วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 14:54 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันพุธ ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2566, 14.07 น.

จับตา อพม. (อาสาสมัคร พม.) สร้างมิติใหม่กระทรวงฯ พม. เกรด เอ

จับตา อพม. (อาสาสมัคร พม.) สร้างมิติใหม่กระทรวงฯ พม. เกรด เอ

รองศาสตราจารย์ ดร.ณกมล ปุญชเขตต์ทิกุล

อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร 

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545  ในรัฐบาลของอดีต นายกฯทักษิณ ชินวัตร  กระทรวงฯ พม. ประกอบด้วยสำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง และมีหน่วยงาน5  กรม คือกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุกระทรวงฯ พม. ปัจจุบันตั้งอยู่ที่วังสะพานขาว ในอดีตคือตำหนักของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร หรือพระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าวุฒิไชยเฉลิมลาภ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 47 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ตั้งแต่ 2545-ปัจจุบัน มีรัฐมนตรีมาแล้ว 16 ท่าน  และรัฐมนตรีคนที่ 17 คือ นายวราวุธศิลปอาชา

ภารกิจหลักกระทรวงฯ พม. เกี่ยวกับชีวิตประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายโดยจุดแข็งของกระทรวงฯ พม. คือมีหน่วยงานส่วนราชการประจำจังหวัด ได้แก่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเป็นหน่วยงานที่เชื่อมโยงการทำงานทั้งนโยบายและภารกิจไปสู่ประชาชนไม่ว่าจะเป็นภารกิจสร้างรายได้ สร้างที่อยู่อาศัยที่กระทรวงฯ มีหน่วยงานที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 3 หน่วยงาน คือการเคหะแห่งชาติสำนักงานธนานุเคราะห์และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนซึ่ง 2 หน่วยงานหลังนี้ มีฐานะเป็นองค์การมหาชน ที่สามารถดำเนินงานในเชิงธุรกิจได้  ดังนั้น การประกาศเจตนารมย์ยกระดับให้กระทรวงฯ พม. เป็นกระทรวงเกรด เอ ของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงฯ ขณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหน่วยงาน กคช.ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา นั้น แม้ว่าอาจจะทำได้จริง แต่ก็มีข้อสังเกตของอำนาจหน้าที่ ตลอดจนการขับเคลื่อนนโยบายแห่งรัฐ ที่น่าสนใจหลายข้อ เช่น

ประการแรก การประกาศยกระดับกระทรวงฯ พม. ให้เป็นกระทรวงชั้นหนึ่ง หลังจากการที่พรรคชาติไทยพัฒนาเคยมีรัฐมนตรีนั่งกระทรวงนี้เป็นพรรคการเมืองแรก ยุครัฐมนตรีนายอนุรักษ์ จุรีมาศ หลายปีมาแล้ว จะทำได้อย่างไร และจะนำนโยบายอะไรมาเป็นตัวชี้วัดว่าจะสามารถยกระดับให้เป็นกระทรวงเกรด เอ เพื่อประชาชน ได้

ประการที่สอง คือ การทำให้กระทรวงนี้เป็นกระทรวงฯ เกรอด เอ จะมีกระบวนการแปลงภารกิจงานให้เป็นกิจกรรม เป็นโครงการ ที่จะเป็นผลงานได้อย่างไร การขับเคลื่อนการทำงานด้านการพัฒนาสังคม และสร้างความมั่นคงแก่คนจำนวนมาก คือทั้งประเทศ จะต้องนำยุทธศาสตร์มาใช้ในการทำงานนักยุทธศาสตร์ นักวางแผนในการพัฒนา ที่มีอยู่จะเพียงพอกับการทำให้ 4 ปี นี้ เข็นให้เป็นกระทรวงฯ เกรอด เอ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายมองในมุมกว้างแล้วภารกิจของกระทรวงฯ เป็นงานประจำพื้นที่กว้างทั้งประเทศ งบประมาณ การประสานงาน และการขับเคลื่อนงานกระทรวงฯ พม. ให้สามารถสร้างSMART Community  นโยบายและแผน บุคลากรจะต้องพร้อม ภารกิจการพัฒนาและการสร้างความมั่นคงให้กับคน จะทำอย่างไรให้คนในสังคมได้มีสวัสดิการที่ดี มีความครัวดี สตรี เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุจะอยู่อย่างงไรในบ้านในสังคมที่จะสร้างความมั่นคงให้ได้ ทั้งบ้านในพื้นราบและอาคารสูง การเคหะแห่งชาติที่สร้างบ้านและสร้างสุข โรงรับจำนำหรือธนานุเคราะห์ ตลอดจนการพัฒนาสังคมและสร้างความมั่นคงให้คนในสังคมที่ต้องอาศัยบทบาทของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจะมีวิธีการทำอย่างไรให้กระทรวงฯ พม. เป็นกระทรวงเกรด เอ

            มองกระทรวงฯ พม. ในแง่ของการเป็นกลไกหลักที่จะสร้างเครือข่ายการทำงานให้กระทรวงฯ มีความจำเป็นต้องสร้างกระบวนการทำงานและเครือข่ายการทำงาน อย่างน้อย การสร้างองค์กรภาคประชาชน อย่าง  อพม.องค์กรที่ทำงานอาสาสมัครด้านพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ที่ถือเป็นมดงานหลักในการเอาชนะกับความยากจนและพัฒนาสังคมให้กับคนในสังคมได้ ปัจจุบัน อพม. มีอยู่ทั่วทุกจังหวัด

ปัจจุบัน อาสาสมัครของกระทรวง พม.(ข้อมูลช่วง ปี 2565) มีจำนวนราวๆ 3 แสนคน ซึ่งนับว่ามีสัดส่วนที่ยังน้อยอยู่ ภารกิจของ อพม. มีหลายกลุ่มงาน หลัก ๆ จะมี อยู่ 5 ประเภท คือประจำกองกิจการอาสาสมัครและภาคประชาสังคม กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) มีกลไกการทำงานพื้นที่ระดับตำบลในหมู่บ้านและชุมชนคืออาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม)กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ(พก.) มีกลไกพื้นที่ "อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ด้านคนพิการ(อพมก)กรมกิจการผู้สูงอายุ มีกลไกในการขับเคลื่อนภารกิจผู้สูงอายุอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ(อผส.) และที่กระจายตัวทำงานครอบคลุมทั้งระดับหมู่บ้านตำบล อำเภอ และจังหวัด เป็นต้น ต่อมามีประกาศของ กระทรวง พม.ให้อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ด้านคนพิการ (อพมก)อาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ (อผส.) นอกจากนี้ยังมี 2 หน่วยงานกระทรวง พม. ที่มีกลไกการทำงานในลักษณะองค์กร ได้แก่ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) มีกลไกพื้นที่ด้านเด็กและเยาวชนที่เป็นองค์กรคือสภาเด็กและเยาวชนกระจายตัวอยู่ในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และในปี 2560 ได้มีการปรับให้มีกลไกสภาเด็กและเยาวชนระดับตำบล การทำงานใช้คณะกรรมการสภาเด็กและเยาวชนเป็นผู้ขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชน และกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว(สค) มีกลไกการทำงานพื้นที่ระดับตำบลคือศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน(ศพค.)และกลไกการคณะกรรมการพัฒนาสตรีระดับตำบล(กพสต.) คณะกรรมการพัฒนาสตรีระดับระดับอำเภอ(กพสอ.) และคณะกรรมการพัฒนาสตรีระดับจังหวัด(กพสจ.)การดำเนินงานของกระทรวง พม. ในการพัฒนาคนและสังคมเพื่อความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน ต้องอาศัย อพม. เป็นนักปฏิบัติการในชุมชนที่ทำหน้าที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย พื้นที่และจุดเกิดเหตุอย่างรวดเร็วและทันท่วงที มีบทบาทในการชี้เป้าเฝ้าระวัง การสำรวจข้อมูลในพื้นที่เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการวางแผนชุมชน รวมทั้งการประสานคนองค์กรภาคีเครือข่ายเพื่อช่วยเหลือและจัดบริการที่จำเป็นกับประชาชน

อพม.มีบทบาทหน้าที่ 6 ด้าน คือด้านแรกปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวง พม. ด้านที่สอง คือให้คำแนะนำปรึกษาปัญหาทางสังคม ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนให้บริหาร และดำเนินงานเพื่อพิทักษ์คุ้มครองสิทธิกลุ่มเป้าหมายตามภารกิจของกระทรวง ระเบียบ หรือบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้านที่สาม คือส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมทุกระดับ และจัดกิจกรรมด้านการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูคุณภาพชีวิต โดยสอดคล้องกับสถานการณ์ของพื้นที่นั้นๆด้านที่สี่ คือเสริมสร้างการมีส่วนร่วมทางสังคมและเสริมสร้างเครือข่ายด้านการพัฒนาสังคมด้านที่ห้า คือเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ จัดการรณรงค์ให้ความรู้ข้อมูลข่าวสารด้านการพัฒนาสังคมและส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิของประซาชนกลุ่มเป้าหมายตามภารกิจของกระทรวงและด้านที่หก คือศึกษา พัฒนาตนเอง เข้าร่วมกิจกรรมที่หน่วยงานในสังกัดกระทรวงจัด และหรือส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงาน

ดังนั้น เพื่อเป็นการยกระดับของ อพม. จึงต้องUp-Skills, Re-Skills เพื่อสร้าง New-Skills แก่อพม.ทั่วประเทศและทำพร้อมกันทั้งระบบ เพื่อสร้างองค์ความรู้ เพิ่มทักษะ ให้ทำงานได้บนพื้นฐานของความเข้าใจต่อความหลากหลายทางสังคม-วัฒนธรรมเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นหูเป็นตาเรื่องสิทธิมนุษยชนการดูแลกลุ่มเปราะบางเป็นพลังเชิงบวกในกระบวนการทำงานพัฒนาสังคม ท้องถิ่น ตามมาตรฐานหลักสิทธิมนุษยชนที่ยอมรับกันทั่วโลก

มหาวิทยาลัยราชภัฏเป็นสถาบันการศึกษาสูงสุด หน้าที่หลักคือการให้บริการในด้านการศึกษาและการวิจัย สร้างการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสามารถสร้างหลักสูตรที่หลากหลาย ตรงกับความต้องการของพื้นที่เพื่อเสริมสมรรถนะให้สังคมและชุมชนได้มีสถาบันวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม ที่พร้อมสนับสนุนด้านวิจัยที่ใช้ปัญหาชุมชนเป็นฐาน ตลอดจนพื้นที่ของมหาวิทยาลัย สามารถใช้เป็นพื้นที่บริการและแหล่งเรียนรู้ชุมชนและสังคมได้ ให้การสนับสนุนกิจกรรมสังคมและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมการสร้างเครือข่าย

การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นกระบวนการที่จะต้องขับเคลื่อนในเชิงเครือข่ายองค์กรชุมชน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัยซึ่งการทำงานพัฒนาชุมชนและสังคมท้องถิ่นนั้น เป็นการทำงานที่เน้นการพัฒนาคน คือใช้คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ซึ่งการพัฒนาชุมชนสังคมนั้น มีปรัชญาการพัฒนาที่เชื่อถือกันมากว่า 70 ปี คือ จะปลูกพืชให้เตรียมดิน จะกินให้เตรียมอาหาร จะพัฒนาการต้องเตรียมคน จะพัฒนาคนต้องพัฒนาที่จิตใจ พัฒนาที่ความคิดหรือmindset ทัศนคติความเชื่อต่างๆ ของคนในชุมชนและคนก่อน เรื่องความคิดและทัศนคติคนเป็นเรื่องสำคัญ

การขับเคลื่อนกระทรวงฯ พม. ไปสู่การเป็นกระทรวง เกรด เอ นั้น หากหมายถึงการทำให้ประชาชนที่อยู่ในกรอบความรับผิดชอบของกระทรวงฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ถือว่ากระทรวงฯทำงานได้ตรงปก และหากทำเช่นนี้ได้ กระทรวงฯ นี้ จะเป็นกระทรวงที่ได้ทำบุญที่ยิ่งใหญ่กับพี่น้องประชาชนคนไทย เพราะจะถือเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต ทำให้ประชาชนสามารถจัดการตนเอง และพึ่งพาตัวเองได้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนาสังคมและสร้างความมั่นคงของมนุษย์ที่ยั่งยืน และสังคมและคนในสังคมจะมีความสุข ซึ่งจะเป็นความท้าทายรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ 4 ปี ต่อจากนี้ต้องพิสูจน์ว่าทำได้อย่างที่พูดจริงหรือไม่

และนี่น่าจะเป็นอีกความท้าทายใหม่ กับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาของกระทรวงฯ พม. กระทรวงเกรด เอ ในอนาคตอันใกล้นี้ได้