วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 01:41 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันจันทร์ ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 17.48 น.

พุทธธรรม : ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ทางช่วยแก้วิกฤติสังคมโลก

พุทธธรรม : ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ทางช่วยแก้วิกฤติสังคมโลก

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณกมล ปุญชเขตต์ทิกุล

มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

 

สภาสากลวันวิสาขบูชาโลก ที่ปรึกษาพิเศษของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ จัดงานวันวิสาขบูชาเป็นครั้งที่ 17  ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ(ประเทศไทย)เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565  ที่ผ่านมา นั้น นอกจากเป็นการจัดงานเพื่อเฉลิมฉลองวิสาขบูชา ที่ครั้งหนึ่งเคยมีความหมายสำหรับชาวพุทธเพียงว่าเป็นวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือแม้ในบางประเทศถือเป็นวันตรัสรู้เท่านั้น ซึ่งวันวิสาขบูชาวันสำคัญของโลกเข้าปีที่ 23(พ.ศ.2542-2565)นับแต่มติที่ประชุมสมัชชาแห่งสหประชาชาติได้ประกาศไว้ แต่ปีนี้วันวิสาขบูชาโลก ที่จัดขึ้นอย่างระมัดระวัง ท่ามกลางมาตราการป้องกันวิกฤติโควิด-19 แห่งชาตินั้น มีหัวข้อประชุมความริเริ่มโครงการแปลพระไตรปิฎกสากล ฉบับบาลีเป็นภาษาอังกฤษ โดยการอุปถัมภ์ของรัฐบาลไทยด้วย ทั้งนี้ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการเผยแผ่พุทธธรรม คือคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สู่การส่งเสริมและสร้างสันติธรรม สันติภาพแก่ประชาคมโลก

ฯพณฯรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม ผู้แทนรัฐบาลไทย ได้กล่าวย้ำว่าพุทธศาสนามีความสำคัญหลักคำสอนพุทธศาสนามีคุณูปการต่อสังคมไทยมาช้านาน คนไทยทราบโดยทั่วกันว่าเป็นศาสนาประจำชาติ แม้จะไม่ได้ระบุเป็นตัวอักษรไว้ในรัฐธรรมนูญ และได้ยกตัวอย่างหลักกรุณา ความคิดช่วยเหลือกันในยามวิกฤติเป็นซอฟต์พาวเวอร์(Soft Power)ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความสำคัญมากในงานวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลกปีนี้

ที่จริงซอฟต์พาวเวอร์(Soft Power)ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติมานาน Soft Power คือพลัง อำนาจหรือ Power ซึ่งมีมิติเช่น การออกคำสั่งโดยใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ (Hard Power) การใช้กำลังทหาร หรือการใช้ทรัพยากรที่จับต้องได้มาสร้างอำนาจให้กับตนเอง แต่สำหรับอำนาจอ่อนหรือ ซอฟต์พาวเวอร์(Soft Power) นั้นแตกต่างออกไป  ในทัศนะโจเซฟ เนย์(Joseph S. Nye) นักรัฐศาสตร์อเมริกัน แบ่งซอฟต์พาวเวอร์เป็น 3อย่าง คือ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายการต่างประเทศซึ่งรัฐบาลไทยก็ได้มียุทธศาสตร์เรื่องนี้ไว้ในหัวข้อวัฒนธรรม 5 F  เพื่อสร้างซอฟต์พาวเวอร์ทางวัฒนธรรมได้แก่ 1.อาหาร (Food) 2.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) 3.การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) 4.ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fighting)  และ 5.เทศกาลประเพณีไทย (Festival) ดังนั้น ไม่ว่าจะ soft หรือ hard มันก็คือการทำให้อีกฝ่ายได้เห็นพ้องต้องกันว่าเป็นเรื่องสำคัญ พุทธศาสนาจะเป็นซอฟต์พาเวอร์ได้ ก็ต่อเมื่อเราเห็นคุณค่าพุทธธรรมแต่ละข้อว่าสามารถเปลี่ยนแปลงตัวผู้ปฏิบัติให้ได้รับผลตอบรับตามสมควรแก่การปฏิบัติตามนั้นได้ด้วย  ซึ่งหลักพรหมวิหารธรรม อย่างเช่น ความกรุณา เป็นเพียงข้อธรรมหัวข้อหนึ่ง ที่เป็นซอฟต์พาวเวอร์(Soft Power) ทางพระพุทธศาสนา ที่จะช่วยให้มีคนมีจิตสำนึก ตระหนักรู้การช่วยเหลือกัน และให้ความสำคัญต่อการศึกษาพระพุทธศาสนามากขึ้นในฐานะเป็นไทยซอฟต์พาวเวอร์ ด้วยเช่นกัน

สำหรับ พรหมวิหารธรรม เป็นหลักธรรมประจำใจของผู้ใหญ่ กล่าวคือ เป็นหลักในการอยู่ร่วมกัน อย่างสันติ  พรหมวิหาร เป็นหลักธรรมในพระพุทธศาสนาว่าด้วยเรื่องหลักสันติภาพ หลักสันติสุข เน้นการไม่เปียดเบียนซึ่งกันและกัน หลักกรุณา หมายถึง ความคิดเห็นอกเห็นใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนที่ลำบากกว่าตนเอง เป็นหลักคำสอนที่ส่งผลให้ผู้ถือปฏิบัติกลายเป็นผู้ใหญ่ไปด้วยเช่นกัน

ต้องยอมรับว่าขณะนี้โลกกำลังเผชิญวิกฤติการณ์หลายด้าน ในยุคโลกมีวิกฤตเรื่องอาหาร วิกฤตอันเกิดจากสงคราม วิกฤตอันเกิดจากความเจริญทางวัตถุ วิกฤตอันเกิดจากโรคระบาดโควิด-19  โลกได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม ผู้คนไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ สิ่งที่สามารถนำมาใช้ได้เป็นอย่างดี คือคุณธรรมทางพระพุทธศาสนา คือ ความกรุณา ที่มีความเห็นอกเห็นใจกัน ให้ความรู้ ให้ธรรมะ ให้อภัยต่อกัน หรือแม้จะไม่มีวัตถุเป็นทาน ก็ใช้การพูดจาด้วยวาจาที่ให้กำลังใจกัน

องค์การสหประชาชาติ(UN) ได้ระบุไว้ว่าโลกจะประสบวิกฤติ 6 ประการ คือ 1.การแปรปรวนของสภาพอากาศ 2.สังคมผู้สูงอายุ 3.ความหิวโหย 4.การก่อการร้าย และการต่อสู้ 5.เทคโนโลยี ที่สามารถใช้ได้ทั้งในทางสร้างสรรค์และทำลาย 6.โรคระบาด ซึ่งวิกฤติทั้ง 6 ประการดังกล่าว สามารถแก้ไขได้หลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่จะนำมาใช้แก้วิกฤติได้เป็นอย่างดี คือ พุทธธรรมในทางพระพุทธศาสนาว่าด้วยพรหมวิหารธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลักกรุณา ที่แปลตามความหมายเดิมว่า ความสงสาร คิดช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์  ในทางปฏิบัติเราจะพบว่ามีการนำหลักกรุณามาใช้ ในมิติของการให้ความช่วยเหลือ สิ่งของใช้สอยต่าง ๆ  การให้ความรู้ ให้ธรรมะ ให้อภัย การพูดให้กำลังใจกัน ที่ผ่านมาบทบาทของสหประชาชาติในการเรียกร้องให้ชาวโลกและระดับทั่วไปแสดงออกในประเด็นมนุษยธรรม มีอยู่มาก โดยเฉพาะข้อเรียกร้องที่เกี่ยวกับความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ที่ตกยากลำบาก คือ ให้มนุษย์มีความกรุณาต่อกัน ช่วยเหลือกันและกัน โดยเฉพาะช่วยเหลือด้านความอดยาก หิวโหยที่เกิดขึ้นในโลก

พลธรรม พลังแห่งความกรุณา ที่ปรากฏในคำสอนพุทธศาสนานั้น สะท้อนแก่ชาวโลกมากว่า 2,500 ปี ผ่านการประกาศศาสนา การเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ผ่านองค์ศาสดาของชาวพุทธทั่วโลก ในฐานะที่ทรงเป็นครูของโลก(สัตถา เทวมนุสสานังฯ) ทรงใช้ให้กำลังแห่งกรุณาผ่านไปทางพระเกียรติคุณ 3 ด้าน กล่าวคือ มหากรุณาธิคุณ บริสุทธิคุณ และปัญญาธิคุณต่อมนุษยชาติ 

ที่เน้นย้ำว่า กรุณาธรรมจะเป็นธรรมะสำคัญช่วยเยี่ยวยาในยามวิกฤติได้ ก็เนื่องด้วยเป็นหลักพรหมวิหารที่จริงเป็นธรรมะของผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีอายุสูงกว่า คุณธรรมสูงกว่า ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงกว่า ความเข้าใจอย่างง่ายคือเป็นคุณธรรมของผู้ใหญ่ที่ต้องมีไว้เพื่อปฏิบัติต่อผู้น้อยนั่นเอง ผู้นำทางสังคมไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือฆราวาส จำเป็นต้องมี ต้องนำมาปฏิบัติให้เกิดเป็นผลเป็นรูปธรรม ดังนั้น การนำหลักพรหมวิหารธรรมมาใช้ในชีวิตได้จริง ถือเป็นปฏิบัติบูชา เป็นการปฏิบัติสมควรแก่การมีธรรมะ(ธัมมานุธัมมปฏิปทา)

ข้อพิจารณาที่จะเห็นได้ชัดขึ้นในการนำมาใช้จริงๆ ต่อสังคมโลก มี 2 มิติ คือประการแรก เป็นหลักศาสนาในแง่ของคำสอน ได้แก่หลักอริยสัจ ที่นำมาเยียวยาจิตใจตนเอง ให้มีความเข้าใจสภาวทุกข์ อย่างเช่น เข้าใจหลักขันธ์ 5 เมื่อเข้าใจแล้วก็สามารถปรับตัวอยู่เท่าทันสถานการณ์ที่กำลังเผชิญอยู่ได้และประการที่สอง เป็นมิติแห่งความเป็นมนุษย์ โดยมนุษย์คำนึงว่าเป็นสิ่งพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ที่จะต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกันความกรุณายังถือเป็นฐานสำคัญของคนไทย เช่นช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เราจะเห็นตู้ปันสุข ศูนย์พักคอยในวัด วัดและชุมชนเป็นโรงพยาบาลสนาม จัดตั้งโรงทาน พระสงฆ์สวมชุด PPE เผาศพที่ติดเชื้อโควิด กรุณาในพรหมวิหาร ถูกรับรู้ได้ผ่านกระบวนการ ในการจัดการตนเองที่เข้มแข็ง

ปรัชญาความเชื่อและทัศนคติดั้งเดิมแบบพุทธศาสนา ระบุไว้ในพระบาลีไตรปิฎก ว่า เนกาสี ลภเต สุขัง เพราะกินอิ่มเพียงคนเดียวไม่สุข ซึ่งหลักพุทธธรรมนี้ มีเป้าประสงค์การแบ่งปันอย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า พุทธศาสนาล้วนประกอบด้วยซอฟต์พาวเวอร์(Soft Power)ในหลายมิติ ทั้งการปฏิบัติระหว่างกันของบิดา มารดา-ลูกๆ  ครูอาจารย์-ลูกศิษย์ เจ้านาย-ลูกจ้าง สามี-ภรรยา เพื่อน-กับเพื่อน ตลอดจนผู้นำศาสนา-ศาสนิกชน มีการระบุไว้เป็นหลักการและข้อปฏิบัติในพุทธธรรม

นอกจากนี้ ซอฟต์พาวเวอร์(Soft Power)ยังมีปรากฏในมิติที่กว้างลึกอีกด้วย อาทิเช่น หลักปฏิบัติมนุษย์กับการเมืองการปกครอง  เศรษฐกิจ วัฒนธรรม หรือแม้แต่มิติทางสังคม ที่เห็นได้ชัด อย่างเช่น การมีสัจจะ การข่มจิตใจไว้ ความอดทน การเกื้อกูลแบ่งปัน ก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์(Soft Power)ในพุทธศาสนาเช่นกัน ซึ่งหลักการต่างๆ นี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นกรุณาธรรมทั้งในยามปกติด้วย ไม่ใช่แค่เพียงแต่ในยามวิกฤติ  ด้วยว่าซอฟต์พาวเวอร์(Soft Power)ในพุทธศาสนานั้น เป็นหลักมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานที่จำเป็น และต้องมี เป็นฐานรากของการเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ตาม พุทธธรรม จะถูกรับรู้และนำไปปฏิบัติในฐานะเป็นซอฟต์พาวเวอร์(Soft Power)และจะสามารถเป็นทางออกประเทศไทย เป็นทางรอดช่วยแก้วิกฤติสังคมโลกได้มากน้อย คงต้องเริ่มที่แต่ละคนก่อนหวังว่าซอฟต์พาวเวอร์(Soft Power)พลังซอฟต์ จะไม่ซอฟต์อีกต่อไปขอให้เป็นพลังที่ระเบิดจากข้างในจิตใจ กระตุกจิตสำนึกให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่นและเบิกบานใจได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นแค่ซอฟต์พาวเวอร์(Soft Power)อำนาจอ่อน หรืออำนาจละมุน ดังที่ผู้รู้ภาษาไทยได้ให้คำแปลไว้