วันจันทร์ ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 13:43 น.

ภูมิภาค

ชาวนาทวงเงินชดเชยไร่ละพัน! ข้าวตกต่ำ ต้นทุนพุ่ง รัฐยังนิ่ง

วันอาทิตย์ ที่ 06 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 21.07 น.

ชาวนาร้องทุกข์ ชาวนาทั่วไทยยังไม่ได้รับเงินชดเชยไร่ละ 1,000 บาท พร้อมเรียกร้องถึงรัฐบาลชุดใหม่ หลังราคาข้าวตกต่ำสุดเหลือเพียง 5,100 - 5,200 บาท ต่ำกว่าต้นทุนที่ชาวนาลงทุนซึ่งสูงมากกว่า 5,000 บาท/ไร่ ขณะ ส.ส.ปราจีนฯ แจงได้อภิปรายในสภาเมื่อเร็ว ๆ นี้แล้ว
เมื่อเวลา 17.30 น. วันนี้ (6 ก.ค. 68) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.ปราจีนบุรี ว่าได้รับการร้องทุกข์จากนายพยนต์ พฤกษา อายุ 60 ปี อดีตกำนัน ต.บางยาง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า พื้นที่เขตทุ่ง อ.บ้านสร้าง เป็นแหล่งผลิตนาปรังมากที่สุดของ จ.ปราจีนบุรี ในขณะนี้ ชาวนายังไม่ได้รับเงินชดเชยนาข้าวจากทางรัฐบาล จึงฝากผ่านสื่อมวลชนให้ช่วยทวงถามเงินชดเชยให้ชาวบ้าน ซึ่งจะได้รับคนละ 1,000 บาท/ไร่ แต่ไม่เกิน 10 ไร่ ทั้งนี้ ชาวบ้านยังไม่ได้รับเงินตั้งแต่ผลผลิตงวดที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ผลผลิตงวดที่ 2 กำลังออกแล้ว นายพยนต์กล่าว

 

 

นายพยนต์กล่าวต่อว่า ส่วนราคาข้าวก่อนหน้านี้ เดิมราคาขายกว่า 10,000 บาท/ตัน แต่ตอนนี้ราคาลดลงเหลือเพียง 5,000 – 6,000 บาท/ตัน ต่ำกว่าต้นทุนที่ชาวนาลงทุนซึ่งสูงมากกว่า 5,000 บาท/ไร่ หากชาวนาทำนามากก็อาจแค่เสมอตัว ส่วนเกษตรกรที่ทำนาน้อยต้องขาดทุน และกำไรไม่ต้องไปหวังกัน นายพยนต์กล่าว

 

 

ด้านนายอำนาจ วิลาวัลย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย เขต 1 กล่าวว่า กรณีเงินชดเชยของชาวนาทั่วประเทศที่ยังไม่ได้รับนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ (วันที่ 3 กรกฎาคม) ได้หารือกับประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านทางรัฐสภา ถึงกรณีเงินเยียวยาข้าวนาปรัง ไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ของชาวนา โดยได้ทวงถามว่ารัฐบาลจะจ่ายเมื่อใด และได้ฝากถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คนใหม่ว่า ตอนนี้ราคาข้าวเหลือเพียงตันละ 5,100 - 5,200 บาท ต่ำกว่าต้นทุน จึงขอให้ช่วยเร่งรัดหามาตรการแก้ไขเพื่อให้ราคาข้าวสูงขึ้น

 

“พร้อมทั้งได้สอบถามถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2568 ซึ่งเกิดเหตุดินทรุด ตลิ่งริมแม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณหมู่ 2 และหมู่ 3 ตำบลบางกระเบา อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี บ้านเรือนได้รับความเสียหายไป 3 หลัง และยังมีอีกหลายหลังที่เสี่ยงจะเกิดเหตุซ้ำ ผมได้ประสานทางอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และทางอำเภอได้ประสานไปยัง ปภ.จังหวัด สำนักงานโยธา กรมเจ้าท่า กรมชลประทาน อบจ. และ อบต. ให้ลงไปตรวจสอบพื้นที่ และวางแผนแก้ไขสร้างเขื่อนกันดินให้พี่น้องประชาชน ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2568 ที่ลงไปตรวจสอบหน้างาน แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปแก้ไข จึงอยากประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเร่งรัดดำเนินการ ก่อนที่บ้านเรือนประชาชนริมแม่น้ำอีกกว่า 30 ครัวเรือนจะพังทลายลงไป” นายอำนาจกล่าว

 

หน้าแรก » ภูมิภาค