วันพฤหัสบดี ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2567 16:49 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันอาทิตย์ ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 12.53 น.

ธรรมาภิบาลกับการบริหารงานผู้ว่าฯ กรุงเทพ เสียงสะท้อนคนรุ่นใหม่

ธรรมาภิบาลกับการบริหารงานผู้ว่าฯ กรุงเทพ เสียงสะท้อนคนรุ่นใหม่

 

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณกมล ปุญชเขตต์ทิกุล

ที่ปรึกษาศูนย์คุณธรรม สุจริตไทยวัยใสใจสะอาดมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

โค้งสุดท้ายเลือกผู้ว่าฯเมืองหลวง กำลังจะเกิดขึ้นอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ การเลือกผู้ว่าฯกรุงเทพครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงที่สถานของประเทศไม่ปกติ หรือเป็นช่วงของสังคมปกติใหม่ ที่ถูกปัญหาหลายด้านรุมเร้าโจทย์ใหญ่คือปัญหาเศรษฐกิจปากท้องประชาชนในประเทศและเศรษฐกิจโลกเป็นช่วงขาลง การเมืองกำลังร้อนระอุแบบที่ปะทุจากข้างใน สภาพสังคมอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างลำบาก ท่ามกลางความลำบากของประชาชนมาพร้อมกับคำสัญญาที่ติดปะไว้ข้างถนน เสาไฟฟ้า และสถานที่ต่างๆ แน่นกรุงเทพไปหมด  ข้อความส่งถึงประชาชน ทั้งเชิญชวน ทั้งอาสาเข้าไปแก้ปัญหากรุงเทพ ที่ประชาชนกำลังรอผู้ว่าฯในฝันที่จะเป็นผู้ว่าฯกรุงเทพที่ทั้งเก่ง ดี และทำให้ประชาชนมีความสุขมีชีวิตที่ดีขึ้น

เสียงเตือนของ ฯพณฯ นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ในปาฐกถาเรื่องสภาพปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทยกับมุมมองของนักการเมืองต่อกระบวนการยุติธรรมไทย ให้กับ ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรผู้บริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูงสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ออกมาเน้นย้ำและแนะให้ตระหนักถึงธรรมาภิบาล-คุณธรรมในการบริหารงานให้มากนั้น เป็นเรื่องที่สำคัญทีเดียว เพราะการแก้ไขปัญหาต่างๆ ต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในความโปร่งใสและความยุติธรรมซึ่งท่านได้เน้นว่าปัญหาของกระบวนการยุติธรรมไทย คือ การขาดความเชื่อมั่นจากประชาชน ซึ่งต้นเหตุเกิดจากหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นตัวกฎหมายที่บางฉบับล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลง การออกกฎหมายที่เอื้อแก่บางกลุ่ม การทุจริตคอร์รัปชันที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับคนส่วนใหญ่ในสังคม มาจากปัญหาคือประชาชนไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมต้องทำให้เร็ว มีกลไกในการควบคุมตรวจสอบที่สำคัญคือต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม

สำหรับการลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กรุงเทพ ครั้งนี้ มีผู้สมัครหลายท่าน ได้เปิดนโยบายโปร่งใส เขย่า กทม. ชี้ต้นตอโครงสร้างปัญหา หรือแม้แต่เปลี่ยนกรุงเทพฯ ปรับปรุงกติกา ดูแลการจัดสรรงบประมาณให้เป็นธรรม ทุกคนมีส่วนช่วยกรุงเทพได้เพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพไปสู่การเปลี่ยนแปลงดีขึ้นในหลายๆ ด้าน เป็นประเด็นนำร่องมีทั้งที่น่าตกใจ และน่าสนใจไม่น้อย ควบคู่กันไปสำหรับมุมมองและเสียงสะท้อนของคนรุ่นใหม่ในการเลือกผู้ว่าฯ กรุงเทพ ครั้งนี้ถือว่าคึกคัก สิ่งที่คนรุ่นใหม่อยากเห็นในตัวผู้ว่าฯกรุงเทพ คือผู้ว่าฯ ที่มีการบริหารงานตามธรรมาภิบาลเป็นมิติที่โผล่ขึ้นมาในกลุ่มนิวโหวตเตอร์ชัดมาก

นายธนพล วงษ์ช่างซื้อ นักศึกษาปี2 สาขารัฐประศาสนศาสตร์ กล่าวว่า อยากเห็นผู้ว่าฯกรุงเทพ ให้ความสำคัญกับการนำหลักคุณธรรมและหลักความโปร่งใสมาบริหาร กทม. การที่ผู้ว่าฯกรุงเทพ ยึดมั่น ในคุณธรรมความดีงาม ความถูกต้องตามทำนอง คลองธรรมรวมถึงมีความซื่อสัตย์จริงใจ และยึดมั่นในความสุจริตคุณธรรมเป็นแนวทางที่ถูกต้องในการดำเนินชีวิต นั้นเป็นสิ่งแรกที่อยากได้ ผู้ว่าฯกรุงเทพต้องมีความประพฤติและจิตใจซึ่งแต่ละสังคมกำหนดและยอมรับปฏิบัติกัน เช่น ซื่อสัตย์ อดทน เมตตากรุณา เสียสละ อีกเรื่องคือความโปร่งใส อยากเห็นผู้ว่าฯกรุงเทพ สนใจความถูกต้อง ชัดเจน ปฏิบัติตามหลักการที่ควรจะเป็น รวมถึงการสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน มีกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องได้ รวมทั้งการให้ และรับข้อมูลที่เป็นจริงตรงไปตรงมาทันเวลาเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ซึ่งได้แก่การบริหารราชการที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและพยายามมุ่งให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกต่อการพัฒนาชีวิตของประชาชนเพื่อเป็นหลักการปฏิบัติในการบริหารในองค์กรและลดการทุจริตคอร์รัปชั่นและที่สำคัญคือเพื่อให้องค์กรมีความแข็งแรงและมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน

นางสาว จิติมา กะสิการ นักศึกษาปี 2 สาขารัฐศาสตร์ บอกว่า ธรรมาภิบาลกับผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ นั้น ส่วนตัวมองว่าแม้จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ แต่จะเป็นจุดเริ่มที่จะก้าวสู่การพัฒนาที่ยิ่งใหญ่สิ่งแรกเลยที่ผู้ว่าฯกรุงเทพ ควรมีในการบริหารงานคือหลักความโปร่งใส คือการทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่โปร่งใสเปีดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมาตรวจสอบได้ มีการปรับปรุงระบบและกล ไกการทำงานขององค์กรให้มีความโปร่งใสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวกอีกข้อคือความรับผิดชอบของผู้บริหารตลอดจนคณะทำงานทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำต้องตั้งใจปฏิบัติภารกิจตามหน้าที่ให้ดี ให้บริการที่ดีแก่ประชาชน และความพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขได้ทันท่วงที

นางสาวศิริอร อินต๊ะเม๊า นักศึกษาปี 2 สาขารัฐศาสตร์ อยากเห็นผู้ว่าฯ กรุงเทพ เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องการสร้างรายได้เพิ่มพื้นที่ขายของให้ผู้มีรายได้น้อยลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองสตรีทฟู้ดระดับโลก ส่งเสริมกรุงเทพฯ ให้เป็น MICE Cityคนกรุงเทพฯต้องการพื้นที่ขายของให้ผู้มีรายได้น้อยแก้ปัญหารถติดกรุงเทพฯ เมืองสีเขียวแก้น้ำท่วมรื้อสายสื่อสารรกรุงรังลงดิน สร้างชีวิตที่ดีแก้ปัญหา PM 2.5เปลี่ยนขยะเป็นปุ๋ยและพลังงานสะอาดสร้างกรุงเทพฯ สะดวกขึ้นแก้ปัญหารถติด ซ่อมถนนทุกสายให้เรียบ ตีเส้นชัด จัดรถยนต์ไฟฟ้า (EV)เพื่อประชาชน  จัดระเบียบสายสื่อสารลงดิน  และอยากให้แก้น้ำท่วม

นายธีร์จุฑา เลิศปารมี  นักศึกษาปี 2 สาขารัฐศาสตร์ กล่าวว่าการนำธรรมาภิบาลมาใช้บริหารกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่คนกรุงต้องการมาก คนกรุงเทพต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ว่าคนๆนั้นจะมีถานะอย่างไรรวยจน ต่างก็ต้องการความสงบเรียบร้อยในถิ่นที่อยู่อาศัยของตน ความปลอดภัย และสิ่งที่ควรเร่งแก้ไขมี มีตั้งแต่เรื่องสายไฟเบอร์ทุกชนิดทำให้เรียบร้อยเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายแก่ประชาชน แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง การจราจรติดขัด ไม่ให้ทรัพย์สินของประชาชนเสียหาย

นางสาววีระนุช วงค์จำปา นักศึกษาปี 2 สาขารัฐศาสตร์ มองว่าการนำธรรมาภิบาลมาใช้บริหาร กทม. คือต้องเน้นหลักคุณธรรมเป็นลำดับแรกเลย ผู้ว่าฯกรุงเทพต้องมีคุณธรรม ยึดความถูกต้อง ส่งเสริมสนับสนุนประชาชน คนในสังคม ซื่อสัตย์ จริงใจ ขยัน อดทน มีระเบียบวินัยการทำบริหารงานไปอย่างสุจริต ที่สำคัญคือต้องมองเชื่อมโยงกับธรรมาภิบาลอื่นๆ ด้วย เช่น หลักความโปร่งใส ต้องนำหลักความโปร่งใสมาใช้ในการให้การดูแลประชาชน หลักการมีส่วนร่วม หลักนิติธรรม มีความรับผิดชอบในการจะทำนโยบายที่เสนอไว้ให้ประชาชนอยู่สะดวกสบาย

การปฏิบัติตามธรรมาภิบาล หลักคุณธรรมและความโปร่งใสจะมีผลอย่างมาก กล่าวคือเมื่อคนในสังคมปฏิบัติตตามหลักคุณธรรม โดยที่ทุกคนยึดหลักคุณธรรมมาปฏิบัติงาน ก็จะทำให้นำมาปฏิบัติในองค์กร ความให้เกิดความดีงามในองค์กร โดยการมีความซื่อสัตย์สุจริต ความขยันอดทน ความมีระเบียบเมื่อปฏิบัติอย่างนั้นได้ ก็จะเกิดความโปร่งใส สังคมก็เกิดความน่าอยู่ ก็จะนำมาสู่การมีหลักความโปร่งใสโดยการนำมาเป็นที่ยึดถือในการทำงาน ที่สามารถเปิดเผยข้อมูลในการทำงานต่อสาธารณะได้ จะทำให้หน่วยงานมีความเข้มแข็ง โดยการที่ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐได้ และจะทำให้การคอร์รัปชั่นนั้น ลดลงและหายไป เมื่อบุคลากรในหน่วยงานปฏิบัติตามหลักคุณธรรมและหลักความโปร่งใสดังนั้น การนำธรรมาภิบาล หลักคุณธรรมและหลักความโปร่งใสมาปฏิบัติ ช่วยสร้งสรรค์และส่งเสริมให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองในความคาดหวังของทุกคน

จะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ต้องการได้ผู้ว่าฯที่ใช้ธรรมาภิบาลมาบริหารงานกรุงเทพฯได้แก่ ความโปร่งใส นิติธรรม คุณธรรม ความรับผิดชอบ การมีส่วนร่วม ความคุ้มค่าอยากเห็นผู้ว่าฯกรุงเทพ เข้ามาช่วยหาวิธีสร้างรายได้เพิ่มพื้นที่ขายของให้ผู้มีรายได้น้อยลดค่าตั๋วรถไฟฟ้าทำกรุงเทพฯเป็นเมืองสตรีทฟู้ดระดับโลกแก้ปัญหาPM 2.5 เปลี่ยนขยะเป็นปุ๋ยพลังงานสะอาดจัดรถยนต์ไฟฟ้า(EV) เพื่อประชาชนแก้น้ำท่วม เมืองสีเขียวสร้างกรุงเทพฯแก้ปัญหารถติดตีเส้นตามถนนให้ชัดเข้มงวดกับการใช้ทางข้ามไฟแดงตามแยกต่างๆ

เสียงสะท้อนของคนรุ่นใหม่ อยากให้ผู้ว่าฯกรุงเทพ แก้ปัญหาจุดไหน และพลังของคนรุ่นใหม่ที่เป็นนิวโหวตเตอร์ จะเป็นเสียงกำหนดตัวผู้ว่าฯกรุงเทพ ได้หรือไม่ การตอกย้ำว่าทิศทางการบริหารราชการของกรุงเทพฯ ควรจะเป็นอย่างไร และแบบไหนที่ถูกใจคนเมืองกรุง โค้งสุดท้ายผู้ว่าฯกรุงเทพปี2565 จะเป็นใคร จะถูกใจคนกรุงมากน้อยแค่ไหน คงต้องลุ้นกันหลังปิดหีบลงคะแนน