วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 22:28 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันพฤหัสบดี ที่ 06 เมษายน พ.ศ. 2566, 19.37 น.

เลือกตั้งปี 66 “ความโปร่งใส” กับระบอบประชาธิปไตย “แบบเต็มใบ”

เลือกตั้งปี 66 “ความโปร่งใส” กับระบอบประชาธิปไตย “แบบเต็มใบ”

ศุภภัทรวริศรา เกตุสุนทร

คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันรัชต์ภาคย์

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ประกาศยุบสภา“อันเป็นการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองให้แก่ประชาชนเพื่อให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง” นับเป็นการยุบสภาครั้งที่ 15 ของประเทศไทย ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบัญญัติไว้ว่าเมื่อยุบสภาแล้วจะต้องมีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายใน 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วัน นับตั้งแต่วันพระราชกฤษฎีกาใช้บังคับการยุบสภาครั้งนี้แม้อายุสภาผู้แทนราษฎรมีวาระครบ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม 2566 ก็ตาม ซึ่งตามกรอบกติการัฐธรรมนูญ “นายกรัฐมนตรี”ต้องใช้อำนาจออกพระราชกฤษฏีประกาศ “ยุบสภา”ในการประกาศยุบสภาแต่ละครั้งมีสาเหตุสำคัญทางการเมืองทั้งแตกต่างและคล้ายกันว่าด้วยเหตุผลใดใดทางการเมืองและนับถอยหลังต่อจากวินาทีนี้เป็นต้นไปสถานการณ์ทางการเมืองเข้าสู่จุดเริ่มต้นในทันทีทำให้ถนนทุกเส้นทางการเมืองต่างปัดกวาดทำความสะอาดและเตรียมพร้อมเดินหน้ากันอย่างคึกคัก ประหนึ่งนาข้าวรอสายฝนที่ตกหล่นจากฟ้าแล้วกระนั้น เริ่มตั้งแต่การเปิดบ้านของทุกพรรคเพื่อรอรับสมาชิใหม่กันอย่างอบอุ่นการตัดสินใจเปลี่ยนบ้านของสมาชิกแต่ละพรรคสู่การจัดสรรแบบผสมผสานให้มีความสมดุลและลงตัวที่สุด นับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ว่าด้วยเรื่องสมาชิกพรรค วอร์มอัพก่อนลงสนามแข่งจริงที่มีทั้งตัวจริง ตัวสำรอง ตัวหลอก สู่สนามที่อาจไม่เหมือนเดิมที่แต่ะละพรรคมีหัวหน้าทีมเป็นผู้กำกับ ควบคุม ลู่วิ่งบนถนนเส้นการเมืองใหม่ที่ศิวิไลซ์กว่าเดิมข้ามฝั่งมาดูภาคประชาชนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงก็ไม่น้อยหน้าเช่นกันต่างเป็นแฟนคลับตัวยงและมีการจับจองกันไว้ในใจก็ว่ากันไปเป็นสิทธิและเสรีภาพที่แท้จริง ส่วนผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (First Voter) ซึ่งผู้มีอายุ 18-22 ปี เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ก็ตื่นตัวทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเช่นกันจากผลสำรวจจากสถาบันต่างๆ เยาวชนรุ่นใหม่ตอบเป็นเสียงส่วนมากว่าจะไปลงคะแนนในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างแน่นอนและในขณะที่การเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามา เยาวชนคนรุ่นใหม่ก็กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง พรรคการเมือง และผู้สมัครเช่นกัน

เลือกตั้งปี66 จะเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทยได้หรือไม่ 

จากถ้อยแถลงของเลขาฯ กกต. เคาะระฆังวันที่ 14 พฤษภาคม 2566เป็น “วันเลือกตั้ง”ที่ต่างออกมาโห่ร้องด้วยความดีใจ ถือเป็นวันสำคัญอีกวันที่ประชาชนคนไทยผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งพร้อมจะกากบาทและหย่อนบัตรให้กับผู้สมัครที่ชอบและพรรคการเมืองที่ใช่ เป็นการแสดงเจตจำนงค์และถือเป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองช่วยกันนำพาประเทศไทยกลับสู่ระบบประชาธิปไตยแบบเต็มใบอีกครั้งที่แต่ละพรรคกว่าจะคัดสรรส่งผู้สมัครเข้าชิงชัยไม่ใช่เรื่องง่ายในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ ที่ดูเหมือนจะไม่ปกติเหมือนเฉกเช่นเดิมที่ผ่านมาเช่น สมาชิกบางพรรคต่างเดินขบวนพาเรดย้ายพรรคบ้างมีขันหมากไปสู่ขอสมาชิกพรรคอื่นบ้างถือได้ว่าเป็นการบริหารพรรคการเมืองสมัยใหม่ที่เปิดโอกาสให้กว้างมากขึ้นให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเป็นแนวร่วมด้วยการระดมสมองของนักอุดมการณ์เดียวกันทุกช่วงอายุ มีแนวคิดหลากหลายเพื่อร่วมกันบริหารนโยบายของพรรคที่ถือเป็นจุดขายให้เกิดการตอบสนองที่รวดเร็วทันเวลากับสถานการณ์ที่ผันผวนตลอดเวลา หากพรรคใดได้สมาชิกใหม่ที่มีแนวคิด ทัศนคติและอุดมการณ์เหมือนกันนำองค์ความรู้และประสบการณ์มาสร้างกลยุทธ์ได้ปราดเปรียวและแหลมคมลดช่องว่างสู่การช่วงชิงอำนาจในมือประชาชนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งทั้งประเทศ เป็นผลพวงจากปรากฏการณ์ใหม่ของการเลือกตั้งปี66 ที่การเปิดไพ่ใบแรกที่เป็นจุดเปลี่ยนของสมาชิกพรรคเข้าสู่อำนาจทางการเมืองในลักษณะหนึ่งประชาชนก็จะได้รัฐบาลแบบหนึ่ง หากเปิดไพ่อีกใบที่เลือกพรรคการเมืองประชาชนก็จะได้รัฐบาลอีกแบบหนึ่งทำให้เชื่อว่าการเลือกตั้ง66จะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองจากอำนาจของประชาชนคนไทยผ่านระบบเลือกตั้งคงต้องนับถอยหลังใจจดใจจ่อรอวันที่กกต.ประกาศผลและรับรองผลการเลือกตั้งกันต่อไป

มหากาพย์การซื้อสิทธิขายเสียง (Vote Buying) เลือกตั้งปี 66 แนวโน้มจะเป็นอย่างไร?

เมื่อใดที่ถึงฤดูการเลือกตั้งโรคประจำฤดูก็เริ่มแพร่ระบาดและแผ่กระจายทันทีที่เรียกกันว่า“โรคซื้อเสียง”ที่เป็นๆ หายๆ ในการเลือกตั้งของไทยเพราะเชื่อว่าผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากสุดจะเป็นผู้ชี้ชะตาประเทศได้ ซึ่งตามตำรากาลามสูตรได้เขียนเตือนสติไว้ว่า “อย่าเชื่อใครง่าย แม้แต่ตัวเอง แต่ให้เชื่อความจริงที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจนเห็นผลอย่างแน่ชัดแล้วเท่านั้น”ผู้เขียนมองว่าการเมืองไม่มีสูตรตายตัวในการซื้อสิทธิขายเสียงจากคำศัพท์แสลงที่เกิดขึ้นในวงการเลือกตั้ง เช่น หัวคะแนน (คนที่ไปหาคะแนนเสียงให้), เวียนเทียน (การทุจริตการเลือกตั้งโดยการเวียนบัตรเลือกตั้งที่ถูกลักลอบนำออกมาก่อนหน้าเพียง 1 ใบ), ยิงกระสุน(คือเงินที่ซื้อเสียง), คืนหมาหอน (คืนก่อนวันเลือกตั้งที่มีการแจกเงินแก่ชาวบ้านผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง), โรคประจำจังหวัด(การซื้อเสียงในการเลือกตั้งที่ซ่อมเกิดขึ้นในจังหวัด), บ้านใหญ่ (นักการเมืองอิทธิพลในพื้นที่ที่มีเครือข่ายทั้งตระกูล), พลังดูด(ปรากฏการณ์ดูดเอาตัวอดีต ส.ส.หรือผู้ที่เป็นตัวเก็งมาอยู่ในพรรค), งูเห่า (ส.ส.ที่เปลี่ยนพรรคเปลี่ยนอุดมการณ์), เกี๊ยะเซียะ(สมยอมกันเพราะมีผลประโยชน์ร่วม), ส.ต.(สอบตก), ประชาธิปไตยครึ่งใบ (ระบอบประชาธิปไตยที่ชาวบ้านมีเสียงไม่เต็ม), ประชาธิปไตยกินได้ (ประชาธิปไตยที่มีผลทันทีต่อชาวบ้านเหมือนของที่กินได้เป็นการทำให้เกิดความเป็นไปได้ในการทำมาหากินสืบเนื่องต่อไป) หรือแม้แต่เอกลักษณ์บางอย่างของสังคมเช่น “วัฒนธรรมการเมืองแบบบ้านใหญ่” ถือเป็น Negative Soft Power แบบไทยที่เป็นตำนานนิยาย (The myth) มิใช่ตำนานเล่าขานเชิดชูทางบวก (The legend) ด้วยวัฒนธรรมการเมืองแบบ “Dynasty Politics” สังคมที่มักเป็นตระกูลนักการเมืองจากรุ่นสู่รุ่น รุ่นปู่ย่าตายาย สู่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ ยันถึงรุ่นลูก รุ่นหลาน ซึ่งนักวิชาการบางกลุ่มเรียกว่าเป็น “การเมืองแบบบ้านใหญ่” ผู้เขียนคิดว่าอาจไม่เชิงเป็น Dynasty Politics เท่าใดนักเพราะประเทศไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว “การซื้อสิทธิ์ขายเสียง” หรือ “การซื้อเสียง” เป็นคำที่มีมานานเพียงแต่สมัยก่อนกับสมัยปัจจุบันมีบริบทที่แตกต่างกันจากการใช้เงินแลกเปลี่ยนกับการลงคะแนนเสียง หรือซื้อเสียงการเสนอสิ่งตอบแทนในรูปผลประโยชน์หรือทรัพย์สินอาจเป็นการสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินสิ่งตอบแทนแก่ผู้มีสิทธิลงคะแนนหรืองดเว้นการลงคะแนนแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดหรือพรรคการเมืองใดในเขตเลือกตั้งสังเกตได้ว่าการซื้อเสียงมีหลายวิธีแตกต่างกันไปตามภูมิภาคและท้องถิ่น แต่ในทางความเป็นจริงแล้ว (ทางปฏิบัติ) “การซื้อสิทธิ์ขายเสียง” หรือ “การซื้อเสียง”ไม่ง่ายดังฝันหรือบางครั้งอาจดับฝันย่อมเป็นได้จากปัจจัยและตัวแปรมากมายภายใต้สภาวะเงื่อนไขเรียกกันว่า รู้ทั้งรู้ หรือ รู้กันดี เฉกเช่นนั้น

การเลือกตั้งครั้งนี้ต้อง “โปร่งใส”

ซึ่งเป็นที่แน่นอนประชาชนคนไทยที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งและอยากเลือกมากที่สุดคือ พรรคการเมืองที่มีความโปร่งใสซื่อสัตย์ ไม่คดโกง มีจุดยืนในเรื่องนี้ที่อาจถือเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองย่อมเป็นได้ถือว่าเป็นเสียงระฆังที่ดังกังวานที่สุดก่อนถึงวันและเวลาลงคะแนนเลือกตั้งพรรคการเมือง เหลียวหน้าแลหลังร่วมสร้างบรรยากาศเลือกตั้งครั้งนี้ผ่านอำนาจในมือประชาชนบนความโปร่งใสอันเป็นพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตย “เต็มใบ”“ความโปร่งใส”ถือเป็นประตูบานแรกที่ประชาชนจะมองเห็นและสร้างความน่าเชื่อถือกับความจริงใจการเสียสละเข้ามาเป็นตัวแทนและบริหารประเทศด้วยความบริสุทธิ์ใจมีหลักธรรมาภิบาลเป็นตัวเหนียวนำถือเป็นกลไกที่ประชาชนชาวไทยไว้วางใจมากที่สุด ตั้งแต่เจตนารมณ์การกำหนดนโยบาย การนำนโยบายไปฏิบัติให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนโดยตรงหรือไม่รวมถึงสื่อสารด้วยชุดข้อมูลที่ถูกต้องอย่างชัดเจน สั้น กระชับ ประชาชนเข้าใจง่าย ไม่มีกุศโลบายใดใดแอบแฝงที่ได้ยินกันคุ้นหู ปล้นอำนาจในมือประชาชนทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเลือกและกากบาทให้เป็นการตุกติกทางการเมืองที่แสวงหาช่องโหว่ให้ได้มาซึ่งการมอบอำนาจทางการเมืองจากของประชาชนเข้าสู่ระบบอย่างสมบูรณ์ สิ่งนี้ทำให้ประชนชาวไทยหวาดกลัวอยู่ไม่น้อยกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ความโปร่งใสที่จะทำให้ประชาชนอุ่นใจและอยากเห็นการแข่งขันทางการเมืองที่สร้างสรรเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจไม่ใช่เพียงเพราะวาจาเป็นนายบนเวทีหาเสียงเท่านั้น ทั้งนี้สมาชิกพรรคการเมืองในฐานะตัวแทนประชาชนและอาสาเข้าไปทำหน้าที่เป็นตัวแทนย่อมต้องแสดงถึงความเชื่อมั่น ไว้วางใจ ความโปร่งใสจึงเป็นกระจกบานใหญ่สะท้อนแนวโน้มและโอกาสจะได้รับชัยชนะในสนามเลือกตั้งครั้งนี้

คันฉ่อง “ความโปร่งใส”4 มิติจากม่านตาประชาชน

คันฉ่องแรก : นโยบายวิธีการหาเสียงและการสื่อสารถือเป็นจุดขายสำคัญของแต่ละพรรคตั้งแต่การกำหนดนโยบาย การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การติดตามและประเมินผลนโยบาย และผลประโยชน์ถึงมือประชาชนในรูปแบบสาธารณะอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ประเทศชาติบ้านเมืองได้อานิสงส์ผ่านเวทีและเครื่องเสียงอึกกระทึกกึกก้องเพื่อออดอ้อนขอคะแนนจากประชาชน “การให้ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน กระชับเท่ากับให้ความโปร่งใส”ประชาชนต้องเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริงไม่มีนัยยะแอบแฝงเพราะประชาชนเป็นผู้มอบอำนาจและเป็นหุ้นส่วนทางการเมืองจากการลงคะแนนให้โอกาสเข้าไปทำหน้าที่แทนทุกขั้นตอน

คันฉ่องที่สอง : พรรคการเมือง หัวหน้าพรรคสมาชิกพรรค

การเสริมสร้างพรรคให้มีความโปร่งใสเป็นการสร้างคุณค่ามากกว่าเพิ่มมูลค่า สิ่งสำคัญคือการตั้งเป้าหมายความโปร่งใส จากนโยบาย โครงการกิจกรรมทางการเมือง อันจะนำมาซึ่งการสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นในภาคปฏิบัติการสร้างกลไกการทำงานให้เกิดการไหลเวียนเป็นไปอย่างมีอิสระโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลเกี่ยวกับกติกา ระเบียบ วิธีการและขั้นตอนหรือเกณฑ์กำหนดแนวทางปฏิบัติความโปร่งใสจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากมีบรรยากาศของการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารความโปร่งใสของพรรคการเมืองควรที่จะให้สมาชิกพรรคและประชาชนเข้าถึงข้อมูลเพื่อลดผลกระทบ หากการทำงานที่ปิดบังย่อมส่งผลให้เกิดคำถามต่อความโปร่งใสและนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจได้

คันฉ่องที่สาม: ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง

บริบทของสังคมไทยผลจูงใจในการลงคะแนนเสียงแต่ละครั้งย่อมแตกต่างกันตามห้วงแห่งเวลาผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาผู้ใช้สิทธิลงคะแนนให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองผ่านความชื่นชอบมีสัมพันธ์ตัวบุคคล พรรคความเชื่อถือ ความเชื่อ รักศรัทธา รับอามิสสินจ้าง การโน้มน้าวชักจูง แนวคิดนโยบายที่ตรงกับประโยชน์ส่วนบุคคล ความคาดหวังต่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่มีตัวเลือกอื่นที่ดีกว่าความคาดหวังให้ไปทำหน้าที่ที่ดีกว่าเดิม เป็นเรื่องของจิตใจ ความเกรงใจ ความเชื่อใจ ความไว้ใจถือเป็นความอิสระส่วนตัวตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน เช่น เห็นแก่หัวคะแนน เห็นแก่ญาติ เห็นแก่เพื่อนพวกพ้อง ความคาดหวังด้วยความจริงใจจะมีน้อยกว่า อยากให้ไปเป็นฝ่ายรัฐบาล อยากให้ไปเป็นฝ่ายค้าน อยากให้เป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ เพื่อหวังพึ่งพิงอำนาจนอกระบบ ทำให้ตัวแทนประชาชนไม่สามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนที่สมบูรณ์ ความโปร่งใสสามารถเกิดขึ้นได้หากผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองด้วยความตระหนักถึงการได้มาซึ่งความโปร่งใสของผู้เป็นตัวแทนจากอำนาจในมือของตนเอง

คันฉ่องที่สี่:ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง

ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต้องการทุนส่งเสริมสนับสนุนชื่อเสียงให้เกิดการยอมรับการมีตัวตนเพราะเมื่อครบองค์ประกอบย่อมมีความได้เปรียบเหนือผู้สมัครคนอื่นส่งผลถึงความเชื่อมโยงทางสังคม ทางทุน ผลประโยชน์ร่วมสิ่งสำคัญในยุคนนี้คือการสร้างคอนเน็กชั่น การมีแฟนคลับและการใช้สื่อบนโลกออนไลน์ถือเป็นเทคนิคการสื่อสารให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งในยุคดิจิทัลที่ข้อมูลหลายเรื่องราวถูกนำมาร้อยเรียงประมวลผล หากใครเข้าถึงเทคโนโลยีได้รวดเร็วก็ย่อมได้เปรียบทางการเมืองด้วยชุดข้อมูลที่ถูกต้อง สั้น กระชับ ประชาชนเข้าใจง่าย ไม่มีชุดข้อมูลที่เป็นกุศโลบายแอบแฝงทำให้ประชาชนเข้าใจผิดเลือกและกากบาทให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งต้องแสดงถึงความโปร่งใสในฐานะว่าที่ตัวแทนประชาชนและอาสาเข้าไปทำหน้าที่แทนย่อมต้องแสดงถึงความเชื่อมั่น ไว้วางใจ ความโปร่งใส จึงเป็นกระจกบานรองสะท้อนแนวโน้มโอกาสได้รับชัยชนะในสนามเลือกตั้งครั้งนี้

เลือกตั้งปี 66 “ความโปร่งใส” สร้างระบอบประชาธิปไตย “แบบเต็มใบ” ได้หรือไม่

เลือกตั้งปี 66 ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่สำคัญที่สุดของประเทศไทยกับระบบประชาธิปไตยที่อำนาจทางการเมืองถูกคืนให้กับประชาชนอีกครั้ง การจับตาระบบการเลือกตั้งที่จะถึงในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผู้เขียนมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่ทุกฝ่ายร่วมใจกันสร้างระบบประชาธิปไตยแท้จริงได้ที่ไม่ใช่เพียงแค่คำพูดที่โหยหายกันเท่านั้นหากว่าทุกภาคส่วนร่วมใจกันสร้างความโปร่งใสในระบบการเลือกตั้งครั้งนี้ตามครรลองครองธรรมวิถีประชาธิปไตยที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนมีส่วนร่วมบริหารบ้านเมืองตามหลักธรรมาภิบาลให้มากที่สุดถือเป็นแนวทางป้องกันและประเมินความเสี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ทุจริตการเลือกตั้งซ้ำซากเหมือนในอดีตที่ผ่านมาที่ทุกภาคส่วนเข้าไปบูรณาการร่วมกันอาจนำพาประเทศไปสู่ระบบประชาธิปไตยแบบเต็มใบได้สำเร็จในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้เช่นกัน