วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 22:46 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันพุธ ที่ 02 สิงหาคม พ.ศ. 2566, 13.54 น.

การอยู่ร่วมกันในอาคารสูงอย่างไรให้มีความสุข

การอยู่ร่วมกันในอาคารสูงอย่างไรให้มีความสุข

ดร.ศุภภัทรวริศรา เกตุสุนทร

คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์  สถาบันรัชต์ภาคย์

จากยุคตึกแถวสู่ชุมชนเมือง The Urban Community การสร้างตึกแถวกลับกลายเป็นสิ่งที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเมือง เริ่มจากยุคแรกที่ตึกแถวเริ่มเกิดขึ้นมาพร้อมกับการสร้างถนนสายแรกในเมืองไทยอย่างถนนเจริญกรุงพื้นที่การค้าสำคัญการสร้างตึกเป็นการสร้างให้คนเช่าและทำสัญญาระยะยาวกลายเป็นต้นแบบของตึกแถว แสดงว่าที่นั่นคือย่านการค้า ยุคเร่งสร้างเมือง ต้องยอมรับว่าในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถือเป็นยุคทองในเรื่องการตื่นตัวและเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างสูงสุด จากการร่างแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ขึ้นมาเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองรวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานที่เกี่ยวกับการสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นมาอย่างกองเคหสถานโดยผลพวงที่เกิดขึ้นคือ “ตึกแถว” รวมไปถึงสิ่งที่เรียกว่า “แฟลต” การสร้างครั้งนี้ถือว่าแก้ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยได้ชะงัก ยุคความเจริญเรียกหา ประเทศไทยเริ่มมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องพื้นที่หลายแห่งถูกสถาปนาให้เป็นย่านธุรกิจสำคัญของประเทศไม่ว่าจะเป็นสุขุมวิท เพชรบุรีหรือสีลม  เมื่อเมืองพัฒนามาเป็นที่อยู่อาศัยและประกอบธุรกิจของคนทุกชนชั้น จึงเกิดภาพสะท้อนปัญหาชุมชนเมืองและที่อยู่อาศัยแออัด ปัญหาการจราจรติดหนาแน่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษหรือมลพิษติดอันดับต้นๆ ของโลก ปัญหาการขยายตัวของชานเมืองและปัญหาคนในชุมชนเข้าถึงสาธารณูปโภคไม่ทั่วถึง ส่งผลต่อความมั่นคงและการพัฒนาประเทศรัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยรวมถึงการมีชุมชนเข้มแข็ง สภาพแวดล้อมความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีถือว่าเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในด้านต่างๆ การแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมและการสร้างโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการและบริการของรัฐ โดยเฉพาะการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การประกอบอาชีและการมีรายได้ที่มั่นคง โดยเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนรวมถึงการมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยการขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านความมั่นคงในที่อยู่อาศัยเป็นรากฐานของความมั่นคงในชีวิตทุกด้านจึงขยายผลต่อยอดจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นกรอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประเทศในระยะยาวคู่ขนานไปกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) โดยผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและวาระใหม่แห่งการพัฒนาเมืองและที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและยั่งยืนสำหรับทุกคน โดยเน้นการแบ่งตามระดับรายได้และการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับวงจรชีวิต (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, 2561) การออกแบบอาคารที่อยู่อาศัยที่มุ่งเน้นความต้องการขนาดพื้นที่ใช้สอยและลักษณะอาคารที่เหมาะสมความต้องการความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมทั้งของบุคคลกลุ่มบุคคลต่อการตอบสนองความปลอดภัยทั้งกายและใจความเป็นส่วนตัว กฏระบียบ และความสวยงาม สะดวกสบายและตอบสนองกับการออกแบบจัดสรรพื้นที่ที่เหมาะสมแสดงถึงการให้ความสำคัญในการออกแบบที่ส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้อาศัยทั้งในเรื่องความปลอดภัย ความสวยงามความสะดวกสบายเหมาะสมกับอายุและความเป็นส่วนตัวของผู้อาศัยร่วมกัน (การเคหะแห่งชาติ,2525)

ต่างประเทศมีหรือไม่กับการสร้างและพัฒนาที่อยู่อาศัยร่วมกัน

ผู้เขียนขอหยิบ นโยบายการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นประเทศที่เจริญก้าวหน้ามีรากฐานมาจากการสร้างเมืองที่มั่นคงกับประโยคที่ว่า “Housing a Nation, Building a City”  แม้จะเป็นประเทศมีพื้นที่จำกัดประชากรหนาแน่นสูงแต่ชาวสิงคโปร์กลับเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยมากถึง 90% ติดอันดับ 2 ของโลก ซึ่งผู้ที่นำการขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประเทศสิงคโปร์โดยภาครัฐบาลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นตัวอย่างการพัฒนาพลิกฟื้นชุมชนแออัดเปลี่ยนพื้นที่ให้กลายเป็นบ้านในตึกสูงและผู้อาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

การเปลี่ยนพื้นที่แออัดสู่การสร้างอาคารสูงให้ประชาชนได้อยู่อาศัยร่วมกัน

ประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศที่เปิดกว้างให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นศูนย์กลางธุรกิจ การเงิน เศรษฐกิจและการค้าของภูมิภาค เมื่อเทียบจำนวนประชากรกับขนาดพื้นที่ของประเทศความหนาแน่นจึงสูงติดอันดับที่ 2 ของโลก โดยอยู่ที่ 7,650 คนต่อตารางกิโลเมตร แต่ประเทศสิงคโปร์ สามารถจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยได้อย่างเพียงพอและเป็นสัดส่วน บรรยากาศเมืองเป็นระเบียบเรียบร้อย ชาวสิงคโปร์มีสัดส่วนเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยมากถึง 90% ติดอันดับ 2 ของโลก การพัฒนาเมืองให้เจริญก้าวหน้าและเป็นระเบียบเรียบร้อยสวยงามได้อย่างทุกวันนี้ สิงคโปร์เคยประสบปัญหาที่อยู่อาศัยขาดแคลนมาก่อนเนื่องจากประชากรหนาแน่นสภาพแวดล้อมแออัดอยู่หลายแห่ง เช่นเดียวกับหลายประเทศที่กำลังประสบปัญหาการขยายตัวของประชากร ในขณะที่พื้นที่ของเมืองนั้นไม่เพียงพอ ทรัพยากรของประเทศมีไม่มากนัก นับตั้งแต่ในปีค.ศ. 1960 รัฐบาลสิงคโปร์ได้ตั้งหน่วยงานที่ชื่อว่า Housing & Development Board (HDB) หรือหน่วยการเคหะแห่งชาติของสิงคโปร์ จากการขยายตัวของประชากรที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วหน่วยงาน HDB ได้ทำหน้าที่วางแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนสิงคโปร์อย่างต่อเนื่อง โดยสร้างบ้านของรัฐบาลหรือที่เรียกว่า Public Housing บทบาทในช่วงแรกของ HDB ได้แก้ปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัยพลิกฟื้นพื้นที่แออัดโดยการเวนคืนที่ดินมาเป็นของรัฐ เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการรัฐบาล ได้แบ่งสันปันส่วนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง สร้างพื้นที่สาธารณะต่างๆ รวมถึงสร้างโครงการที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนให้ครอบคลุมและรวดเร็วที่สุด โดยพัฒนาในรูปแบบของแฟลตหรือบ้านแนวสูงพร้อมมีระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นภายในระยะเวลาไม่นานการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ไม่กี่ปีต่อจากนั้น HDB ได้เริ่มขายโครงการที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนสิงคโปร์ ซึ่งขายในราคาที่จับต้องได้ไม่แพงจนเกินไปวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ HDB ยังได้พัฒนาพื้นที่สาธารณะในระดับย่านเปิดให้คนที่อาศัยอยู่ในแต่ละตึกหรือในละแวกเดียวกันสามารถเข้ามาใช้งานร่วมกันได้ เช่น สนามกีฬา สนามเด็กเล่น สวนสาธารณะ พื้นที่นั่งเล่น พื้นที่สันทนาการ เปรียบเสมือนเป็นศูนย์กลางที่ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ ทำกิจกรรมร่วมกัน ของคนในชุมชน ดึงดูดให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิต ข้อดีของ HDB Flat โครงการส่วนใหญ่อยู่ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกของเมือง เช่น รถไฟฟ้า MRT, ป้ายรถบัสประจำทาง, โรงเรียน, สถานพยาบาล และแหล่งอาหารการกิน ฟู้ดคอร์ทและห้างสรรพสินค้า รัฐบาลกระจายความเจริญ สิ่งอำนวยความสะดวกให้อยู่ใกล้โครงการที่อยู่อาศัยของประชาชนได้อย่างทั่วถึง กว่าโครงการ HDB สักแห่งหนึ่งจะเกิดขึ้นมาได้อย่างสมบูรณ์ ต้องผ่านกระบวนการออกแบบ วางแผน และพัฒนาอย่างเป็นระบบ สร้างทีละเฟสอย่างต่อเนื่องและมีทิศทาง ภายใต้ร่มใหญ่คือการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนของประเทศสิงคโปร์ ใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันกระทั่งดังที่เห็นในปัจจุบันนี้

อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้การอาศัยอยู่ร่วมกันในอาคารสูงมีความสุข

ประชาชนชาวสิงคโปร์ต่างอยู่ร่วมชายคาเดียวกันท่ามกลางความหลากหลาย ท่ามกลางความต่างได้อย่างสุขสงบเป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชมและควรนำไปใช้เป็นข้อคิดเป็นแบบอย่างแก่สังคมประเทศต่างๆ ทั่วโลก ความสำเร็จของสิงคโปร์มาจากความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว เอาจริงเอาจังของกลุ่มผู้นำ โดยเฉพาะอดีตผู้ก่อตั้งประเทศ และอดีตนายกรัฐมนตรีอันยาวนานของสิงคโปร์ นายลี กวน ยู ที่จะมุ่งเสริมสร้างการอยู่ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกันของชาวสิงคโปร์ ท่ามกลางความเป็นพหุสังคม หรือพหุวัฒนธรรม กฎหมายของสิงคโปร์ที่ว่าด้วยการเคารพสิทธิของผู้อื่น มีความเข้มงวดในการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด และปฏิบัติด้วยความยุติธรรม ไม่เอนเอียง และไม่เลือกปฏิบัติ การให้ความรู้ความเข้าใจ และหลักปฏิบัติต่อผู้อื่นต่อชาวสิงคโปร์ ดำเนินการอย่างเป็นจริงเป็นจัง อาทิ การมีกฎเกณฑ์บังคับว่าอาคารที่อยู่อาศัยของรัฐนั้นจะต้องมีความหลากหลายด้วยผู้คนต่างชาติพันธุ์ และศาสนา และอำนวยให้มีกิจกรรมร่วมกันทั้งต่างศาสนาและชาติพันธุ์ พลเมืองสิงคโปร์จึงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่นและผู้ปฏิบัติสามารถไปกันได้กับสังคมพหุวัฒนธรรมสะท้อนว่าพลเมืองเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นทุกคนจึงมีที่ยืนในสังคมไม่มีใครเหนือใคร 

การอาศัยในอาคารสูงให้มีความสุขบนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกัน

          ทุกวันนี้ตึกสูงเทียมฟ้าในย่านใจกลางเมืองที่มีคนพลุกพล่านมีรางรถไฟฟ้าแล่นผ่านเป็นระยะๆ คงเป็นภาพคุ้นชินสำหรับใครหลายคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงหรือถ้าขยับไปมองหัวเมืองใหญ่ในประเทศไทยภาพของตึกสูงที่ทยอยผุดขึ้นเรื่อยๆ เคียงคู่ตึกแถวหรือบ้านจัดสรรแบบเก่าก็กลายเป็นภาพที่เริ่มเห็นกันจนชินตา มนุษย์เมื่ออยู่ในสังคมเดียวกันจำเป็ต้องเคารพกฎ กติกา ขนบธรรมเนียมประเพณี และบรรทัดฐานของสังคมที่ที่อยู่เพื่อสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข “การอยู่ร่วมกันในสังคม” จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ทำให้รู้สึกดีต่อกันสิ่งที่ดูเล็กน้อยแต่สำคัญ การอยู่ร่วมกันในอาคารสูงอย่างไรให้มีความสุขคงต้องเริ่มจาก การทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านไว้  ถึงแม้จะเป็นสังคมเล็กๆ แต่การรู้จักเพื่อนบ้านไว้ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะได้ช่วยเป็นหูเป็นตาหรือเป็นที่พึ่งพาในยามฉุกเฉิน การอยู่อาศัยร่วมกัน นอกจากการปฏิบัติหรือการให้ความร่วมมือแล้ว ต้องรวมถึงการมีน้ำใจทำให้มีความสุขและอยู่อาศัยร่วมกันได้นาน ไม่ส่งเสียงดังรบกวนผู้อื่น การอาศัยอยู่ในตึกสูงถือเป็นการอาศัยอยู่ร่วมกันคนหมู่มากและเนื้อที่จำกัดจึงต้องปฎิบัติ การจอดรถตามกฏระเบียบ ทุกวันนี้อาคารสูงส่วนใหญ่จะมีที่จอดรถอำนวยความสะดวกให้กับผู้อยู่อาศัย  ควรจอดรถเฉพาะในส่วนที่มีการจัดสรรให้ ไม่ควรจอดขวางทางอาจทำให้ผู้ร่วมอาศัยเกิดความเดือดร้อนรำคาญ คิดเสมอว่าการอยู่ร่วมในสิ่งแวดล้อมเดียวกันต้องอยู่อย่างสงบสุขทุกคนล้วนต้องการความสงบสุขและเป็นส่วนตัวการอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันหากมองให้กว้างทุกคนอยู่ใต้แผ่นฟ้าเดียวกันทั่วทุกหนทุกแห่ง ทุกคนจึงต่างมีความรับผิดชอบในการดูแลสภาพแวดล้อมด้วยกัน เคารพกฎเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน กฎในการอยู่ร่วมกันช่วยให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและปลอดภัยในสังฆะแห่งการปฏิบัติข้อนี้อาจเรียกสิ่งนี้ว่าศีลหรือวินัยควรปฏิบัติตามข้อบังคับนั้น ต้องรู้จักประนีประนอม  เพราะแต่ละครอบครัวถูกเลี้ยงดูมาแตกต่างกัน จึงทำให้แต่ละคนแตกต่างกันทั้งความคิด ความชอบ และระเบียบวินัย ต้องรู้จักเห็นอกเห็นใจ ซึ่งกันและกัน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีไว้ รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น การอยู่ร่วมกันอาจมีบ้างที่ไม่เข้าใจเพื่อนร่วมที่พักอาศัย อาจมีข้อเสนอแนะหรือข้อแนะนำควรรับฟังความคิดเห็นนั้นที่อาจส่งผลดีต่อส่วนรวม การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หลักการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นที่ดี คือการเอาใจเขามาใส่ใจเรา การอยู่ร่วมกันที่ดีจำเป็นต้องมีเพื่อนไว้ค่อยช่วยเหลือกันบ้าง หลักสำคัญบางประการในการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นที่ดีคือไม่มีเรื่องทะเลาะกัน รักและเอื้ออาทร มีน้ำใจต่อกันสังคมที่ผูกพันและพึ่งพากันการสร้างวัฒนธรรมการอยู่อาศัยในอาคารสูงเพื่อส่งเสริมให้ผู้อยู่อาศัยและผู้เกี่ยวข้องในสังคมอาคารชุดได้ตระหนักและปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ รวมถึงมารยาทสังคมในการอยู่อาศัยร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี ในการอยู่อาศัยร่วมกัน ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมไทย โดยสร้างการมีส่วนร่วมให้ตัวแทนผู้นำและผู้อาศัยในอาคารสูงแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะในการจัดทำ (ร่าง) วัฒนธรรมการพักอาศัยในอาคารสูงอยู่ร่วมกัน เช่น ระเบียบข้อบังคับสากล (นานาชาติ) ในการอยู่อาศัยร่วมกันมารยาทสังคมของผู้อยู่อาศัยในอาคารชุด การนำโซเชียลมีเดียมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น ไลน์กลุ่มระหว่างผู้พักอาศัยกับนิติบุคคลที่ดูแลอาคาร

ถอดโมเดลจากประเทศสิงคโปร์สู่ประเทศไทยการอยู่ร่วมกันในอาคารสูงอย่างไรให้มีความสุข

หากดูตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ที่สามารถพลิกฟื้นดินแดนที่ขาดแคลนทรัพยากรเต็มไปด้วยชุมชนแออัดในอดีตให้กลับกลายมาเป็นประเทศที่พัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพในทุกๆ ด้าน นับว่ามีส่วนสำคัญมากในการบรรลุเป้าหมายการสร้างที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน รัฐบาลสิงคโปร์เป็นตัวนำในการขับเคลื่อนสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยและอยู่รวมกันอย่างมีความสุขและเป็นของตัวเองให้ได้มากที่สุด เพราะรัฐบาลเชื่อว่า “การสร้างเมืองคือการสร้างชาติ” ปัจจัยพื้นฐานอย่างที่อยู่อาศัยคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในชีวิต สามารถลงหลักปักฐานทำมาหาเลี้ยงชีพได้ในระยะยาวคงจะดีไม่น้อยและการมีกฎเกณฑ์บังคับว่าอาคารที่อยู่อาศัยของรัฐที่มีความหลากหลายต่างชาติพันธุ์ หลายชนชั้นอาชีพ เชื้อชาติและศาสนาและอำนวยให้มีกิจกรรมร่วมกันพลเมืองสิงคโปร์จึงเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้ปฏิบัติ สะท้อนว่าประชาชนพลเมืองเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นทุกคนจึงมีที่ยืนในสังคมไม่มีใครเหนือใคร จึงเป็นที่ยอมรับทั่วโลกว่ากฎหมายของสิงคโปร์ว่าด้วยการเคารพสิทธิของผู้อื่นมีความเข้มงวดในการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด และปฏิบัติด้วยความยุติธรรม ไม่เอนเอียง และไม่เลือกปฏิบัติ การให้ความรู้ความเข้าใจและหลักปฏิบัติต่อผู้อื่นดำเนินการอย่างเป็นจริงเป็นจังกับการมีกฎเกณฑ์บังคับว่าอาคารที่อยู่อาศัยของรัฐ หากประเทศไทยเรียนรู้โมเดลนี้นำนโยบายไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยคงจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมากเลยทีเดียว และเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ จากหลักปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเป็นจริงเป็นจังจากการมีกฎเกณฑ์บังคับว่าอาคารที่อยู่อาศัยที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้อาศัยเป็นผู้กำหนดเองและมีภาครัฐส่วนที่เกี่ยวข้องคอยกำกับดูแลให้มีกิจกรรมร่วมกันอาจทำให้ผู้อาศัยในอาคารสูงอยู่รวมกันได้อย่างมีความสุข สะท้อนออกมาได้ว่าพลเมืองเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นไม่สร้างความเหลื่อมล้ำและสิ่งที่ทุกคนสัมผัสได้กับความสุขความอุ่นใจในการอยู่ร่วมกันในอาคารสูงที่ถูกจัดวางไว้อย่างสวยงามเช่นกัน