วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 22:47 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันเสาร์ ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565, 14.15 น.

ประเทศไทยได้อะไรบ้าง จากการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคปี พ.ศ. 2565

ประเทศไทยได้อะไรบ้าง จากการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปคปี พ.ศ. 2565

ภายใต้ผู้นำรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

 

ศุภภัทรวริศรา  เกตุสุนทร คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันรัชต์ภาคย์

 

 

 

เอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation APEC)

 

เป็นเวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีความสำคัญระดับโลก มีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน ความร่วมมือในด้านมิติสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ ซึ่งในปี ค.ศ. 2022 ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคตลอดทั้งปี รวมถึงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคที่กำลังจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 นี้

 

เอเปค (APEC) เป็นการรวมกลุ่มแบบพหุภาคี มีเป้าหมายหลัก เพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือในมิติสังคมและการพัฒนาต่าง ๆ โดยสาขาความร่วมมือที่ไทยให้ความสำคัญในปี 2565 ประกอบด้วย 8 เรื่อง ได้แก่ ความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ด้านการคลัง ด้านการท่องเที่ยว ด้านการเกษตร ด้านป่าไม้ ด้านกิจการสตรี ด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises : MSMEs) และด้านสาธารณสุข เพื่อมุ่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบัน ประกอบด้วยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ โดยมีประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกเป็นสมาชิก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น แคนาดา เกาหลีใต้ และรัสเซีย  เอเปคมีประชากรรวมกันกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท ซึ่งเกินครึ่งของ GDP โลกและมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก

 

แนวคิดหลักของการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565

 

ในช่วงหลังโควิด-19 ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นอันดับแรก จึงตั้งใจส่งเสริมแนวคิด “เปิดกว้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” หรือ Open Connect Balance ” เป็นเสาหลักของเอเปค ปี พ.ศ. 2565 ในครั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพเล็งเห็นถึงช่องทางเพิ่มโอกาสด้านการค้าและการลงทุนที่เชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อฟื้นฟูการเดินทางอย่างปลอดภัย และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม เน้นสร้างสมดุลมากกว่าสร้างผลกำไร โดยมีแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ- เศรษฐกิจหมุนเวียน- เศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular- Green- Economy Model (BCG) เป็นพื้นฐานสำคัญที่สอดคล้องต่อธีมของเอเปค

 

ทำไมถึงต้องเป็นแนวคิด Bio-Circular- Green- Economy Model (BCG)  

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายประเทศต่างพากันหาวิธีฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว (Disruption) สะท้อนให้เห็นถึงผลเสียจากการพัฒนาที่ไม่ทั่วถึงและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกปล่อยปละละเลย เพราะเหตุนี้ นโยบายเศรษฐกิจ BCG จึงได้ถูกนำเสนอมาขับเคลื่อนเอเปค ปี พ.ศ. 2565 เพื่อตอบโจทย์การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ครอบคลุม และสมดุล โดยเน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ เพิ่มมูลค่า ลดความสูญเสีย และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น สิ่งที่ไทยมุ่งผลักดันเป็นหลักคือการ “สร้างความสมดุลในทุกด้าน” หรือ Balance โดยนำแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเอเปคมาบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตของภูมิภาคในระยะยาว

 

 

การประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565 ส่งผลดีทันทีต่อเศรษฐกิจในประเทศไทยอย่างไร

ผลได้จากการประชุม APEC ที่เกิดขึ้นทันที โดยไม่ต้องรอการประชุมสุดยอดผู้นำ คือ ตลอดทั้งปี มีคณะของ 21 เขตเศรษฐกิจ APEC ในทุกระดับ ที่มาประชุมกันรวมแล้วกว่า 14 คลัสเตอร์ ตั้งแต่ เจ้าหน้าที่ จนถึงรัฐมนตรี และผู้นำของประเทศ รวมทั้งกองทัพสื่อ ได้เดินทางเข้ามาในประเทศ เข้าทางประชุม เข้ามาใช้บริการต่างๆ เช่น อาหาร โรงแรม การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมของที่ระลึก ขนส่ง ภาคบริการ และกาคการผลิตของไทย ทั้งหมดคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจในประเทศไทยเกิดการขยายตัว และยังถือเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในเวทีโลกได้เป็นอย่างดี เพราะต้องอย่าลืมว่า โรงแรมทุกโรง อาหารทุกมื้อ ของที่ระลึกทุกชิ้น ภาคบริการเสริมที่เกี่ยวเนื่องกับการประชุม ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือ และความตั้งใจอย่างดีที่สุดของชาวไทย ที่จะนำเสนอต่อสายตาชาวโลก

 

การประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565 ในประเทศไทยเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบหลายปี

APEC คือการประชุมที่เกิดขึ้นในขณะที่ทั่วโลกกำลังต้องการความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพก็ได้เตรียมความพร้อม จัดการวาระการประชุม และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่างเพียบพร้อมมาตั้งแต่ 2 ปีก่อนหน้า เพื่อให้การประชุมครั้งสำคัญนี้บรรลุผล คือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความรับผิดชอบเพื่อให้เศรษฐกิจของทั้ง 21 เขต และของทั้งโลกพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างรับผิดชอบ สร้างสรรค์และยั่งยืน โดยมีการเตรียมการผลักดันเป้าหมายกรุงเทพ หรือ Bangkok’s Goals อันประกอบไปด้วย 4 เป้าหมาย ได้แก่

 

1) ร่วมกันสร้างระบบการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน (Sustainable Trade and Investment)

2) ร่วมกันบริหารจัดการทรัพยากร อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างยั่งยืน

3) ร่วมกันรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นเขตเศรษฐกิจผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

4) ร่วมกันบริหารจัดการของเสียและขยะอย่างยั่งยืน

 

 

ประเทศไทยได้ประโยชน์อะไรในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565

 

ในฐานะที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปค ปี พ.ศ. 2565  ถือเป็นโอกาสสำคัญในการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าในระดับภูมิภาค และเสริมสร้างบทบาทไทยในเวทีโลก รวมถึงยังได้ร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อไทยและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในหลายมิติ เช่น เรื่อง BCG  Economy Model ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติของไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลก เพื่อขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ของประเทศไทย

 

ภายใต้ผู้นำรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมที่เกี่ยวข้อง ปี 2565 ต่อจากนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 โดยมีหัวข้อหลักของการประชุมเอเปคปี 2565 APEC  2022  คือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” หรือ “Open. Connect. Balance.” ประเทศไทยจะขับเคลื่อนให้เอเปคพลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการเปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคหลังโควิดที่ยั่งยืนและสมดุล และทุกคนมีส่วนร่วม ผ่านแนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Economy.  

 

การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์หลายประการ เช่น ได้ใช้ประโยชน์จากการหารือภายใต้กรอบเอเปค การแสวงหาความร่วมมือกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อปฏิรูปและยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจของไทยให้ทันสมัยและเป็นสากล รวมถึงยกระดับการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้พัฒนาระบบเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า พร้อมทั้งลดข้อจำกัดและอุปสรรคทางการค้าระหว่างเขตเศรษฐกิจ รวมถึงสร้างโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับเขตเศรษฐกิจเอเปค ได้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาครัฐและภาคเอกชน เสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อยของไทยเข้าสู่ระบบการค้าโลกได้ เป็นการสนับสนุนการนำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งถือเป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับบริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว (Disruption) ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์จากคณะทำงานของเขตเศรษฐกิจอื่นรวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเข้าถึงองค์ความรู้ที่สำคัญ เช่น Pacific Economic Cooperation Council (PECC) และOrganization for Economic Cooperation and development (OECD)

 

 

 นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพการประชุมของประเทศไทยท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและท่องเที่ยว ภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและการค้าดิจิทัล ซึ่งเป็นการฟื้นฟูการเดินทางและการทำธุรกิจแบบพบหน้า ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำอันก่อให้เกิดการพัฒนาที่ครอบคลุมและยั่งยืน รวมถึงเป็นโอกาสในการแสดงความพร้อมว่าประเทศไทยสามารถปรับตัว และอยู่ร่วมกับสถานการณ์โควิด-19 โดยที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกันได้ ดังนี้.-

 

1) สามารถเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ (Open) เปิดการค้าการลงทุนเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of Asia-Pacific: FTAAP) ที่ต้องสะดวก รวดเร็ว และต่างได้รับประโยชน์อย่างครอบคลุม ในบริบทของการเจริญเติบโตหลังโควิด-19 ที่จะสร้างการลงทุนให้เปิดกว้างขึ้น พร้อมตั้งรับการปรับเปลี่ยนสู่การเจริญเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน

 

2) สามารถสร้างการเชื่อมโยงทุกมิติ (Connect) ฟื้นฟูการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัยผ่านการจัดตั้งกลไกการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ (APEC Safe Passage Taskforce) พร้อมหารือแนวทางที่จะช่วยในการส่งเสริม อาทิเช่น การอำนวยความสะดวกให้แก่อาชีพที่สำคัญ เช่น ลูกเรือ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี ระบบรหัสแบบกุญแจสาธารณะ (Public Key Infrastructure : PKI) ในการแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพในภูมิภาค และการขยายคุณสมบัติของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมผู้เดินทางที่เปิดกว้างขึ้น เช่น ผู้ประการรายย่อย ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนและต้องดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็ว

 

3) สามารถสร้างสมดุลรอบด้าน (Balance) และส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ภายใต้แนวคิด Balance in all aspects ให้ความสำคัญใน 4 ด้าน ได้แก่ (1) เศรษฐกิจที่เน้นการเติบโตอย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำ (inclusive economy) มีการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิง โดยเน้นแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลาเซเรนาเพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม (La Serena Roadmap for Women and Inclusive Growth) รวมถึงผลักดันการสร้างเครือข่ายสตรีผู้ประกอบการ BCG ไปขยายผลในเอเปค (2) พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) มาปรับใช้ เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก และสตาร์ทอัพ (startup) โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมพร้อมไปกับสร้างผลกำไรทางธุรกิจ  (3) ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainability through managing resources) เช่น การจัดการทรัพยากรป่าไม้ยังคงส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมป่าไม้ต่อไป และในสี่ปีถัดไปประเทศไทยจะเรียกประชุมรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านป่าไม้ เพื่อส่งเสริมการจัดการและการฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืน รวมถึงมีการรับรองผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ ซึ่งเอเปค จะมีการสำรวจวิธีการเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ที่เก็บเกี่ยวมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (4) ด้านความมั่นคงทางอาหาร (food security) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล เอเปค จะส่งเสริมการใช้ข้อมูลและการวิจัย เพื่อแก้ไขปัญหาขยะในทะเล รวมถึงส่งเสริมการทำประมงรายย่อยและประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน ส่วนด้านแผนงานความมั่นคงทางอาหาร (food security roadmap) เอเปค จะรับรองความปลอดภัย ความมั่นคง และความยั่งยืนของอาหารสำหรับทุกคน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เช่น Big Data

 

นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคปี พ.ศ. 2565 ของประเทศไทยภายใต้ ผู้นำรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ในฐานะที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจการค้าในระดับภูมิภาค และเสริมสร้างบทบาทผู้นำประเทศไทยบนเวทีโลกร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีโลกที่สำคัญ ดังเช่น

 

1) เพิ่มบทบาทที่สร้างสรรค์ของประเทศไทยในการร่วมกำหนดนโยบายและทิศทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ

 

2) สร้างช่องทางในการผลักดันท่าที ส่งเสริม และป้องกันผลประโยชน์ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ ตลอดจนร่วมกำหนดมาตรฐานและนโยบายในประเด็นใหม่ๆ ของบริบทโลก

 

3) ลดอุปสรรคและส่งเสริมโอกาสทางการค้า การลงทุนของประเทศไทยกับเศรษฐกิจเอเปคและประเทศที่เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย

 

4) สร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ เช่น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษา วิทยาศาสตร์ พลังงาน สิ่งแวดล้อม และการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

 

5) ได้แนวทางจากผู้นำประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุมเอเปคในฐานะแหล่งบ่มเพาะแนวคิด เพื่อก้าวไปข้างหน้าร่วมกันโดยมีเป้าหมายหลักของเอเปค คือ วิสัยทัศน์ปุตราจายา ค.ศ. 2040 รวมทั้งการจัดทำเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific หรือ FTAAP)

 

6) แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ผ่านคณะทำงานต่างๆ รวมถึงเข้าถึงแหล่งข้อมูลเชิงลึกที่ช่วยในการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกและภูมิเศรษฐศาสตร์รวมถึงเครือข่ายที่สำคัญ

 

7) เพิ่มโอกาสจากการประชุมเอเปคในฐานะผู้นำความเปลี่ยนแปลงในการปฏิรูปและยกระดับมาตรฐานทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ทันสมัย เป็นสากล รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพในมิติต่างๆให้แก่ภาครัฐและเอกชน

 

8) สร้างโอกาสในการส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทยทำให้ธุรกิจทั้งรายเล็กรายใหญ่ได้เข้าถึงประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ได้อย่างเต็มที่เพื่อประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยวซึ่งเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย การส่งเสริมเศรษฐกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ยั่งยืน และมีความรับผิดชอบผ่านโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้เศรษฐกิจไทยในระยะยาว Powered by Glia Studio close

 

9) เปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้แสดงศักยภาพความพร้อมให้โลกได้เห็นผ่านความสำเร็จในการจัดประชุมตลอดทั้งปี ซึ่งไทยต้องจัดการประชุมท่ามกลางความท้าทาย ทั้งโควิด-19 และสถานการณ์โลกที่ผันผวน โดยเฉพาะการประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้ ที่จะเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่จัดแบบพบหน้า เป็นโอกาสให้ผู้นำเอเปคได้เดินทางมาพบหน้ากัน

 

10)  เพิ่มโอกาสและช่องทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และดึงดูดนักท่องเที่ยวโดยในสัปดาห์การประชุมเอเปคจะมีผู้นำ และผู้แทนจากต่างประเทศเดินทางมาเยือนไทยประมาณ 3,000 คน และสื่อต่างชาติอีกกว่า 2,000 คน ซึ่งทุกคนจะได้เห็นศักยภาพของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน นำไปสู่โอกาสการค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น

 

11) ได้รับโอกาสในการนำเสนอภาพความโดดเด่นทางวัฒนธรรม อาหาร การแสดง และเอกลักษณ์ความสวยงามของประเทศไทยจะถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก ซึ่งในการประชุมผู้นำเอเปคครั้งนี้ ยังมีการประชุมที่เกี่ยวข้องอีกหลายรายการ เช่น APEC CEO summit, ABAC, APEC SME

 

12) ได้รับโอกาสให้ประเทศไทยได้ต้อนรับผู้นำจากหลายประเทศ ทั้งที่เป็นผู้นำเขตเศรษฐกิจ และเป็นแขกพิเศษ ได้แก่ มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย และประธานาธิบดีฝรั่งเศส

 

13) ได้รับโอกาสให้รัฐบาลได้นำเสนอวิสัยทัศน์ และความมุ่งมั่นตั้งใจในการส่งเสริมความยั่งยืน นวัตกรรม ควบคู่ไปกับศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม

 

14) ได้รับโอกาสในการนำเสนอแนวทางการจัดการแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ green meeting เช่น รถยนต์ที่ใช้รับรองผู้นำก็จะเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในส่วนของการประชุมจะลดการใช้กระดาษให้มากที่สุด นำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในการตกแต่งสถานที่และขยะพลาสติกในงานจะถูกนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิล

 

 

ความคาดหวังจากการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปคปี พ.ศ. 2565 ของประเทศไทย ภายใต้ผู้นำรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

         ผลดี  ด้านการมีส่วนร่วม กลุ่มเศรษฐกิจผ่านบทบาทผู้นำบนเวทีโลกกำหนดนโยบายและทิศทางเศรษฐกิจที่มีประเทศมหาอํานาจทางเศรษฐกิจทำให้เสริมสร้างพลังทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะทุกประเทศทั่วโลกต้องการรวมกลุ่มเพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ  ด้านการค้าและการลงทุนของประเทศสมาชิกเอเปก เป็นคู่ค้าที่สําคัญของประเทศไทยทำให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุดและสร้างความร่วมมือในโครงการเศรษฐกิจต่างๆ ภายในกลุ่มเอเปกทําให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ระหว่างกัน จะเป็นช่องทางการส่งเสริมความสัมพันธ์และเพิ่มพูนโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้เกิดการขยายตัวมากขึ้น สมาชิกเอเปก มีจํานวนประชากรมากถึงร้อยละ 40 ของประชากรโลก ปริมาณการค้าร่วมของโลกกับภููมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีพลวัตรการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงที่สุดในโลก การเข้าร่วมในเอเปกช่วยขยายตลาดการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศไทย การหารือลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุนประเทศที่เป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญ แลกเปลี่ยนความรู้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยมีเป้าหมายเขตการค้าเสรีในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ยกระดับมาตรฐาน ด้านเศรษฐกิจให้ทันสมัยเป็นสากล เสริมสร้างศักยภาพภาครัฐและเอกชน ฟื้นฟูธุรกิจรายเล็กและรายใหญ่ให้เข้าถึงระบบเศรษฐกิจยุคใหม่ โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่มีความโดดเด่นทางด้านศิลปะวัฒนธรรม อาหาร การแสดง เอกลักษณ์ ความสวยงามของแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวภายหลังจากการประชุมเอเปคถือเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมถึงโมเดลเศรษฐกิจ BCG นำไปสู่โอกาสการค้าการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น การส่งเสริมนวัตกรรมการจัดการสิ่งแวดล้อม Green Meeting อย่างยั่งยืน  

 

ผลเสีย  การเข้าร่วมกลุ่มเอเปกมีประเทศสมาชิกที่มีอํานาจทางเศรษฐกิจและการเมืองแตกต่างกัน ความร่วมมือดังกล่าว อาจเอื้อประโยชน์ต่อประเทศที่มีอํานาจทางเศรษฐกิจและการเมือง มากกว่าประเทศขนาดเล็ก เช่น ประเทศไทยและประเทศอาเซียนอื่น จึงอาจถูกกลุ่มประเทศพัฒนาสร้างพลังอำนาจการต่อรองให้เกิดการยอมรับในบางเรื่องที่ประเทศขนาดเล็กอาจยังไม่มีความพร้อม ดังนั้น หากจะให้เอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและการค้าของประเทศไทยได้อย่างเต็มที่ประเทศกลุ่มอาเซียน จะต้องเตรียมพร้อมและรวมพลังต่อรองกับประเทศสมาชิกอื่นด้วยเช่นกัน การเปิดการเสรีในภูมิภาค อาจจะทําให้ประเทศพัฒนาแล้วใช้เป็นช่องทางในการใช้อำนาจการเจรจาต่อรองเพื่อขอให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องเปิดตลาดของตนมากขึ้น ฉะนั้น ประเทศไทยจะต้องระวัง รอบคอบ ไม่ให้มีการสร้างข้อผูกมัดหรือเงื่อนไขสำหรับการเปิดการค้าเสรีทุกมิติ

 

ศุภภัทรวริศรา  เกตุสุนทร คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันรัชต์ภาคย์