วันอังคาร ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2567 17:44 น.

ภูมิภาค

ฮอดแล้ว! บุญเดือน 5 นมัสการพระธาตุนคร วัดเก่าสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ขุดพบใบลานกรุองค์เก่า

วันพุธ ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2567, 17.40 น.

วันที่ 17 เมษายน 2567 ในเขตเทศบาลเมืองนครพนม หลังพ้นเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี ก็จะมีงานบุญเดือน 5 นมัสการพระธาตุนคร ซึ่งเป็นพระธาตุประจำวันผู้ที่เกิดวันเสาร์ ประดิษฐานอยู่วัดมหาธาตุ ริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร ปีนี้กำหนดจัดขึ้น ระหว่างวันที่ 20-26 เมษายน ตรงกับวันขึ้น 12 ค่ำ-แรม 3 ค่ำ เดือน 5 รวม 7 วัน 7 คืน และถือเป็นงานนมัสการพระธาตุองค์สุดท้าย ในจำนวนพระธาตุประจำวันเกิด 7 วัน 8 พระธาตุ ได้แก่ 1.วันอาทิตย์ พระธาตุพนม อ.ธาตุพนม, 2.วันจันทร์ พระธาตุเรณู อ.เรณูนคร, 3.วันอังคาร พระธาตุศรีคุณ อ.นาแก, 4.วันพุธ(กลางวัน) พระธาตุมหาชัย อ.ปลาปาก,และ วันพุธ(กลางคืน) พระธาตุมรุกขนคร อ.ธาตุพนม, 5.วันพฤหัสฯ พระธาตุประสิทธิ์ อ.นาหว้า,6.วันศุกร์ พระธาตุท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน และ 7.วันเสาร์ พระธาตุนคร เมื่อผ่านพ้นเดือน 5 ไปก็จะเข้าสู่หน้าฝน เป็นบุญเดือน 6 ประเพณีขอฝนหรือบุญบั้งไฟ
 


ทั้งนี้ งานนมัสการพระธาตุในจังหวัดนครพนม ส่วนใหญ่จะจัดกันในเดือน 4 หรือบุญเผวส มีเพียง 2 พระธาตุเท่านั้นที่ไม่ได้จัดในเดือน 4 คือ พระธาตุพนม องค์พระบรมธาตุหลักของชาวอีสาน ปฐมฤกษ์นมัสการในเดือน 3 หรือบุญข้าวจี่ และ พระธาตุนคร ปิดท้ายเป็นบุญเดือน 5 ตามที่กล่าวข้างต้น

 


จากการบอกเล่าของนายประพันธ์ พิมพานนท์ อายุ 61 ปี ประธานชุมชนวัดมหาธาตุ ให้ข้อมูลประวัติวัดได้อย่างน่าสนใจ ว่า เดิมทีชื่อว่าวัดมิ่งเมือง และองค์พระธาตุไม่ได้สูงใหญ่เหมือนปัจจุบัน สมัยนั้นคาดสร้างในยุคอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์รุ่งเรือง และบริเวณริมแม่น้ำโขงมีเพียงวัดเดียว เวลามีคนเสียชีวิตลง หลังจากฌาปนกิจแล้วก็จะนำกระดูกหรืออัฐิมาบรรจุในเจดีย์ ชาวอีสานจะเรียกว่าใส่ธาตุจนแทบเต็มพื้นที่วัด โดยเฉพาะกระดูกของเจ้าขุนมูลนายในสมัยนั้น

 


กระทั่งมาถึงสมัยรัชกาลที่ 3 พระยามหาอำมาตยาธิบดี (ป้อม) ขุนนางผู้มีบทบาทในการปกครองหัวเมืองภาคอีสาน ได้เดินทางไปทำบัญชีไพร่พลเมืองในพื้นที่ภาคอีสาน รวมถึงเมืองนครพนมด้วย ได้ใช้วัดมิ่งเมืองเป็นวัดใหญ่ประจำเมือง รวมทั้งตั้งเป็นศูนย์กลางการปกครอง การศึกษา มีพระมหาเถระ ครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้ปกครองดูแล และอำนวยการศึกษาอยู่เป็นประจำ ที่สำคัญในยุคนั้น เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาของข้าราชการใหญ่น้อยด้วย

ต่อมาปี พ.ศ. 2462 พระครูพนมคณาจารย์ เจ้าอาวาสในขณะนั้น ได้เชิญพระยาพนมนครานุรักษ์(อุ้ย นาครทรรภ) ผวจ.นครพนม ตลอดจนข้าราชการ ผู้เฒ่าผู้แก่ร่วมประชุม โดยอยากจะรื้อถอนธาตุเก่า ที่ระเกะระกะไม่เป็นระเบียบในวัด ถ้าหากว่ารื้ออกแล้วจะสร้างพระธาตุขึ้นมาใหม่

 


โดยพระธาตุองค์ใหม่ แล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2465 ภายในบรรจุพระอรหันตสารีริกธาตุ พระพุทธรูปทองคำและเงิน บรรจุผอบไม้จันทร์แดงที่ได้จากพระธาตุองค์เดิม รวมทั้งเพชรนิลจินดา เงินทอง เครื่องรางของขลัง ครุฑ ขอ นอ งา เดือย ตะกรุด และของมีค่าอื่นนำเข้าบรรจุไว้ โดยจัดงานฉลองสมโภชในวันขึ้น 13 ค่ำ-แรม 1 ค่ำ เดือน 6 ส่วนงานนมัสการถือเป็นงานประจำปี กำหนดจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อจากวัดมิ่งเมือง มาเป็นวัดมหาธาตุเพราะในอดีตมีเจดีย์บรรจุอัฐิจำนวนมากนั่นเอง

ประธานชุมชนได้เล่าต่ออีกว่า กรมศิลปากรได้มาสำรวจของเก่าที่ขุดได้จากพระธาตุองค์เดิม พบคัมภีร์ใบลานที่เหลือเพียงครึ่งเล่ม เขียนเป็นภาษาธรรม เก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ ที่ไปตรงกับคัมภีร์อีกเล่มหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี แต่เขียนกันคนละภาษา และเหลืออยู่ครึ่งเล่มเหมือนกัน ตอนนี้กรมศิลปากรได้นำไปศึกษาหาความเชื่อมโยงอยู่ หากแกะภาษาในใบลานออกมาได้สำเร็จ น่าจะทราบเรื่องราวของวัดมหาธาตุ รวมถึงประวัติเมืองนครพนมในอดีตได้มากขึ้น

 


สำหรับกิจกรรมงานนมัสการพระธาตุนคร วันแรกจะอัญเชิญพระอุปคุต สมมติว่าแม่น้ำโขงเป็นสะดือมหาสมุทร นำขึ้นมาปกปักษ์รักษาให้งานนมัสการผ่านพ้นไปด้วยดี และประกอบพิธีบวงสรวงบุญเดือน 5 บูชาพระธาตุนคร และในทุกๆวัน สาธุชนชาวพุทธ ร่วมทำวัตร สวดมนต์ และฟังเทศนาธรรม เวียนเทียนรอบองค์พระธาตุ

ส่วนด้านนอกด้านถนนสุนทรวิจิตร มีคาราวานสินด้าของดี 4 ภาค ชม ชิม ช็อป อาหารอร่อย และศิลปินลูกทุ่งหมอลำอีสาน ซึ่งระหว่างมีงานนมัสการพระธาตุนคร การจราจรอาจติดขัดบ้าง ขณะเดียวกันตำรวจ สภ.เมืองนครพนม ได้ทำความเข้าใจกับประธานชุมชน มัคนายก ไวยาวัจกร ห้ามให้มีการดื่มแอลกอฮอล์ภายในเขตวัด หากพบเห็นจะดำเนินคดีทุกราย  

 


ทั้งนี้ การไหว้พระธาตุประจำวันเกิด ตามความเชื่อของชาวอีสานแต่โบราณ ว่า ที่แห่งใดซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุหลัก บริเวณใกล้เคียงก็จะมีพระธาตุบริวาร เกิดขึ้นรายล้อมพระบรมธาตุองค์หลัก โดยเชื่อว่าเป็นพระธาตุที่แตกตัวมาจากพระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุของพระอรหันต์ และสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีดาวนพเคราะห์ประจำวันคอยปกปักษ์รักษา

จากความเชื่อดังกล่าว พบว่า จ.นครพนมมีความสอดคล้องกัน โดยพระธาตุพนมเป็นองค์พระธาตุหลัก และมีพระธาตุบริวารล้อมรอบอยู่ในอำเภอ นอกจากนั้นยังพบด้วยว่าชัยภูมิหรือลักษณะของพระธาตุบริวารสอดคล้องกับนิสัยและทิศประจำวันของเทวดานพเคราะห์ทั้งเจ็ด ความเชื่อเกี่ยวกับการสักการะพระธาตุประจำวันเกิดที่มีครบทั้ง 7 วัน จึงมีอยู่ที่เดียวในเมืองไทยคือที่ จ.นครพนม

 




ดังนั้นการได้กราบนมัสการพระธาตุ ถือเป็นการเสริมสร้างสิริมงคลให้แก่ชีวิต เพราะพระธาตุเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า การไหว้พระธาตุจึงเป็นเสมือนการกราบสิ่งแทนพระพุทธองค์ อันจะนำมาซึ่งความสุขความเจริญแก่ผู้ที่บูชาด้วยจิตศรัทธา ยิ่งหากพระธาตุองค์นั้นเป็นพระธาตุประจำวันเกิดของผู้กราบไหว้ด้วยแล้ว ก็จะเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองยิ่งขึ้นด้วย

หน้าแรก » ภูมิภาค