การเมือง » คอลัมน์
แยกรัชวิภา
บ้านเมืองออนไลน์ : วันอังคาร ที่ 04 กรกฎาคม พ.ศ. 2566, 18.41 น.
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

เรื่องเก่าเล่าใหม่ “ชุดนักเรียน” ที่หยั่งรากฝังลึกในประวัติศาสตร์โลก
เรื่องเก่าเล่าใหม่ “ชุดนักเรียน” ที่หยั่งรากฝังลึกในประวัติศาสตร์โลก
ดร.ศุภภัทรวริศรา เกตุสุนทร
คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันรัชต์ภาคย์
หากย้อนอดีตความทรงจำในวัยเรียน ความสุขและความสนุกก่อนจะเปิดเทอมใหม่ต้องทำอะไรบ้าง เช่น ไปตัดผม ลองชุดนักเรียน ซื้ออุปกรณ์เครื่องเขียน หรือเตรียมเรื่องไปเล่าให้เพื่อนฟังมากมาย สิ่งนี้อาจเป็นดั่งตู้เก็บความทรงจำขนาดใหญ่ของผู้ใหญ่ที่เคยเป็นเด็กตัวเล็กๆ มาก่อน ในทางตรงกันข้าม ณ. เวลานี้สังคมไทยกลับมามีประเด็น “ชุดนักเรียน” ที่สร้างความฮือฮาในสังคมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาถึง “ความจำเป็นในการใส่ชุดนักเรียน” จนเกิดแรงปะทะกันระหว่างสองชุดความคิด โดยฝ่ายหนึ่งมีความเห็นว่า “ชุดนักเรียนมีความจำเป็น” เพื่อเป็นการฝึกฝนวินัย ความเป็นระเบียบ ความเป็นอัตลักษณ์และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ส่วนอีกฝ่ายมองว่า “ชุดนักเรียนไม่จำเป็น” เพราะไม่ได้ส่งผลกับการเรียนแต่อย่างใด ตกลงแล้วทิศทางของชุดนักเรียนของเด็กนักเรียนไทยจะเดินไปทางไหน
ย้อนอดีต “ชุดนักเรียน” ไทยในหน้าประวัติศาสตร์
จุดเริ่มต้นของเครื่องแบบชุดนักเรียนของประเทศไทย เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงยุคสมัยของการวางรากฐานการศึกษาไทย สมัยรัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ. 2428 ที่ทำให้สังคมไทยผูกพันอยู่กับการแต่งกายชุดนักเรียน จากนั้นเป็นต้นมา โดยชุดนักเรียนชายจะมีหมวกฟาง ผ้าพันหมวกสีตามสีประจำโรงเรียน ติดอักษรย่อชื่อโรงเรียนที่หน้าหมวก ส่วนเสื้อจะเป็นเสื้อราชปะแตนสีขาว กระดุมทอง กางเกงเป็นกางเกงไทยรูเซีย ทรงกระบอกยาวถึงใต้เข่ารวบชายรัดไว้ใต้เข่า มีสีดำ ถุงเท้าขาว หรือดำ รองเท้าดำ แต่ถุงเท้า รองเท้า เป็นของราคาแพง จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีทุกคน การทำให้สยามประเทศมีความทันสมัยและทัดเทียมชาติตะวันตก สังคมไทยจึงรับค่านิยมและวัฒนธรรมจากต่างแดน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการสวมเครื่องแบบนักเรียน หลังจากรัชสมัยรัชกาลที่ 5 พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2482 (ค.ศ.1941) ถือกำเนิดขึ้นภายใต้พระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในยุคสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทำให้เห็นชุดนักเรียนในสังคมไทยโดยกำหนดเป็น พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน ระบุไว้ว่า “เครื่องแบบทั้งหลายที่กำหนดให้นักเรียนจากโรงเรียนรัฐบาลในความควบคุมของกระทรวงธรรมการ โรงเรียนประชาบาล โรงเรียนเทศบาล และโรงเรียนราษฎร์ เครื่องแบบนักเรียนจะเป็นอย่างใด จะให้แต่งเมื่อไหร่และโดยเงื่อนไขอย่างใดนั้น ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงธรรมการกำหนดไว้” การกำหนดเครื่องแบบนักเรียน ตามพระราชบัญญัติถูกเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย อาทิ ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้หลายครอบครัวไม่มีเงินมากพอซื้อเครื่องแบบนักเรียน ประกอบกับวัตถุดิบและเสื้อผ้าอยู่ในขั้นขาดแคลน กฎระเบียบที่เคยตั้งไว้จึงต้องทำให้หย่อนยานลง ก่อนจะกลับมาจริงจังอีกครั้ง ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 กำหนดให้นักเรียนหัวเมืองใช้เสือราชปะแตนสีเทา แทนเสื้อขาวได้เพราะรักษาความสะอาดง่ายกว่า จนกระทั่งสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองจัดตั้งยุวชนทหาร และกำหนดให้นักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 4 (เทียบกับปัจจุบันคือ ชั้น ม.2 ขึ้นไป) ต้องเป็นยุวชนทหาร นักเรียนตั้งแต่ชั้นม.4 ขึ้นไปจึงแต่งเครื่องแบบยุวชนทหารแทน โดยจะมีหมวกทรงหม้อตาลสีกากีแกมเขียว หน้าหมวกเป็นโลหะมีอุณาโลมอยู่กลาง มีตัวอักษรว่า รักชาติยิ่งชีพ เสื้อเชิ้ตสีกากีแกมเขียว กางเกงขาสั้นสีกากีแกมเขียว ถุงเท้าดำ รองเท้าดำ จากนั้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงปรับเปลี่ยนมาใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่ไม่มีหมวกกะโล่สีขาว โดยเป็นเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีขาว ปักอักษรย่อนามจังหวัดพร้อมหมายเลขประจำโรงเรียนด้วยไหมสีน้ำเงิน ถ้าเป็นโรงเรียนเอกชนจะปักสีแดง กางเกงขาสั้นสีกากี เข็มขัดหนังสีน้ำตาล ถุงเท้าน้ำตาล รองเท้าน้ำตาล
“ชุดนักเรียน” กับ “เสรีภาพ” มุมมองประเทศที่เจริญแล้ว
อาทิ โรงเรียนในประเทศนิวซีแลนด์ เปิดโอกาสให้นักเรียนเลือกใส่ชุดนักเรียนได้ตามต้องการเพื่อสนับสนุนตัวตนและอัตลักษณ์ของผู้สวมใส่ควบคู่กับความหลากหลายทางเพศ เช่นเดียวกับโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในจังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ อนุญาตให้นักเรียนมีอิสระในการเลือกสวมกระโปรงหรือกางเกงได้ตามใจ รวมถึงให้นักเรียนเลือกได้ด้วยว่าจะผูกเนกไทหรือติดโบ ซึ่งค่านิยมการสวมใส่ชุดนักเรียน ในสังคมญี่ปุ่น ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ช่วงการปฏิวัติเมจิ ค.ศ. 1868-1912 ด้วยเหตุผลคล้ายคลึงกับประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อทำให้ประเทศมีความทันสมัยทัดเทียมชาติตะวันตก และรัฐบาลญี่ปุ่นได้นำแรงบันดาลใจจากระบบกองทัพมาปรับใช้กับระบบการศึกษา รวมถึงออกแบบชุดนักเรียน เพื่อสร้างความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ภายใต้โครงสร้างที่ชัดเจน พร้อมกับดีไซน์ชุดนักเรียนที่ถอดแบบมาจากเครื่องแบบทหารญี่ปุ่น (ที่เอามาจากเครื่องแบบทหารฝรั่งเศสอีกทอดหนึ่ง) เรียกกันว่า “กักคุรัน” แรกเริ่มสงวนไว้สำหรับผู้ชายเท่านั้น ส่วนเด็กผู้หญิงที่ไปโรงเรียนจะเริ่มต้นด้วยการสวมชุดกิโมโน ก่อนจะออกเครื่องแบบนักเรียนหญิงในปี 1920 ที่รับแรงบันดาลใจจากราชนาวี อังกฤษ เรียกว่า “เซเลอร์ ฟุกุ” (Sailor fuku) แต่คนญี่ปุ่นจะออกเสียงว่า “เซราฟุกุ” ซึ่งญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่โดดเด่นเรื่องชุดนักเรียน มีสถานศึกษาในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยที่หยิบชุดนักเรียนญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้กับนักเรียนในประเทศไทย รวมถึงนำค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นระเบียบเรียบร้อยมาประกอบเพื่อบอกว่าประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกัน หากสังคมญี่ปุ่นที่ให้เด็กใส่ชุดนักเรียนเป็นสังคมที่ดี ประเทศไทยก็ต้องเป็นแบบสังคมญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามแม้ประเทศญี่ปุ่นออกกฎให้นักเรียนสวมชุดนักเรียนเหมือนกับประเทศไทย แต่บริบทที่แตกต่างกันหลายอย่างระหว่างสังคมไทยกับสังคมญี่ปุ่น ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้อย่างเด็ดขาด หรือสร้างความชอบธรรมได้ว่านักเรียนในประเทศไทยควรจะใส่หรือไม่ใส่ชุดนักเรียนเหมือนกับประเทศญี่ปุ่น
ขณะที่ อีเลน จาร์ชาว ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Phi Delta Kappan ในปี 1992 ในสหรัฐฯ ระบุว่า ชุดนักเรียน เสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความภาคภูมิใจในหมู่นักเรียน ซึ่งช่วยพัฒนาในเรื่องความประพฤติ สอดคล้องกับแนวคิดของ เดล สโตเวอร์ ซึ่งเคยเขียนไว้ในวารสาร American School Board Journal เมื่อปี 1990 ว่า การใส่ชุดนักเรียน สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ที่ดี เพราะนักเรียนไม่ถูกรบกวน สมาธิจากการแต่งกาย และไม่ตกเป็นเหยื่อถูกเพื่อนล้อเลียนด้วยหรืออีกมุมหนึ่งโรงเรียนในประเทศอังกฤษ ญี่ปุ่น หลายแห่งเข้มงวดเรื่องการแต่งกายชุดนักเรียนยิ่งกว่าประเทศไทย เมื่อโลกหมุนมาไกลมาก ถ้าไม่เรียนรู้ ระเบียบวินัย กฎเกณฑ์ ตอนนี้จะเรียนตอนไหนหากแก่ต้องการ "ปลูกฝังเรื่องอิสรภาพ" ใครจะรับภาระมากขึ้นกว่ากัน หากแต่จะสร้างความลำบากใจให้กับผู้ปกครองหรือเด็กมากขึ้นหรือไม่ การเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียม การถูกเหยียดเป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับเด็กวัยเรียนที่อาจก่อให้เกิดปัญหามากมายในภายหลัง เช่น ปัญหาการไม่อยากไปโรงเรียน ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาการเข้าถึงระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน หากมองแต่ว่า "โลกมาถึงยุคไหนแล้ว ไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง ก็เป็นไดโนเสาร์ต่อไป" หากเปิดโอกาสให้เด็ก นักเรียน ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายอาจทำให้เด็กมีวิธีการนำเสนอตัวเองต่างกัน เพราะการแต่งกายเป็นสิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นตัวตนและฐานะทางครอบครัว ตามแนวคิดของ มิเชล ฟูโกต์ นักคิดสมัย Post Modern เชิงวิพากษ์ว่า “ชุดนักเรียนเปรียบเสมือนพลังอำนาจทางอ้อมหรืออำนาจสมัยใหม่ที่มีขึ้นเพื่อให้เกิดการปกครองของกลุ่มคนในสังคมได้อย่างมีระเบียบ ซึ่งก่อนหน้านั้นอำนาจจะอยู่ในรูปแบบของทุนนิยม ระบบเศรษฐกิจ อำนาจในระบบการปกครองแบบแบ่งชนชั้น กฎระเบียบที่รัฐได้กำหนดขึ้น เพื่อให้เกิดการควบคุมทางสังคมสะดวกขึ้น ซึ่งการแต่งกายชุดนักเรียนตามระเบียบของโรงเรียน เป็นเครื่องมือทางสังคมที่สอนให้รู้จักกาละเทศะ การเคารพครูผู้สอน ฝึกการมีระเบียบวินัย ประพฤติตัวตามแบบวัฒนธรรมอันดีงาม”
การแต่ง “ชุดนักเรียน” มีผลต่อ “การเรียน” หรือไม่
การที่จะมีผลการเรียนที่ดีได้นั้น ส่วนหนึ่งมาจาก การใส่ชุดนักเรียนเพื่อสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ที่นักเรียนไม่ถูกรบกวนจากการแต่งกาย และไม่ตกเป็นเหยื่อถูกเพื่อนล้อเลียนเสริมแรงในการมาโรงเรียน และความมีระเบียบวินัยในตัวเอง การบังคับตัวเองในการค้นคว้าหาความรู้ นักเรียนต้องสร้างระเบียบวินัยในการเรียนรู้ของตนเอง เพราะแต่ละคนมีแนวทางในการเรียนรู้ที่ต่างกัน นักเรียนบางคนอ่านหนังสือรอบเดียวก็สามารถเข้าใจได้หมด แต่ส่วนมากต้องอ่านหลายรอบถึงจะเข้าใจเพื่อเป็นฐานความรู้ในการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น การบังคับตัวเองให้อ่านหนังสือ ค้นคว้าในสิ่งที่ไม่รู้ โดยมีครูเป็นผู้ให้คำปรึกษา จนได้คำตอบสิ่งนั้นมา การมีระเบียบวินัยในตนเองส่วนหนึ่งมาจากการมีระเบียบวินัยในสังคมโรงเรียนด้วยเช่นกัน หากแต่มองในเรื่องสิทธิเสรีภาพการใส่ชุดนักเรียนแล้วต้องย้อนมองถึง หลักความจริงและบรรทัดฐาน “การใส่ชุดนักเรียนและเสรีภาพ” เมื่อผู้ปกครองจะพาบุตร หลานไปเข้าเรียนในสถานศึกษาแห่งหนึ่งแห่งใด ผู้ปกครองให้ความสำคัญกับชื่อเสียง ภาพลักษณ์ อัตลักษณ์ นโยบาย ของสถานศึกษาที่มีข้อกำหนด กฏ ระเบียบ ข้อบังคับ ที่ทำให้เกิดความโดดเด่น และเมื่อผู้ปกครองนำลูก หลาน มารายงานตัวเป็นนักเรียนของสถานศึกษานั้นๆ เท่ากับว่าต้องรู้แล้วว่า สิทธิ หน้าที่ และเสรีภาพ มีขอบเขตอะไรบ้างในการใช้ชีวิตศึกษาหาความรู้ผ่านชุดนักเรียนจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน และศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา จากนักเรียนเปลี่ยนสถานสภาพเป็นนักศึกษาที่จะมีเสรีเรื่องระเบียบวินัยของเครื่องแบบที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่ยังอยู่ในกรอบของกาละเทศะตามบรรทัดฐานของสังคมแห่งการศึกษา จึงทำให้ ชุดนักเรียน เป็นวัฒนธรรมร่วมสมัยและพัฒนาการทางสังคมโลกที่ในเกือบทุกประเทศมีข้อกำหนดเรื่องเครื่องแบบชุดนักเรียนที่มีความสัมพันธ์กับผลการเรียน ได้แก่ ประการแรก เพื่อความเป็นระเบียบและเท่าเทียมกัน ประการสอง เพื่อให้เกิดความภูมิใจในการเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการศึกษานั้นๆ ประการที่สาม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่อาจถูกแสดงออกผ่านการแต่งกายหากไม่มีชุดนักเรียน หากเหตุผลของการบังคับใส่ชุดนักเรียนหรือเครื่องแบบนักเรียนที่เชื่อมโยงกับคุณภาพและประสิทธิภาพในการเรียนหรือส่งเสริมบทบาทของโรงเรียนในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาที่บ่งชี้ความสัมพันธ์ระหว่างชุดนักเรียนกับคุณภาพการเรียนทำให้นักเรียนให้ความสำคัญกับ “ชุดนักเรียน” จนถึงวันที่ตั้งคำถามถึงเหตุและผลที่แท้จริงการมีชุดนักเรียนที่มีมาเกือบครึ่งศตวรรษที่ทั่วโลกต่างมีวัฒนธรรมการใส่ ชุดนักเรียน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแนวคิดในหลายประเทศ ขณะที่อีกหลายประเทศเลือกที่จะยืนหยัดในวิถีปฏิบัติเดิมคือความเป็นระเบียบ ความภาคภูมิใจ ลดความเหลื่อมล้ำ ที่ไม่ว่าจะเป็นชุดนักเรียนแบบใดในโลกคุณภาพการเรียนยังคงมีความผูกพันกับชุดนักเรียนเป็นหัวใจของการศึกษาหลายทศวรรษที่ผ่านมาตามรากเหง้าเดิมให้มีความทันสมัยและเท่าเทียมกันกับนานาอารยประเทศ
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » การเมือง » คอลัมน์
คอลัมน์ล่าสุด ![]()
...คำถามประจำวันเด็ก...
ใต้ถุนสภา- ปรากฏการณ์ "ถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน" 21:25 น.
- “หนี้นอกระบบ” 05:33 น.