วันจันทร์ ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 12:11 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันอาทิตย์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 16.30 น.

PM 2.5 สะท้อนจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย

PM 2.5  สะท้อนจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย

 

ดร.ชุติกาญจน์ ฉลาดสกุล

นักวิชาการด้านยุทธศาสตร์สุขภาพชุมชน

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ศึกษามาตรฐานมนุษย์ตามแบวคิดทฤษฎีตัวชี้วัดความมั่นคงของในประเทศและต่างประเทศ มีสาระสำคัญคือความมั่นคงของมนุษย์ หรือ Human Security หมายถึงการที่ประชาชนได้รับหลักประกันด้านสิทธิ ความปลอดภัย การสนองตอบต่อความจำเป็นขั้นพื้นฐาน สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ตลอดจนได้รับโอกาสอย่างท่าเทียมกันในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ความมั่นคงของมนุษย์ในแง่นี้ ได้แก่ การได้ทำงานที่มั่นคงและมีความสุขหรือพอใจในงาน การมีรายได้ที่พอเพียงต่อการดำรงชีวิตของตนเองและครอบครัว มีเงินออมที่เพื่ออนาคตที่ดี ไม่มีหนี้สินครอบครัวมีมีความรักใคร่ปรองดองกัน สมาชิกมีความรับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ เคารพและให้เกียรติกันไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบนอกจากนั้น ยังมีการกำหนดประเด็นของความมั่นคงของมนุษย์ด้านการศึกยา ที่มนุษย์ต้องได้รับโอกาสทางการศึกษา อย่างเท่าเทียม มีการศึกษาที่พอเพียงต่อการครองชีวิต ได้รับการศึกษา และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดจนมีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ที่ระบุว่าต้องปลอดจากการประทุษร้ายต่อร่างกาย ต้องได้รับความมั่นใจว่าปลอดภัยจากการประทุษร้ายต่อร่างกายและทรัพย์สิน

ประเด็นสำคัญด้านคุณภาพชีวิต มีการเขียนไว้ในส่วนของความมั่นคงของมนุษย์ด้านสุขภาพอนามัย ได้แก่ มนุษย์ต้องมีสุขภาพกายที่ดีมีสุขภาพจิตที่ดี มีหลักประกันด้านสุขกาพอนามัยอย่างเท่าเทียมและพอเพียง ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยทางกายและจิต การปฏิบัติตนที่มีส่วนส่งเสริมสุขภาพกายและจิตเป็นนโยบายที่พูดถึงความมั่นคงเชิงสิ่งแวดล้อมและชีวอนามัยทางสังคม

ขณะที่ความรุนแรงของสิ่งแวดล้อมในสังคม อย่างปัญหาของการฟุ้งกระจายของฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลหลายแห่ง กำลังเป็นปัญหาเร่งด่วนที่เป็นโจทย์ท้าทายของรัฐที่จะต้องแก้ไข ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั่วไประยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะถ้ามีการสะสมในร่างกายเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น ต่อระบบผิวหนัง ทำให้มีปัญหาผื่นคัน ผื่นแพ้ลมพิษผิวหน้าเหี่ยวแพ้ง่าย และเกิดริ้วรอยบริเวณร่องแก้ม เป็นต้น เป็นปัญหาที่ต้องใส่ใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาทางการเมือง

เรื่องฝุ่น PM2.5 ให้เร็วที่สุด ต้องมีกระบวนการถ่ายทอดความรู้ สร้างความตระหนักรู้ ที่อาจต้องเริ่มที่ให้ความรู้ประชาชน ตลอดจนบุคลากรขององค์กร ไปสู่เยาวชนผ่านทางครอบครัว

ชุมชนท้องถิ่นเป็นสถาบันพัฒนาคน องค์กรทุกองค์กรเป็นสถาบันพัฒนาคน โดยเฉพาะท้องถิ่นต้องเพิ่มบทบาทในการกำหนดแผนพัฒนากำลังคนก็ย่อมมี โอกาสให้มากขึ้น ต้องแสวงหาคุณค่าและนำความรู้ของผู้สำเร็จการศึกษามาช่วยกันพัฒนาท้องถิ่นให้มากขึ้น ผนึกกำลังและใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเชิงพื้นที่มาช่วยยกระดับการเรียนรู้ในสถานศึกษา ให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นสำคัญกำหนดยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับผู้เรียนในชุมชนท้องถิ่น ที่มีความหลายหลายทางวัฒนธรรมและลักษณะเฉพาะ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาความคิดริเริ่มและกลยุทธ์การเรียนรู้ที่มีความสอดคล้องกับเงื่อนไขนั้นๆ ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

พัฒนาการเรียนรู้ให้เป็นองค์ความรู้โดยแหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอก มาบูรณาการให้เกิดประ ไยชน์สูงสุดต่อชุมชน ตัวอย่างที่สามารถทำได้ทันที อาทิเช่นการพัฒนาระบบเก็บรวบรวมคลังความรู้ชุมชน ท้องถิ่นและสังคมเพื่อนำมาใช้ประโชชน์ได้ทันเหตุการณ์ให้ทันต่อสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของโลก ซึ่งต้องฉลาดที่จะผนึกความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นกับนวัตกรรมที่เป็นความรู้สมัยใหม่มีระบบบริหารจัดการความรู้ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว มีการสร้างสมรรถนะองค์กร ให้สามารถเรียนรู้โดยใช้ชุมชน ท้องถิ่นเป็นศูนย์กลางและเป็นฐานในการพัฒนาทำให้เกิดพลังชุมชนที่เข้มแข็งเป็นรากฐานในการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ที่มีความยั่งยืนตลอดไป

ลอเรนซ์ โคลเบิร์กนักจิตวิทยาสัญชาติอเมริกันยิวเป็นอาจารย์ที่ มหาวิทยาลัยชิคาโก และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาได้ชื่อว่าเป็นนักทฤษฎีว่าด้วยจริยธรรมคนสำคัญของโลก เขาเชื่อว่าการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมนั้น จะเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เรียงลำดับเป็นขั้น ๆ ได้แก่ ขั้นที่ 1 การใช้เหตุผลทางจริยธรรมแบบหลบหลีกการถูกลงไทย อยู่ในช่วงอายุ2-10 ปีขั้นที่ 2 การแสวงหารางวัล อยู่ในช่วงอายุ 7-10 ปีขั้นที่ 3 หลักการทำตามที่ผู้อื่นเห็นชอบ อายุ 13-16 ปีขั้นที่ 4 หลักการทำตามหน้าที่ทางสังคม อายุ 13- 16ปีขั้นที่ 5 หลักที่ทำตามคำสัญญา  อายุ 16 ปีขึ้นไปและขั้นที่ถือว่าการใช้เหตุผลทางจริยธรรมมีความสมบูรณ์ จะเกิดขึ้นในขั้นที่ 6 เรียกขั้นนี้ว่าเป็นขั้นการยึดอุดมคติสากล จะเกิดขึ้นได้ในบุคคลที่ถือว่าเป็นผู้ใหญ่

จากแนวคิดทางจริยธรรมที่พัฒนาให้เป็นขั้นตอนและสร้างหลักประกันการตัดสินใจทางศีลธรรมของมนุษย์ให้มีความถูกต้อง เหมาะสมตามช่วงชั้นของแต่ละวัย จนกลายมาเป็นศีลธรรมเป็นหลักยึดถือและปฏิบัติในการดำเนินชีวิต การควบคุมพฤติกรรททางสังคมและถูกพัฒนาให้กลายเป็นแนวคิดของจริยธรรมสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างจิตสำนึกที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้คงอยู่กับการดำเนินชีวิต ซึ่งจริยธรรมสิ่งแวดล้อมเป็นแนวคิดใหม่สำหรับสังคม ถูกพูดถึงกันว่าเป็นองค์ความรู้ที่หยิบยกมาจากปรัชญาที่ว่าด้วยหลักคุณธรรมหรือจริยศาสตร์ ที่มีแกนหลักความรู้ที่พูดถึงความเข้าใจพื้นฐานของมนุษย์ที่พยายามจะช่วยกันปกป้องสิทธิมนุษยชนต่อสิ่งแวดล้อม โดยแนวคิดเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมถูกนำมาพิจารณาอย่างจริงจังครั้งแรกในการประชุมสตอกโฮล์ม ปี ค.ศ.1972 และได้ระบุไว้ในคำประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนด้วย ใน ปี ค.ศ.1982  และระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของหลายประเทศในเวลาต่อมาภายใต้กรอบคิดที่ว่าสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในการครอบครองของมนุษย์ นั้น มาพร้อมกับความรับผิดชอบทางศีลธรรมที่เหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

ขณะที่การเดินหน้าชิงอำนาจประเทศไทยของภาคการเมืองการปกครองเริ่มต้น และอาจจะก่อตัวเป็นปัญหาการเมืองรอบใหม่หรือไม่นั้น การดูแลสภาพแวดล้อมธรรมชาติ การสร้างความมั่นคงให้เกิดกับมนุษย์และสังคมภายใต้การเผชิญหน้ากับ PM2.5 ที่กำลังส่งผลร้ายต่อสุขภาพประชาชน กำลังเป็นกระจกที่สะท้อนจริยธรรมด้านสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย ให้ได้มีความรู้ตัวและถอยความอหังการของตนเองที่แสดงพฤติกรรมมนุษย์เป็นศูนย์กลางของสรรพสิ่งนั้น ให้ลดลง แล้วหันมาให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมธรรมชาติที่ปล่อยทิ้งไว้อย่างเพิกเฉย และรณรงค์ให้มีความตระหนักในจริยธรรมเพื่อการรักษาสิ่งแวดล้อมที่เป็นโอกาสท้ายสุดที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติบนแนวคิดคือรู้คุณค่าและการยึดคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการสร้างสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมการพัฒนาเป็นหลักประกันแก่อนุชนว่าในอนาคตจะมีความมั่นคงทางทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตได้ต่อไปหรือไม่

โดยที่สุดแล้วเมื่อสังคมไทยต้องเผชิญหน้ากับมหันตภัยฝุ่นร้าย PM2.5 อย่างหนักหน่วง จะมีบทพิสูจน์อะไรที่จริยธรรมสิ่งแวดล้อมจะเป็นตัวช่วยให้รอด สังคมไทยจะยึดถือจริยธรรมเชิงอุดมการณ์ที่ลอยไปพร้อมกับฝุ่น หรือจะใช้มาตรการกฎหมายที่เข้มงวดให้การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ได้รับการเหลียวแลอย่างจริงจัง อย่างความยุติธรรมที่เท่าเทียมสังคมไทยต้องไม่ปล่อยเรื่องเหล่านี้ให้ดำเนินไปเชิงอุดมการณ์ตามกลไกแห่งดุลยภาพระหว่างมนุษย์ สังคมและธรรมชาติ ท่ามกลางระบบโลกที่ยังคงมีปัญหาการรักษาสมดุลมากมาย หากรัฐและสังคมไม่ร่วมกันแก้ไข ยังคงปล่อยให้ไม่มีกลไกและมาตรการอะไรเป็นหลักประกันความเสี่ยงต่อความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ส่งผลให้การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมไร้กลไกที่เหมาะสม อย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ อีกไม่นาน ชีวิตและจริยธรรม อาจจะปลิวไปพร้อมกับฝุ่น