วันเสาร์ ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 11:29 น.

ประชาสัมพันธ์

กรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอทางการศึกษา และ มหาวิทยาลัยอุบลฯ

วันศุกร์ ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2568, 13.09 น.

กรมกิจการเด็กและเยาวชน ร่วมกับ กองทุนเพื่อความเสมอทางการศึกษา และ มหาวิทยาลัยอุบลฯ

ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย Kick Off สถานรองรับต้นแบบ ปั้นเด็กเปราะบาง ก้าวข้ามความยากจนยั่งยืน

 

นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน พร้อมด้วยดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ รศ.ดร.สุรศักดิ์ คำคง คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือในการพัฒนาโครงการพัฒนาสถานรองรับต้นแบบและระบบส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อก้าวข้ามความยากจนหลายมิติของเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง พร้อมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ "จุดเปลี่ยนในการสร้างโอกาสใหม่แก่เยาวชนที่สอดรับกับนโยบาย 5x5 ฝ่าวิกฤตประชากร" โดย อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน และการเสวนา หัวข้อ "เส้นทางชีวิตเด็กและเยาวชน วิกฤตที่ต้องเผชิญกับผลกระทบทางสังคมที่ต้องเปลี่ยน" ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย 1. นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน 2. ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  3. อ.พญ.ปริชวัน จันทร์ศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4. นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายสันติพงษ์ ช้างเผือก ผู้ชำนาญการอาวุโส ศูนย์สื่อสารสาธารณะเพื่อเด็กและการเรียนรู้ ณ ห้องพัชราวดี 3 โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพฯ

 

 

นางอภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน เปิดเผยว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีนโยบายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนในทุกช่วงวัย ส่งเสริมการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กไทยทุกคนอย่างเท่าเทียม และพัฒนาระบบการศึกษาที่ยึดหยุ่น ทั้งในระบบ นอกระบบ เพื่อให้เด็กและเยาวชน สามารถเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ มีศักยภาพ และความสามารถในการเป็นกำลังสำคัญสู่การพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

 

“เด็กเกิดน้อย เปี่ยมด้วยคุณภาพ” เป็นหมุดหมายหนึ่งที่สำคัญของ นโยบาย "5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร" โดยมี 5 ยุทธศาสตร์หลัก และ 5 มาตรการสำคัญที่ผ่านการเห็นชอบ ซึ่งกรมกิจการเด็กและเยาวชนนำนโยบายดังกล่าวสู่การปฏิบัติ คือ เพิ่มคุณภาพและผลิตภาพของเด็กและเยาวชน กระทรวง พม. กรมกิจการเด็กและเยาวชน จึงร่วมมือกับ  กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาสถานรองรับต้นแบบและระบบส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อก้าวข้ามความยากจนหลายมิติของเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง เพื่อพัฒนาศักยภาพกลไก สร้างประสิทธิภาพการทำงานพัฒนารูปแบบการดูแลช่วยเหลือ ส่งต่อ และสร้างทักษะต้นทุนชีวิต พัฒนาความรู้ เครื่องมือ ระบบการจัดการในการทำงานและการพัฒนาเด็ก พัฒนาศักยภาพและเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ขยายความร่วมมือด้านการคุ้มครองเด็กไปยังหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ แนวทางในการลดผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสุขภาวะของเด็ก หรือแผนการดูแลเด็กรายบุคคล โดยกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานทั้งสิ้น 3 ปี เพื่อให้เกิดสถานสงเคราะห์ต้นแบบ 6 แห่ง ประกอบด้วย สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านราชสีมา สถานสงเคราะห์เด็กหญิงสระบุรี สถานสงเคราะห์เด็กปัตตานี สถานสงเคราะห์เด็กชายยะลา สถานคุ้มครองสวัสติภาพเด็กขอนแก่น และสถานสงเคราะห์เยาวชนมูลนิธิมหาราช โดยมีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการโครงการนี้ ซึ่งมีแผนการดำเนินงานโครงการแบ่งออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ แผนงานที่ 1 การพัฒนาต้นทุนทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน แผนงานที่ 2 การพัฒนากลไกการทำงาน (เครือข่าย ส.ห.อาสา) เพื่อสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งในระดับพื้นที่ แผนงานที่ 3 การสนับสนุน กำกับ ติดตาม ประเมินผล เพื่อให้เกิดแนวทางต้นแบบที่สามารถขยายผลได้จริง

 

โครงการนี้จะช่วยยกระดับให้ผู้ปฏิบัติงานด้านเด็กและเยาวชนมีศักยภาพสูงขึ้น ในการพัฒนาและสนับสนุนเด็กและเยาวชนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ได้รับโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาทักษะตามความสามารถ รวมถึงเกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานในระดับจังหวัด และนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายที่ช่วยยกระดับระบบการคุ้มครองและพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม นำไปสู่การพัฒนาที่เกิดประสิทธิภาพในการสร้างระบบพัฒนาเด็กและเยาวชนอย่างยั่งยืนได้

หน้าแรก » ประชาสัมพันธ์