วันศุกร์ ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2567 06:26 น.

ภูมิภาค

ชาวประมงเมืองคอนผวามหัตภัยเอเลี่ยนสปีชีส์ "ปลาหมอคางดำ" บุกแหล่งน้ำลุ่มน้ำปากพนัง

วันพฤหัสบดี ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2567, 11.07 น.

วันที่ 19 มิ.ย. ที่ศูนย์ปฏิบัติการ ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราชโดยมี นายศรีธรรม ราชแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นประธาน ที่ห้องประชุมสำนักงานประมงจังหวัดนครศรีธรรมราช จัดประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งในที่ประชุมได้หยิบยกปัญหาการแพร่ะบาดของปลาหมอคางดำในจังหวัดนครศรีธรรมราช ,คำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำระดับกระทรวงฯและคำสั่งคณะทำงานแก้ไขปัญหาจังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยมติที่ประชุมร่วมกำหนดแผนปฏิบัติการและงบประมาณตามบริบทจังหวัดนครศรีธรรมราช เสนอกรมประมง 5 มาตรการ 10 กิจกรรมและในที่ประชุมเห็นว่าเป็นปัญหาเร่งด่วน และในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช ขณะนี้พบการแพร่ระบาดกระจายในแหล่งน้ำ อ.ปากพนัง หัวไทร และพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งหลายจุด จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นก่อนที่การแพร่ระบาดจะลุกลามขยายวงกว้างออกแจนอยากที่จะแก้ไข  โดยสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งลุ่มน้ำปากพนัง จำกัด ขอสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการอย่างเร่งด่วนต่อไป
  
นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต อ.ปากพนัง กล่าวว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ตนได้นำเสนอมาตรการเร่งด่วน อาทิ ให้จังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติ โดยแบ่งพื้นที่ที่แดง ซึ่งเป็นพื้นที่แพร่ระบาดอย่างหนัก  สีเหลืองแพร่ระบาดเล็กน้อย เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง  ให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับเกษตรกร ห้ามผู้ใดเเลี้ยงขยายพันธุ์อบ่างเด็ดขาด ให้จัดชุดไล่ล่าจับปลาหมอคางดำอย่างจริงจังต่อเนื่องและให้ตั้งจุดรับซื้อ 6 จุด อำเภอปากพนัง 3 จุด อำเภอหัวไทร จะรับซื้อ กก.ละ 15 บาท  เพื่อบริโภคและทำลายโดยส่งขายโรงงานปลาป่น  ซึ่งในที่ประชุมเห็นด้วยและมีมติให้เร่งดำเนินการอย่าวงเร่งด่วนต่อไป
  
โดยปลาหมอคางดํา หรือ Blackchin tilapia จัดอยู่ในวงศ์ Cichlidae (ซิคลิเด) เช่นเดียวกับปลาหมอเทศ และปลาหมอสี ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่น้ำกร่อยปากแม่น้ำ สามารถทนทานความเค็มได้สูง พวกมันจึงพบแพร่กระจายตลอดแนวชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปที่ผ่านมา พบการนําเข้าพันธุ์ปลาหมอคางดําในหลายประเทศ ทั้งอเมริกา ยุโรป เอเชีย และพบมีรายงานการเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นรุกราน ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และฟิลิปปินส์ในระดับโลก “สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างถิ่น” คือปัญหาสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม จากรายงาน “Report on Invasive Alien Species” (พ.ศ. 2566) ขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ในหลายพื้นที่ทั่วโลกเกิดความโกลาหลด้านสิ่งแวดล้อมจากการรุกรานของพืชและสัตว์ต่างถิ่น
  
“ปลาหมอคางดำ” ปลาต้องห้าม แต่พบว่ามีการแพร่กระจายอยู่ในกว่า 13 จังหวัดของไทยขณะนี้ นี่คือ Alien Species หรือสายพันธุ์รุกรานต่างถิ่น ที่มีทั้งความอึด ทนทาน โตเร็ว และที่สำคัญยังอยู่ได้ในทุกแหล่งน้ำ ไม่ว่าจะน้ำจืด น้ำกร่อย หรือน้ำเค็ม นั่นทำให้มันสามารถกระจายตัวไปในแหล่งน้ำธรรมชาติได้อย่างรวดเร็ว
  
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุ เมื่อปี 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) มีมติอนุญาตให้บริษัทเอกชนนำเข้าปลาหมอคางดำจากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข ต่อมาปี 2553 มีการนำเข้าปลาหมอคางดำจำนวน 2,000 ตัว มาเพาะเลี้ยงในศูนย์ทดลอง ในพื้นที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม
  
นายไพโรจน์ รัตนรัตน์ สมาชิกสภาเกษตรจังหวัดครศรีธรรมราช เขต อ.ปากพนัง เปิดเผยว่า ปลาหมอคางดำ ได้กลายเป็น เอเลี่ยนสปีชีส์ หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วและทำลายสัตว์น้ำประจำถิ่น ก่อนหน้านี้มีรายงานพบการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำสร้างปัญหาในกว่า 13 จังหวัดของไทย  ประกอบด้วย กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ระยอง   ราชบุรี  จันทบุรี  เพชรบุรี  ชลบุรี  ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรปราภาร  ชุมพร  สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี และ สงขลา รายงานการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำพบครั้งแรก ในปี 2555 เกษตรกรในพื้นที่ ต.ยี่สาร ต.แพรกหนามแดง และ ต.คลองโคลน จ.สุมทรสงคราม ได้พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จากนั้นพบแพร่ระบาดไปยังแม่น้ำประแสร์ จ.ระยอง และในเขตภาคใต้คือ จ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์  และ จ.ชุมพร  ส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของสัตว์น้ำพื้นถิ่นและระบบนิเวศแหล่งน้ำ และรายงานก่อนหน้านี้พบการระบาดของปลาหมอคางดำไกลไปถึงพื้นที่ จ.สงขลา บริเวณคลองแดน อ.ระโนด ชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า เริ่มเจอครั้งแรกเมื่อราว ๆ 2 ปีก่อน แต่เรียกกันว่าปลานิลแก้มดำ ในช่วงปีที่พบมาก ๆ แต่ละวันจะจับได้ คนละ 20-30 กิโลกรัม จนล่าสุดพบแพร่ระบาดหนักในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดที่ 14 ของประเทศไทย
   
ปลาหมอคางดำเป็นนักกิน ที่กินทั้งพืช สัตว์ และแพงก์ตอน ลูกปลา ลูกหอยสองฝา รวมถึงซากของสิ่งมีชีวิต  ที่สำคัญยังมีลำไส้ที่ยาวกว่าลำตัวถึง 4 เท่า และยังมีระบบย่อยอาหารที่ดี ทำให้มีความต้องการอาหารตลอดเวลา บวกกับนิสัยที่ค่อนข้างดุร้าย การมีอยู่ของปลาหมอคางดำจึงส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ร่วมลำน้ำ ลักษณะของปลาหมอคางดำ คือ ทนต่อความเค็มได้สูง จึงพบได้ทั้งในน้ำจืด บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลน และในทะเลขนาดตัวโตเต็มวัย ลําตัวยาวถึง 8 นิ้ว เพศผู้จะมีสีดําบริเวณหัวและบริเวณแผ่นปิดเหงือก มากกว่าเพศเมีย สามารถผสมพันธุ์ทุก ๆ 22 วัน วางไข่ได้ทั้งปี แม่ปลา 1 ตัว สามารถให้ไข่ได้ประมาณ 150 – 300 ฟอง การฟักไข่และดูแลตัวอ่อนจะอยู่ในปากปลาเพศผู้ โดยไข่จะใช้เวลาฟักประมาณ 4 – 6 วัน และพ่อปลาจะดูแลลูกปลา โดยการอมไว้ในปากนาน ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ในปัจจุบันปลาหมอคางดำ กลายเป็นภัยคุกคามสัตว์น้ำพื้นถิ่น ทำให้ความหลากหลายของสัตว์น้ำวัยอ่อนลดลง อีกทั้งยังขาดขาดผู้ล่าในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งนั่นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในภาพรวม
  
ปัจจุบันในหลายพื้นที่แม้จะมีปลาหมอคางดำจะมีจำนวนมากในแหล่งน้ำธรรมชาติ แต่คนไม่นิยมนำไปรับประทาน เพราะเนื้อบาง ก้างเยอะและกินไม่อร่อย จึงมักขายไม่ได้ราคา  ในสายตาของเกษตรกร ปลาหมอคางดำคือผู้ร้ายที่รุกรานผลผลิตด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นั่นเพราะรายได้จากการลงทุนลงแรงต้องสูญหายไป หากเทียบราคาสัตว์น้ำที่ปลาหมอทำลาย  กุ้งขาว 1 กิโลกรัม ราคาประมาณ 120 – 170 บาท (แล้วแต่ขนาด)  กุ้งก้ามกราม 1 กิโลกรัม ราคาประมาณ 160 – 350 บาท (แล้วแต่ขนาด) ปลานิล 1 กิโลกรัม ราคาประมาณ 60 บาท ในขณะที่ปลาหมอคางดำ ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 3 – 5 บาท
  
ส่วนการป้องกันและกำจัดปลาหมอคางดำออกจากบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำยังมีความยุ่งยาก และยังส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นมาก แต่อาจไม่ได้ผลดี เพราะปลาชนิดนี้ขยายพันธุ์และโตเร็ว หน่วยงานรัฐของไทยพยายามวางแนวทางในการรับมือปัญหา โดยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2560 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีมติให้ ปลาหอมคางดำ ขึ้นบัญชีเป็น 1 ใน 12 ชนิดพันธุ์สัตว์ต่างถิ่นที่มีความสำคัญลำดับสูงสุด เพื่อจัดทำแนวทางการป้องกัน ควบคุม จำกัด รวบรวมวิเคราะห์เส้นทางการระบาด
  
ด้านกรมประมงออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดสัตว์น้ำห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง มีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 มีนาคม 2561 สำหรับสัตว์น้ำ 3 ชนิดเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือผู้ที่อธิบดีกรมประมงมอบหมายได้แก่ 1.ปลาหมอคางดำ 2.ปลาหมอมายัน 3.ปลาหมอบัตเตอร์ ซึ่งมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน จำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีทำความผิดแล้วนำไปปล่อยในที่จับสัตว์น้ำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  สำหรับแนวทางในการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับมาสมบูรณ์ มีข้อเสนอ ทั้งการป้องกัน การควบคุม การตรวจจับในช่วงต้นและการกำจัด รวมทั้งการส่งเสริมให้นำปลาหมอคางดำมาบริโภค และแปรรูปเป็นอาหาร เพื่อเพิ่มมูลค่า นอกจากนั้น การศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์ปลาให้ลดการเป็นผู้ล่า และเพิ่มคุณค่าทางอาหาร รวมถึงคุณภาพของเนื้อปลาเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ ก็เป็นอีกข้อเสนอในการลดจำนวนปลาหมอคางดำในธรรมชาติ.

หน้าแรก » ภูมิภาค