วันศุกร์ ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:31 น.

ประชาสัมพันธ์

Vlog Week วิดีโอยาวมาแรง! ดันยอดวิวพุ่งสวนเทรนด์คลิปสั้น

วันพฤหัสบดี ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567, 19.38 น.

Vlog Week วิดีโอยาวมาแรง! ดันยอดวิวพุ่งสวนเทรนด์คลิปสั้น

 


หลังจากอินฟลูเอนเซอร์และยูทูบเบอร์เริ่มนำเสนอเนื้อหาคลิปวิดีโอยาวเกินชั่วโมงเสิร์ฟคนดูแบบเรียลๆ จนเป็นที่นิยม ทำให้เอ็นเกจเมนต์ “Vlog Week” พุ่งติดเทรนด์ สวนทฤษฎีคนชอบดูคลิปวิดีโอสั้น

 


 บริษัท ดาต้าเซ็ต ได้รวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสังคมออนไลน์ (Social listening) และนำมาวิเคราะห์ว่าในช่วงวันที่ 6 มกราคม - 6 กุมภาพันธ์ 2567 มีการพูดถึง “Vlog Week” อย่างไร โดยพบว่า ยอดเอ็นเกจเมนต์ (Engagement) มีมากถึง 801,050 ครั้งและกวาดยอดการรับชม (View) กว่า 7,912,930 ครั้ง
Vlog Week เป็นการทำคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอยาวที่ถ่ายทอดเรื่องราวหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ ส่วนใหญ่เมื่อตัดต่อแล้วมักมีความยาวเป็นชั่วโมง บางคลิปมีความยาวมากกว่า 3-5 ชั่วโมง แต่กลับเรียกยอดวิว (View) มากกว่า 1 ล้านวิวได้หากเนื้อหามีความเรียล สนุก ตลก และนำเสนอให้ผู้ชมมีความรู้สึกร่วมไปกับเนื้อหาของคลิป ถือเป็นการสวนกระแสความนิยมของคลิปวิดีโอสั้น (Short Video) บนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น TikTok, YouTube Shorts และ Instagram Reels
การทำคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอยาวอย่าง Vlog Week เริ่มเป็นที่พูดถึงในโซเชียลมีเดียจากคอนเทนต์ YouTube ช่อง “โลกของคนมีหนวด” โดย “ฟลุ๊คกะล่อน” อินฟลูเอนเซอร์และยูทูบเบอร์สายบิวตี้ชื่อดัง ที่นำเสนอเนื้อหาในชีวิตประจำวันของตัวเองและแก๊งเพื่อน ที่มีความเรียลแบบไม่มีสคริปต์ คนดูแล้วสนุก ตลก การตัดคลิปน่าติดตาม จนทำให้ผู้ชมติดใจและตั้งตารอว่าคลิปต่อไปจะเผยแพร่เมื่อไร

 


สำหรับ “ฟลุ๊คกะล่อน” เริ่มทำวิดีโอบน YouTube เมื่อ 6 ปีที่แล้ว จากนั้นเมื่อกุมภาพันธ์ 2566 ได้เริ่มทำคอนเทนต์ที่เป็น Vlog Week โดยคอนเทนต์ Vlog Week ของช่อง ณ วันที่ 13 ก.พ. 2567 มีทั้งหมด 11 คลิป ซึ่งคลิปที่มีความยาวมากที่สุดอยู่ที่ 5 ชั่วโมง และมียอดเข้าชมคลิปกว่า 1.4 ล้านวิว คือ Vlog Week EP.10 ส่วนคลิป Vlog Week ที่สั้นที่สุดคือ EP แรก มีความยาวประมาณ 43 นาที

 


นอกจากคลิปวิดีโอของฟลุ๊คกะล่อน จะที่กลายเป็นไวรัลแล้ว คำศัพท์ใหม่ ๆ อย่าง “นอยด์อะ” และ “จะเครซี่” ก็กลายเป็นคำพูดและวลีฮิตในช่วงเดือนที่ผ่านมา กระทั่งมีแบรนด์สินค้าต่าง ๆ นำคำศัพท์และวลีฮิตมาทำ Content Marketing ร่วมกับการโปรโมตโปรโมชั่นหรือสินค้าของตนเอง เช่น Bonchon อร่อยจนจะเครซี่!!! , Thaiticket Major ถ้าไม่ได้บัตรจะเครซี่!, นายอินทร์: รวม E-Book อ่านแก้อาการ “นอยอะ” เป็นต้น