การเมือง » คอลัมน์
แยกรัชวิภา
บ้านเมืองออนไลน์ : วันศุกร์ ที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565, 14.04 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

การแก้ปัญหาความยากจนและความมั่นคงทางอาหารโลก
การแก้ปัญหาความยากจนและความมั่นคงทางอาหารโลก
ศุภภัทรวริศรา เกตุสุนทร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
สถาบันรัชต์ภาคย์
ท่ามกลางการฟื้นตัวจากอาการโคม่าของวิกฤตโควิด-19 ต้องเผชิญกับแรงต้านการแพร่ระบาดของโอไมครอนระลอกใหม่ที่จะเกิดขึ้นอีกยิ่งตอกย้ำถึงสัจธรรมที่ว่า “เงินทองคือมายา ข้าวปลาคือของจริง” เมื่อย้อนไปในช่วงการระบาดระลอกแรก เชื่อว่าหลายคนยังคงจำภาพชั้นวางสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ อาหารสด อาหารแห้ง ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค หลายรายการ ในซุปเปอร์มาร์เก็ตตามห้างสรรพสินค้าโมเดิร์นเทรด กลับว่างเปล่าทันที เมื่อมีการประกาศล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ปรากฎการณ์นี้ นับเป็นหนึ่งสัญญาณเตือนว่าเริ่มเข้าสู่ “ภาวะวิกฤตการขาดแคลนอาหาร” การเข้าถึงอาหารและสินค้าในช่วงวิกฤตโควิด19 เป็นภาพสะท้อนความไม่มั่นคงทางอาหาร เมื่อประชาชนเริ่มขาดรายได้ไม่มีเงินซื้ออาหาร เพราะสถานการณ์ยืดเยื้อยาวนาน ประชาชนหลายกลุ่มเริ่มตกงาน ขาดรายได้ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กปิดตัวลง ประชาชนเหล่านี้เป็นกลุ่มที่ต้องการได้รับการเยียวยาไม่เพียงแต่ด้านร่างกายคืออาหารเพียงอย่างเดียว ด้านจิตใจที่สินค้าขึ้นราคาสูงลิ่วก็ต้องการดูแลไม่น้อยไปกว่ากันเรื่องปากท้องต้องอิ่ม เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานและสำคัญในการดำรงชีวิตมนุษย์ ประชาชนในชนบทก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันแม้จะพึ่งพาตัวเองได้ระดับหนึ่งแต่เมื่อตลาดชุมชนถูกปิดทำให้ขาดรายได้หรือแม้แต่อาหารจุนเจือประทังชีวิตในยามวิกฤต
อาหาร คือ ความมั่นคงของชาติ โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตประชาชนไทยควรได้รับการรับรองสิทธิ์ในการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ “วิกฤตโควิด-19” สะกิดเตือนให้ผู้มีอำนาจตื่นจากการหลับใหลในวัฏจักรการฝากปากท้องไว้กับอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรขนาดใหญ่ หากยังไม่มีการคิดทบทวน และพัฒนาระบบความมั่นคงทางอาหารเรื่องปากท้องให้กับประชาชนในชาติอย่างรัดกุมก็ยิ่งตอกย้ำให้รู้ว่าท่ามกลางวิกฤตการขาดแคลนอาหารที่รุมเร้าอย่างรุนแรง ไม่มีทีท่าเบาบางลงแต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อหันมองไปทางไหนก็เจออาหาร สินค้าแพงค่าครองชีพสูงประชิดตัวดูเหมือนว่าการขาดแคลนอาหารหรือแม้แต่สินค้าในภาวะจำเป็นยิ่งเหือดหายแบบไร้ร่องรอย กลับไปซุกซ่อนอยู่ใต้พรม นั่นคือการช่วงชิงกักตุนการแสวงหากำไรจากความต้องการอาหารและสินค้าอยู่ในขณะนั้น การกักตุนอาหารและสินค้าเพื่อแสวงหากำไรกับสิ่งที่ต้องใช้ยังชีพในภาวะวิกฤต ทั้งสองส่วนนี้ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมสร้างบาดแผลในใจให้กับประชาชน นอกจากตอกย้ำถึงการขาดแคลนแล้ว การหวังผลกำไรสูงสุดกลไกนี้เป็นสภาวะการณ์ที่บีบคั้นและเกิดขึ้นในช่วงวิกฤติ เหตุจูงใจให้กักตุนอาหารและสินค้า 1) ต้องแสวงหากำไร และ 2) การดำเนินชีวิตที่ต้องแสวงหาทางในการเอาตัวรอด นอกจากนี้ ราคาสูง กลไกทางเศรษฐศาสตร์ที่บังคับให้ระดับราคาเพิ่มขึ้นให้สอดคล้องในสถานการณ์ที่ขาดแคลนประชาชนในชาติได้รับความเดือดร้อนและไม่สามารถเข้าถึงสินค้าและอาหารได้ตามปกติหรือสามารถเข้าถึงได้ในระดับราคาที่สูงเกินความเหมาะสมเกิดการแย่งชิงอาหารรวมไปถึงการแสวงหากำไรเกินควรเกิดขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ตัวอย่างเช่น กรณีการแย่งซื้อข้าวสาร ไข่ไก่ อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กระดาษชำระ น้ำดื่ม น้ำตาล น้ำมันพืช จนสินค้าหมดตลาด จึงไม่เพียงแต่สร้างปัญหาการกักตุนสินค้าและเข้าไม่ถึงสินค้าจำเป็นอย่างทั่วถึงการปล่อยราคาให้พุ่งสูงตามกลไกตลาดประชาชนที่เผชิญกับราคาที่พุ่งสูงขึ้นยังกลายเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตคิดค้นหาวิธีทำกำไร รวมถึงการเก็บสินค้าสำรองไว้ในคลังหวังว่าเมื่อเกิดวิกฤตแบบสุดขีดจะนำมาขายทำกำไร อย่างไรก็ดีการแบ่งสันปันส่วนทรัพยากร นั่นคือความยุติธรรมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการปล่อยให้ราคาสินค้าจำเป็น เช่น น้ำ อาหาร หน้ากากอนามัยให้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงวิกฤต เหล่านี้ชวนให้อดคิดไม่ได้ว่ามูลค่าของชีวิตคนคนหนึ่งกำลังถูกตีค่าตามราคาสินค้าที่กักตุนหรือสินค้าที่ขาดแคลนในห้วงยามวิกฤตนี้ หลายคนอาจยกมือเห็นด้วยกับราคาที่เพิ่มขึ้นนั้นไม่ใช่ปัญหาทางออกคือการกระจายสินค้าและอาหารที่มีอยู่ท่ามกลางวิกฤตต่างหากกล่าวคือ การนำสินค้าและอาหารที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ไปอยู่ในมือประชาชนให้มากที่สุดการปล่อยราคาสินค้าและอาหารให้พุ่งสูงตามกลไกเป็นการทำร้ายประชาชนอย่างชัดเจนที่สุด
ธนาคารโลกและองค์การอาหารและยาแห่งสหประชาชาติ มีความพยายามในการแก้ปัญหาความยากจนและความมั่นคงทางอาหารโลกมาตลอด แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 นับเป็นหนึ่งสัญญาณเตือนว่าเริ่มเข้าสู่ “วิกฤตการขาดแคลนอาหาร” อย่างเป็นรูปธรรมเพราะความมั่นคงทางอาหารคนทุกคนทั้งในระดับบุคคล ระดับครัวเรือน ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก สามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอ ความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งในทางกายภาพและเศรษฐกิจที่ตอบสนองความต้องการและความพึงพอใจเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยจะสร้างมาตรการ “หายหิวและอิ่มท้อง” โดยนำแนวทางปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริให้แก่พสกนิกรชาวไทยนานกว่า 30 ปี เพื่อสร้างความสมดุลพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความพอประมาณ การประมาณตนด้วยการวางแผนการเงินช่วงวิกฤตเป็นการพอมี พอใช้ ลด ละ เลิก อะไรที่ไม่จำเป็น หรือประเมินแล้วเป็นสิ่งของฟุ่มเฟือย อาทิ การซื้อของที่ยังไม่จำเป็น ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเองในทุกเดือน เพื่อตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็น และใช้อย่างพอเพียงเพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต มีเหตุมีผล การพอประมาณ หากเรามีวิธีคิดแบบมีเหตุมีผลควบคู่ไปกับการสร้างประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต ในทางกลับกันหากไม่ได้สร้างประโยชน์อย่างหลากหลายหรือมากพอ ควรพักและหยุดการจับจ่ายใช้สอยไว้ก่อน สร้างภูมิคุ้มกัน ถอดบทเรียนจากภาวะวิกฤตขาดแคลนอาหารในระยะแรก เริ่มมองการวางแผนระยะยาว สร้างความรู้ด้วยการมองหาองค์ความรู้ใหม่เพิ่มพูนให้กับตัวเอง เพราะวิกฤตของแพงได้สอนให้ทำอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยทำ ช่วงวิกฤตของแพงนี่แหละอาจเป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดสิ่งใหม่เปิดโลกทัศน์เพื่อพร้อมรับมืออยู่เสมอติดตามข่าวสารจากทั่วทุกมุมโลกที่เป็นความรู้ใหม่ให้กับสังคม มีคุณธรรม หลังจากการสร้างตัวเองให้เป็นผู้อยู่รอดและหลุดพ้นจากวิกฤตได้ไม่เอาเปรียบและแบ่งปันสังคม กล่าวได้ว่า “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” คือ ภูมิคุ้มกันหมู่ขนาดใหญ่ที่ดีที่สุดในขณะนี้ ที่เป็นเกราะป้องกันตนเองให้ดำรงชีพให้อยู่ได้ในสถานการณ์วิกฤต ที่ทุกๆ ชีวิตยิ้มเมื่อมีภัยมา
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » การเมือง » คอลัมน์
คอลัมน์ล่าสุด ![]()
...คำถามประจำวันเด็ก...
ใต้ถุนสภา- ปรากฏการณ์ "ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน" 21:25 น.
- “หนี้นอกระบบ” 05:33 น.