วันจันทร์ ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 13:25 น.

ภูมิภาค

เกษตรกรเฮ! บริษัทส่งออกข้าวรับซื้อคาร์บอนต่ำแห่งแรกของไทยพร้อมประกันราคา

วันพฤหัสบดี ที่ 04 กรกฎาคม พ.ศ. 2567, 11.38 น.

ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ได้มีการลงนามรับซื้อข้าวเปลือกพันธุ์ ปทุมธานี 1 ระหว่างบริษัท โตมี ฟู้ดส์ แอนด์ โปรดักส์ จำกัด โดยนางสาวภาวิณี เทพเกษตรกุล กรรมการผู้จัดการ เป็นผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัท ( ผู้ซื้อ ) วิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ตำบลเดิมบาง โดยมีนายถาวร คำแผง และนางสวณีย์ โพธิ์รัง ผู้จัดการกลุ่มนาแปลงใหญ่ ผู้มีอำนาจกระทำการแทนวิสาหกิจชุมชนฯ (ผู้ขาย)  และกลุ่มนาแปลงใหญ่ตำบลป่าสะแก อำเภอเดิมบางนางบวช โดยนายไพรัช ทองไพรวรรณ ประธานกลุ่มนาแปลงใหญ่ ตำบลป่าสะแก อำเภอเดิมบางนางบวช  โดยมีนายวสันต์ จี้ปูคำ เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี นายไพรัช หวังดี  อดีตรองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามครั้งนี้

นายวสันต์ จี้ปูคำ เกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี เปิดเผยว่าการทำบันทึกข้อตกลงวันนี้เป็นการทำนาแบบเปียกสลับแห้งซึ่งจังหวัดสุพรรณบุรีได้ส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรทำนาแบบเปียกสลับแห้งซึ่งการทำเกษตรแบบนี้ถือเป็นการช่วยโลก ลดโลกร้อน ซึ่งจากผลการวิจัยการทำนาแบบขังน้ำไว้ในนาจะทำให้เกิดก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และจะทำให้เกิดภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อากาศแปรปรวน อำเภอเดิมบางนางบวช โดยกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวสมัยใหม่เดิมบางก็ได้ดำเนินโครงการตรงนี้ซึ่งเราได้ร่วมกับโครงการไทยไรซ์นามา เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมัน ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี2562 เกษตรกรก็สามารถปลูกข้าวและสามารถขายคาร์บอนเครดิตได้

วันนี้บริษัทโตมี เห็นความสำคัญการทำนาแบบลดโลกร้อนหรือการทำนาแบบเปียกสลับแห้งก็เลยมาทำสัญญาซื้อขายข้าวปทุมธานี 1 ที่เกษตรกรทำนาแบบเปียกสลับแห้ง โดยวิธีประกันราคา ตันละ 15,500 บาทในความชื้นไม่เกิน 15 % เป็นการยกระดับอาชีพเกษตรกรอีกอันหนึ่งซึ่งเกษตรกรต้องปฏิบัติตามวิธีการของบริษัทที่ตกลงไว้แบบเปียกสลับแห้งวันนี้มีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการ 34 รายพื้นที่ 500 ไร่ถือว่าเป็นกลุ่มแรกของจังหวัดสุพรรณบุรีที่เกษตรกรทำนาได้กำหนดราคาของตัวเองและมีบริษัทมารับซื้อนอกจากจะส่งเสริมให้พี่น้องมีรายได้การทำนาแบบเปียกสลับแห้งถือว่าเป็นกลุ่มเกษตรกรที่มีความรักต่อโลกของเราลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นการช่วยโลก อยากฝากพี่น้องประชาชนทั่วไปได้อุดหนุนสินค้าและข้าวคาร์บอนต่ำหรือข้าวรักโลกของกลุ่มชาวนาที่ได้ดำเนินกิจกรรมนอกจากช่วยชาวนาแล้วยังช่วยโลกด้วย

ซึ่งทางสำนักงานเกษตรจังหวัดได้สนับสนุนให้เกษตรกรใช้ เทคโนโลยี 4 ป.+1 IPM ประกอบด้วย  ป 1 “ปรับหน้าดิน” : การปรับที่นาด้วยระบบเลเซอร์ (Laser Land Leveling : LLL) ให้มีความราบเรียบ สม่ำเสมอทั่วทั้งแปลงนา ซึ่งจะช่วยให้สามารถจัดการให้น้ำ ปุ๋ย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ป 2 “เปียกสลับแห้ง” : การทำนาเปียกสลับแห้ง ลดการขังน้ำในนาข้าว ช่วยลดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งในการเกิดก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาแบบปกติเฉลี่ย45% และยังลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสูบน้ำ ป 3 “ปุ๋ยวิเคราะห์” : การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เกษตรกรสามารถใช้ปุ๋ยอย่างเหมาะสม ไม่เกินความต้องการของพืช ช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ย และลดต้นทุนค่าปุ๋ย ส่งผลให้เกิดก๊าซไนตรัสออกไซด์จากการใช้ปุ๋ยลดลง
   
ป 4 “แปรสภาพฟาง ตอซัง” : การแปรสภาพฟางข้าวปลอดการเผาสู่การไถกลบหรือส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ นอกจากจะเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน ใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์แปรรูปจากฟางข้าวแล้วยังช่วยลดก๊าซมีเทน ลดก๊าซไนตรัสออกไซด์ และลดมลพิษทางอากาศ PM2.5 จากการเผาฟางข้าว  IPM (Integrated Pest Management) : การป้องกันกำจัดศัตรูพืชแบบผสมผสาน ส่งเสริมให้เกษตรกร ใช้เครื่องมือวัดสภาพแวดล้อม (อุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน) เพื่อพยากรณ์การระบาดของศัตรูพืช ส่งผลให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาและอากาศสะอาดขึ้น จากการลดการเผาในพื้นที่นาข้าว ปลอดหมอกควันและฝุ่น PM2.5 และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า มีประสิทธิภาพด้วยการจัดการน้ำ ทำนาแบบเปียกสลับแห้ง

นางสวณีย์ โพธิ์รัง ผู้จัดการกลุ่มนาแปลงใหญ่ กล่าวว่าในส่วนของโครงการข้าวคาร์บอนต่ำ เป็นโครงการที่ทางบริษัทโตมี ได้มารับซื้อข้าวเปลือกในส่วนของเกษตรกรกลุ่มนาแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่เดิมบางจากการทำนาแบบเปียก สลับแห้ง หรือเรียกว่าเป็นชาวนารักษ์โลก ซึ่งเราทำมาตั้งแต่ปี 2558 การทำนาแบบเปียกสลับแห้งช่วยทำให้เราลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้น้ำได้ 30-50 % ช่วยลดน้ำมันเชื้อเพลิงได้ 50 % ที่สำคัญช่วยลดการเกิดก๊าซมีเทนที่ส่งผลต่อสภาวะโลกร้อน การทำนาทุกวันนี้โลกร้อนมากขึ้นทำให้เราเกษตรกรประสบปัญหาในเรื่องของสภาพอากาศภัยธรรมชาติ เราก็ต้องปรับตัวในเรื่องการประกอบอาชีพทำนา

การทำนาแบบเปียกสลับแห้งก็จะเป็นอีก1 ทางเลือกและทางรอดให้กับเกษตรกรที่ต่อสู้กับสภาพอากาศและสภาวะภัยแล้ง ในเรื่องของเปียกสลับแห้ง สามารถช่วยลดการใช้น้ำทำให้ข้าวแตกกอได้ดีหาอาหารได้มากยิ่งขึ้นทำให้ต้นข้าวแข็งแรงช่วยต้านทานโรคและแมลง ส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นถึง 20 % จากเมื่อก่อนที่ทำนาแบบเดิมๆจะได้ผลผลิต เฉลี่ยประมาณ 750 กิโลกรัมต่อไร่ปัจจุบันเราได้ผลผลิต 1 ตันต่อไร่ยืนยันได้ว่าผลผลิตเพิ่มขึ้นจริงอย่างน้อย 20%

การเข้าร่วมกับบริษัทโตมี จะมีการรับซื้อปทุมธานี 1 จากการทำนาแบบเปียกสลับแห้งโดยประกันราคาข้ามที่มีความชื้นไม่เกิน 15 % ตันละ 15,500 บาท ซึ่งถือว่าอยู่ในราคาที่ดี ที่สำคัญการทำนาแบบเปียกสลับแห้งช่วยลดทำให้เราสามารถมีทางเลือกมีตลาดที่แน่นอนเรียกว่าการตลาดนำการผลิตมีผู้รับซื้อแน่นอนแล้วยังประกันราคาในการค้าขายคือถ้าในอนาคตข้าวราคาสูงขึ้นบริษัทก็จะบวกเพิ่มให้อีกและถ้าราคาตถูกกว่าราคาประกันทางบริษัทก็ยังรับซื้อในราคาประกัน ขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกข้าวสนใจเข้าร่วมโครงการทำนาแบบเปียกสลับแห้งเนื่องจากการทำนาแบบเปียกสลับแห้งจะเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรที่จะสามารถต่อสู้ในเรื่องของภัยแล้งและสภาพอากาศที่แปรปรวนที่สำคัญเรายังต่อยอดมีตลาดที่แน่นอนบริษัทต่างๆให้ความสนใจแล้วยังมีผลพลอยได้จากการขายคาร์บอนเครดิตด้วย เกษตรกรที่สนใจสามารถมาศึกษาเรียนรู้วิธีการการทำนาแบบเปียกสลับแห้งได้ที่ศูนย์เรียนรู้ลดโลกร้อนนาแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม อยู่ที่ตำบลเดิมบาง อำเภอเดิมบางนางบวช หรือเฟซบุ๊กของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่เกษตรสมัยใหม่เดิมบาง หรือโทรสอบถามได้ที่หมาย 086-8055479 นางสวณีย์ โพธิ์รัง หรือพี่ติ๊ก ผู้จัดการกลุ่มนาแปลงใหญ่

นางสาวภาวิณี เทพเกษตรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โตมี ฟู้ดส์ แอนด์ โปรดักส์ จำกัด เป็นผู้มีอำนาจกระทำแทนบริษัท ( ผู้ซื้อ )เปิดเผยว่าบริษัทมองเห็นความสำคัญของกลุ่มนาแปลงใหญ่เดิมบางเพราะกลุ่มเดิมบางมีชื่อเสียงในการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งมาก่อนมีความรู้มีความเข้าใจถึงข้าวที่จะลดโลกร้อน ข้าวที่ปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นไปสู่ชันบรรยากาศทำให้ไปกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งทางกลุ่มมีความรู้ที่ดีมาก ทางกลุ่มบริษัทโตมี ก็เลยเริ่มจากกลุ่มเดิมบาง โดยทางเราสนใจที่จะซื้อข้าวปทุมธานี 1 เราจึงมองพื้นที่สุพรรณบุรี เพราะข้าวปทุมธานี คือการพัฒนาพันธุ์ข้าวของพันธุ์ข้าวหอมสุพรรณบุรี มาเป็นปทุมธานี1 ดังนั้นถือว่าพื้นที่นี้ดีที่สุดในการเริ่มซื้อข้าว

ขั้นตอนการรับซื้อข้าวเราจะสอบถามส่วนราชการหัวหน้ากลุ่มเกษตรกรถามถึงความสนใจในการปลูกข้าวหอมปทุมธานี ซึ่งชาวนาก็จะบอกว่าการปลูกข้าวหอมปทุมธานี จะยุ่งยากในเรื่องการปลูกเพราะใช้ระยะเวลานานกว่าข้าวขาวทั่วไป ถึง 121 วันเราจึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชาวนามาปลูกข้าวให้เราโดยขั้นแรกเราต้องชักจูงด้วยราคาก่อน ซึ่งเราจะมีเจ้าหน้าที่โดยความร่วมมือระหว่าง  SCI และ  JIZ  ที่เข้ามาให้ความรู้เกษตรกรว่าการจะปลูกข้าวลดโลกร้อน หรือ ‘ข้าวคาร์บอนต่ำ’ต้องทำอย่างไร ซึ่งทางเราประกันราคาให้เกษตรกร เราจะรับซื้อกลุ่มเกษตรกรในราคาที่เราประกันไว้ถ้าราคาตลาดสูงกว่าราคาที่เราประกันเราก็จะซื้อตลาดที่บวกส่วนต่างขึ้นไปอีกถ้าราคา ณ วันที่เรารับซื้อต่ำกว่าราคาตลาดเราก็จะรับซื้อในราคาที่เราประกันราคาไว้ ตอนนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 500 ไร่  จากการตั้งเป้าเอาไว้ 1,000 ไร่ซึ่งก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี 500 ไร่ถือว่าประสบความสำเร็จเกษตรกรให้ความสนใจในฤดูกาลหน้าด้วย สำหรับสุพรรณบุรีนี้ถือว่าเป็นแห่งแรกของบริษัทที่เข้ามารับซื้อเบื้องต้นเราเริ่มรับซื้อข้าวหอมปทุมธานี 1 อย่างเดียวก่อน

อยากฝากถึงพี่น้องเกษตรกรว่าข้าวที่เป็นการปล่อนคาร์บอน หรือก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ นั้นไม่ได้ช่วยแค่โลกของเราแต่ยังช่วยเพิ่มผลผลิต ช่วยลดต้นทุนกองกลุ่มเกษตรกรซึ่งต่อไปความสำคัญของข้าว Low carbon  จะมีมากขึ้นไปเรื่อยๆไม่ว่าจะเป็นข้าวทุกชนิด หรือแม้แต่พืชเกษตรทุกอย่างไม่จะปลูกต้นไม้ หรือปลูกผักผลไม้ ตัวนี้จะเป็นโครงการที่ดีสำหรับเมืองไทยของเราเพราะเป็นประเทศกสิกร กสิกรรม คิดว่าโครงการนี้จะนำไปสู่สิ่งที่ดีอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับโครงการให้มากยิ่งๆขึ้นไปด้วย

หน้าแรก » ภูมิภาค