วันอาทิตย์ ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 16:19 น.

ภูมิภาค

เริ่มแล้ว! อบจ.พัทลุงจัดใหญ่ เปิด 5 สนามแข่งโพนลากพระชิงถ้วยรางวัลพระราชทาน

วันพฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566, 11.29 น.

ผู้สื่อข่าวจังหวัดพัทลุงรายงานว่าเมื่อเวลา 19.00 น.วันที่ 30 ส.ค.นี้ ที่สนามชั่วคราว เทศบาลตำบลเขาเจียก อ.เมืองพัทลุง นายวิสุทธิ์  ธรรมเพชร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)พัทลุง เป็นประธานเปิดเวทีแข่งโพนลากพระชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รอบคัดเลือกสนามที่ 1 โดยเทศบาลตำบลเขาเจียกจัดให้มีการแข่งโพนเยาวชน โพนขนาดเล็ก โพนขนาดกลางและโพนขนาดใหญ่ ซึ่งปีนี้มีโพนจากค่ายโพนและโพนจากวัดต่างๆในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียง สมัครเข้าแข่งเป็นจำนวนมาก

 

 
นายวิสุทธิ์ ธรรมเพชร นายก อบจ.พัทลุง กล่าวว่า ประเพณีแข่งโพนลากพระจังหวัดพัทลุง เป็นงานประเพณี ที่ประชาชนให้ความสนใจและจัดให้มีการแข่งโพนลากพระชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่  และปีนี้ อบจ.พัทลุง ได้รับความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็ฯเจ้าภาพจัดแข่งโพนรอบคัดเลือกจำนวน 4 สนามๆ สนามที่ 1 เทศบาลตำบลเขาเจียก อ.เมืองพัทลุง จัดแข่งโพนรอบคัดเลือกระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม- วันที่  1 กันยายน สนามที่ 2   องค์การบริหารส่วนตำบลตะแพน อ.ศรีบรรพต เป็นเจ้าภาพจัดแข่งโพนรอบคัดเลือกระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน สนามที่ 3 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)ปันแต อ.ควนขนุน เป็นเจ้าภาพจัดแข่งโพนรอบคัดเลือกระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน สนามที่ 4 เทศบาลตำบลปรางหมู่ อ.เมืองพัทลุง เป็นเจ้าภาพจัดแข่งโพนรอบคัดเลือกระหว่างวันที่ 20-22 กันยายน และสนามที่ 5 เป็นการแข่งโพนรองชิงชนะเลิศ สนามหน้าสำนักงาน อบจ.พัทลุง และหน้าศาลาจตุระมุขพระพุทธนิรโรคันตรายชัยวัฒน์จตุระทิศ ระหว่างวันที่ 26-29 ตุลาคม  ซึ่งจะมีโพนเยาวชน โพนขนาดเล็ก โพนขนาดกลางและโพนขนาดใหญ่ ที่ชนะรอบคัดเลือกจาก 4 สนาม จำนวน 32 คู่ มาแข่งรอบชิงชนะเลิศ โพนที่เสียงดังชนะคู่แข่งทุกขนาดจะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล

 

 
 นายก อบจ.พัทลุง กล่าวอีกว่า งานแข่งโพนลาก เป็นงานประเพณีที่ชาวจังหวัดพัทลุง ได้จัดให้มีการแข่งโพนลากพระ ในช่วงวันออกพรรษาของทุกปี สำหรับปีนี้ อบจ.พัทลุง จัดเป็นงานใหญ่เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของจังหวัดพัทลุงและภาคใต้ นอกจากจะมีการแข่งโพนชิงถ้วยพระราชทานฯแล้ว ยังจัดให้มีการแข่งขันซัดต้ม ประกวดเรือพระ สมโภชเรือพระเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน การแสดงหนังตะลุงและการแสดงมโนราห์แบบโบราณ การประกวดธิดาโพนและการแสดงของนักเรียนนักศึกษาอีกด้วย
 
 
โพน เป็นเครื่องตีประโคมเสียงอีกชนิดหนึ่งที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในภาคใต้ โดยเฉพาะ จ.พัทลุง และจังหวัดใกล้เคียง ชาวบ้านยังนิยมสร้างโพนเพื่อนำไปใช้ตีบอกเวลา ตีส่งเสียงเตือนภัย และใช้ตีประโคมเสียงในกิจกรรมชักพระในวันออกพรรษา แม้ว่าปัจจุบันจะมีเครื่องตีชนิดอื่นเข้ามาใช้ทดแทน แต่การสร้างโพนยังมีแพร่หลายใน จ.พัทลุง และได้พัฒนาจากที่เคยสร้างโพนเพื่อนำไปถวายวัดให้พระได้ใช้ตีบอกเวลา หรือตีโพนเพื่อการอื่น ยังมีการสร้างโพนเพื่อจำหน่าย และสร้างเก็บไว้เพื่อใช้ตีในพิธีอื่นๆ อีกด้วย

 


 
การสร้างโพนใช่ว่าจะสร้างกันได้ง่ายๆ ต้องอาศัยชาวบ้านผู้ที่มีประสบการณ์ในการสร้างโพนตามแบบโบราณมาช่วยกำกับดูแล เริ่มตั้งแต่จัดหาไม้เนื้อแข็งให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ ส่วนใหญ่จะเป็นไม้ตะเคียนทอง ไม้ขนุน และไม้ประดู่ เพราะเนื้อแข็ง เนื้อจะไม่ยุ่ยเมื่อนำมาสร้างโพน แต่ปัจจุบันมีช่างสร้างโพนได้นำไม้ตาลโตนด แทนการใช้ไม้เนื้อแข็งอื่นๆ เมื่อได้ไม้มาแล้วตัดออกเป็นท่อนให้ได้สัดส่วนกับความใหญ่ของไม้ หลังจากนั้นเจาะขึ้นรูป และตบแต่งภายในให้เป็นอกไก่ เพื่อกำหนดเสียงโพนให้มีเสียงดังตามภูมิปัญญาของช่างโพนแต่ละคน

 


 

เสร็จแล้วนำหนังควายที่จัดเตรียมไว้มาแช่น้ำเพื่อให้หนังอ่อนนุ่ม และยังใช้ท่อนไม้ตีหนังควายเพื่อทำลายพังผืด และไขมันออกจากหนัง เมื่อหนังควายอ่อนบางได้ที่แล้วนำไปคลุมหน้าโพน ซึ่งได้เตรียมวางไว้กลางแจ้ง มีการใช้ไม้ทำเป็นคันเบ็ดเพื่อยึดหนังให้ตึง และชาวบ้านจะช่วยกันตีโพนต่อเนื่องหลายวัน ตีจนกว่าหนังควายจะตึงได้ที่ แล้วนำสลักที่จัดไว้ปักยึดหนังให้ติดกับโพน และจะทำเหมือนกันทั้ง 2 หน้า สร้างโพนแต่ละลูกจะต้องใช้เวลา 15-20 วัน ก่อนที่จะนำออกมาตี และจำหน่ายให้ผู้ที่สนใจหาซื้อโพนนำไปถวายวัดในพื้นที่ และต่างจังหวัด ปัจจุบัน จ.พัทลุง มีค่ายโพนมากถึง 32 ค่าย และ จ.พัทลุง มีโพนกระจายอยู่ตามค่ายโพน และยังใช้งานอยู่ตามวัดต่างๆ ใน จ.พัทลุง ประมาณ 800 ลูก และมีโพนบางลูกที่มีอายุยาวนานเกิน 100 ปี
 
 


 
สำหรับ โพน เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ จ.พัทลุง และเป็นหนึ่งเดียวของภาคใต้ที่ยังมีการอนุรักษ์รูปแบบการสร้างโพนแบบโบราณ นอกจากจะสร้างเพื่อนำไปถวายวัดให้พระได้ใช้งานแล้ว ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการสร้างโพน ยังได้จัดสร้างเพื่อจำหน่ายหาเงินมาเลี้ยงครอบครัว บางรายยังทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน และจัดตั้งค่ายสร้างโพนเป็นอาชีพหลักด้วย

 

 

 

หน้าแรก » ภูมิภาค