วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 22:48 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันพฤหัสบดี ที่ 05 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 17.21 น.

ระบบอุปถัมภ์กับดักสังคมไทยที่มองไม่เห็นหลักธรรมาภิบาล

 

ระบบอุปถัมภ์กับดักสังคมไทยที่มองไม่เห็นหลักธรรมาภิบาล

 

ศุภภัทรวริศรา เกตุสุนทร

คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันรัชต์ภาคย์

 

เมื่อจะเอื้อนเอยถึง “ระบบอุปถัมภ์” ที่ถูกฝังรากเหง้าแนบแน่นอยู่ในสังคมไทยกลายเป็นเรื่องปกติจากพื้นฐานทางวัฒนธรรมและค่านิยมตามจารีตนิยมตั้งแต่อดีตตามทฤษฎีระบบอุปถัมภ์เกิดจากโครงสร้างทางสังคมที่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะของการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันให้เกิดความเท่าเทียมกันโดยที่ต่างฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนความสัมพันธ์ลักษณะนี้มีองค์ประกอบของความเป็นมิตรรวมอยู่ด้วยแต่ในความเป็นมิตรภาพนั้นย่อมขาดดุลยภาพที่อีกฝ่ายหนึ่งมีอำนาจเหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง จึงทำให้เกิดการพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือกันและกัน ระบบอุปถัมภ์ ถูกมองว่าเป็นรากเหง้าต้นต่อของการคอร์รัปชั่นและประพฤติมิชอบและยากต่อการตรวจสอบ“ผู้อุปถัมภ์” เป็นผู้ที่อยู่ในฐานะเอื้อผลประโยชน์ในด้านอำนาจ การเงิน การเมือง ตำแหน่งหน้าที่ “ผู้รับอุปถัมภ์” มีความสัมพันธ์เป็นส่วนตัว เครือญาติ พี่น้อง เพื่อนพ้อง พรรคพวก กลุ่มอาชีพที่รู้จักมีความใกล้ชิด สนิทสนม เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือตอบแทนซึ่งกันและกัน

สังคมไทยต้องเผชิญอะไรกับระบบอุปถัมภ์

ความผูกพันที่ยึดติดตัวบุคคล(Personalism) ทำให้ไม่สามารถแยกแยะระหว่างผลประโยชน์สาธารณะกับผลประโยชน์ส่วนตัวได้ ทำให้คนในสังคมเห็นแก่ตัวมากขึ้นการขาดความยุติธรรม การเล่นพรรคเล่นพวก แบ่งพรรค แบ่งพวก เกิดความเหลื่อมล้ำในกระบวนการยุติธรรมขาดความเสมอภาค ไม่เท่าเทียมกัน การขาดโอกาสของบางกลุ่มคนมุ่งเน้นผลประโยชน์ส่วนตัวหันหลังให้กับประโยชน์ส่วนรวม(Public interest)จึงขาดการรับผิดชอบต่อสังคม(สำนึก) (Public accountability)สร้างค่านิยมการประจบสอพลอ การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายภายใต้เงาของเงื่อนไขทางการเมืองเอื้อประโยชน์แก่ตนเองหรือพวกพ้องในลักษณะของประโยชน์ทับซ้อนจากความร่วมมือของพวกพ้อง ต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันในลักษณะต่างตอบแทนและใช้ความชอบธรรมของนโยบายและกฎหมายเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์อย่างแยบยล

ระบบอุปถัมภ์กับดักสังคมไทยที่มองไม่เห็นธรรมาภิบาล

 “ระบบอุปถัมภ์”กัดแทะสังคมมาอย่างยาวนานเกิด"ความเหลื่อมล้ำในสังคม" นำมาซึ่งปัญหาการเมือง สังคม ความยากจน คุณภาพชีวิต และเป็นอุปสรรคที่หน่วงรั้งการพัฒนาประเทศมาหลายทศวรรษ "ความเห็นแก่ตัวของคนในสังคม" เป็นปัญหาหนักหน่วงของสังคมเมื่อต้องเลือกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ส่วนรวม จำนวนไม่น้อยเลือกผลประโยชน์ส่วนตัวต้องมาก่อน จึงไม่แปลกใจที่คนในสังคมจำนวนไม่น้อยแสดงออกถึงความเห็นแก่ตัวอย่างเปิดเผย โดยไม่รู้สึกละอายแก่ใจ“เรียกร้องผลประโยชน์เพื่อตัวเอง” โดยไม่สนใจว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือต่อส่วนรวม มีการช่วยเหลือพวกพ้องของตนเองเพื่อหวังผลส่วนแบ่งผลประโยชน์ หรือหวังสร้างบุญคุณกับพวกพ้อง โดยไม่สนใจว่าจะผิดกฎหมาย หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อส่วนรวม “การช่วยคนโกง ช่วยคนผิด” เพียงเพราะผู้อุปถัมภ์เป็นผู้มีพระคุณ การช่วยพวกพ้อง เอาเปรียบคนอื่น เพียงเพราะคาดหวังว่า "วันนี้ช่วยพวกพ้อง วันหน้าพวกพ้องจะช่วยเราตอบแทนระบบอุปถัมภ์ จึงดำรงอยู่ได้อย่างแนบเนียนและฝังลึกในสังคมจากผลประโยชน์อันลุ่มลึกของระบบพวกพ้องที่จัดสรรปันส่วนเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวกันได้อย่างลงตัวการกระจายอำนาจไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นายทุน ข้าราชการระดับสูง ผู้นำท้องถิ่น ทำอะไรต้องมีผลประโยชน์ร่วมกันเป็นที่ตั้ง มากกว่าจะรับฟังความต้องการของประชาชนระบบอุปถัมภ์ จึงถูกมองในแง่ที่ว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับผลงานแต่ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจในผลประโยชน์ทับซ้อนร่วมกันจากความล้มเหลวของระบบราชการที่สังคมออกมาเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูประบบราชการหลายครั้งคราว องค์กรรัฐวิสาหกิจ เสมือนขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ถูกใช้เป็นแหล่งหาผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มทำให้ถูกเรียกร้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้มีความโปร่งใสที่เปรียบเสมือนโลก Metaverse ที่สามารถมองเห็นแต่ไม่สามารถจับต้องได้ ที่ผ่านมาจึงถูกต่อต้านอย่างหนักในทางตรงกันข้ามรัฐวิสาหกิจหลายแห่งกลับมีนักการเมืองเข้ามามีอำนาจในกลุ่มอุปถัมภ์ของตนขยับเข้าใกล้อีกนิดกับกระบวนการยุติธรรม ที่มีระบบอุปถัมภ์พวกพ้องตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางที่เข้มข้น จึงถูกสังคมมองว่า “ความยุติธรรม ไม่มีอยู่จริง”ซึ่งสะท้อนความจริงได้ในระดับหนึ่ง

ระบบอุปถัมภ์จะห่างหายไปจากสังคมไทยได้หรือไม่?

หากจะนำบทเรียนจากอดีตมาฉายใช้เห็นภาพ“ระบบอุปถัมภ์”มีทั้งด้านดีและไม่ดี “ระบบอุปถัมภ์” ตั้งแต่อดีตอยู่บนพื้นฐานหลักคุณธรรม วิวัฒนาการทางสังคมเปลี่ยนระบบอุปถัมภ์เปลี่ยนตามด้วยเช่นกันจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้อุปถัมภ์ที่มีความเมตตา กรุณา และผู้อยู่ในความอุปถัมภ์ตอบแทนด้วยความกตัญญูและจงรักภักดี หันมาให้ความสำคัญเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตนสิ่งนี้จึงทำให้ระบบอุปถัมภ์ในอดีตเปลี่ยนมาเป็น “ระบบอุปถัมภ์พวกพ้อง”ในปัจจุบัน เมื่อความต้องการผลประโยชน์แก่ตนเองและเอื้อผลประโยชน์แก่พวกพ้องมาในรูปแบบต่าง ๆ ที่เห็นได้ชัดก็หนีไม่พ้นในเรื่องการสัมปทานที่มีพื้นฐานของระบบอุปถัมภ์แอบแฝง โดยมีอำนาจทางการเงินเป็นตัวอุปถัมภ์จึงทำให้ความสัมพันธ์ไม่มีคุณธรรมและความเมตตาเป็นพื้นฐาน แต่กลับมีผลประโยชน์มาแทนผ่านชนชั้นทางการเมืองและชนชั้นทางเศรษฐกิจ จึงเกิดการคอร์รัปชั่นในรูปแบบต่างๆในมุมมองอีกด้านของ “ระบบอุปถัมภ์” กับความเหมาะสมในบางตำแหน่งที่ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจรักษาความลับ ต้องใช้พวกพ้องที่เชื่อใจและสนิทใจช่วยให้การทำงานมีความสะดวกรวดเร็วมีประสิทธิภาพซึ่งลักษณะนี้จะสอดคล้องกับพรรคการเมืองใด ๆ ก็ตามหากไม่อาศัยระบบอุปถัมภ์ยากยิ่งที่จะไปถึงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงได้ เพราะพรรคการเมืองต่างก็ต้องการฐานอำนาจเพื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแทบทั้งสิ้นการช่วยเหลือผู้เสียเปรียบและให้มีโอกาสตามหลักคุณธรรม (the merit system) สิ่งนี้ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่หากผู้นั้นเป็นคนมีคุณธรรม มีความรู้ความสามารถมีคุณภาพและมีจุดเด่นเป็นที่ยอมรับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (Integrity) ระบบอุปถัมภ์ถูกมองว่าเป็นรากเหง้าของการคอร์รัปชั่นชั้นเยี่ยมที่แสวงหาผลประโยชน์ได้อย่างแยบยล ที่ดูภายนอกเหมือนตอบสนองประโยชน์ส่วนรวม แต่ที่แท้จริงแล้วแฝงประโยชน์เพื่อตนเองและพวกพ้องการคอร์รัปชั่นที่ไม่มีใบเสร็จ เป็นการกระทำโดยอาศัยช่องโหว่กฎหมาย จากผิดให้เป็นถูกได้ถือเป็นสัญญาณอันตรายยิ่งนัก สังคมไทยจะห่างหายจากระบบอุปถัมภ์ได้หรือไม่ ผู้เขียนเองเชื่อว่า ระบบอุปถัมภ์จะไม่มีวันหายไปจากสังคมมนุษย์ได้เพราะระบบอุปถัมภ์มีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เป็นกลไกทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ที่ถูกแอบแฝงและห่อหุ้มด้วยความคิดและพฤติกรรม เพียงแต่สร้างฐานความคิดให้ระบบอุปถัมภ์ห่างไกลจากสังคมได้ด้วยการเสริมสร้างหลักคุณธรรม จริยธรรม และหลักธรรมาภิบาลให้แข็งแกร่ง