วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 20:32 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันพุธ ที่ 03 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 17.55 น.

ทำไมต้องบังคับให้ทุกมหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ

ทำไมต้องบังคับให้ทุกมหาวิทยาลัยเปลี่ยนสถานะภาพเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการ—สมควรทบทวนนโยบายหรือไม่ ?

 

โดย..ศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์

ศาสตราจารย์ระดับ 11 ทางการศึกษา

ในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยในประเทศไทย ได้เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการ เรียกว่า "มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ" แต่ไปใช้ภาษาอังกฤษว่า Autonomous University (มหาวิทยาลัยอิสระ) จึงมีความขัดแย้งกัน ผู้เขียนไม่เคยเห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าวตั้งแต่ต้น จึงขอแสดงทัศนะเพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงทบทวนนโยบาย และหันมาพัฒนาระบบราชการให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

โดยหลักการ มหาวิทยาลัยควรมี ๒ ประเภทเท่านั้น คือ (๑) มหาวิทยาลัยของรัฐ หมายถึง มหาวิทยาลัยราชการของรัฐบาล (Government-official universities) ได้แก่ มหาวิทยาลัยที่จัดตั้งโดยพระประมุขคือพระมหากษัตริย์ จัดตั้งโดยกระทรวงศึกษาธิการ หรือจัดตั้งโดยกระทรวงทบวงกรมอื่น และองค์การระหว่างประเทศ ที่จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติ เช่น สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และ (๒) มหาวิทยาลัยเอกชน (Private Universities) หมายถึงมหาวิทยาลัยที่จัดตั้งโดยสมาคม มูลนิธิ และส่วนบุคคล

เพื่อความเป็นธรรม มหาวิทยาลัยของรัฐ เหมือนกัน ไม่ควรมีหลายประเภทหลายมาตรฐาน เช่น อ้างว่า เพื่อประสิทธิภาพการบริหารและจัดการที่ดีขึ้น จึงให้เปลี่ยนสถานภาพจากมหาวิทยาลัยในระบบราชการ เป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการเป็นต้น ประหนึ่งดูหมิ่นดูแคลนว่า ระบบราชการ ซึ่งเป็นระบบหลัก เป็นเสาหลักที่รักษาประเทศมาหลายพันปี เป็นระบบที่ไร้คุณภาพ ก็ควรช่วยกันปรับปรุงให้ดีขึ้นตามยุคตามสมัย เห็นว่า เรือลำนี้กำลังจะจม หรือ ผุพัง ก็ควรช่วยกันอุดรอยรั่ว ซ่อมแซม ไม่ใช่กระโดดหนีเอาตัวรอดไปขึ้นเรือลำใหม่

เวลาผ่านไปกว่า ๓๐ ปี นับตั้งแต่มีมหาวิทยาลัยในกำกับแห่งแรกของไทยใน พ.ศ. ๒๕๓๓ ก็ไม่เห็นมีหลักฐานยืนยันว่า มหาวิทยาลัยในกำกับ ที่จัดตั้งขึ้นหรือที่เปลี่ยนจากมหาวิทยาลัยราชการ มีผลงานโดดเด่นหรือสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ แต่อย่างใด ก็ยังคงสอน วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม ไม่แตกต่างกันระหว่างมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบราชการไปแล้ว กับที่ยังอยู่ในระบบราชการ

ในทางตรงกันข้าม หากทุกมหาวิทยาลัยยังคงสถานภาพมหาวิทยาลัยในระบบราชการเหมือนเดิม อาจมีผลงานดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ได้ แต่ที่มีนโยบายให้ออกนอกระบบราชการทั้งหมด ก็อ้างว่า เพื่อให้เป็นอิสระและคล่องตัว แต่ความเป็นจริง มหาวิทยาลัยนอกระบบราชการ มีอิสระและคล่องตัว ตามแนวคิด Autonomous University จริงหรือ?

มหาวิทยาลัยอิสระ (Autonomous University) ตามนิยาม เป็นมหาวิทยาลัยที่มีอิสระและไม่อยู่ภายใต้การแทรกแทรงจากภายนอก (Without interference from outside) คือ ปราศจากการกำกับของหน่วยงานของรัฐ โดยให้มีอิสระใน ๖ ด้าน คือ (๑) ด้านการบริหารและการจัดการ ที่สามารถพัฒนาระบบบริหารและจัดการที่เหมาะสมเป็นของต้นเอง เช่น CASPERLA Model การบริหารและจัดการอิงบริบท (Context-Based Management) คือ คำนึงถึงบริบท (C-Context) วิชาการ (A-Academic) บริการ (S-Services บุคลากร (P-Personnel) วิสาหกิจ (E-Enterprise) ทรัพยากรและการเงิน (Resources and Finance) เกียกกาย (Logistics) และการบริหารทั่วไป (General Administration) ๒) อิสระด้านวิชาการที่สามารถกำหนดมาตรฐานปริญญา มาตรฐานหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนที่เน้นการสอบแบบอิงประสบการณ์ การเรียนในและนอกสถานศึกษา การเรียน ณ สถานประกอบ และการประเมินที่เน้นการประเมินจากสภาพจริงมิใช้จากการสอบอย่างเดียว และการประสาทปริญญาของตนเอง (๓) อิสระด้านการกำหนดคุณสมบัติของนักศึกษา เพิ่มเติมจากมาตรฐานกลาง โดยเทียบโอนประสบการณ์การทำงานและการดำรงชีวิตและการทำงานเพื่อลดเวลาเรียนในสถานศึกษา เพื่อให้สะดวกในการสมัครเรียน  (๔) อิสระด้านงบประมาณที่ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุด หรือไม่ใช้เลย แต่มีระบบวิสาหกิจของตนเอง เพื่อหารายได้มาบริหารและจัดการเพิ่มจากงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาล (๕) อิสระด้านการบริการนักศึกษาและสังคมที่ต้องตอบสนองความต้องการด้านทรัพยากรคนของแต่ละท้องถิ่น และ (๖) อิสระในการพัฒนา "ระบบการศึกษา" ของตนเอง เช่น ระบบการศึกษา "แผน มสธ." และพัฒนาแผนหลัก คือ "แผนแม่บทวิชาการ" (Academic Master Plan-AMP) ที่ชัดเจน

จากนิยามข้างต้น จะพบว่า ยังไม่มีมหาวิทยาลัยในกำกับ หรือมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการแห่งใด ในประเทศไทยที่เข้าข่าย "Autonomous University" ตามนิยาม เพราะทุกมหาวิทยาลัยอยู่ในกำกับและต้องทำตามเกณฑ์การเปิดสอนปริญญาตรี โท และ เอก และมาตรฐานหลักสูตรที่ประกาศโดยหน่วยงานของรัฐ อาทิ ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ในประเทศไทย ความเคลื่อนไหวที่จะเปลี่ยนมหาวิทยาลัยไทยเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการ เรียกว่า  "มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ" หรือ "มหาวิทยาลัยนอกระบบ" เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๒ ด้วยการเผยแพร่แนวคิด ของนักวิชาการบางท่าน จนเป็นรูปธรรม เมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยในกำกับแห่งแรกที่นครราชสีมา  ตามด้วยที่นครศรีธรรมราช และเชียงราย ภายหลังรัฐก็กำหนดเป็นนโยบายให้ทุกมหาวิทยาลัยที่เป็นส่วนราชการ เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ และเปลี่ยนตำแหน่งคณาจารย์เป็นพนักงาน ทำให้ขาดสิทธิประโยชน์ที่พึงมีพึงได้ของข้าราชการหลายประการ

ผู้เขียนเห็นว่า มหาวิทยาลัยในระบบราชการไม่จำเป็นหรือไม่ควรออกนอกระบบราชการด้วยเห็นผล ๔ ประการ คือ

ประการที่ ๑ ยังจำเป็นที่จะต้องมีการกำกับดูแลมาตรฐานจากหน่วยงานกลางหากปล่อยให้ต่างคนต่างทำก็จะทำให้คุณภาพต่างกัน เพราะบางมหาวิทยาลัยอาจมุ่งทางการค้า เช่น  เรียนจบง่าย จบเร็ว เพื่อโน้มน้าวใจให้นักศึกษาเข้าเรียน โดยเฉพาะในด้านมาตรฐานการศึกษา มาตรฐานหลักสูตร คุณภาพคณาจารย์และบุคลากรสนับสนุน ต้องมีคุณภาพ บุคชงชากร ต้องเลื่อนระดับจากอาจารย์เป็น ผศ.รศ. และ ศ. ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน

หากเป็น มหาวิทยาลัยอิสระจริง ก็สามารถออกมาตรฐานและเกณฑ์การกำหนดตำแหน่งเอง จึงอาจมีการแต่งตั้งศาสตราจารย์ได้เอง เหมือนที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ (ในพ.ศ.๒๕๕๐ สหรัฐอเมริกา มีพลเมือง ๒๗๐ ล้านคน มีศาสตราจารย์ ๑๘๕,๐๐๐ คน (๐.๐๖๘%) ในประเทศไทย มีพลเมือง ๖๗ ล้านคน มีศาสตราจารย์ ประมาณ ๑๖๐๐ คน (๐.๐๐๒%) หากทุกมหาวิทยาลัย เป็น Autonomous University จริงๆ ก็จะสามารถแต่งตั้งศาสตราจารย์ของตนเองได้ อาจจะมีศาสตราจารย์เป็นหมื่นคนเหมือนญี่ปุ่น เกาหลี และจีน

ประการที่ ๒ ในประเทศไทย ผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยระหว่าง "มหาวิทยาลัยในกำกับ" กับ "มหาวิทยาลัยราชการ" แทบจะไม่แตกต่างกันเลย กล่าวคือ ยังต้องใช้มาตรฐานการศึกษาระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา  มาตรฐานหลักสูตร และคุณสมบัตินักศึกษาตามประกาศของกระทรวงเจ้าสังกัดเหมือนกัน แต่ที่อาจจะแตกต่างคือ ผู้บริหารและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยในกำกับได้รับเงินเดือนสูงกว่า โดยทั่วไปก็สูงกว่าข้าราชการ ๑.๗-๒.๐ เท่าทั้งๆ ที่ทำหน้าที่สอน วิจัย บริการวิชาการ และทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรมเหมือนกัน

ดังนั้นที่อ้างว่า เป็นมหาวิทยาลัยอิสระ ก็ไม่อิสระจริง เพราะยังต้องปฏิบัติตามประกาศของกระทรวงเจ้าสังกัด  นอกจากนี้พฤติกรรมการบริหารและการจัดการ และการสอนของอาจารย์ก็ไม่แตกต่างกันระหว่างอาจารย์ในมหาวิทยาลับในกำกับและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยราชการ นั่นคือ ยังคง "สอนให้รู้" ด้วยการพ่นความรู้ให้นักศึกษาเป็นเหมือนกัน

ประการที่ ๓ ด้านประสิทธิภาพของมหาวิยาลัยในกำกับกับมหาวิทยาลัยราชการไม่แตกต่างกัน เรามักจะวิจารณ์ว่าระบบราชการในมหาวิทยาลัย เชื่องช้า ไม่ทันสมัย เราก็ควรต้องช่วยปรับระบบราชการให้ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องทิ้งบ้านเก่า ไปสร้างบ้านใหม่ สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจปรับปรุงระบบการทำงาน ด้วยการจัดระบบการดำเนินงานราชการในมหาวิทยาลัยให้เหมาะสม อาทิ ตราระบบราชการมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งใหม่ตรา "ธรรมนูญมหาวิทยาลัย" (University Constitution) ให้เป็นกฎหมายรอง (Bylaws) แทนการออกข้อบังคับยุบยิบเป็นจำนวนมาก กำหนดในธรรมนูญ ให้การบริหารและจัดการการเงินของตนเอง หากการใดมิได้กำหนดไว้ในธรรมนูญ ก็จึงใช้ระเบียบการเงินของสำนักงบประมาณ ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนปรับปรุงระบบราชการในมหาวิทยาลัย และกำหนดมาตรฐานงานราชการมหาวิทยาลัยได้เสมอโดยไม่ต้องเปลี่ยนสถานภาพจากมหาวิทยาลัยราชการ เป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบราชการ

ประการที่ ๔ ความไม่เสมอภาคด้านการใช้งบประมาณของ มหาวิทยาลัยราชการ และมหาวิทยาลัยในกำกับ การใช้เงินภาษีอากรจากประชาชน ไม่ควรเหลื่อมล้ำกัน ทุกมหาวิทยาลัยควรจัดตั้งหน่วยวิสาหกิจหารายได้มาดำเนินงาน เงินที่ได้รับจากรัฐ มีจำนวนเพียงเป็นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยต้องหารายได้เพิ่มเป็นหลักไม่ใช่รอเงินจากภาษีอากรอย่างเดียว สำนักงบประมาณก็ควรจ่ายเงินเดือนเท่ากันแก่ผู้ที่ทำงานเหมือนกัน ไม่ควรอนุญาตให้จ่ายเงินเดือนสองมาตรฐาน จึงไม่เป็นธรรมที่ข้าราชการได้รับเงินเดือนน้อยกว่า พนักงานมหาวิทยาลัย

ประเทศไทยปกครองในระบอบที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข ความเป็น "ข้าราชการ" เป็นความภาคภูมิใจ เป็นเกียรติประวัติแก่วงศ์ตระกูล จึงไม่ควรลดฐานะเป็นพนักงาน

เราไม่ควรเผลอเข้าร่วมกระบวนการทำลายความเชื่อถือของสถาบันกษัตริย์ที่เริ่มมาเมื่อเกือบ ๙๐ ปี เช่น เปลี่ยนชื่อ เรียกผู้เรียนในมหาวิทยาลัยจาก "นิสิต" ที่สะท้อนผู้เรียนในมหาวิทยาลัยพระราชา มาเป็น "นักศึกษา" .... เปลี่ยนคำว่า King's men (ราชภัฏ หรือราชบุรุษ) ในระบบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข มาเป็น Statemen (รัฐบุรุษ)  ในระบบการปกครองที่ไร้กษัตริย์

การเปลี่ยนสถานภาพมหาวิทยาลัยจากมหาวิทยาลัยของพระราชา เพราะทรงลงพระปรมาภิไทยในพระราชบัญญัติ เป็นมหาวิทยาลัยนอกราชการ คือไม่เกี่ยวกับกษัตริย์ จึงไม่บังควร (จำได้ว่า ผู้เขียนสะทัอนใจมากที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนา มีมติให้เป็นมหาวิทยาลัยนอกราชการ)

จึงขอให้รัฐบาลทบทวน นโยบายที่จะบังคับให้ทุกมหาวิทยาลัยต้องออกนอกระบบราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจัดตั้งและพระราชทานนาม ให้เป็นสิริมงคล อาทิ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลังสงฆ์ทั้งสองแห่ง มหาวิทยาลัยราชมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นต้น.

ท่านเห็นด้วยหรือไม่ กรุณาโหวตครับ

https://pollbagel.com/polls/8335?t=29880986SEO

ดูผลโหวต

https://pollbagel.com/polls/8335/results?t=29880986SEO