วันจันทร์ ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2567 13:52 น.

ภูมิภาค

ผู้ว่าฯตรัง นำคณะศึกษาดูงานโรงงานแปรรูปผลิตสารสกัดกระท่อมมาตรฐาน GMP

วันพฤหัสบดี ที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 10.45 น.
นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ในฐานะประธานคณะทำงานขับเคลื่อนและพัฒนาพืชสมุนไพรกระท่อมจังหวัดตรัง นำคณะศึกษาดูงานโรงงานแปรรูปผลิตสารสกัดกระท่อมมาตรฐาน GMP ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ณ นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา โดยมี ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมาย  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมคณะให้การต้อนรับและมี ผศ.นพ.วรวิทย์ วาณิชย์สุวรรณ (หัวหน้าโครงการ)  สถาบันวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ ม.สงขลานครินทร์ ได้บรรยายเกี่ยวกับการแปรรูปพืชสมุนไพรกระท่อมและนำเยี่ยมชมภายในโรงงานฯ
 
โดยปัจจุบันตลาดรับกระท่อม 2 แบบ คือ แบบตากแห้ง และแบบบดผง และกระท่อมที่จะสามารถนำไปใช้ทางการแพทย์และผลิตภัณฑ์ด้านอาหารได้นั้นจะต้องเป็นใบกระท่อมที่มีคุณภาพ ต้องเพาะปลูกในพื้นที่ปลอดสารเคมีและโลหะหนัก สารสำคัญในกระท่อมขึ้นอยู่กับอายุของใบกระท่อม ยิ่งใบแก่ ยิ่งมีสาร Mitragynine มาก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องของพื้นที่เพาะปลูก
 
โดยกระท่อมที่เพาะปลูกในภาคใต้ พบว่ามีสาร Mitragynine มากกว่ากระท่อมที่เพาะปลูกในภูมิภาคอื่น ปัจจุบันประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ส่งออกกระท่อมมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกก็ได้นำเอากระท่อมสายพันธุ์ที่อยู่ในภาคใต้ของไทยไปใช้เพาะปลูกเช่นกัน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่ใช้ทางการแพทย์และอาหารได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสามารถส่งต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปยังภาคเอกชนที่มีโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP/PICs จะทำให้สามารถขยายขนาดการผลิตออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ได้ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการส่งออกสารสกัดกระท่อมของประเทศ
 
ทั้งนี้จากนโยบายส่งเสริมการใช้สมุนไพรของรัฐที่ส่งเสริมให้โรงพยาบาล-สถานพยาบาลใช้สมุนไพรทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน ประกอบกับเทรนด์การบริโภคของคนรุ่นใหม่ที่นิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพ จึงนับเป็นโอกาสที่ดีในการผลักดันให้กระท่อมกลายมาเป็นอีกหนึ่งในพืชเศรษฐกิจของภาคใต้ในอนาคต นอกจากสรรพคุณด้านการรักษาอาการและโรคต่าง ๆ แล้ว การใช้กระท่อมในการบำบัดสารเสพติดชนิดอื่น เช่น ยาบ้า เฮโรอีน ไอซ์ และแอลกอฮอล์ ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ปลอดภัยกว่าและก่อให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยอีกด้วย
 
ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง กล่าวว่า กระท่อมเป็นพืชท้องถิ่นทางภาคใต้ของไทย เนื่องด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ของภาคใต้ที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชกระท่อมจึงสามารถพบพืชกระท่อมได้มากในหลายจังหวัดภาคใต้ ในอดีตก่อนที่จะมีการประกาศให้กระท่อมเป็นสารเสพติดประเภท 5 ชาวบ้านในภาคใต้นิยมใช้ใบกระท่อมในการรักษาอาการต่าง ๆ เช่น อาการไอ ท้องร่วง ปวดท้อง ปวดฟัน และยังใช้รักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และใช้ทดแทนสารเสพติดชนิดอื่น ในการศึกษาดูงานครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมศึกษาดูงาน จำนวน 15 คน ประกอบด้วย หัวหน้าคณะทำงานและเลขานุการคณะทำงานขับเคลื่อนและพัฒนาพืชสมุนไพรกระท่อมจังหวัดตรัง ตามภารกิจ 3 ด้าน คือ ด้านการผลิต ด้านการแปรรูป และด้านการตลาด และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาเป็นแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนาพืชสมุนไพรกระท่อมจังหวัดตรัง และจากการไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ จังหวัดตรังจะได้บูรณาการร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในการพัฒนาพืชสมุนไพรกระท่อมจังหวัดตรัง ทั้งในระยะต้นน้ำ กลางน้ำ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน GMP ต่อไป

หน้าแรก » ภูมิภาค