วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 17:02 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันศุกร์ ที่ 07 สิงหาคม พ.ศ. 2563, 17.43 น.

ภาษีที่ดินใหม่อุ้มนายทุน..ซ้ำเติมคนทำกิน

ผมรู้สึกเพลียใจจริงๆกับรัฐบาล นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยบอกว่าการจัดเก็บภาษีตาม พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ฉบับปรับปรุงใหม่ ที่ต้องจ่ายภายใน 31 สิงหาคม 2563 นี้ จัดทำขึ้นมาเพื่อความเท่าเทียมกันและต้องการลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม

แล้วความจริงท่านทำเพื่อคนในสังคมจริงๆหรือไม่ ?

ตรงนี้รัฐบาลต้องออกมารับฟังเสียงประชาชน ผู้ประกอบกิจการขนาดเล็กโดยด่วนที่สุด

เพราะวันนี้ถ้าใครที่ทำธุรกิจแล้วได้รับใบประเมินราคาภาษีที่ดินใหม่คงจะตกใจกันทุกคน กับตัวเลขใหม่ที่ต้องชำระจริงๆ ถ้าไม่ได้รับส่วนลด 90 % จากสถานการณ์ COVID-19 ในช่วงนี้แล้ว ภายในอีก 2 ปีข้างหน้าอันใกล้นี้ ภาระภาษีจะเพิ่มขึ้นอย่างน่ากลัว บางรายถึง 7-8 เท่าตัวกันเลยทีเดียว

แต่ตรงกันข้ามกับบรรดาห้างสรรพสินค้า ตึกสำนักงานให้เช่าขนาดใหญ่ที่เป็นของกลุ่มนายทุน เจ้าสัวทั้งหลาย กับเสียภาษีน้อยลงถึง 7-8 เท่าตัว ด้วยนโยบายการคิดภาษีที่ดินแบบใหม่

วันนี้อยากตั้งคำถามถึงรัฐบาลว่า เป้าหมายการปรับปรุงกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมของสังคม หรือมีวาระแอบแฝงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ ?

ผมได้สอบถามเพื่อนหลายๆคนว่าเป็นอย่างไรบ้าง  หลายๆคนได้แต่ส่ายหน้า และอยากสะท้อนปัญหาไปยังรัฐบาลให้ทราบว่าการคิดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามกฎหมายฉบับใหม่ที่เริ่มบังคับใช้นี้มันมีปัญหาจริงๆ และจะสร้างปัญหาที่เป็นเหมือนระเบิดเวลาในอนาคตอันใกล้อย่างเป็นลูกโซ่

เพราะวิธีคิดภาษี ไม่ได้คำนึงและไม่ได้สะท้อนกับสภาพการทำประโยชน์ที่แท้จริงของแต่ละที่ดิน และโปรดอย่าลืมว่าเจ้าของที่ดินแต่ละรายมีศักยภาพและเงินลงทุนที่แตกต่างกัน

ยกตัวอย่างเช่นที่ดินแปลงเดียวกัน ถ้าอยู่ในมือนายทุนก็สามารถนำไปสร้างตึกสูงได้ แต่ถ้าเจ้าของได้รับเป็นมรดกมาไม่ได้มีทุนมากก็ใช้ประกอบกิจการเล็กๆให้พอมีกำไรอยู่ได้ ก็กับต้องมาเสียภาษีที่ดินใหม่ในอัตราแทบไม่ต่างกันกับกิจการขนาดใหญ่

แบบนี้บรรดาบริษัทใหญ่ทั้งหลายคงได้แต่นั่งชมเชยนโยบายรัฐบาลที่ออกมาให้เอื้อผลประโยชน์แก่พวกกลุ่มตนโดยเฉพาะ โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนและภาระของคนหมู่มากที่ต้องเตรียมแบกรับภาระเพิ่มขึ้นมหาศาล

ผมทำนายล่วงหน้าได้เลย จะต้องมีธุรกิจครอบครัวและธุรกิจขนาดเล็ก ที่ต้องล้มหายตายจากไปกันเป็นลูกโซ่ ธุรกิจหลายแห่งคงต้องปิดตัวลงเพราะรับภาระภาษีใหม่ไม่ไหว เพราะถ้าขืนทำธุรกิจต่อไปก็ติดลบ สู้เอาที่ดินไปปลูก มะนาว มะม่วงขาย หรือ ไม่ก็ขายทิ้งให้นายทุนไปเลยคงจะดีกว่า

พวกร้านค้าเล็กๆ ธุรกิจขนาดย่อม ที่ประกอบธุรกิจบนเนื้อที่ของตัวเอง หรือเช่า และก่อสร้างเป็นแบบ low rise คงต้องเตรียมปิดกิจการกันหมด

ผมยกอีกตัวอย่าง เช่น มีร้านอาหารไทยตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท บนพื้นที่ 200 ตรว. สมมติราคาประเมิน1ล้าน/ตรว. ก็คิดเป็นมูลค่า 200 ล้านบาท เฉพาะค่าที่ดิน โดนภาษีทีดินใหม่ปีละ 750,000 บาท เทียบกับของเดิมไม่ถึงแสนบาท ถามว่าร้านอาหารที่ขายกับข้าวแบบไทยๆร้านหนึ่งจะรับภาษีที่เป็นภาระขนาดนี้ที่เพิ่มขึ้นไหวหรือเปล่า

ต่อไปร้านอาหารดังๆกลางเมืองที่ดัดแปลงบ้านมาเปิดเป็นร้านอาหาร คงต้องคำนวณว่าคุ้มมั้ย ? ที่จะเปิดร้านขายอาหารต่อไป หรือเลือกที่จะปิดแล้วใช้เป็นบ้านพักอาศัยตามเดิม นี่ยังไม่นับรวมธุรกิจอื่น เช่น ร้านล้างรถ ร้านคาเฟ่ ปั้มน้ำมัน ตลาดสด ฯลฯ ที่จะได้รับผลกระทบอย่างสาหัสด้วยเช่นกัน

ถ้าดูจากการคำนวณภาษีใหม่แล้ว คนที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ บริษัทของทุนขนาดใหญ่ที่มีสำนักงานให้เช่า ห้างสรรพสินค้าทั้งหลายที่เคยต้องจ่ายภาษีจากเกณฑ์ภาษีโรงเรือนที่สะท้อนรายรับค่าเช่าจริงๆที่ได้รับ

แต่วันนี้กับใช้แค่ราคาที่ดินกับสิ่งปลูกสร้างอาคารที่มีค่าเสื่อมมหาศาล มาประเมิน เท่ากับยิ่งสร้างตึกสูง ยิ่งใหญ่เท่าไหร่ ภาษีกับน้อยลงเป็นเงาตามตัว แล้วคนธรรมดาที่ไหนจะทำไหวถ้าไม่ใช่นายทุนหรือบริษัทของบรรดาเจ้าสัวต่างๆ

ในเรื่องนี้จากข้อมูลที่ได้รับมา บริษัทเหล่านี้จะถูกประเมินภาษีลดลงอย่างมาก เช่น ห้างสรรพสินค้าใหญ่บางแห่งที่เคยเสียภาษีโรงเรือนอยู่ที่ 40 กว่าล้านบาทต่อปี กับได้รับรางวัลจากกฎหมายใหม่ ทำให้เสียภาษีลดลงเหลือไม่ถึง 9 ล้านบาท

ผมขอตั้งคำถามว่านโยบายแบบนี้ทำเพื่อความเป็นธรรมและเท่าเทียมกันของคนในสังคม ตามที่รัฐบาลเคยอ้างมาตลอดใช่หรือไม่ ?

ตอนนี้ยังพอมีเวลาอยู่บ้าง ผมอยากให้คนที่ได้รับความเดือดร้อนช่วยกันสะท้อนปัญหาออกมาให้รัฐบาลนี้ ให้ ท่านนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับทราบและช่วยคิดใหม่ทำใหม่อย่าได้เอื้อพวกนายทุนกลุ่มเจ้าสัวใหญ่ แต่กลับซ้ำเติมประชาชนตาดำๆในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้เลย

 

นายพล..ซอยปลื้มมณี