การเมือง » คอลัมน์
แยกรัชวิภา
บ้านเมืองออนไลน์ : วันจันทร์ ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2566, 20.28 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

เปิดที่มาทำไมต้อง “ห้าม” นักการเมือง “ถือหุ้นสื่อ”
เปิดที่มาทำไมต้อง “ห้าม” นักการเมือง “ถือหุ้นสื่อ”
ดร.ศุภภัทรวริศรา เกตุสุนทร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันรัชต์ภาคย์
หลังจากสิ้นสุดการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งปี 2566 สังคมไทยเต็มไปด้วยข่าวสารซึ่งอัดแน่นกับพรรคการเมืองหนึ่งเกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อที่ทำให้สังคมฉงนสงสัย เกี่ยวกับข้อกฎหมายห้ามถือหุ้นสื่อของนักการเมืองที่ประชาชนเทคะแนนให้ชนะเลือกตั้งในครั้งนี้ ได้ลุ้นกันแบบไม่ต้องพักว่าจะรอดหรือจะร่วงกับกรณีศึกษานี้ หากย้อนกลับไปในปี 2550 ในที่ประชุมอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 สภาร่างรัฐธรรมนูญขณะนั้น ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อโดยเฉพาะสื่อทีวีและใช้สื่อสร้างความได้เปรียบในการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นธรรม จึงทำให้ในที่ประชุมเห็นชอบในหลักการไม่ให้นักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ จึงถูกนำเรื่องนี้บัญญัติไว้ใน “รัฐธรรมนูญปี 50 ส่วนที่ 7 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน มาตรา 48 ที่ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทนหรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว โดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในปี 2550 ที่ได้กำหนดให้นักการเมืองแยกออกจากสื่อเพื่อให้ สื่อมี “เสรีภาพ” ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร และ “ประชาชน” มีเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารโดยไม่ถูกครอบงำ หรือปิดกั้นจากผู้ที่ถือครองอำนาจรัฐ เป็นการห้ามไม่ให้มีการแทรกแซงสื่อมวลชนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมและให้สื่อเป็นอิสระกล้าวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอย่างตรงไปตรงมา โดยมีสื่อหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐแล้วนำเสนอให้ประชาชนได้รับทราบ
อดีต “นักการเมือง” กับการถือหุ้นสื่อ มีหรือไม่
หากย้อนเวลากลับไปในช่วงปี 2535 สื่อหลักที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้รวดเร็วที่สุดก็คือวิทยุและโทรทัศน์ แต่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ปราบปรามประชาชนในช่วงพฤษภาทมิฬสื่อหลักอย่างโทรทัศน์กลับถูกปิดกั้นไม่ให้นำเสนอข่าวสารที่เป็นจริง จนเกิดเป็นข้อเรียกร้องจากประชาชน ที่ต้องการสื่อซึ่งสามารถนำเสนอข่าวได้อย่างอิสระ ทำให้รัฐบาลสมัยนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเข้ามาบริหารประเทศหลังเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวคิดจะเปิดสถานีโทรทัศน์เสรี และในที่สุด สปน.ก็เปิดการให้สัมปทานช่องใหม่
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2543 ธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ตัดสินใจขายหุ้นไอทีวีให้กับกลุ่มบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ชินคอร์ป’ ซึ่งเป็นหนึ่งในหุ้นของตระกูลชินวัตร ให้สามารถเข้ามาถือหุ้น ITV ในปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จากพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งได้ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถือหุ้น ITV อยู่ได้ขณะนั้น เป็นเพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ได้มีข้อห้ามเรื่องนักการเมืองถือหุ้นสื่อแต่อย่างใด หลังจากนั้นเกิดการตั้งคำถามเรื่องการแทรกแซงของสื่อในกลุ่มชินคอร์ป เช่น กรณีที่ให้มีการยกเลิกการวิเคราะห์ข่าวที่พาดพิงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนทำให้นักข่าว ITV ออกมาเรียกร้องในประเด็นดังกล่าว นำมาสู่การออกแถลงการณ์จากนายเทพชัย หย่อง ผู้อํานวยการฝ่ายข่าวของ ITV ที่มีเนื้อหาเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณและนายบุญคลี ปลั่งศิริ ผู้บริหารชินคอร์ป และนายสรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทไอทีวียุติการครองงำและแทรกแซงสื่อ
ทำไมต้อง “ห้ามนักการเมืองถือหุ้นสื่อ”
ก่อนเกิดรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในช่วงนั้นได้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มชินคอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ดำเนินการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ITV) ซึ่งเป็นผู้ร่วมสัญญาดำเนินกิจการสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ (UHF) กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของไอทีวี ต่อจาก ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จนทำให้เกิดการต่อต้านกลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ที่เข้ามาโดยเกิดความกังวลว่าจะเกิดการแทรกแซงการบริหารงาน ท้ายที่สุด ฝ่ายบริหาร ฝ่ายข่าว และพนักงานบางส่วนของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ITV) ตัดสินใจลาออกและมีบางส่วนที่ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมต่อมามีการเข้าซื้อกิจการสื่ออีกหลายแห่งทำให้เกิดความกังวลในกลุ่มสื่อมวลชนและผู้ที่ทำหน้าที่สื่อสารมวลชนเกี่ยวกับเสรีภาพในการทำหน้าที่สื่อและความอิสระต่อการตรวจสอบอำนาจรัฐจะหายไปหรือไม่
หลังเกิดการรัฐประหารในปี 2549 จึงมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ส่วนที่ 7 เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน มาตรา 48 ที่ไว้ว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจาขเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม มิได้ ไม่ว่าในนามของตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทน หรือจะดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ที่สามารถบริหารกิจการดังกล่าวได้ในทำนองดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดังกล่าว” โดยเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว ต้องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน และผู้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชน ให้ยังคงมีความอิสระ สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบและวิพากษ์-วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างตรงไปตรงมา และป้องกันไม่ให้นักการเมืองที่มีสื่ออยู่ในมือ สามารถบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร สร้างความได้เปรียบให้แก่ตนเองได้ จนกระทั่งมีการทำรัฐประหารฝ่าย คสช. ยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งหลังรัฐประหารมีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 สิ้นสุดลงและมีประกาศรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ใช้ในปัจจุบัน โดยฉบับดังกล่าวยังมีข้อห้ามเรื่องการถือหุ้นในกิจการสื่อของนักการเมืองเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวด 7 ส่วนที่ 2 สภาผู้แทนราษฎร ระบุไว้ในมาตรา 98(3) “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ
“นักการเมืองถือหุ้นสื่อ” ส่งผลต่อสังคม ประเทศชาติ อย่างไร
“สื่อ” กับ “นักการเมือง” มีความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลกันเปรียบประหนึ่ง เรือกับหางเสือ สื่อจะทำหน้าที่เป็นพลังขับเคลื่อนและเสียงสะท้อนส่วน“นักการเมือง”ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมครอบงำการรายงานข้อมูลข่าวสารและกลไกการตรวจสอบข้อมูลความจริงที่อาจจะเกิดขึ้นและหากนักการเมืองที่มีสื่ออยู่ในมือสามารถบิดเบือนข้อมูลข่าวสารสร้างความได้เปรียบให้แก่ตนเองได้ ทั้งนี้นักการเมืองได้เข้ามามีบทบาทและอิทธิพลในการทำงานของสื่อ นักการเมืองถือหุ้นสื่อ ซึ่งก่อนหน้านั้น รัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกเขียนโดยไม่ได้กำหนดโทษเอาไว้ หรือแม้แต่ ไม่ได้กำหนดไว้ในคุณสมบัติต้องห้าม ต่อเมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้บังคับในปัจจุบัน จึงลงรายละเอียดมากขึ้นและมีโทษชัดเจนโดยบัญญัติไว้ใน หมวด 7 ส่วนที่ 2 สภาผู้แทนราษฎร (3) ที่ระบุคุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ว่า “ห้ามเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด” ตามเจตนารมณ์ของการเขียนเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันหรือห้ามไม่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ใช้ความเป็นเจ้าของสื่อใช้สื่อ กล่าวหา โจมตี บิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี ข่มเหง รังแก คู่แข่ง หรือเป็นเครื่องมือสร้างความนิยมให้ตัวเองโดยปราศจากความจริงหรือเกินเลยความเป็นจริง
นักการเมืองกับการถือหุ้นสื่อในยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
“ความเป็นเจ้าของสื่อหรือผู้ถือหุ้นสื่อ” ที่เข้าข่ายผิดกฎหมายมีขอบเขตมากน้อยแค่ไหนอาจเป็นคำถามที่ไร้รอยต่อหรือเป็นช่องว่างที่เล็กแต่ลึกกับความเป็นเจ้าของและจำนวนหุ้นที่ถืออยู่หรือสัดส่วนจำนวนหุ้นที่ถือครองหรือความสามารถในการใช้อิทธิพลความเป็นเจ้าของสื่อครอบงำ ชี้นำ การบังคับบิดเบือน การทำหน้าที่ของสื่อมวลชน การถือหุ้นสื่อ ต้องควบคุมถึงการยักย้ายถ่ายเทหุ้นหรือการจัดการกิจการสื่อผ่านตัวแทนหรือญาติหรือแม้แต่ผ่านอุดมการณ์ร่วมกันหรือไม่ หรือวัดจากอาการทางนิติสงครามแบบล้นเกินที่ยึดกระแสนิยมมากกว่าสาระสำคัญและความโปร่งใสเป็นเกณฑ์หรือบรรทัดฐานใหม่ที่มากว่าการเกิดจากจิตใต้สำนึกของนักการเมืองเอง (The Power of Your Subconscious Mind) หรือขาดความรู้สึกละอายในสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือความละอายใดใด กำลังจะเลือนหายไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่ว่า “ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม”
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » การเมือง » คอลัมน์
คอลัมน์ล่าสุด ![]()
...คำถามประจำวันเด็ก...
ใต้ถุนสภา- ปรากฏการณ์ "ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน" 21:25 น.
- “หนี้นอกระบบ” 05:33 น.