วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 08:28 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันจันทร์ ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 13.53 น.

การปรับกระบวนทรรศน์การศึกษาไทยไตรยางค์วิชาชีพการศึกษา

การปรับกระบวนทรรศน์การศึกษาไทยไตรยางค์วิชาชีพการศึกษา

 

ศาสตราจารย์ ดุษฎีบัณฑิต ชัยยงค์ พรหมวงศ์

ศาสตราจารย์ระดับ 11สาขาการศึกษา

อุปนายก สภามหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

ต้องยอมรับว่าขณะนี้ ทิศทางการปรับกระบวนทรรศน์การศึกษาไทยมีมากขึ้น และการเน้นที่องค์ความรู้ทางการศึกษาที่เรียกว่าไตรยางค์วิชาชีพ (Professional Triads) นั้น เป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ อาจจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งก็คือไตรยางค์วิชาชีพ นั้น ถือเป็นองค์ประกอบหรือเสาหลักของทุกวิชาชีพ มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ ประสบการณ์วิชาชีพ วิทยาการวิชาชีพ และเทคโนโลยีวิชาชีพ ตามไตรยางค์วิชาชีพ วิชาชีพการศึกษาจำแนกเป็น 3 องค์ประกอบคือ

1) ประสบการณ์วิชาชีพการศึกษา (Professional Experiences) ครอบคลุมวิธีการสอน การปฏิบัติการสอนในสถานการณ์จำลอง เช่น การสอนจุลภาค (Microteaching) บูรณกิจศึกษา (Working Integrated Education) คือ การให้นักศึกษาครู เข้าปฏิบัติงานในโรงเรียนตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ในเวลาที่กำหนด เช่น ทุกเช้าวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ส่วนตอนบ่ายกลับมาเรียนรายวิชาที่วิทยาลัยหรือคณะ เพื่อซึมซับสภาพแวดล้อมของโรงเรียน สัมผัสชีวิตจริงของนักเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เป็นผู้ช่วยครู (Teaching Assistants) โดยยังไม่สอนจริง จนถึงเวลาที่นักศึกษาครูจะต้องฝึกสอน ตามโครงการสหกิจศึกษา (Cooperative Education) เป็นเวลา 1 ปี หรือ 1 ภาคการศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้นักศึกษาครูมีประสบการณ์ที่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ครูได้อย่างดี เมื่อสำเร็จการศึกษา และบรรจุเป็นครูประจำการ

ประสบการณ์วิชาชีพ เน้นการสอนประสบการณ์หรือปฏิบัติการศึกษา สอนในวิทยาลัยหรือคณะการศึกษา (College/School of Education) ส่วนด้านการแพทย์ จัดสอนโดย คณะการแพทย์ (College/School of Medicine ) ไม่เรียกว่าแพทยศาสตร์ เพราะควรเป็นคำที่แปลจาก Medical Sciences) ทางการเกษตร สอนในคณะการเกษตร (College/School of Agriculture) ไม่ควรเรียกว่า เกษตรศาสตร์ 

2) วิทยาการวิชาชีพ (Professional Sciences) เป็นวิทยาการที่ว่าด้วยการถ่ายทอดความรู้ ในวิชาชีพ พลานามัย คุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรมจากชนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง โดยเน้นสาระและเนื้อหา 2 ประเภทคือ (1) เนื้อหาที่เกี่ยววิชาการศึกษา หรือวิชาครู ได้แก่ จิตวิทยาการศึกษา หลักการสอน เทคโนโลยีการสอน ฯลฯ (2) เนื้อหาตามหลักสูตรระดับการศึกษาที่นักศึกษาครู (Student Teachers) จะต้องนำไปสอนนักเรียน ได้แก่ หมวดวิชาภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา ศิลปศึกษาวิทยาการการศึกษา หรือวิทยาศาสตร์การศึกษา (Educational Sciences) จัดสอนโดยคณะศึกษาศาสตร์ หรือคณะวิทยาการการศึกษา (School of Educational Science) ทางการแพทย์ สอนโดยคณะวิทยาการการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือแพทยศาสตร์ (School of Medical Sciences) ด้านการเกษตร สอนในคณะวิทยาการเกษตร หรือ คณะวิชาการเกษตร School of Agricultural Sciences

3) เทคโนโลยีวิชาชีพ สอนโดยคณะเทคโนโลยีการศึกษา School of Educational Technology

ทางการแพทย์สอนโดยคณะเทคโนโลยีการแพทย์ (Medical Technology) ไม่ควรใช้ เทคนิคการแพทย์ เพราะเป็นระดับเทคนิเชียน) ทางการเกษตร สอนโดยคณะเทคโนโลยีการเกษตร (Agricultural Technology)

3) เทคโนโลยีการศึกษา (Educational Technology) ในฐานะศาสตร์ที่ว่าด้วยวิธีการเป็นการประยุกต์หลักการทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรรม มนุษยศาสตร์ นิเทศศาสตร์ จิตวิทยา สังคมวิทยา และปัญญาทัศนศาสตร์มาใช้ทางการศึกษา ครอบคลุม 7 สาระ (1) ด้านระบบและการระบบ (2) ด้านการวิเคราะห์และกำหนดพฤติกรรม (3) ด้านเทคนิควิธีการ (4) ด้านการสื่อสาร (5) ด้านการจัดสภาพแวดล้อม (6) ด้านการจัดการ และ (7) การประเมิน สำหรับงานบริหาร วิชาการ และบริการ ในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน การศึกษาตามอัธยาศัย การเผยแพร่ การฝึกอบรม การศึกษาทางไกล และการศึกษาภควันตภาพ (Ubiquitous Education)

เทคโนโลยีการศึกษา จัดสอนในวิทยาลัยหรือคณะเทคโนโลยีการศึกษา เพื่อผลิตบัณฑิตออกไปเป็นนักเทคโนโลยีการศึกษาจำแนกเป็นวิชาชีพ 3 ระดับ คือ

1) วิชาชีพระดับต้น-ระดับปริญญาตรี เป็นครูอาจารย์เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาระดับปฏิบัติการในโรงเรียนหรือหน่วยงานเทคโนโลยีการศึกษาของวิทยาลัยที่เน้นการใช้ระบบ การใช้วิธีการ การผลิตและใช้สื่อการสอน การจัดสภาพแวดล้อมโรงเรียนและห้องเรียน การจัดนิทรรศการ ในสถานศึกษาที่มีระดับความรู้ ประสบการณ์ และสมรรถนะ เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

2) วิชาชีพระดับกลาง-ระดับมหาบัณฑิตและประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูง ทำหน้าที่อาจารย์หรือนักเทคโนโลยีการศึกษา นักจัดระบบการสอน และนักออกแบบการสอน เน้นสมรรถนะและประสบการณ์ ด้านการส่งเสริมความก้าวหน้าในวิชาการและวิชาชีพตามขอบข่ายด้านการจัดระบบการเรียนการสอน และออกแบบระบบการสอน ด้านการวิเคราะห์และกำหนดโมเดลพฤติกรรม การใช้วิธีการและเทคนิคการเรียนการสอน การพัฒนาระบบการสื่อสาร การจัดสภาพแวดล้อมการศึกษา การบริหารและการจัดการ และการประเมิน ทั้งนี้ ครูอาจารย์เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาเป็นนักวิชาการและวิชาชีพที่อาจปฏิบัติหน้าทีเต็มเวลาและอาจทำหน้าที่สอนในบางเวลาในวิชาที่ตนถนัด เมื่อว่างเว้นจากงานบริการทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

3) วิชาชีพระดับสูง-ระดับดุษฎีบัณฑิตและสูงกว่า ทำหน้าที่อาจารย์มหาวิทยาลัย นักจัดระบบการศึกษา เน้นสมรรถนะและประสบการณ์ด้านการสร้างองค์ความรู้ใหม่หรือส่งเสริมความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาที่เกี่ยวกับสมรรถนะและประสบการณ์ด้านการพัฒนาระบบการศึกษา การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ หรือส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพด้านการวิเคราะห์พฤติกรรมครู อาจารย์ และผู้เรียน ด้านวิธีการ ด้านการสื่อสาร ด้านการจัดสภาพแวดล้อม ด้านบริหารและการจัดการ และด้านการประเมินการศึกษา ทั้งนี้ ครูอาจารย์เทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษาอาจเป็นนักวิชาการและวิชาชีพที่ปฏิบัติบริการเต็มเวลาและเมื่อว่างเว้นจากงานบริการทางเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา อาจทำหน้าที่สอนในบางเวลาในวิชาที่ตนถนัด เทคโนโลยีวิชาชีพ ในสายอาชีพอื่น อาทิ ด้านการแพทย์ จัดสอนโดยวิทยาลัยหรือคณะเทคโนโลยีการแพทย์  (College/School of Medical Technology) เช่น ที่เป็นสอนในราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นต้น ด้านเกษตร เปิดสอนในวิทยาลัย/คณะเทคโนโลยีการเกษตร (College/School of Agricultural Technology

อย่างไรก็ตาม จะพบว่าศตวรรษแห่งการเรียนรู้ในช่วงศตวรรษที่ 21 นี้ ทิศทางและแนวโน้มของการจัดการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาคนเชิงพื้นที่เป็นภารกิจของมหาวิทยาลัยเพื่อปวงชน  มีทิศทางและแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง  และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล  ทั้ง 9  แห่ง กำลังดำเนินการอยู่ในทิศทางและแนวโน้มที่เปลี่ยนไปของบทบาทการศึกษาและเรียนรู้ของโลก และเป็นที่น่าจับตาว่าการดำเนินการนั้น กำลังได้ผลดีในขณะนี้