วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 22:47 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันศุกร์ ที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2565, 13.13 น.

“กัญชาเสรี” พืชเศรษฐกิจใหม่เพิ่มโอกาสธุรกิจหรือปิดกั้นโอกาสชาวบ้านกันแน่ ?

“กัญชาเสรี” พืชเศรษฐกิจใหม่เพิ่มโอกาสธุรกิจหรือปิดกั้นโอกาสชาวบ้านกันแน่ ?

 

ศุภภัทรวริศรา  เกตุสุนทร

คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาตร์ สถาบันรัชต์ภาคย์

นับตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 พืชกัญชาให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล(tetrahydrocannabinol, THC)ไม่เกินร้อยละ0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาซึ่งเปิดโอกาสให้มีการนํากัญชามาใช้ประโยชน์ทั้งในด้านการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทย ทางการแพทย์แผนปัจจุบัน การใช้ตามวิถีชีวิตชุมชน ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการผลิต ขาย นําเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศ

“กัญชา”เป็นพืชให้ดอกอยู่ในตระกูล Canaceidเรียกโดยทั่วไปว่า cannabis, Marijuana, Ganja หรือ IndianHemp ชื่อวิทยาศาสตร์ว่าCannabis sativa L. subsp. indica เป็นพืชต้นตัวผู้และต้นตัวเมียแยกกัน มีสาระสำคัญคือสารแคนนาบินอยด์ โดยสารเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol-THC) เป็นสารสำคัญตามปริมาณสาร THC มีฤทธิ์มากหรือน้อยในการกระตุ้นประสาท (psychoactive action) ทำให้เกิดอารมณ์เคลิ้มสุข (euphoria) คลายกังวล (relief of anxiety) สงบประสาทและเซื่องซึม (sedation and drowsiness) ถ้ากินกัญชาจะให้ฤทธิ์กระตุ้นประสาทที่น้อยกว่าเพราะสาร THC ละลายน้ำได้น้อย“พืชกัญชา” ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ในการปลูก สายพันธุ์ วิธีการปลูกและส่วนของกัญชาที่นำมาใช้ คือ ช่อดอก (flower heads) และใบ (leaves)

กัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ จากการนำสารสกัดจากกัญชามาใช้บำบัดรักษาอาการจิตเวชและระบบประสาท (Neuropsychiatric symptoms) การรักษาอาการไม่อยากอาหารในผู้ป่วยมะเร็ง บางประเทศให้มีการปลูกกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ เช่น แคนาดา อิสราเอลเนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสวิสเซอร์แลนด์ “กัญชา”มีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพหากนำไปใช้ไม่เหมาะสมและอาจมีผลกระทบต่อสังคม หลายประเทศจึงมีการกำหนดมาตรการและควบคุมที่เข้มงวด รัดกุม ซึ่งความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ เช่นผลต่อระบบทางเดินหายใจ (Respiratory Tract System) หากใช้ต่อเนื่องจะก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจไอเรื้อรัง, หลอดลมอักเสบ และอาจมีผลเป็นมะเร็งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular system) กัญชาจะเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและมีความสัมพันธ์ไม่พึงประสงค์ต่อหลอดเลือดสมอง(stroke)ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายฉับพลัน(heart attack)ผลต่อเชาวน์ปัญญา(cognitive functioning) สมาธิ (attention) ความจำช่วงสั้น (short-termmemory)การรับรู้เวลา (time perception) เชาวน์ปัญญาขั้นสูง (high cognitive functioning) การคิดเลขในใจ (mental arithmetic) เมื่อมีการใช้กัญชาเป็นระยะเวลานานผลต่อความผิดปกติของจิต (psychosis) โดยเฉพาะโรคทางจิตใจที่มีความผิดปกติของความรู้สึก ความคิด อาการหรือพฤติกรรม (mental disorderSchizophrenia) โดยการใช้กัญชาจะทำให้อาการแย่ลงในกลุ่มอาการผู้ติดยา (dependence syndrome) ที่ใช้กัญชาเป็นเวลานานทำให้ประมาณ 1 ใน 10 ของผู้ใช้ที่มีอัตราส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 1ใน 6 ซึ่งผู้ใช้กัญชาจะมีความต้องการอย่างมากและไม่สามารถลดปริมาณการลงได้ส่งผลเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม (withdrawal and behavioral systems)

ทิศทางเดิมการควบคุมพืชกัญชาในประเทศไทย

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กำหนดควบคุมพืชกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ซึ่งห้ามผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่จะได้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเป็นรายไป และยังห้ามมิให้ผู้ใดเสพกัญชา ต่อมา มีการอนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาวิเคราะห์ วิจัยเท่านั้น จึงทำให้การมีข้อจำกัดในการศึกษาวิจัยทางคลินิกทำให้ในห้วงเวลาที่ผ่านมาไม่มีการศึกษาเพิ่มพูนองค์ความรู้การใช้กัญชาในทางการแพทย์จากการที่มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ในต่างประเทศ การวิจัยถึงสารในพืชกัญชาที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาซึ่งในบางกรณีสามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบันที่มีอยู่ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาในการรักษาได้ และได้ผลักดันให้เกิดการแก้ไขพรบ.ยาเสพติดให้โทษมีผลใช้บังคับวันที่ 19 ก.พ.2562เจตนารมณ์ของพรบ.ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 มีใจความสำคัญเพื่อเปิดช่องให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัย แต่ยังคงไม่อนุญาตให้เสพ จึงทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียตะวันออกที่อนุญาตให้ใช้กัญชาทางการแพทย์กับผู้ป่วย(ที่มีความเข้มข้นของสาร THC มากกว่า 0.2%) ได้โดยจะต้องมีใบสั่งจากแพทย์และซื้อจากสถานบริการจากทางรัฐเท่านั้นในปีต่อมามีการแก้ไขพระราชบัญญัติยาเสพติดเพื่อเปิดรับสาร CBD และกัญชาในประเทศ การแก้กฎหมายครั้งนี้ระบุไว้ว่า สารสกัดกัญชาและกัญชงที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% จะไม่ถือเป็นสารเสพติดอีกต่อไปและ ปี 2564 มีการแก้ไขพระราชบัญญัติด้านอาหาร เพื่ออนุญาตให้ใช้กัญชาและกัญชงเป็นส่วนผสมในอาหารได้ อย่างไรก็ตามกฎ 0.2% ยังคงอยู่ ซึ่งแปลว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นของสาร THC ในระดับที่ต่ำ จะสามารถขายในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย

ที่มากัญชาเสรีพืชเศรษฐกิจตัวใหม่

หากย้อนกลับไปจากการปราศรัยใหญ่ของพรรภูมิใจไทยครั้งหาเสียงที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่17 ม.ค. 2562 เป็นเวทีแรกที่พรรคภูมิใจไทยได้ประกาศ “นโยบายกัญชาเสรี”หากมีโอกาสได้เป็นรัฐบาลจะผลักดันและทำนโยบายนี้ให้เกิดขึ้นจริง“นโยบายกัญชาเสรี”เป็นการส่งเสริมการปลูกกัญชา อยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ “พืชแก้จน พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ กัญชาเสรี”กัญชาเป็นพืชที่สามารถสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ และพลิกชีวิตคนไทยได้ เพราะประเทศไทยมีสายพันธุ์กัญชามากที่สุดจึงควรทำให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาได้อย่างเสรี ต้องปลูกได้บ้านละ 6 ต้น โดยจะมีรายได้ปีละ 4.2 แสนบาท

กัญชาเสรีพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ พืชแก้จนพลิกชีวิตคนไทยได้จริงหรือ?

การปลูกกัญชาในครัวเรือนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สุด ผู้เขียนมองว่ายังมีจุดอ่อนการปลูกกัญชาในครัวเรือนหากจะผลักดันให้เป็นพืชเศรษฐกิจต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งด้านความรู้ ความเข้าใจในคุณประโยชน์และโทษของพืชกัญชาและที่สำคัญที่สุดต้องตอบให้ได้ว่ามีวัตถุประสงค์อย่างไร จะดำเนินการอย่างไรให้เหมาะสมกับการปลูกกัญชาในครัวเรือน หากมุ่งเพื่อใช้การแพทย์จะควบคุมคุณภาพอย่างไรในการทำเป็นยาได้และควบคุมการใช้ในทางที่ผิดกับบุคคลที่ไม่ได้ป่วย หากปลูกกัญชาในครัวเรือนเพื่อนันทนาการถือเป็นความเสี่ยงต่อการปลูกและนำไปสู่ตลาดมืดได้อย่างง่ายดาย การปลูกกัญชาในครัวเรือนตามที่รัฐกำหนดกฎเกณฑ์ เช่น กำหนดขึ้นทะเบียนขออนุญาต กำหนดจำนวนต้นมีข้อปฏิบัติ นอกจากเรื่องเงินทุนและการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชน สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือ ขั้นตอนของการขออนุญาตที่ต้องยื่นเอกสารกับหน่วยงานหลายแห่งจึงจะได้รับการอนุญาตให้ปลูกกัญชา จะปลูกจำนวนกี่ต้น ได้ผลผลิตเท่าไหร่ และจะนำผลผลิตไปจำหน่ายให้กับใคร (ปริมาณการปลูก ต้องสอดคล้องกับ แผนการผลิต แผนการจำหน่าย และแผนการใช้ประโยชน์) โดยต้องกำหนดผู้รับซื้อที่แน่ชัด (มี contract farming) “ปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น”ต้องรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน หากถามว่าการปลูกกัญชาในอนาคตเป็นไปได้ไหม ตอบว่า “ได้” แต่ไม่เรืองรองตามที่คาดหวังไว้ที่จะดึงเงินเข้าประเทศปีละหลายล้านบาท เป้าหมายของนโยบายต้องให้กัญชาเป็นได้ทั้งพืชเศรษฐกิจและยารักษาโรค

การปลูกกัญชาให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีการประมาณว่าธุรกิจกัญชาสามารถสร้างมูลค่าเป็นจำนวนมากเพราะกัญชาเป็นตลาดที่สามารถขยายกว้างในตลาดต่างประเทศ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่าธุรกิจกัญชาไม่ใช่การค้าขายเฉกเช่นสินค้า (Product) เพราะข้อกำหนดระหว่างประเทศยังจัดกัญชาเป็นยาเสพติด จึงต้องมีเงื่อนไขการควบคุมและหลักเกณฑ์เป็นพิเศษและเข้มงวดและที่สำคัญการค้าขายกัญชาระหว่างประเทศจะต้องเป็นกัญชาที่มีคุณภาพดีเป็นมาตรฐานจึงมีการลงทุนสูงต้องเป็นกัญชาบริสุทธิ์ปลอดจากโลหะหนักและสารปนเปื้อน เพราะนำไปใช้ทางการแพทย์ซึ่งเรียกว่า Medical Grade การปลูกแบบครัวเรือนอาจไม่สามารถคงมาตรฐานการปลูกได้เท่ากันทุกต้นและจะต้องมีการติดต่อล่วงหน้าระหว่างผู้ปลูกกับผู้ซื้อโดยประเทศผู้ปลูกต้องได้รับการติดต่อจากประเทศผู้ต้องการซื้อและประเทศที่ต้องการซื้อต้องมีประเทศแหล่งปลูกและจำนวนที่ต้องการทั้งผู้ปลูกและผู้ซื้อแจ้งกับ International Narcotics Control Board (INCB) เป็นกลไกควบคุม หากไม่มีการดำเนินการแบบนี้ไม่สามารถค้าขายหรือทำธุรกิจกัญชาระหว่างประเทศได้ทั้งนี้การปลูกกัญชาเพื่อส่งออกโดยไม่แจ้งกับ INCB จึงไม่สามารถดำเนินการได้เลยการค้ากัญชาระหว่างประเทศ ต้องเป็นกัญชาที่มีคุณภาพสูง มีการปลูกที่มีมาตรฐานมาก รวมทั้งต้องมีการแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปีดังนั้นความหวังที่จะให้กัญชาในครัวเรือน สามารถขายได้ในราคาดีในตลาดกัญชาระหว่างประเทศแทบไม่มีทางเป็นไปได้เพราะกัญชาในครัวเรือนที่ปลูกกันแค่6 ต้นต่อครัวเรือนและอาจทำให้กัญชาที่มีคุณภาพมาตรฐานที่แตกต่างกัน เนื่องจากไม่สามารถมีการควบคุมคุณภาพและเงื่อนไขที่เหมือนกันได้ซึ่งจะไม่เป็นที่ต้องการของตลาดการค้าระหว่างประเทศเมื่อพิจารณาสภาพและเงื่อนไข กัญชาในครัวเรือนอาจจะขายได้ในประเทศและมีโอกาสสูงที่จะขายหรือใช้ในตลาดมืดเพราะตลาดกัญชาที่ใช้อย่างถูกกฎหมาย การปลูกกัญชาเพื่อค้าระหว่างประเทศดำเนินการโดยใช้ทุนสูง มีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ได้รับการตรวจสอบยืนยันอย่างชัดเจนและที่สำคัญ ประเทศไทยเป็นรายใหม่หากจะดำเนินการอย่างจริงจังต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปีเนื่องจากต้องมีตลาดผู้ซื้อและแจ้งINCB ล่วงหน้าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศมีชื่อเสียงในเรื่องของกฎหมายที่คุมเข้มเรื่องกัญชามากที่สุดในโลก แต่กฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ได้เปิดทางให้ตลาดกัญชามีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว  มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของกัญชาเพื่อการแพทย์จะสูงถึงกว่า 7,000 ล้านบาท ภายในปีพ.ศ. 2567 และมูลค่าตลาดของกัญชาที่ใช้เพื่อความเพลิดเพลินอยู่ที่ 14,000 ล้านบาทภายในช่วงเวลาเดียวกันการเปิดรับทางกฎหมายเกี่ยวกับตลาดกัญชาจะทำให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกต้นกัญญาหรืออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศที่ต้องการผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบของกัญชา เช่น น้ำมัน คุกกี้ กัญชาผสมอาหาร ทุกฝ่ายต่างได้ประโยชน์ร่วมกันผลิตภัณฑ์ที่ผสมกัญชามีตั้งแต่ น้ำมัน CBD จนไปถึงเนย เยลลี่ คุกกี้ กัมมี่ บราวนี่ ชา ป๊อปคอร์นอีกมากมายในทำนองเดียวกันอุตสาหกรรมเครื่องดื่มภายในประเทศก็กำลังดำเนินการขยายธุรกิจครั้งใหญ่ แบรนด์เครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ต่างๆ กำลังเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดกัญชานี้ด้วยการผลิตเครื่องดื่มผสมกัญชาในแบรนด์ของตัวเอง  ยิ่งไปกว่านั้น ร้านอาหารและร้านกาแฟหลายแห่งเริ่มเปิดขายอาหารผสมกัญชาเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งได้กลายเป็นเมนูยอดนิยมในหมู่ลูกค้าที่มาใช้บริการคนในประเทศไทยลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชงและกัญชาอยู่มากมายด้วยความที่ตลาดกัญชาในประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในอนาคตอาจมีเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ เกิดขึ้นมาเพื่อรองรับเงินลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งนี้

หลังปลดล็อคกัญชาเสรี พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ คึกคักแค่ไหน??

ตลาดกัญชาเสรีสุดคึกคักนักธุรกิจและนักลงทุนกว่า 20 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่ประกาศชัดพร้อมลงทุนและพร้อมลุย บอกเลยว่ากระแสธุรกิจเศรษฐกิจชนิดใหม่เกี่ยวกับกัญชามาแรงมากธุรกิจน้อยใหญ่ต่างเกาะเทรนด์ตลาดอาหาร เครื่องดื่ม อาหารเสริม และเวชภัณฑ์เครื่องสำอาง สร้างรายได้ตลาดหลักทรัพย์ฯ กว่า 20 แห่ง ราคาหุ้นเด้งขึ้นพรวดๆ แต่คำถามมีอยู่ว่าการเปิดโลกธุรกิจกัญชานับหมื่นนับแสนล้าน ชาวบ้านจะมีโอกาสร่วมแบ่งปันเค้กก้อนโตสักเพียงใดมีช่องทางให้กับกลุ่มนี้บ้างหรือไม่นอกจากจะได้ปลูกครัวเรือนละ 6 ต้นเมื่อโลกแห่งกัญชาเสรีในบริบทของผู้ใช้ดูเสมือนว่าช่วยให้ท่าที อารมณ์ความรู้สึกเข้าสู่โลกแห่งความสับสนของชีวิตทั้งเด็กเล็ก เยาวชน ประชาชน สังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่เสมือนปลาติดแหการนำไปใช้อย่างเสรีและเชิงธุรกิจที่ต้องขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และมีการตรวจสอบก่อนออกสู่ตลาดกัญชาคืนชีวิตสร้างเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่นั้นสุดท้ายคงไม่เห็นชาวบ้าน “นอนตายใต้ต้นกัญชา” ที่ไม่เหลือพื้นที่ให้ “ชาวบ้าน”เข้าถึงในเชิงนโยบายเปิดกว้างกับกัญชาเสรี แต่กลับเห็นได้ชัดธุรกิจต่างรอเก็บเกี่ยวผลเป็นกอบเป็นกำกันถ้วนหน้า แต่สำหรับชาวบ้านยังคงได้แต่มองตาปริบๆ แค่ถามถึงขั้นตอนที่ต้องขออนุญาตจากหน่วยงานของรัฐแล้วธุรกิจทั้งเล็ก กลาง ใหญ่ อาจไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำให้ได้ตามเกณฑ์และต่อยอดธุรกิจเติบโตไปกับกระแสความนิยม แต่สำหรับชาวบ้านแล้วการยื่นขออนุญาตจาก อย. มาปลูกและผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกัญชาเป็นไปได้ยากมากการเกาะขบวนรถไฟสายกัญชาของชาวบ้านตาดำๆ ที่เป็นไปได้มากที่สุด คือ การรวมกลุ่มในรูปวิสาหกิจชุมชนแล้วเข้าร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจหรือสถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐ หรือเข้าสู่ระบบเกษตรพันธะสัญญาหรือ คอนเทรก ฟาร์มมิ่ง กับบริษัทใหญ่ ซึ่งจะมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่าการปลูกกัญชาครัวเรือนละ 6 ต้น สิ่งนี้จะต้องจับตากันต่อไปไปว่า“พืชแก้จน พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ กัญชาเสรี” ที่ชาวบ้านปลูกเอาไว้ไม่ใช่แค่เพียงพืชสวนครัวหลังบ้านที่นำใบมาปรุงใส่อาหารกินพอเป็นกษัยเท่านั้น