วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 22:48 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันอังคาร ที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 17.26 น.

“เมาน์เทนบี” เสียงสะท้อนจุดเริ่มต้นความรับผิดชอบ

“เมาน์เทน บี (Mountain B)” เสียงสะท้อนจุดเริ่มต้นความรับผิดชอบ (Accountability)

 

ศุภภัทรวริศรา เกตุสุนทร

คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาตร์ สถาบันรัชต์ภาคย์

ก่อนอื่นผู้เขียนและบ้านเมือง แยกรัชวิภา ขอเเสดงความเสียใจกับเหตุโศกนาฏกรรมในรอบ 13 ปี ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวน 15 ราย และบาดเจ็บนับสิบราย เบื้องต้นหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตได้ว่าการดำเนินกิจการไม่น่าจะถูกต้อง เพราะไม่ได้รับอนุญาตและอยู่ในพื้นที่โซนนิ่งไม่ให้มีสถานบันเทิงไม่ได้มีการขออนุญาตและยังไม่นับว่าในการขออนุญาตท้องถิ่นนั้นถูกต้อง หรือไม่ อย่างไร ทั้งในเรื่องรูปแบบโครงสร้างอาคารที่ให้บริการประเภทวัสดุการก่อสร้าง ระบบควบคุมอาคาร รวมไปถึงช่องทางการหนีไฟ และมีรายละเอียดอีกมาก รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จึงต้องไปดูว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร

ความรับผิดชอบ(Accountability) คือจุดเริ่มต้น

จากโศกนาฏกรรมไฟไหม้ “เมาน์เทน บี (Mountain B)” ส่งผลกระทบต่อกันเป็นเกลียวถ่วงรั้ง โดยเฉพาะการละเลยขาดความผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมที่ต้องเกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่ดูเหมือนกำลังเกิดปัญหาแบบบูมเมอแรงสะท้อนกลับสู่สังคมจนถึงขีดสุดที่ต่างออกมาหาความรับผิดชอบที่ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบกิจการผู้บริหารท้องถิ่น ฝ่ายปกครอง ส่วนที่เกี่ยวข้องหรือประชาชนที่ต่างก็มีหน้าที่โดยตรงที่จะช่วยกันจรรโลงสังคมที่ตนอยู่ให้เป็นสังคมที่มีความสงบร่มเย็นมีระเบียบวินัยอำนวยให้ประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขซึ่งผู้ที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐยิ่งต้องตระหนักในความรับผิดชอบ(Accountability)โดยตรงที่จะต้องทำทุกอย่างให้สังคมของประเทศบรรลุวัตถุประสงค์ในการเป็นสังคมที่ดีด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีตามหลักธรรมาภิบาลอันที่จะไม่ละเมิดให้เกิดความเสียหายหรือกลายเป็นตัวอย่างที่ไม่ถูกต้อง ในขณะเดียวกันต้องกำกับดูแลรักษากฎหมายกฎระเบียบตนในฐานะที่เป็นข้าราชการผู้รักษากฎหมายหรือในฐานะพลเมืองดีโดยมิให้ผู้หนึ่งผู้ใดละเมิดกฎหมายหรือกฎระเบียบของข้อบังคับ จนเกิดควาเสียหายต่อสังคมและประชาชนได้ถือได้ว่าความรับผิดชอบถือเป็นรากฐานทั่วไปที่ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากการมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อสังคมต่อประเทศชาติ

หลักธรรมาภิบาลว่าด้วยความรับผิดชอบ (Accountability)

เพื่อเข้าสู่ความรู้ความเข้าใจของหลักธรรมาภิบาลให้ชัดขึ้นไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ ข้าราชการ พนักงานของรัฐ นักการเมือง นักปกครอง  ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือแม้แต่ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ เข้าใจดีอยู่แล้วว่า หลักธรรมาภิบาลแท้ที่จริงมาจากหลักคุณธรรมที่ปรากฏอยู่ในคำสอนทางพระพุทธศาสนาสิ่งสำคัญประการแรก คือ ความรับผิดชอบ (Accountability) นั่นก็หมายถึงความสำนึกของคนทุกคนที่เป็นคนดีจะต้องรู้ว่าตัวเองเป็นใครมีหน้าที่หรืออำนาจที่จะทำอะไร การรู้ตนเองอย่างถูกต้องเสมอต้นเสมอปลายประการที่สอง ความโปร่งใส (Transparency) คำนี้มีความหมายชัดเจนอยู่ในตัวที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายปกครอง จะทำอะไรจำต้องดำรงความโปร่งใสให้ปรากฏอยู่ตลอดเวลา ประการที่สาม คือ ความยุติธรรม (Fairness) เป็นคำที่มีความหมายตรงตัวอยู่แล้วนั้นคือทุกคนที่มีคุณธรรมจะต้องมีความยุติธรรมต่อผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นประชาชน พวกพ้อง ญาติ มิตร สหาย และประการที่สี่ คือ จริยธรรม (Ethics) คือ การยึดถือปฏิบัติแต่ธรรมที่ดีแต่ทุกวันนี้หากตั้งข้อสังเกตทั้งในภาคธุรกิจและภาครัฐ ด้วยจิตใจเป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดเป็นสรณะจะเห็นภาพเหมือนกันว่าสังคมไทยยุคสมัยนี้หลักธรรมาภิบาลได้บิดเบี้ยวไปมากไม่ว่าจะเป็นการใช้กฎหมาย ระเบียบ กฎเกณฑ์หรือข้อบังคับที่ได้กำหนดไว้เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติผิดเพี้ยนดูเหมือนถูกละเลยกลายเป็นเรื่องปกติของผู้มีอำนาจหรือแม้แต่การฝ่าฝืนประพฤติปฏิบัติตามหลักของธรรมาภิบาลแก้ตัวกันแบบเอาสีข้างเข้าถูที่มีข่าวให้เห็นกันดาษดื่น

หากจะกล่าวถึงหลักความรับผิดชอบ(Accountability)กันอย่างจริงจังผู้เขียนมองว่าคำนี้มีความหมายลึกซึ้งมากเพราะคำนี้ไม่ได้แปลว่าความรับผิดชอบที่เกิดจากการได้รับมอบหมายตามอำนาจหน้าที่เท่านั้นแต่ยังหมายถึงความรับผิดชอบอันเกิดจากจิตสำนึกทางด้านศีลธรรม, จริยธรรม, และ พรหมวิหารธรรมด้วย ซึ่งภายใต้หลักธรรมาภิบาลนั้น หลักความรับผิดชอบ (Accountability) คือการตระหนักรู้ถึงสิทธิหน้าที่และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมรวมถึงการกระทำที่จะกระทบต่อสิทธิความปลอดภัยหรือการตระหนักรู้ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น และหากกระทำไปแล้วผู้กระทำจะต้องรับผิดรับชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เฉกเช่นการเกิดโศกนาฏกรรม“เมาน์เทน บี (Mountain B)” หากย้อนกลับไปหาสาเหตุตั้งแต่จุดเริ่มต้นแล้วจะพบเป็นเพียงว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย ผิดกฎระเบียบและถูกลงโทษ แต่ผู้เขียนอยากเสนอมุมมองเช่นเดียวกับศาตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์  ปรมาจารย์ทางกฎหมายที่ได้เคยกล่าวไว้ว่า “กฎหมายมิใช่สิ่งที่จะกำหนดสภาพของสังคมเพราะสังคมเป็นผู้กำหนดกฎหมายขึ้นและกฎหมายมีไว้เพื่อบังคับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่สังคมกำหนดขึ้นเท่านั้น”นั้นหมายความว่าผู้คนในสังคมควรต้องใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ภายใต้ “มาตรฐานกลาง”ที่สังคมกำหนดขึ้นจาก ทัศนคติ คุณธรรม  จริยธรรม ความเชื่อระหว่างการทำความดีและงดเว้นการทำความผิด ดังนั้น หลักความรับผิดชอบ(Accountability)จึงมีความหมายกว้างซับซ้อนและคลุมเครือแต่กลับมีความสำคัญอย่างมากในมุมกลับหากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ภาครัฐและส่วนที่เกี่ยวข้อง ขาดความรับผิดชอบก็อาจจะส่งผลให้เกิดเหตุการณ์โศกนาฏกรรมไม่คาดฝันอีกเป็นได้

นอกจากนี้ ความรับผิดชอบยังนำไปสู่การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล ด้วยเหตุนี้จึงสามารถเข้าใจได้อย่างแจ่มชัดว่าทำไม “ความรับผิดชอบ” จึงกลายเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งหากคนในชาติ “ขาดความรับผิดชอบ”อาจทำให้สังคมไทยนำไปสู่สภาวะคนในชาติไร้ความรับผิดชอบได้แต่หากทุกคนในชาติหันมาให้ความสำคัญกับ“ความรับผิดชอบ” อย่างจริงจังโศกนาฏกรรม“เมาน์เทน บี (Mountain B)” จะไม่อาจเกิดขึ้นได้ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ผู้เขียนฉุดคิดและมองว่าควรจะนำเหตุการณ์ครั้งนี้มาเป็นจุดเริ่มต้นของหลักความรับผิดชอบที่ต้องสร้างความตระหนักรู้ถึงแม้ว่าเป็นสิ่งที่ร้องขอไม่ได้ แต่สามารถสร้างขึ้นเองได้เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อการกระทำกล้ารับผิดชอบการกระทำของตน อาจกล่าวได้ว่าต้องปลูกฝังให้เป็นรูปธรรมในสังคมไทยเพราะความรับผิดชอบ (Accountability) ภายใต้หลักธรรมาภิบาลเป็นการตระหนักรู้สิทธิหน้าที่และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมหากมีการกระทำไปแล้วผู้กระทำจะต้องรับผิดรับชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้