาครอบครัวแห่เล่นน้ำคลายร้อนกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ทั้งหาด  เกาะ หรือแก่ง คึกคักเป็นพิเศษ พ่อค้าแม่ค้าที่มาจำหน่ายสินค้า นานาชนิด ตามแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำแต่ละแห่ง ต่างขายดี แฮปปี้กันถ้วนหน้า
 
แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต ประเภทลงเล่นน้ำตามเกาะแก่ง ของจังหวัดอุบลราชธานี มีนักท่องเที่ยวมาเล่นน้ำคลายร้อนทั้งกลางวันและกลางคืนในขณะนี้ ได้แก่ “ แก่งสะพือ ” ซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ซึ่งขณะนี้ มีนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกพื้นที่รวมทั้งที่มาจากต่างจังหวัด มาเที่ยวกันอย่างคึกคัก ทั้งกลางวัน และ กลางคืน หลังจากแก่งสะพือ จมอยู่ใต้น้ำจนมองไม่เห็นมาหลายสิบปี  
แก่งสะพือ  (สะพือหมายถึงงูใหญ่) อยู่ในพื้นที่บ้านสะพือใต้ ต.โพธิ์ศรี อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี  เป็นแก่งหินกลางลำแม่น้ำมูล ที่มีความสวยงามมาก พอฤดูฝน น้ำหลากจึงมองไม่เห็นแก่งสะพือ พอถึงฤดูแล้ง น้ำลด แก่งจึงผุดขึ้นกลางลำน้ำมูล นักท่องเที่ยวจึงพากันมาเล่นน้ำคลายร้อนที่แก่งสะพือในแต่ละวันเป็นจำนวนมาก และพอถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทางเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร ก็จัดงานประเพณีสงกรานต์ขึ้นที่บริเวณแก่งสะพือ เป็นประจำทุกปี มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเป็นจำนวนมาก
 
แก่งสะพือ เป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาส แก่งสะพือ และทอดพระเนตรธรรมชาติ บริเวณแก่งสะพือ พร้อมทั้ง พระราชทานพระปรมาภิไธยบนแผ่นหิน เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498   สำหรับแก่งสะพือ แห่งนี้ เป็นแก่งหินที่จมอยู่น้ำ จะมองเห็นเฉพาะในฤดูร้อนเท่านั้น เนื่องจากฤดูฝนและหนาว น้ำจะท่วม ดังนั้น เมื่อถึงฤดูร้อน น้ำลด ก้อนหินจึงโผล่ กระจัดกระจายอยู่กลางลำน้ำมูลเป็นบริเวณกว้าง และสวยงามยิ่งนัก และตามแอ่งตามโขดหิน ระดับน้ำก็ไม่ลึก บางจุดน้ำอยู่ระดับแข้ง หรือ เข่า  บางจุดไม่ค่อยมีก้อนหิน ระดับน้ำอยู่ที่สะโพก หรือเอว ซึ่งแก่งหินหรือหินแต่ละก้อน ก็จะมีรูปร่างแตกต่างกันออกไป ตามแรงน้ำ กระแสน้ำกัดเซาะ มีทั้งเว้าแหว่งเป็นรูปร่างต่างๆ ทั้งรูปทรงสี่เหลี่ยม  ทรงกลม  และ วงรี และมีอีกหลายรูปแบบ  และตามก้อนหินรูปร่างต่างๆนั้น จะมีตะไคร่น้ำ เกาะอยู่ บางก้อนก็มาก บางก้อนก็น้อย ทำให้หินเหล่านั้นลื่น นุ่ม และเล่นน้ำได้อย่างสนุก ไม่ต้องกลัวว่า ก้อนหินจะบาดเท้าหรือขา และน้ำในลำน้ำมูล ก็สะอาดและเย็น คลายร้อนได้ดีนักแล
 
นอกจากนี้ บนฝั่งริมแม่น้ำมูล ณ จุดดังกล่าว ยังมีแม่ค้ามาขายอาหารหลากหลายชนิด มีเสื่อให้ปูนั่งรับประทานอาหาร  ท่ามกลางต้นไม้น้อยใหญ่ที่ให้ร่มเงา ร่มรื่น เย็นสบายทั้งวันตลอดแนวฝั่งแม่น้ำบริเวณแก่งสะพือ และ ยังมีห้องน้ำ ห้องส้วม ที่สะอาดไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว อีกทั้ง ยังมีร้านค้าจำหน่ายเสื้อผ้า อาหารแห้ง  ขนม  ของฝากนานาชนิด พร้อมทั้งมีลานจอดรถ ที่สะดวก และ กว้างขวาง อีกด้วย
 
ดังนั้น  ท่านใดต้องการเล่นน้ำคลายร้อน ทั้งกลางวัน และ กลางคืน โปรดตรงไปที่ แก่งสะพือ รับรองว่า ท่านจะต้องประใจในธรรมชาติอันแสนงดงาม และมีความสุข สนุกสนาน  สดชื่น เย็นสบาย คลายร้อน และ เรื่องความปลอดภัย ไม่ต้องกังวล เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.พิบูลมังสาหาร และ เทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร , หน่วยกู้ภัยทางน้ำ จัดกำลังพล  ผลัดเปลี่ยน หมุนเวียนกันมาคอยอำนวยความสะดวก และ ดูแลความปลอดภัย ให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งกลางวัน และ กลางคืน สำหรับการเดินทางไปเที่ยวแก่งสะพือ นั่งรถยนต์โดยสารหรือรถยนต์ส่วนตัว ออกจากตัวจังหวัดอุบลราชธานี ไปตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 217 ระยะทาง 45 กิโลเมตร เมื่อไปถึงตัวอำเภอพิบูลมังสาหารแล้ว จะมีป้ายบอกทางเป็นระยะๆ ไปมาหาง่าย เพราะอยู่ในเขตเทศบาลเมืองพิบูลมังสาหาร นั่นเอง
 
อนึ่ง  เมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา  นักท่องเที่ยวไม่สามารถลงเล่นน้ำที่แก่งสะพือได้ เพราะระดับน้ำสูง จนมองไม่เห็นเกาะแก่งหรือโขดหิน  เนื่องจากทางราชการได้ปิดเขื่อนปากมูล จนกระทั่งมีเสียงเรียกร้องจากคนในพื้นที่ ให้เปิดเขื่อนปากมูล เพื่อให้แก่งสะพือ กลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดอุบลราชธานี เมือนดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา ต่อมา จังหวัดอุบลราชธานีได้ประชุมคณะทำงานบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันอังคารที่ 14 มีนาคม 2566  ณ ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อลดระดับน้ำเขื่อนปากมูล เพื่อให้แก่งสะพือกลับมา โดยที่ประชุมมีมติให้มีการควบคุมระดับน้ำที่ท้ายแก่งสะพือ อยู่ที่ 106.0 ม.รทก. ในวันที่ 9-17 เมษายน 2566 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแก่งสะพือ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อำเภอพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี  ประจำปี 2566 ทำให้นักท่องเที่ยวได้เห็นแก่งสะพือ อีกครั้ง และ พากันแห่มาเที่ยวเล่นน้ำคลายร้อน ทั้งกลางวัน และ กลางคืน ดังกล่าว ข้างต้น
 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า  ล่าสุด ณ  วันที่ 6 เมษายน 2566 ระดับน้ำในแม่น้ำมูลบริเวณแก่งสะพือได้ลดลง ทำให้มองเห็น เกาะแก่ง โขดหิน น้อยใหญ่  ในกลางลำน้ำมูลเรียงราย กระจัดกระจายกันเต็มบริเวณ อย่างสวยงาม เมื่อนักท่องเที่ยวและประชาชนในพื้นที่ทราบข่าวต่างดีอกดีใจ ที่แก่งสะพือได้กลับมา  และพากันเดินทางไปท่องเที่ยวทันที ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน วันละเกือบพันคน  คาดว่า ช่วงสงกรานต์ปี2566 ที่จะถึงนี้ จะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเล่นน้ำคลายร้อน ดื่มด่ำกับธรรมชาติอันสดชื่นและสวยงามกลางลำน้ำมูล วันละหลายพันคน และเงินจะสะพัดถึงหลักล้าน อย่างแน่นอน

หน้าแรก » ภูมิภาค