การเมือง » คอลัมน์
แยกรัชวิภา
บ้านเมืองออนไลน์ : วันพฤหัสบดี ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2566, 19.57 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

“ความโปร่งใส” บันไดขั้นแรกในการยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)
“ความโปร่งใส” บันไดขั้นแรกในการยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)
ศุภภัทรวริศรา เกตุสุนทร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันรัชต์ภาคย์
ตั้งแต่เปิดศักราชใหม่ปี 2566 สังคมไทยยังคงปกคลุมและเต็มไปด้วยข่าวคดีการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่เว้นแต่ละวันที่ดูเหมือนจะสู้กลับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบแถมสวนทางกับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment) หรือการประเมิน ITA ถือเป็นมาตรการที่สำคัญในการพัฒนาภาครัฐในด้านคุณธรรม ความโปร่งใส การป้องกันการทุจริตในภาครัฐอันจะนำไปสู่การเพิ่มระดับคะแนนรับรู้การทุจริต CPI แต่การทุจริตคอร์รัปชั่นยังผุดขึ้นและลุกลามบานปลายแบบไม่แผ่ว ทำให้สังคมไทยยังเชื่อว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ฝังรากลึกในสังคมไทยจะไม่หมดไปเริ่มตั้งแต่สังคมไทยให้ความสนใจและจับตามองกับคดีทุจริตคอร์รัปชั่นอื้อฉาวข้ามปีของกลุ่มทุนสีเทากับการใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่เรียกรับผลประโยชน์แลกกับการเพิกเฉยสนับสนุนเป็นใจและอาศัยช่องโหว่ทางกฏหมายให้กระทำความผิดในประเทศไทยฝนยังไม่ทันซาฟ้ายังไม่ทันเปิดก็มีคดีร้อนๆ ให้สังคมไทยจับตากับข่าวพฤติกรรมเรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดแลกกับการรักษาตำแหน่งและความก้าวหน้าในสายงานจนเป็นที่มาของภาพนำกำลังบุกเข้าไปจับกุมถึงห้องทำงานเรื่องฉาวชาวป่าสีเขียวยังไม่ทันจะสืบสาวราวเรื่องพฤติกรรมเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐฉาวออกมาให้เห็นแบบไม่มีพัก คดีล่ามาแรงสุดเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นยักยอกเงินในองค์กรตนเองสร้างความเสียหายโดยอาศัยช่องโหว่ถอนเงินกองคลังกว่า 15 ล้านบาท ออกจากธนาคารแต่ที่น่าตกใจกว่านั้น คือ เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลการเงินหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ พบว่ามีเงินรั่วไหลออกจากระบบโดยไม่ทราบสาเหตุรวมกว่า 200 ล้านบาทยังไม่พ้นเดือนแรกคดีทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงดังกล่าวกลับผุดขึ้นราวกับเห็ดนางฟ้าที่เบ่งบานได้แม้ไร้แสงแดดเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่สะท้อนว่าการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้นได้อย่างไม่เกรงกลัว “ความโปร่งใสและตรวจสอบได้”
ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2565 การเผยแพร่ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perception Index) พ.ศ.2564 จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ(Transparency International หรือ TI) เผยผลการสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2564 ผลการจัดอันดับจากจำนวนประเทศ 180 ประเทศทั่วโลกประเทศไทยได้ 35 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 110 ของโลก ลดลงจากปีก่อนที่ได้รับ 36 คะแนน และเป็นอันดับที่ 104 ของโลก สถิติคะแนน CPI ของประเทศไทยประจำปี 2564 หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 จากทั้งหมด 11 ประเทศ จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ในประเทศไทยนับเป็นค่าต่ำสุดในรอบ 10 ปีขณะเดียวกันเมื่อนำมาจัดอันดับ (Ranking) ก็พบว่าอันดับของประเทศไทย อยู่อันดับที่ 110 จาก 180 ประเทศนับว่าเป็นอันดับต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีเช่นกัน
ผู้เขียนขอหยิบประเด็นจากแหล่งข้อมูลของคะแนนจาก CPI ปี 2564 ที่ใช้ในการประเมินมีทั้งสิ้น 9 แหล่งข้อมูลผู้เขียนตั้งข้อสังเกตได้ว่าจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน พบว่าจากแหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) หรือคะแนนในส่วนการติดสินบนและการทุจริตมีอยู่หรือไม่มากน้อยเพียงใดอยู่ที่39 คะแนน ลดลง 2 คะแนนและจากแหล่งข้อมูล The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) หรือระดับการรับรู้ว่าการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากน้อยเพียงใดได้ 36 คะแนน ลดลง 2 คะแนนและจากแหล่งข้อมูล World Justice Project (WJP) หรือเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด ได้ 35 คะแนน ลดลงมากที่สุดถึง 3 คะแนน ผลดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ทำให้สะท้อนถึงภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นของประเทศที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) รวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือจำนวน 13 แหล่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการต่อสู้กับการทุจริตในทุกรูปแบบนอกจากนี้ผลคะแนนการรับรู้การทุจริต (CPI) บอกถึงสถานการณ์การทุจริตในประเทศเพื่อนำไปสู่การสร้างความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ และตามที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้มีข้อเสนอแนะสำคัญต่อประเทศไทย 4 ประเด็น ได้แก่ประเด็นแรกส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ เพื่อเป็นพลังในการตรวจสอบการทุจริต รัฐบาลควรที่จะจัดการในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน และส่งเสริมการต่อสู้ประเด็นสิทธิมุนษยชนในกระบวนการยุติธรรม ให้เป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนประเด็นที่สอง การสร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานตรวจสอบการทุจริต โดยขยายโครงสร้างหน่วยงานต่อต้านการทุจริต และหน่วยงานตรวจสอบอื่นๆ ให้มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล เพื่อระงับยับยั้งการกระทำการทุจริต โดยรัฐสภาและศาล ควรที่จะเฝ้าระวัง ป้องกันเพื่อมิให้ เจ้าหน้าที่กระทำการเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่ประเด็นที่สามการปราบปรามการทุจริตข้ามชาติ รัฐบาลควรปรับปรุงจุดอ่อนของระบบที่เป็นช่องทางของการทุจริตข้ามชาติ อาชญากรรมทางการเงิน โดยลดช่องว่างทางกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่กระทำการทุจริตต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ประเด็นที่สี่สนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐซึ่งเมื่อเดือนมิ.ย.2021 ที่ผ่านมากำหนดให้ภาครัฐต้องให้สัตยาบรรณว่าต้องมีการป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งการมีความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณที่ดีจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
สังคมไทยให้ความสำคัญกับ “ความโปร่งใส” ว่าเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นและช่วยให้หน่วยงานและผู้ปฎิบัติมีความรับผิดชอบมีการปฏิบัติงานหรือมีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สร้างความเป็นธรรมแก่ประชาชนผู้รับบริการอย่างทั่วถึงมิใช่เฉพาะกลุ่มหรือพวกพ้อง ภาครัฐจะจึงมีการกำหนดมาตรการและแนวทางในการสร้างความโปร่งใสให้เป็นรูปธรรมเพื่อให้ได้รับการยอมรับและเชื่อถือหมายความว่า สังคมไทยรับรู้การทุจริตคอร์รัปชั่นมาโดยตลอดการสร้าง “มาตรฐานความโปร่งใส” จึงเป็นแนวทางที่ทุกภาคส่วนสร้างและนำไปปฏิบัติพร้อมให้ตรวจสอบได้ตามหลักธรรมาภิบาลการบริหารบ้านเมืองที่ดี
“ความโปร่งใส” บันไดขั้นแรกในการยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI
“ความโปร่งใส” ถือเป็นบันไดขั้นแรกเพราะสังคมไทยได้เริ่มรับรู้คำว่า “ความโปร่งใส” อย่างแพร่หลายในช่วงปี 2535 สมัยอดีตนายกรัฐมนตรี นายอานันท์ปันยารชุน เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งได้ให้ความสำคัญต่อ “ความโปร่งใส” ในการบริหารงานของรัฐบาลอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากปาฐกถาพิเศษของท่าน เรื่องความโปร่งใสและธรรมรัฐ เมื่อ 2 พฤศจิกายน 2542 ว่า “...สมัยผมเป็นนายกรัฐมนตรี ผมไม่มีฐานอำนาจไปสู้กับทหารก็ไม่ได้ ไปสู้กับกระบวนการทางการเมืองก็ไม่ได้ ผมมาตัวเปล่าและก็ได้อาศัยสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ มหาวิทยาลัย ที่ผมจะไปสื่อความคิด ความเข้าใจของผม วิธีการบริหารของผม แนวทางนโยบายของรัฐบาลของผม อันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นในการบริหารงานการเมืองของประเทศชาติในขณะนั้น เป็นทั้งหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องสื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจว่า รัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ กำลังคิดอะไรอยู่ กำลังวางแผนอะไรอยู่ และประชาชนมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลถึงแนวทางความคิด ถึงวิธีการ ถึงกระบวนการ และวัตถุประสงค์บั้นปลายของแนวนโยบายต่าง ๆ ในระยะนั้นจึงเกิดคำใหม่ขึ้นมาคือคำว่า“ความโปร่งใส”……” เป็นเรื่องสำคัญของการกำกับดูแลกิจการบ้านเมืองที่ดีทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งในระดับประเทศของการสร้างความน่าเชื่อถือ และการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
“ความโปร่งใส” จึงถูกนำมาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการตรวจสอบความถูกต้อง และช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งนำไปสู่การสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกันทั้งระหว่างผู้ปฏิบัติร่วมกันในองค์กรเดียวกันระหว่างประชาชนต่อรัฐไปจนถึงระหว่างคนในชาติด้วยกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนจึงมุ่งเน้นการกลไกการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลและการบริหารบ้านเมืองที่ดี ให้มีความโปร่งใส มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างตรงไปตรงมาด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย เพื่อประชาชนจะได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้สะดวกและช่วยตรวจสอบความถูกต้องได้
“ความโปร่งใส” ตรวจสอบได้และพร้อมรับผิดชอบในผลของการตัดสินใจในการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีเกิดขึ้นจากกรอบแนวคิด Good Government ของธนาคารโลกในปี พ.ศ.2532 เพื่อสร้างระบบบริหารที่มีประสิทธิภาพ (Efficient service)สร้างความโปร่งใส (Transparency) มีความยุติธรรม (Fairness)เคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย (Rule of Law) สามารถการตรวจสอบได้ พร้อมรับผิดชอบในผลของการตัดสินใจ (Accountability)
“ความโปร่งใส”.จึงเป็นกระบวนการตัดสินใจของหน่วยงานเป็นไปอย่างเปิดเผยหรือเรียกได้ว่าเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการสื่อสารในนโยบายของรัฐต่อกลุ่มที่ให้ความสนใจหรือกลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders)
“ความโปร่งใส” กับความซับซ้อนของนโยบายและการเลือกผู้ฟังทำให้องค์กรไม่โปร่งใส จึงเกิดการเรียกร้องและแก้ไขโดยออกกฎหมายนโยบาย หรือ การออกกฎหมายและความโปร่งใสของการบริหาร (Administration) ซึ่งความถูกต้องของกฎหมายมักขึ้นอยู่กับการตีความ วิธีการบริหารและการบังคับใช้ ความสม่ำเสมอและไม่เลือกปฏิบัติดังนั้น การออกกฎหมายและการตีความหมายกฎหมายจึงมีผลอย่างมากชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ ซึ่งนโยบายที่ไม่มีบุคคลที่อยู่นอกรัฐบาลให้ความเชื่อถือและไม่มีการบังคับใช้อย่างจริงจัง อันจะก่อให้เกิดการไม่มีความโปร่งใสสิทธิภายใต้ความโปร่งใส เกิดจากการหมุนเวียนของข้อมูลแบบสองทิศทางระหว่างรัฐกับประชาชน โดยรัฐกำหนดภารกิจรัฐเพื่อสื่อสารไปยังประชาชนซึ่งภารกิจดังกล่าวหากมีผลกระทบในภาคประชาชน จะส่งผลให้เกิดการร้องเรียกจากภาคประชาชนไปยังภาครัฐ
ผู้เขียนมองว่าแท้จริงแล้ว “ความโปร่งใส” ขึ้นอยู่กับการสร้างวัฒธรรมการทำงาน ยึดกฏระเบียบที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อให้เกิดความถูกต้องภายใต้จิตสำนึกของแต่ละบุคคลที่ถูกปลูกฝังด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ความหวาดกลัวและละอายต่อการกระทำผิด มีจรรยาบรรณต่อวิชาชีพของตนเองตระหนักถึงหน้าที่ความรับผิดชอบที่ได้รับมอบหมายในจิตใต้สำนึกของความมนุษย์เป็นสำคัญ
CPI ถือเป็นประตูชัยบานใหญ่ที่สำคัญและไม่อาจมองข้ามได้ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการลงทุนและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศถือเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่นำมาหล่อเลี้ยงปากท้องและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศทุกภาคส่วนควรต้องพยายามทุกวิถีทางที่จะเร่งฝีเท้าเข้าแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ และลงมือดำเนินงานด้วยความมุ่งมั่นโดยยึดหลักคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment) หรือการประเมิน ITA เป็นเกราะป้องกันการทุจริตในหน่วยงานอันจะนำไปสู่การเพิ่มระดับคะแนนรับรู้การทุจริต CPI ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะคะแนนที่ลดลงจากปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัดและสอดคล้องกับคดีการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เกิดขึ้น ณ. ขณะนี้และอีกมากมายที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ และสังคมไทยต้องไม่ลืมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในการป้องกันและขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นได้ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพราะถึงที่สุดแล้วดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI จะลดลงหรือไม่ย่อมสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของประเทศ หากทุกภาคส่วนมีการตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบให้เกิดความโปร่งใสเป็นที่น่าเชื่อถือจากนานาประเทศ อาจทำให้มีการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มขึ้นส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีคุณภาพ ทั้งนี้ คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตหรือ CPI จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากภาครัฐภาครัฐเอกชน ภาคประชาชน องค์กรอิสระ เป็นแรงขับเคลื่อนในเชิงรุกและไปในแนวทางเดียวกันคือ “ความโปร่งใส” เพื่อให้ประเทศไทยยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตCPIให้สูงขึ้นเทียบเคียงกับนานาประเทศและในระดับสากลต่อไป
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » การเมือง » คอลัมน์
คอลัมน์ล่าสุด ![]()
...คำถามประจำวันเด็ก...
ใต้ถุนสภา- ปรากฏการณ์ "ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน" 21:25 น.
- “หนี้นอกระบบ” 05:33 น.