การเมือง » คอลัมน์
แยกรัชวิภา
บ้านเมืองออนไลน์ : วันพฤหัสบดี ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565, 17.20 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

เสียงสะท้อน ศรัทธา ความหวัง“กระบวนการยุติธรรม” กับสังคมไทย
เสียงสะท้อน ศรัทธา ความหวัง“กระบวนการยุติธรรม” กับสังคมไทย
ศุภภัทรวริศรา เกตุสุนทร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันรัชต์ภาคย์
จากคดีการเสียชีวิตของเด็กหญิงตัวน้อยสู่พี่ดาราสาวได้ยึดครองความสนใจของประชาชนคนไทยและต่างประเทศอย่างมากมายและยาวนาน จากเหตุการณ์การเสียชีวิตมีลักษณะพิเศษกลายเป็นปริศนา ซึ่งมีความซับซ้อนที่ไม่ว่าจะเป็นผู้ต้องสงสัย พยานหรือหลักฐานทำให้เกิดกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์และขยายเป็นวงกว้างจนทำให้ผู้คนในสังคมเริ่มมีความโน้มเอียงตัดสินล่วงหน้าต่างๆ นานาจากความไม่ไว้ใจในกระบวนการยุติธรรม แต่เนื้อในแล้วกระบวนการยุติธรรมก็ยังต้องเป็นที่พึ่งพาให้กับประชาชนและสังคมอยู่ดี แม้จะถูกโจมตีรอบด้านทุกครั้งเมื่อเกิดคดีลักษณะพิเศษและกลายเป็นปริศนาที่ต้องสะสางและจัดการเพื่อสร้างความเป็นธรรมและความสงบสุขให้กับประชาชนและสังคมตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ และไปจนถึงปลายน้ำ คือ ตำรวจ อัยการ และศาลคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดการ การรวบรวมเอกสาร พยานหลักฐานแบบทันท่วงที รวดเร็วและทันต่อเวลา ทันต่อสถานการณ์ และทันต่อความต้องการของผู้เสียหายที่จะได้รับการเยียวยา ที่ดูเหมือนยังคงค้างเป็นประเด็นอยู่และสังคมไทยต้องการพลเมืองที่คอยเป็นหูเป็นตา สอดส่องความไม่ปกติในสังคมเพื่อป้องกันความสูญเสีย หากนิ่งเฉยและไม่สนใจด้วยเหตุที่ว่าไม่ใช่เรื่องของตน หรือเกรงว่าจะมีภัยอันตรายมาสู่ตนจึงเกิดเป็นคำถามที่น่าสงสัยว่า การให้ข้อมูลเพราะคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและเป็นไปเพื่อประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดที่จะได้รับผลประโยชน์เป็นการส่วนตัวแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีใครได้รับค่าตอบแทนแต่อย่างใด เป็นสำนึกที่คนในสังคมจะต้องช่วยกันดูแลปกป้อง รักษาไม่ให้เกิดความสูญเสียในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง เพียงเพื่อให้ได้สิ่งที่สมบูรณ์ที่สุดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและรอการตัดสินจากปลายน้ำเพื่อใช้เป็นแนวทางกรณีศึกษาที่ดีที่สุดต่อไป อันที่จริงแล้วเรื่องของคนอื่นย่อมที่จะไม่มีใครอยากจะเข้าไปยุ่งอยู่แล้วเพราะอาจจะโดนข่มขู่ทำร้ายจากผู้กระทำความผิดเอง เสียทรัพย์ เสียชื่อเสียง หรือเสียเวลา เสียงบประมาณกันทั้งนั้น แถมยังได้สร้างสภาวะความหวาดกลัวให้กับประชาชนที่ประสงค์ให้ข้อมูลการกระทำที่มิชอบกลายเป็นพลเมืองที่แน่นิ่งและเฉยเมยกับความอยุติธรรมในสังคมอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้เขียนมองว่ายิ่งทำให้ประชาชนกำลังจะห่างไกลจากการทำหน้าที่การเป็นพลเมืองที่ดีอยู่เพราะหากล้วนนิ่งเฉยต่อความผิดปกติบางอย่างในสังคมหรือละเว้นที่ใดๆ ก็ตามสังคมจะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า โศกนาฏกรรมของทรัพยากรส่วนรวม (Tragedy of the common) กล่าวคือทุกคนจะเสียประโยชน์หมดถ้านิ่งดูดายและกระบวนการยุติธรรมจะกลายเป็นผู้ผูกขาดการรักษาและการเยียวยาความยุติธรรมที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการที่จะเป็นฐานในการตรวจสอบถ่วงดุลและกดดันส่งผลให้ความยุติธรรมในสังคมตอบสนองได้ล่าช้าเพราะต้องทำงานหนักขึ้นเนื่องจากไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนและอาจจะนำมาซึ่งความไม่โปร่งใส
ศรัทธา ความคาดหวัง เสียงสะท้อน สังคมไทยกับ “กระบวนการยุติธรรม”
การตระหนักและชั่งน้ำหนักการเข้าถึงความยุติธรรมอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญสิ่งนี้คือความคาดหวัง เช่น การได้รับความเสมอภาคตามกฎหมาย การไม่ถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ รวมทั้งการขจัดอุปสรรคในการเข้าถึงความยุติธรรมที่มีความเชื่อมโยงกับความเสมอภาคก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียม ดังนั้น การเข้าถึงความยุติธรรมจึงมีความสำคัญยิ่ง เสียงสะท้อนจากสังคมกับความคาดหวังการทำสำนวนอย่างตรงไปตรงมา จากความจริงสู่ความยุติธรรมเป็นสิ่งที่ดูเสมือนว่าจะหาได้ไม่ง่ายนัก เพราะกว่าจะได้ความจริงและความยุติธรรมในแต่ละเรื่องเป็นที่ทราบกันดีว่าต้องใช้ความวิริยะอุตสาหะ ความเพียร พยายามในการสืบเสาะแสวงหาและติดตามหาข้อเท็จจริงที่มีวิวัฒนาการเล่นแร่แปรธาตุอยู่ตลอดเวลา แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นความจริงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแต่งแต้มและต่อเติมแต่ประการใดแต่ทำไมความจริงจึงเป็นสิ่งที่หาได้ยากเย็นยิ่งนัก หรืออาจเป็นเพราะมีผู้จงใจบิดเบือนความจริงซ่อนอยู่หรือเป็นเพราะว่าความจริงทำให้คนบางกลุ่มเสียอะไรบางอย่างไป หรือเป็นเพราะกระบวนการยุติธรรมไม่ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาความยุติธรรมอย่างแท้จริงความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม เพราะความยุติธรรมที่ล่าช้าเป็นเหตุให้ผู้เสียหายไม่ได้รับความเป็นธรรมภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ได้รับการชดใช้ตามควรแก่เหตุและความยุติธรรมที่ล่าช้าก็ยังเป็นเหตุให้ผู้ก่อเหตุและผู้กระทำละเมิดต่อผู้อื่นไม่ถูกลงโทษในระยะเวลาที่เหมาะสมได้เช่นกัน ซึ่งก็เท่ากับปล่อยให้คนทำผิดลอยนวล หลายคดีที่ถูกตั้งคำถามว่าทำไมกระบวนการยุติธรรมของไทยตั้งแต่ต้นน้ำจึงค้นหาความจริงไม่ได้ ย่อมน่าจะแสดงให้เห็นถึงการขาดความเชื่อมั่นอย่างเห็นได้ชัดและยิ่งสังคมบนโลกโซเชียลที่เข้าถึงข่าวสาร ข้อมูลทั้งแหล่งข้อมูลหลักและแหล่งข้อมูลทั่วไปทำให้เกิดมโนทัศน์ในสิ่งที่ตนเชื่อกับกระบวนการยุติธรรมที่ดูเหมือนจะค้านสายตากันจึงทำให้คำว่าศรัทธาเลื่อนลางและหายไป ผู้เขียนจึงได้มุมมองใหม่ที่ว่า ทุกคดีเป็นเพียงสิ่งที่อยู่บนยอดภูเขาน้ำแข็ง ส่วนความยุติธรรมอยู่ส่วนใต้ภูเขาน้ำแข็ง กระแสสังคมเป็นเครื่องตอกย้ำให้ได้ประจักษความจริงที่ออกมาจากกระบวนการยุติธรรม
“กระบวนการยุติธรรมกับสังคมไทย” จะไปด้วยกันได้อย่างไร ??
บนโลกของการสื่อสารที่ไร้พรมแดนและการเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายและเสรี ที่มาพร้อมกับความโปร่งใส จึงทำให้สังคมตั้งคำถามไว้มากมายกับกระบวนการยุติธรรม สิ่งนี้คือการถูกตรวจสอบโดยอัตโนมัติอย่างรวดเร็วทุกขั้นตอนด้วยเช่นกันเพราะความไม่ไว้ใจในกระบวนการยุติธรรมที่หลังจากนี้ไปแล้ว ผู้เสียหายจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ถ้าหากปล่อยไปถึงกระบวนการปลายน้ำ ผู้เขียนมองว่า “กระบวนการยุติธรรมกับสังคมไทย” ต้องไปด้วยเสมอ ลองคิดตาม หากสังคมตั้งคำถามไว้มากมายกับกระบวนการยุติธรรม สิ่งนี้คือการถูกตรวจสอบความโปร่งใสที่ต้องควบคู่กันเสมอ ผู้เขียนเชื่อว่าในอนาคตพลังสังคมบนโซเชียลเข้ามามีบทบาททวีคูณและกระบวนการยุติธรรมจะถูกตรวจสอบความโปร่งใสอย่างไม่ลดละ แต่อาจเป็นโอกาสที่ดีของกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องพิสูจน์ฝีมือและความโปร่งใสให้เป็นที่ยอมรับ ทั้งนี้กระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ยิ่งมีความโปร่งใสมากเท่าใดยิ่งเป็นเรื่องที่ดีในขณะเดียวกันยังเป็นเกราะป้องกันให้กับผู้ปฏิบัติในกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย และสิ่งที่ดีที่สุดคือการสร้างวัฒนธรรมความโปร่งใส เพราะเมื่อใดที่สังคมยอมรับในความถูกต้องและความเป็นธรรมได้ โดยไม่มีข้อกังขา……เมื่อนั้นความเชื่อมั่นศรัทธา ความหวังและเป็นที่พึ่งจะกลับมาอยู่ในใจของประชาชนและสังคมไทย
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » การเมือง » คอลัมน์
คอลัมน์ล่าสุด ![]()
...คำถามประจำวันเด็ก...
ใต้ถุนสภา- ปรากฏการณ์ "ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน" 21:25 น.
- “หนี้นอกระบบ” 05:33 น.