วันพฤหัสบดี ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 13:07 น.

ภูมิภาค

บุรีรัมย์ สัมผัสอากาศเย็นกับนกกระเรียนไทยริมอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก

วันศุกร์ ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2567, 17.35 น.

อำเภอเมือง / อ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก เชิญสัมผัสอากาศหนาวริมอ่างธรรมชาติ พายเรือชมนกกระเรียนไทยในอ่างเก็บน้ำ กางเต็นท์นอนชมนกกระเรียนไทยอย่างใกล้ชิดกว่า 100 ตัว หรือพักโฮมสเตย์สัมผัสนกกระเรียนแบบกันเองตามชุมชน


วันที่ 13 ธ.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณห่างเก็บน้ำห้วยตลาดและอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ต.บ้านบัว อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ รวมถึงตามหมู่บ้านรอบอ่างเก็บน้ำในรัศมีประมาณ 10 กิโลเมตร จะเป็นแหล่งที่นกกระเรียนไทย อาศัยอยู่อย่างธรรมชาติ หลังจากมีการทดลองปล่อยนกกระเรียนไทยให้ไปอาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ที่อ่างเก็บน้ำแห่งนี้เมื่อปี 2554

 


ต่อมาได้มีการปรับภูมิทัศน์ สถานที่ให้นักท่องเที่ยวได้ชมนกกระเรียนกันได้อย่างสะดวก โดยมีการตั้งศูนย์เรียนรู้พื้นที่ชุ่มน้ำนกกระเรียนพันธุ์ไทย ขึ้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก บ้านหนองมะเขือ ต.บ้านบัว อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ กลายเป็นแลนด็มาร์คอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์

มีนักท่องเที่ยวพาบุตรหลานมาเที่ยว มาส่องดูนกกระเรียนไม่ขาดสาย นักท่องเที่ยวบางกลุ่มจะไปเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ไปพักบ้านเรือนชาวบ้านเพื่อชมนกกระเรียนที่มักจะบินมาเล่นกับนักท่องเที่ยวและชาวบ้านในชุมชน เป็นบรรยากาศที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะนกกระเรียนมีรูปร่างใหญ่ตัวโตเต็มวัยสูงถึงกว่า 180 ซม.หนักประมาณ 10 กก.และเป็นนกที่ชอบคุ้นเคยกับมนุษย์

 

 

นายชชลิต เชืองเต็ม เจ้าหน้าที่ศูนย์เรียนรู้ฯกล่าวว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจุดนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักดูนก และประชาชนทั่วไป รวมถึงนักเรียนนักศึกษาทางศูนย์ได้เปิดบริการนักท่องเที่ยวทุกวันไม่มีวันหยุดนักท่องเที่ยวสามารถร่วมกิจกรรมล่องเรือดูนก

ตอนนี้มีนกกระเรียนที่ถูกปล่อยไว้แล้วจำนวน 166 ตัวไม่รวมที่ออกลูกเองตามธรรมชาติอีกเป็นจำนวนมาก กลุ่มนี้จะมีอุปกรณ์ติดตามตัวจึงไม่สามารถนับได้แต่คาดว่ามีไม่น้อยกว่า 50 ตัว ตอนนี้เกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ดังนั้นนกกระเรียนจะออกหากินตามทุ่งนา และบริเวณอ่างเก็บน้ำทุกวัน ทางเราจะมีกล้องส่งทางไกลให้นักท่องเที่ยวได้ส่องดูนกได้อย่างเต็มตา ส่วนการล่องเรือดูนกจะคิดค่าบริการชั่วโมงละ 350 บาท

 

 

สำหรับโครงการนำนกกระเรียนพันธุ์ไทยคืนสู่ธรรมชาติ ได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2525 ในช่วงนั้นมีการร่วมมือระหว่างไทยกับมูลนิธิอนุรักษ์นกกระเรียนสากล (International Crane Foundation) ต่อมาในปี 2533 สวนสัตว์โคราชเริ่มมีการขยายพันธุ์แบบธรรมชาติและการผสมพันธุ์เทียม จากจำนวนพ่อแม่พันธุ์ตั้งต้นจำนวน 33  ตัว ได้ลูกนกที่รวมพ่อแม่พันธุ์ในกรงเลี้ยงทั้งหมดประมาณ 100 ตัว ภายในปี 2552

แม้การเพาะขยายพันธุ์จะสำเร็จ แต่เป้าหมายหลักในครั้งนี้ไม่ใช่การเพิ่มจำนวนของลูกนกในกรงเลี้ยง แต่เป็นการพานกกระเรียนพันธุ์ไทยให้กลับมาโบยบินในธรรมชาติอีกครั้ง

 

 

ปี 2554 องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย และสวนสัตว์โคราช ได้มีการปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยกลับคืนสู่ธรรมชาติเป็นครั้งแรก จำนวน 10 ตัว เป็นลูกนกกระเรียนอายุประมาณ 1 ปี โดยพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมคือ บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก และอ่างเก็บน้ำสนามบิน จ.บุรีรัมย์ ทั้ง 2 พื้นที่ ถือเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของนกหลายชนิด และมีภาพถ่ายยืนยันว่า จังหวัดบุรีรัมย์เคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนพันธุ์ไทยในอดีต

 

หน้าแรก » ภูมิภาค