วันพฤหัสบดี ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:14 น.

ภูมิภาค

ฮือฮา! “พญานาค 9 เศียร” โผล่กลางวัดหัวดอน พระธาตุพระสิวลี อรหันต์แห่งโชคลาภ

วันพุธ ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2567, 09.54 น.

วัดหัวดอน ถือเป็นวัดโบราณอายุกว่า 200 ปี ตั้งอยู่ริมถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 (ชยางกูร) สายนครพนม-มุกดาหาร ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอธาตุพนม จ.นครพนม กลายเป็นที่ฮือฮาทันที หลังจากพระครูสีลาจารธำรง หรือพระอาจารย์ ดร.แก้ว ฐิตสีโล เจ้าอาวาสได้สร้างความสนใจให้กับสายบุญ ร่วมทั้งสายมูพญานาค โดยได้ร่วมกับพลังศรัทธาก่อสร้างพญานาคองค์ใหญ่ และเป็นจอมอธิบดีปกครองหมู่นาคทั้งปวง ซึ่งองค์นาคราชที่ว่านี้ก็คือท้าววิรูปักโขนาคราช 9 เศียร ซึ่งเป็นผลมาจากนิมิตเกจิดังหลวงปู่คำไหล ปริสุทโธ เจ้าอาวาสวัดศรีชมภู บ้านอูนนา ต.นางัว อ.นาหว้า จ.นครพนม

 


โดยท้าววิรูปักโขนาคราช ซึ่งเป็นพญานาคตระกูลสีทอง ทางวัดหัวดอนออกแบบการก่อสร้างความสูงเกือบ 30 เมตร แผ่พังพานปรกพระธาตุเจดีย์สีวลี พระอรหันต์แห่งลาภสักการะ ถือเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า ส่วนที่มาของปางนาคปรก 9 เศียร สื่อถึงการดูแลพระพุทธศาสนาครั้งพุทธกาลเมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้พระธรรมวิเศษ นอกจากนี้พระอาจารย์แก้ว เจ้าอาวาสวัดหัวดอน รวมถึงพลังศรัทธาตั้งใจอยากให้เป็นแลนด์มาร์กศักดิ์สิทธิ์สำคัญ ให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ที่เดินทางมากราบนมัสการองค์พระธาตุพนม ได้มีโอกาสมากราบไหว้ขอพรพญานาค 9 เศียรวัดหัวดอน ตามประเพณีความเชื่อ เพราะเป็นเส้นทางเดียวกัน จะส่งผลดีต่อการส่งเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวเชิงธรรมะ ล่าสุดคณะกรรมการวัดเตรียมจัดบวงสรวงใหญ่ ถือฤกษ์วันที่ 9 เดือน 9 ตรงกับวันจันทร์ที่  9 กันยายน 67 ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 10

 


พระอาจารย์แก้ว ฐิตสีโล เจ้าอาวาสวัดหัวดอน ต.ธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เปิดเผยว่าได้อุปสมบทจำพรรษาอยู่วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จนกระทั่งได้รับการแต่งตั้งมาดูแลวัดหัวดอน ถือเป็นวัดโบราณอายุเก่าแก่กว่า 200 ปี จึงได้มีการพัฒนาปรับปรุงก่อสร้างศาสนสถานถาวรวัตถุ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมะอย่างต่อเนื่อง จนมีประชาชน นักท่องเที่ยว เดินทางมาทำบุญไม่ขาดสาย
 

นอกจากนี้ภายในวัดยังเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองอายุเก่าแก่เกือบ 100 ปี คือ พระสมเด็จนางพญาศรีสมพร หรือนางพญาแห่งลุ่มแม่น้ำโขง พระพุทธรูปปางมารวิชัย หรือปางชนะมาร หรือปางมารสะดุ้ง ศิลปะล้านช้าง ซึ่งเป็นพี่น้องกับกับพระชัยอัปสร มีสายศรัทธามาขอพรสมหวังด้านโชคลาภ บารมี ประสบความสำเร็จด้านหน้าที่การงาน ที่สำคัญตนยังมีความเชื่อในเรื่องบารมีองค์พญานาค ที่ปกปักษ์รักษาองค์พระธาตุพนมตามตำนานความเชื่อ จึงได้ร่วมกับพลังศรัทธา ก่อสร้างพญานาคองค์ใหญ่ เจ้าแห่งพญานาค ท้าววิรูปักโขนาคราช 9 เศียร ความสูงเกือบ 30 เมตร เป็นพญานาคองค์สีทอง 9 เศียร ขดลำตัวล้อมรอบพระธาตุเจดีย์สีวลีเถระ พระอรหันต์แห่งลาภสักการะ ซึ่งเป็นพระภิกษุสาวกเอตทัคคะของพระพุทธเจ้า โดยท่านได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ ให้เป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางผู้มีลาภมาก

 


ทั้งนี้เป็นการแสดงออกถึง การทะนุบำรุงปกป้อง ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เชื่อว่าจะเป็นการเสริมบุญบารมี เสริมศักยภาพเส้นทางท่องเที่ยวสายมูพญานาค ให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ที่เดินทางมากราบขอพรองค์พระธาตุพนม ได้แวะกราบไหว้ขอโชคลาภท้าววิรูปักโข เจ้าแห่งพญานาค เชื่อว่าประทานพร เรื่องโชคลาภบารมีสมหวังทุกด้าน พร้อมเชิญชวนประชาชน นักท่องเที่ยว พลังศรัทธาสายบุญ สายมูพญานาค มาร่วมบวงสรวงใหญ่ครั้งแรก ถือฤกษ์วันที่ 9 เดือน 9 หรือวันที่ 9 กันยายน 2567 ที่จะถึงนี้


พระสมเด็จนางพญาศรีสมพร และพระชัยอัปสร เป็นพระพุทธรูปสำคัญอายุเกือบ 100 ปี ถือเป็นพระพี่พระน้อง สร้างขึ้นเมื่อปี  2475 นายโพ มีชาวบ้านผู้เปี่ยมด้วยศรัทธา รวบรวมทรัพย์สินอันมีค่า เพื่อหล่อพระพุทธรูป ณ วัดโพธิ์เครือ ต.บ้านเสียว อ.นาหว้า จ.นครพนม มีพระครูสอน พระมหาเถระผู้ทรงวิทยาคม เป็นผู้ดำเนินการหล่อ สิ่งของมีค่าที่นำไปหล่อพระในครั้งนั้นสามารถหล่อพระพุทธรูปได้ถึง 2 องค์ คือพระศรีสมพรและพระชัยอัปสร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้างอันงดงาม

 


ภายหลังมีการอัญเชิญมาประดิษฐาน ที่วัดหัวดอน อ.ธาตุพนม เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่ประทานพร ด้านหน้าที่การงาน โชคลาภ เสริมบารมี สามารถดลบันดาลให้ ประสบความสำเร็จด้านหน้าที่การงาน ต่อมาปี 2540 พระชัยอัปสรพระพุทธรูปองค์น้อง ได้หายไปอย่างไร้ร่องรอย จนกระทั่งปี 2566 มีเซียนพระได้เช่าบูชาพระพุทธรูปโบราณองค์หนึ่ง ที่ร้านเช่าพระเครื่องแห่งหนึ่งใน จ.ขอนแก่น ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับพระศรีสมพรเป็นอย่างมาก จึงได้สอบถามไปยังพระอาจารย์แก้ว ฐิตสีโล และได้รับการยืนยันว่า พระพุทธรูปองค์ดังกล่าวคือพระชัยอัปสรที่หายไปนั่นเอง

 


           

ทั้งนี้การกลับมาของพระชัยอัปสร นับเป็นเรื่องราวอันน่าประทับใจที่แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งศรัทธาและความเชื่อมั่นในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อีกทั้งยังเป็นเครื่องยืนยันถึงคุณค่าและความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่สืบไป

 

 

หน้าแรก » ภูมิภาค