วันพุธ ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:01 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันจันทร์ ที่ 07 มีนาคม พ.ศ. 2565, 13.45 น.

ปรัชญาและแนวคิดทางการเมือง ทำไมเริ่มที่ตะวันตก

ปรัชญาและแนวคิดทางการเมือง ทำไมเริ่มที่ตะวันตก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณกมล ปุญชเขตต์ทิกุล

สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

ชาวตะวันตกมีวัฒนธรรมทางความคิดที่เด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการค้นหาความจริง ความเป็นผู้นำ ซึ่งพบว่าสิ่งเหล่านี้มีจุดเริ่มต้นที่ครอบครัว วิธีการเลี้ยงดูและระบบให้ความรู้ของครอบครัวชาวตะวันตกค่อนข้างจะเน้นเรื่องสิทธิเสรีภาพและการรู้จักพึ่งพาตัวเองเป็นหลักใหญ่พ่อแม่จะเป็นคนสอนให้ลูกมีความกล้าที่จะต่อสู้กับโลกภายนอก และมีรสนิยมที่ดี  เช่น ชาวอังกฤษและชาวฝรั่งเศสมีค่านิยมการเป็นผู้ดี ชาวอังกฤษมีการสอนให้เป็นผู้ดี การแต่งกาย ชุดเครื่องแบบ จะเน้นกันมาตั้งแต่ในโรงเรียนจะต้องเป็นชุดสูท หมวก กางเกงขายาว เพื่อให้มีความเป็นสุภาพบุรุษ ฝรั่งเศสก็เช่นกัน ชาวสเปนจะเป็นพวกทะนงตน เช่น ชื่นชอบการแข่งมาทาดอร์ ชาวอเมริกามีนิสัยที่เปิดกว้างและให้ความสำคัญต่อหลักกฎหมายอย่างมาก โลกตะวันตกเป็นโลกที่เต็มไปด้วยการผจญภัย การค้นหา และความสงสัย

การตั้งคำถามของมนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติว่า ธรรมชาติของความเป็นมนุษย์นั้นเป็นอย่างไรทำให้คำตอบแบบปลายเปิดเกิดขึ้นมากมาย เช่น ก็เพราะมนุษย์เป็นสัตว์โลกที่ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างมีความคิด รู้จักการเปลี่ยนแปลงปรับสภาพต่างตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่างๆที่อยู่โดยรอบเพื่อให้การดำรงชีวิตของตนเองอยู่อย่างมีความสุขและสะดวกสบาย จุดเริ่มต้นของทฤษฎี หลักปรัชญา แนวคิด และหลักการต่างๆในการศึกษาเกี่ยวกับการเมืองและกฎหมาย ทำให้เกิดความคิดที่ไกลกว่านั้น ซึ่งโดยแท้จริงแล้วธรรมชาติของมนุษย์นั้น เห็นแก่ตัว ทำทุกวิถีทางเพื่อความอยู่รอดของตนเอง ต้องการสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาค

หลายยุคสมัยที่ผ่านมา ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ลงไปว่า มนุษย์ต้องการสิ่งเหล่านี้จริงหรือไม่ จุดหมายที่แท้ของมนุษย์คืออะไรกันแน่มนุษย์ทุกคนต่างมีความคิดเป็นของตนเองและมีคำตอบมากมายแก่คำถามในความคิดเหล่านั้น นักปรัชญาต้องการเข้าใจแนวคิดรวบยอดที่สามารถทำให้มนุษย์เข้าใจธรรมชาติของตนเอง รวมไปถึงการศึกษาว่าธรรมชาติต่าง ๆ ของมนุษย์ว่ามีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้างสิ่งใดที่สามารถนำไปใช้ได้บ้าง เหล่านี้ เป็นจุดเริ่มที่ทำให้มีการศึกษาและเป็นเกิดเป็นความคิดทางการเมืองขึ้นมา

การเมืองเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์เพราะมนุษย์จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันจำนวนมากหรือจะพูดอีกอย่างก็คือสังคมการเมืองหมายถึงอำนาจในการจัดสรรหรือแบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในสังคมแก่มวลสมาชิก ซึ่งวิธีคิดและกระบวนการเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดได้เพราะกระบวนทัศน์ของปรัชญา ซึ่งปรัชญานี้แปลความหมายกันได้ว่าเป็นหลักแห่งความรักในการแสวงหาความรู้เป้าหมายของวิชาปรัชญาดังกล่าว จึงมุ่งศึกษาสิ่งที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ต่างๆและดังนั้น ปรัชญาการเมืองจึงหมายถึงวิชาที่ศึกษาหรือตั้งคำถามสิ่งที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ทางการเมืองอันหมายถึงคุณค่าหรืออุดมการณ์ทั้งหลายซึ่งได้แก่ ความยุติธรรม สิทธิเสรีภาพ ความถูกต้องชอบธรรมความเท่าเทียมกัน แม้ว่าขณะนี้วิชาที่ว่าด้วยปรัชญาการเมือง จะเป็นส่วนหนึ่งของวิชารัฐศาสตร์และมีความสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆก็ตาม เช่นในปรัชญาด้วยกันได้แก่อภิปรัชญา จริยศาสตร์นิติศาสตร์ สังคมวิทยามานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ ศาสนวิทยา

ลักษณะของปรัชญามีลักษณะเดียวกับวิทยาศาสตร์ จึงไม่แปลกที่หลายคนจบการศึกษาสายวิทยาศาสตร์ จะมีรสนิยมชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับปรัชญาด้วยเช่นกัน  การอ่านปรัชญา เป็นการอ่านความคิดของคน ทำให้หลายคนค้นพบคำตอบที่สงสัยมานานได้ รวมไปถึงได้มุมมองทางความคิด ซึ่งเป็นมุมมองที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน ประโยชน์ของปรัชญาคือทำให้เข้าใจคนอื่นมากขึ้นการศึกษาวิธีคิดของพวกเขาทำให้เราแก้ไขปัญหาได้ดี ทำให้เรามองเรื่องต่าง ๆ ได้ลึกและกว้างมากขึ้นใช้ตรรกะได้อย่างถูกต้อง หรือแม้แต่ตัดสินได้ว่าคนอื่นใช้ตรรกะผิดอย่างไรได้ดีไปพร้อมกันด้วย

แม้ว่าในทางปรัชญาแล้วแนวคิดที่เรียกว่าอภิปรัชญาเป็นกระบวนทัศน์ที่มุ่งศึกษาสิ่งที่ไกลโพ้นจากประสาทสัมผัสอย่างเช่น วิญญาณ อัตตาการมีอยู่ของพระเจ้า อภิปรัชญาที่เกี่ยวกับปรัชญาการเมืองได้แก่คำถามเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ มนุษย์มีความเท่าเทียมกันตั้งแต่กำเนิดหรือไม่ขณะที่จริยศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับความถูกต้อง ความดีความชั่ว คุณค่าของความเป็นมนุษย์ เช่นความดีคืออะไรผู้ที่เป็นผู้นำทางการเมืองควรจะเป็นคนดีหรือไม่ แล้วดีอย่างไรการศึกษาประวัติศาสตร์ปรัชญาการเมืองตะวันตก มีการลำดับไว้หลายยุคคือเริ่มตั้งแต่ยุคกรีก-โรมันยุคกลางยุคใหม่และยุคร่วมสมัย

อาณากรีกโบราณจะมีลักษณะทางกายภาพคือเป็นหมู่เกาะ มีการปกครองแบบนครรัฐที่มารวมกันแบบหลวม ๆ กว่า 1,500 นครการปกครองจะมีลักษณะที่หลากหลายคือมีทั้งประชาธิปไตย(การปกครองโดยคนจำนวนมาก)คณาธิปไตย(การปกครองโดยคนจำนวนหนึ่ง) และทรราชย์(การปกครองโดยคนๆ เดียว)เมืองสำคัญของกรีกคือ เอเธนส์ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของการปกครองแบบประชาธิปไตย

ภายใต้ความมั่งคั่งและรุ่งเรืองแห่งอาณาจักรการปกครองยุคกรีก-โรมันขีดเส้นเริ่มต้นที่เอเธนส์ ซึ่งใช้การปกครองแบบประชาธิปไตยแบบโดยตรงคือจะให้พลเมืองชายที่อยู่ในชนชั้นปกครองได้มาร่วมประชุมเพื่อกันจำนวนมากคือจากจำนวนพลเมืองทั้งหมดสองแสนห้าหมื่นคนจะมีผู้เข้าร่วมประชุมอย่างน้อยห้าพันคนในการเข้าร่วมประชุมปีละสี่สิบครั้งประชาธิปไตยของเอเธนส์สิ้นสุดเมื่อกรีกถูกโรมันเข้ายึดครอง

ในสมัยกรีกมีสำนักนักคิดที่เรียกตัวเองว่าโซฟิสต์แปลว่าผู้ฉลาด มีมุมมองว่า มนุษย์เป็นผู้ตัดสินทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเอง ความดีความชั่วไม่มีมาตรฐาน เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา ดังคำพูดของโปรทากอรัสมนุษย์คือตัววัดของทุกสรรพสิ่งในสมัยนั้น กลุ่มนักปรัชญาโซฟิสต์ได้รับความเคารพนับถือจากชาวกรีกมากพวกเขาได้ให้กำเนิดศาสตร์ที่เรียกว่าวาทศาสตร์บางกลุ่มเป็นพวกมีความเห็นว่าเทพเจ้าเป็นสิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้และไม่ความสำคัญอะไรต่อชีวิตของมนุษย์บางกลุ่มเป็นอเทวนิยมไม่เชื่อในพระเจ้า

ต่อมา นักปรัชญาชื่อโสเครติสได้มีความคิดโต้แย้งกับโซฟิสต์ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าความรู้ไม่มีความจริงแท้ตายตัว โดยชี้ให้เห็นว่าความรู้นั้นมีอยู่ตายตัวหากแต่อยู่ในส่วนด้านจิตไร้สำนึกของมนุษย์ที่รอวันถูกค้นพบ โดยการถกเถียงทางปรัชญา คำพูดอันโด่งดังของเขาคือKnow Thyself-จงรู้จักตัวเจ้าเอง เขามีชื่อเสียงและได้รับการเคารพจากหมู่คนหนุ่มมากมาย แต่ชีวิตในปั้นท้ายโสเครติสจบลงด้วยเรื่องร้ายและแสนเศร้าเขาถูกตั้งข้อหาทรยศต่อชาติ และเสียชีวิตด้วยวิธีให้ดื่มยาพิษจากการตายของเขาส่งผลต่อความคิดทางปรัชญากรีก ที่เดิมอภิปรัชญาคือเรื่องภายนอก หันมาศึกษาอภิปรัชญาภายในตัวมนุษย์

ความตายของโสคราตีสผู้เป็นอาจารย์ เหมือนเอาน้ำมันราดไปบนกองเพลิง ทำให้เกิดการต่อต้านแนวคิดแบบประชาธิปไตยมากขึ้น โดยมีเพลโต ลูกศิษย์คนสำคัญเป็นผู้นำคนสำคัญโดยเพลโตเองเห็นว่าระบอบดังกล่าว จะเป็นอันตรายต่อกฎระเบียบของสังคมเพราะทุกชนชั้นมีเสรีภาพมากเกินไปและอาจนำไปสู่ความวุ่นวาย ท้ายที่สุดจะมีคนยึดอำนาจและสถาปนาตนเป็นทรราชใช้อำนาจตามอำเภอใจโดยตัวเพลโตนั้น เขายกย่องการปกครองแบบอภิชนาธิปไตยมากกว่า เพลโต อธิบายแนวคิดทางการเมือง ด้วยหนังสือของเขา ชื่อว่าอุดมรัฐ แนวคิดหลักของหนังสือนี้พูดถึงพลเมืองซึ่งต้องปราศจากสิทธิในการครองทรัพย์สินและเน้นการปกครองรัฐโดยกลุ่มบุคคลที่เรียกว่าราชานักปราชญ์ซึ่งต้องคัดเอาคนที่มีคุณภาพมาให้การศึกษาและผลัดกันปกครองรัฐในการเมืองแบบเพลโต มีชนชั้น3 กลุ่ม คือชนชั้นนักปกครองหรือราชานักปราชญ์ชนชั้นพิทักษ์หรือทหาร และชนชั้นผลิตหรือประชาชนทั่วไป มีหน้าที่เป็นพ่อค้า เกษตรกร

ต่อมาลูกศิษย์ของเพลโต ชื่ออาริสโตเติล มีแนวคิดให้ความสำคัญแก่รัฐ เขาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของเพลโตผู้เป็นอาจารย์ ที่ให้ความสำคัญแก่รัฐมากเกินไปจนทอดทิ้งความสำคัญของปัจเจกชนเขาไม่เห็นด้วยกับการไม่ให้ปัจเจกชนครอบครัวทรัพย์สินเลยเพราะนั่นเป็นเหตุให้พลเมืองเฉื่อยชาไม่ดิ้นรนทำมาหากิน  อาริสโตเติล เห็นว่ารูปแบบการเมืองควรมีหลายรูปแบบ อย่างน้อย 6 แบบคือ

ราชาธิปไตยการปกครองโดยบุคคลคนเดียวผู้มีปัญญาและความสามารถเหนือบุคคลทั้งปวงเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งหมด เป็นการปกครองที่ดีที่สุด

ทรราชย์การปกครองโดยบุคคลคนเดียวที่ปกครองเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเป็นการปกครองที่เลวที่สุด

อภิชนาธิปไตยการปกครองโดยกลุ่มบุคคลเพื่อผลประโยชน์ของปวงประชนเป็นการปกครองที่ดีรองจากราชาธิปไตย

คณาธิปไตยการปกครองโดยบุคคลหลายคนที่ปกครองเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองเป็นการปกครองที่เลวรองจากทรราช

มัชณิมชนาธิปไตยการปกครองโดยรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนประชาชนมีสิทธิเลือกผู้ปกครองที่มาจากชนชั้นกลาง การปกครองที่ดีน้อยที่สุด

ประชาธิปไตย การปกครองโดยคนจนที่มีเป็นจำนวนมากที่สุดในสังคมถือว่าเป็นปกครองที่เลวน้อยที่สุด

ภายหลังยุคของอาริสโตเติลและยุคที่กรีกตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรโรมันนักปรัชญาไม่สามารถมีแนวคิดใหม่ๆ เช่นแนวคิดทางการเมือง นอกจากผสมผสานปรัชญาเก่าๆมาเป็นของตัวเองแนวคิดที่ได้รับความนิยมคือแนวคิดเอปิคิวเรียนและแนวคิดสโตอิกซึ่งให้ความสำคัญแก่จริยศาสตร์แต่ก็มีแนวคิดทางการเมืองอยู่เช่น แนวคิดอีปิคิวเรียนเห็นว่าสังคมและการเมืองของมนุษย์เกิดจากการมาอยู่ร่วมกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนตัวความยุติธรรมในสังคมเป็นแค่ข้อตกลงร่วมกัน ไม่มีความยุติธรรมสากลมนุษย์ควรมีคุณธรรม 3 ประการคือ ความรอบคอบ ความซื่อสัตย์ ความยุติธรรมในขณะนี้ที่แนวคิดการเมืองของสโตอิก มีความคิดว่ามนุษย์ไม่ควรมีการแบ่งแยกประเทศหรือดินแดนกันเพราะมนุษย์ต่างเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลซึ่งต่อมาได้เป็นระบบความคิดทางปรัชญาที่นำมาจัดระเบียบอำนาจ ผลประโยชน์ของผู้คนในสังคม จนถูกนำมาปฏิบัติเป็นแนวคิดหลักในการปกครองของผู้นำแห่งอาณาจักรโรมันซึ่งเริ่มจากฝากตะวันตก ทอดยาวมาจรดตะวันออก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขัดแย้งของประเทศรัสเซียและยูเครนขณะนี้ แม้จะมีเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์อย่างเป็นด้านหลัก แต่ท่าทีความเคลื่อนไหวทางการเมืองของแต่ละฝ่ายนั้นก็เต็มไปด้วยความเชื่อทางปรัชญาด้วยเช่นกัน ผู้นำที่เป็นตัวแสดงในโรงละครของโลกในฉากสงครามนี้ล้วนมีความเชื่อและโลกทัศน์ทางปรัชญา และนี่อาจจะเป็นการหวลกลับไปที่คำถามตอนต้นที่เริ่มไว้ว่าทำไมปรัชญาการเมืองเริ่มที่ตะวันตกได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน