วันจันทร์ ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2567 20:36 น.

ภูมิภาค

หวิดล่ม! กรมทางหลวงประชุมชี้แจงโครงการแลนด์บริดจ์ หลังชาวชุมพรระนองบุกยื่นหนังสือคัดค้าน

วันอังคาร ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2567, 18.19 น.

กรมทางหลวงร่วมกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา จัดประชุมปฐมนิเทศโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวงพิเศษสาย ชุมพร-ระนอง (โครงการแลนด์บริดจ์เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยอันดามัน) หวิดล่มหลังเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะและเครือข่ายรักษ์ระนอง กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าวประมาณ 300 คน พร้อมชูป้ายคัดค้านการจัดประชุมไม่เป็นไปตามขั้นตอนพร้อมขอให้ยุติการประชุมดังกล่าวและยื่นหนังสือคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ และคัดค้านร่างพ.ร.บ.SEC

 


 

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 22 ต.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมใหญ่บริเวณภายในศูนย์ราชการสามแก้ว ตำบลนาชะอัง อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร นายกีฑา เดชพิน ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชุมพร กรมทางหลวงและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาประกอบด้วย นายฤทธิชัย วุ้นศิริ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม นายมนูญ แสงเพลิง ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม นายเด่นศักดิ์ สุขกูล จัดการโครงการ นายมรรครินทร์ จันโทภาส วิศวกรงามทาง จัดการประชุมภายใต้ชื่อ “ปฐมนิเทศโครงการ(สัมมนา ครั้งที่ 1 ) โครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายชุมพร-ระนอง” หรือ “โครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยอันดามัน ชุมพร-ระนอง โดยมีนายธนนท์ พรรพีภาส รองผู้ว่าจังหวัดชุมพร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานเปิดการประชุม

 


 

แต่ปรากฏว่าขณะเดียวกันได้มีกลุ่มเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะและรักษ์ระนอง ประมาณ 300 คน เดินทางเข้าห้องประชุมพร้อมชูป้ายคัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ฯ ทั้งนี้นายสมโชค จุงจารันต์ คณะทำงานเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะและตัวแทนชาวบ้านเพื่อเรียกร้องให้ระงับการประชุมในครั้งนี้ไว้ก่อนและยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร โดยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร
 

ระหว่างรอการยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรนายสมโชคฯ กล่าวหน้าเวทีการประชุมโดยมีเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ-รักษ์ระนองและประชาชนผู้เข้าร่วมประชุมว่า “วันนี้เรามาไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ แต่อยากให้ท่านได้เข้าใจว่าบริบถพะโต๊ะบริบถระนองเราอยู่เย็นเป็นสุข

 



โครงการนี้เข้ามาตามที่รัฐชี้แจงการสร้างงาน สร้างรายได้กว่า 2.8 แสนตำแหน่ง ดูจากราชบัญญัติ พ.ร.บ.SEC จำนวน 2 ฉบับที่เกิดขึ้นจากนายอนุทินฯหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่มีมาตราไหนให้สิทธิผลประโยชน์คนไทย ไม่เชื่อกลับไปอ่านดูได้ โดยเฉพาะในส่วนของให้อำนาจคณะกรรมการกำหนดนโยบายสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงผังเมือง สิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถยอมรับได้ การเปลี่ยนแปลงผันเมืองเป็นขั้นแรกสู่ความเปลี่ยนแปลงเป็นนิคมอุตสาหกรรม แล้วจะมีอัตราการทำงาน
 

นายสมโชคฯ กล่าวอีกว่า แล้วจะมีอัตราการทำงานอันนี้เป็นเรื่องโกหก เพราะร่างพ.ร.บ.SEC กฎหมายฉบับนี้ 8 หมวด 67 มาตรา ระบุชัดเจนว่า ให้สิทธิผู้ประกอบการนำเข้าแรงงานต่างด้าว พร้อมที่พักพิง ถามว่าวันนี้ลูกหลานเองทำงานตรงไหน ยกตัวอย่างง่ายๆที่โคราชอุโมงค์ถล่มแรงงานที่ตายเป็นแรงงานชาวพม่า จีน นี่คือข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับ”

 


 

เวลาต่อมานายธนนท์ พรรพีภาส รองผู้ว่าจังหวัดชุมพร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เดินทางมารับหนังสือร้องเรียน โดยนายสมโชค น.ส.วิไลวรรณ ยอดไหม และน.ส.ประพิศ โหยบคาน ร่วมกันอ่านหนังสือร้องเรียนคัดค้านระบุ เรื่อง ขอให้ยุติการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ และยกเลิกกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวงพิเศษสาย ระนอง - ชุมพร ภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์ ที่ดำเนินการโดยไม่ขอบธรรมและจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างรุนแรง
 

ตามที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าผลักดันโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์” ในพื้นที่จังหวัดระนองและชุมพร ซึ่งประกอบด้วยโครงการก่อสร้างระบบคมนาคมขนส่งขนาด ใหญ่ อย่างน้อย 4 โครงการ คือ ท่าเรือน้ำลึก 2 ท่าบริเวณชายฝั่งทะเลระนองและชุมพร ทางหลวงพิเศษ ระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และรถไฟทางคู่ รวมถึงอยู่ระหว่างการผลักดันนโยบายและร่างกฎหมายระเบียง เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) อย่างเร่งรีบ โดยอ้างว่าเพื่อกระตุ้นการลงทุนทางเศรษฐกิจนั้น

 


 

ที่ผ่านมา มีการวิพากษ์และมีเสียงทักท้วงทั้งจากประชาชนในพื้นที่ จากเครือข่ายภาคประชาสังคมด้าน สิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน นักวิชาการ และผู้ประกอบการทั้งด้านการขนส่งและการท่องเที่ยว ที่พยายาม ส่งสารและสื่อสารไปยังรัฐบาลให้ทบทวนและใคร่ครวญอย่างรอบคอบต่อโครงการแลนด์บริดจ์และนโยบาย ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ทั้งในมิติความสูญเสียของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย รวมถึงฐานอาชีพของคนในท้องถิ่น สังคมวัฒนธรรม และที่สำคัญคือ ความคุ้มค่า คุ้มทุนของโครงการนี้ในทางเศรษฐศาสตร์ และทั้งหมดนี้มีข้อมูลงานศึกษาวิจัยของนักวิชาการอ้างอิงได้ แต่รัฐบาลกลับไม่รับฟังและยังเดินหน้าโครงการดังกล่าว ทั้งๆ ที่นโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการพัฒนา อุตสาหกรรมอย่างเข้มข้นได้ถูกพิสูจน์ให้เห็นแล้วจากกรณีของเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เป็น แม่พิมพ์ต้นแบบของ SEC ที่เอื้อประโยชน์ให้กับคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่ความเสียหายกลับเกิดขึ้นกับ ประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่ามีความล้มเหลวหลายประการที่เกิดขึ้นจากการใช้ กฎหมายดังกล่าว ทั้งด้านการจัดการมลพิษ กากสารพิษ หรือของเสียจากโรงงานที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวมถึงความเสียหายและการสูญเสียทางด้านระบบสิ่งแวดล้อมที่หนักหนาสาหัสเกินเยียวยา รวมถึงการละเลย ไม่ดำเนินการตามกฎหมายในหลายมาตราที่ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน รวมถึงการ เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เครือข่ายรักษ์พะตะ-รักษ์ระนอง ซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากการดำเนิน โครงการ ขอยืนยันอีกครั้งถึงความไม่ชอบธรรมไม่เหมาะสม ของโครงการแลนด์บริดจ์ มีผลกระทบความเสียหายอย่างร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของชุมชน”เป็นต้น

 


 

หลังจากที่ยื่นหนังสือขอให้ยุติการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ และยกเลิกกระบวนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯนั้น นายสมโชคให้เหตุผลว่า “ขอให้การประชุมในครั้งนี้ยกเลิกเนื่องจาก ไม่เป็นไปตามขั้นตอน เพราะว่าก่อนหน้านี้มีเจ้าหน้าที่ใช้โดรนและกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่โครงการฯไปปักหมุดหลักฐานMR 8 002 ของกรมทางหลวง ถึงจะมีการประชุมใช้หัวข้อ การประชุมปฐมนิเทศ(สัมมนาครั้งที่ 1 )นั้น มองว่า แต่สิ่งที่ จนท.ทำคือปักหมุดก่อนแล้วค่อยปฐมนิเทศ นั้นเท่ากับว่าจนท.เอาปืนจ่อหัวผม จ่อด้วยข้อกฎหมาย พูดกันตรงๆฉันจะเอาของคุณ กระบวนการมันผิด ถ้าแจ้งให้ชาวบ้านทราบก่อนเท่ากับว่าเป็นการกระทำเยี่ยงเสรีชนชาวบ้านรับได้ แต่ที่ทำอยู่ชาวบ้านผมรับไม่ได้ มองว่ารัฐกำลังบีบบังคับภาคประชาชนเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยยุคใหม่ ประชาชนไม่อยากที่จะเป็นเมืองขึ้นให้กับต่างชาติถึง 99 ปี อันนี้คือข้อเท็จจริง แล้วผู้พัฒนาโครงการคนไหนเคยออกมาพูดบ้างว่าตัวนี่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.SEC ข้าราชการบางคนยังไม่รู้เลยร่างพ.ร.บ.SEC คืออะไร” นายสมโชค กล่าวต่อหน้านายธนนท์ ภายในห้องประชุม

 


 

สุดท้ายมีการ่างหนังสือบันทึกความเข้าใจด้วยลายมือในกระดาษเอ 4 การประชุมในวันนี้ “บริษัทที่ปรึกษาและกรมทางหลวง ไม่นับเป็นการประชุมปฐมนิเทศ”โครงการ เนื่องจากมีการดำเนินสำรวจและปักหมุดที่ดินของโครงการก่อนการประชุม โดยจะถอนหมุดที่ดินในเดือนพฤศจิกายน 2567 วันนี้จึงถือได้ว่าเป็นการประชุมเสนอข้อมูลรายละเอียดเบื้องต้นเนื่องจากมีประชาชนอยู่ในห้องประชุม”
 

ซึ่งข้อความดังกล่าวได้มีนายธนนท์ฯ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการฯ และนายสุพัฒน์ ชุ่มมุณีรัตน์ ผู้จัดการโครงการฯกรมทางหลวง เซ็นรับทราบ ก่อนที่นายสมโชคฯและกลุ่มเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ-รักษ์ระนอง จะทยอยเดินทางกลับ
 


ส่วนด้านกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเริ่มจัดประชุมชี้แจงต่อประชามชนที่เข้าร่วมฟังค่อนข้างบางตา

 

 

 

หน้าแรก » ภูมิภาค