วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 22:10 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันพฤหัสบดี ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2566, 14.19 น.

“ความโปร่งใส”บันไดขั้นที่สองทิศทางความโปร่งใสจะไปทางไหนดี ในการยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)

“ความโปร่งใส”บันไดขั้นที่สองทิศทางความโปร่งใสจะไปทางไหนดี ในการยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)

 

ศุภภัทรวริศรา เกตุสุนทร

คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันรัชต์ภาคย์

ทุกวันนี้สังคมโลกเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งยวดเรื่องราวเล่าขานถึงคุณความดีหรือเหตุการณ์อันทรงคุณค่าในอดีตถูกแทนที่ด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่นแบบใหม่ที่เรียกว่า “โกงแบบไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม” โดยใช้ห่วงแห่งความทันสมัยของเทคโนโลยีช่องทางการสื่อสารบนโลกออนไลน์ฉาบฉวยทุกอย่างเบ็ดเสร็จแบบถูกใจและทันใจลืมนึกถึงความถูกต้องเป็นการส่งสัญญาณให้มองเห็นว่า “คุณธรรมภายในใจเริ่มถดถอย” ที่แยกไม่ออกว่าอะไรคือสิ่งถูกอะไรคือสิ่งผิด อะไรดีอะไรไม่ดีโดยให้คุณค่าวัตถุและเงินตรามากกว่าความถูกต้องอันดีงามไม่สนใจถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่อตนเอง สังคมและประเทศชาติที่เกิดความเสียหายมหาศาลจึงเป็นคำถามที่ผู้เขียนชวนขบคิดว่า “การทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยกลายเป็นฝีแตกแล้วหรือ” เพราะพยายายามป้องกันกลับบานปลายลุกลามยิ่งเดินหน้ากำจัดยิ่งกลับปรากฏ ไม่ว่าอะไรที่จะเป็นสาเหตุของการทุจรติคอรัปชั่นหรือมูลเหตุที่เอื้อให้มีการทุจริตคอรัปชั่นและเติบโตได้อย่างไร กระทั่งแก้ไขได้บ้างไม่ได้บ้าง โดยเฉพาะผู้มีหน้าที่ในการบริหารประเทศจะสามารถนำพาประเทศชาติให้ก้าวผ่าน “การทุจริตคอรัปชั่น” สู่การยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)ให้สูงขึ้นได้หรือไม่ แม้ว่าหลายปีที่ผ่านมา อาจจะไม่สามารถทำให้การทุจริตคอรัปชั่น ลดลงหรือหมดไปได้อย่างสะอาดหมดจดจากการถูกฝังรากลึกแนวคิดถูกสั่งสอนลูกหลานไว้ว่า “ลูกเอ๋ย ขอให้ลูกตั้งอกตั้งใจเรียนให้ดีนะต่อไปจะได้เป็นใหญ่เป็นโตเป็นเจ้าคนนายคน มีอำนาจวาสนา มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่มีแต่ความมั่งมีศรีสุข แล้วลูกจะได้เป็นที่พึ่งพาของพ่อแม่พี่น้องและลูกหลานของเราต่อไป” ที่มีความหมายแอบแฝงความถูกต้องและความไม่ถูกต้องผูกพันอยู่กับคนไทยและสังคมไทยจึงส่งผลให้ถูกบางส่วนมองว่าการทุจริตคอรัปชั่นเป็นเรื่องปกติและยอมรับได้ โดยคิดว่า “ผู้มีอำนาจมักจะโกงหากใครโกงแล้วทำงานเก่งถือว่าพอรับได้ จึงทำให้คนยินยอมที่จะเสียเงินเพื่อซื้อความสะดวก อยากมีสิทธิพิเศษ หรือตัดความรำคาญ แม้กระทั่งเกิดความคิดสีเทาประเภทกินตามน้ำ กินทวนน้ำ เข้าเมืองตาหลิ่วก็หลิ่วตาตามตัวเล็กกินไก่ตัวใหญ่กินช้าง หรือคนโกงแต่เก่งดีกว่าคนซื่อที่ทำงานไม่เป็น” ซึ่งการกระทำและความคิดดังกล่าวทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมทุจริตคอรัปชั่นเกือบจะสมบูรณ์แบบ

ทิศทางการส่งเสริม “ความโปร่งใส” จะไปทางไหนดี 

ทิศทางแรกหากประชาชนคนในชาติร่วมแรงร่วมมือร่วมใจไม่โกง ไม่ทุจริตคอรัปชั่น ไม่ทนเห็นการทุจริตคอร์รัปชั่นเห็นประโยชน์ส่วนตนให้น้อยลง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมให้มากขึ้นไม่เบียดเบียนส่วนรวม ทำงานในหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ผู้เขียนเชื่อว่าทิศทางแรกนี้อาจทำให้ประเทศไทยมีการทุจริตคอรัปชั่นลดลงและน้อยที่สุดได้กอรปกับสร้างหัวใจให้แข็งแกร่งด้วย “ความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรมในใจ” เป็นรากฐานสู่ความโปร่งใส ถึงแม้ว่าความซื่อสัตย์สุจริตเป็นตัวนำอาจไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความตั้งใจ เริ่มจากการปรับแนวคิดปรับมุมมองใหม่หยุดประวิงคุณค่าวัตถุและเงินตรามากกว่าความถูกต้องอันดีงามหากทุกคนนำคุณธรรมเป็นตัวนำที่มีรากฐานความดีและมีความซื่อสัตย์เป็นตัวตาม โดยมี “ธรรมนูญชีวิต” ตามคำสอนของพระพรหมคุณาภรณ์ที่ว่า “กายสุจริต” คือ ความสุจริตทางกายการประพฤติปฏิบัติที่แสดงออกในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม “วจีสุจริต” คือ ความสุจริตทางวาจา การประพฤติปฏิบัติที่แสดงออกทางวาจาควรพูดในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม พูดในสิ่งที่ควรพูด พูดคําที่สุภาพ พูดแต่ความจริงที่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์มีความสมเหตุสมผล ถูกเวลา สถานที่และกาลเทศะและ “มโนสุจริต” คือ ความสุจริตทางใจคิดในสิ่งที่ดีงามและถูกต้องการประพฤติชอบด้วยใจ

ทิศทางที่สอง สร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรมความโปร่งใสภาครัฐเพิ่มความเข้มข้นต่อผู้มีพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่นให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแบบเร่งด่วน สร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรมการทำงานที่เปิดเผยโปร่งใส โดยมีมาตรการและวิธีการควบคุมระหว่างปฏิบัติงานเป็นระยะการให้ความสำคัญด้านคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ ของเจ้าหน้าที่รัฐส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมสร้างความตระหนักต่อจรรยาบรรณที่ระบุประเด็นระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและส่วนรวม เอาจริงเอาจังในกรณีที่มีการประพฤติผิดจรรยาบรรณสร้างระบบการตรวจสอบการปฏิบัติงานภายในองค์กรให้มีความเข้มแข็งเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบภายในเช่น ตรวจสอบระบบการเงินและบัญชีมีแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินงานตรวจสอบและสำรวจกระบวนการดำเนินงานที่อาจก่อความเสี่ยงการกระทำทุจริตและประเมินผลงานแบบสร้างการมีส่วนร่วมตรวจสอบและติดตามการทำงานของหน่วยงานสร้างกลไกและเครือข่ายเชื่อมโยงภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต่อการกระทำและพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชั่น กำหนดหลักเกณฑ์และกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน นำมาตรฐานสากลเพื่อสร้างความโปร่งใสมาใช้ในการตรวจสอบหากทุกภาคส่วนนำความโปร่งใสตามมาตรฐานสากลสร้างกลไกกำกับปฏิบัติงานและการบริหารงานของเจ้าหน้าที่ภาครัฐและพร้อมรับผิดชอบถึงประเด็นการแก้ไข ปรับปรุงและพัฒนาหาแนวทางและวิธีการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นภายในองค์กรที่จะนำไปสู่การยกระดับคุณธรรมและความโปร่งใสให้สูงขึ้นกระทั้งเกิด “ความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส จนเป็นกลายเป็นนิสัย” ของเจ้าหน้าที่ภาครัฐทุกภาคส่วน

“ความโปร่งใส” อาจไม่ใช่เพียงคำนิยามที่ตายตัวแต่“ความโปร่งใส”เป็นสถานะที่ชัดเจนไม่คลุมเครือการบริหารภาครัฐต่อสาธารณะประโยชน์อย่างมีเหตุผลและมีหลักเกณฑ์ที่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นทำให้สังคมและประเทศชาติหลุดพ้นจากวงจรทุจริตคอรัปชั่น “Corruption Cycle” เพราะหากประเทศชาติไม่หลุดพ้นจากวงจรทุจริตคอร์รัปชั่น มองไปถึงอนาคตประเทศชาติและสังคมไม่เจริญเติบโตและการพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างล่าช้าจากการจัดสรรการใช้งบประมาณและทรัพยากรที่มีเป้าหมายพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างไม่เหมาะสมหากขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศอาจทำให้ต่างประเทศไม่กล้าหรือลังเลใจที่จะให้ความช่วยเหลือเพราะเกรงว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐจะนำเงินช่วยเหลือไปใช้ประโยชน์ส่วนตนหรือความเสียหายในกระบวนการยุติธรรมในการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพทำให้ขาดความศรัทธาไม่เคารพกฎหมายและถืออำนาจและเงินเป็นใหญ่ความเสียหายด้านเศรษฐกิจในรูปแบบการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับการผูกขาดในการผลิตสินค้าและบริการซึ่งส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีทำให้นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่อยากมาลงทุนทำธุรกิจในประเทศที่มีการทุจริตคอรัปชั่น ยังส่งผลกระทบให้ผู้บริโภคในสังคมได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพราคาสูงเกินความเป็นจริงส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินความเสียหายทางการเมืองทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าพัฒนาล่าช้าและไม่เสถียรภาพ “ความโปร่งใส” เป็นความอยู่รอดและความสงบสุขของสังคม บ้านเมือง ประเทศชาติและโลกทั้งมวลจึงควรสร้างค่านิยมปรับเปลี่ยนความคิดและสร้างวิธีการดำเนินชีวิตของมวลมนุษย์ในชาติให้ความสำคัญกับความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใสนำพาประเทศชาติหลุดพ้นจากวงจรทุจริตคอร์รัปชั่นยกระดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI)ให้สูงขึ้น นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตของมวลมนุษย์ในชาติให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต