วันพุธ ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2568 11:05 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันศุกร์ ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2566, 14.38 น.

นรมิตเทวาจุติ สะท้อนสังคมไทย ชอบยกย่อง “ฮีโร่”

นรมิตเทวาจุติ สะท้อนสังคมไทย ชอบยกย่อง “ฮีโร่”

 

รองศาสตราจารย์ ดร.ณกมล ปุญชเขตต์ทิกุล

อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

 

ตำนานฮีโร่ โผล่ขึ้นมาทุกยุคสมัย แต่ละฮีโร่สะท้อนสังคมออกมาผ่านเรื่องราวและตำนานที่มีความเป็นมา ซึ่งฮีโร่ ถือเป็นตัวแทนของคุณค่าและความดีที่สังคมขาด และต้องการได้ อย่างเช่น เรื่องราวของกัปตันอเมริกา (Captain America) ตัวละครในจักรวาลของ Marvel Comics ซึ่งเป็นฮีโร่ที่เน้นค่านิยมและความเป็นธรรม ตลอดการปกครองเขามีค่านิยมที่ไม่เคยเปลี่ยนและยึดมั่นกับความซื่อสัตย์และความยุติธรรมตำนานของคิงอาร์เธอร์ (King Arthur) ตำนานที่มีรากฐานในวัฒนธรรมยุโรปที่สร้างขึ้นในประเทศอังกฤษ ใช้คิงอาร์เธอเป็นฮีโร่ที่เน้นคุณธรรมและการเลือกใช้กำลังอำนาจอย่างที่รู้สึกว่าถูกต้อง เรื่องราวของเขาแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของความซื่อสัตย์และความเป็นธรรมเรื่องราวของแสงดาว(Star Wars) ภาพยนตร์และจักรวาลของ Star Wars มีตัวละครหลายคนที่มีลักษณะของฮีโร่มีพลังหลายตัวละครเช่น Luke Skywalker และ Princess Leia ซึ่งเน้นการต่อสู้เพื่อความดีและเป็นธรรมเรื่องราวของซูเปอร์แมน(Superman) ที่เน้นค่านิยมและความเป็นธรรม มีส่วนสำคัญในการปกป้องมนุษยชาติและความยุติธรรม และสุดท้ายที่อยากพูดถึงคือบาต์แมน (Batman)ที่เน้นทางจิตใจและความเป็นมนุษย์ ซึ่งปกครองด้วยความฉลาดและความกล้าหาญในการสู้รบเพื่อความยุติธรรมจะเห็นได้ว่าเรื่องราวของฮีโร่เหล่านี้ เป็นตัวแทนของความซื่อสัตย์ คุณค่า และความเป็นธรรมที่สังคมต้องการเสมอ

กลุ่มนิรมิตเทวดาจุติ ปรากฏขึ้นในสังคมไทย ภายใต้กระแสความเชื่อความศรัทธาของผู้ที่เรียกกลุ่มตัวเองว่านรมิตรเทวาจุติกลุ่มที่ยอมรับการเกิดอีกครั้งของเทวดาในโลกมนุษย์(เทวดาจุติ)  ในแง่สังคมวิทยาจัดกลุ่มประเภทนี้อยู่ในกลุ่มศาสนา เทววิทยา วัตถุประสงค์ของกลุ่มนี้ คือจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นพลังแห่งความศรัทธาที่จะช่วยเหลือและให้คำแนะนำกันในการปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องแท้จริง ในแบบที่เรียบง่าย และทำได้จริง ตามหลักคำสอนขององค์

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปกติทางสังคมอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เรื่องเคยเกิดมาแล้ว

กลุ่มทางสังคมที่มีความเชื่อเหมือนกัน เกิดขึ้นได้กับทุกสังคม บางกลุ่มก็พัฒนาไปเป็นสถาบันทางสังคมที่เข้มแข็ง ทำหน้าที่ช่วยขัดเกลาสังคมได้ดี

ส่วนกลุ่มคนที่มีความเชื่อ ความศรัทธาในลักษณะที่เชื่อในฤทธิ์เดชของคนใด คนหนึ่งนั้น ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาในแต่ละยุคสมัย ที่มีการเชื่อ มีการปฏิบัติตามกันมา แต่ไม่ใช่เรื่องนี้จะเป็นสิ่งที่ยั่งยืน หากไม่ใช่ของจริง และแม้หากเป็นสิ่งที่แท้ เป็นของจริง ก็ไม่ใช่เรื่องที่แปลก หากจะดับสลายไปได้ตามกาลเวลาได้ ซึ่งมองในแง่ศาสนา เทววิทยา ก็มีบางศาสนาที่ตายไปแล้วจากโลกแห่งความเชื่อความศรัทธาของมนุษยชาติ  หรือในแง่ของวัฒนธรรม ก็มีวัฒนธรรมบางวัฒนธรรม ได้ตายไปจากการยึดถือปฏิบัติในวิถีชีวิตผู้คนด้วย เช่นกัน

เรื่องฤทธิ์เรื่องเดชนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่นำมาพูดกันในวาทกรรมทางภาษาที่หลากหลายภายใต้ชื่อหลายชื่อที่จะเรียกขาน จะพูดกันก็ตาม การแสดงฤทธิ์ก็เป็นเรื่องที่ต้องมองว่าเป็นสิ่งธรรมดา ที่หากมีคุณวิเศษและอยากจะแสดงด้วยเหตุผลอะไรของผู้แสดงก็สามารถเกิดขึ้นได้

การแสดงฤทธิ์แสดงเดชนั้น มีความเกี่ยวข้องกับบารมีธรรม เกี่ยวกับตปธรรม ซึ่งคำว่าบารมี หรือตบะ นั้น ต้องใช้ระยะเวลา หากขจัดกิเลสเครื่องร้อยรัดจิตใจได้หมด ในแต่ละขั้นตอน แต่ละขั้นภูมิธรรมก็จะมีฤทธิ์ มีเดช แสดงปาฏิหาริย์และรู้สิ่งต่าง ๆ ในจักรวาลนี้ได้

การแสดงฤทธิ์ สิ่งที่สังคมต้องเรียนรู้คือ เกี่ยวข้องกับการได้ญาณ เป็นคุณธรรมวิเศษระดับสูง ในพระพุทธศาสนากล่าวไว้ 3 ประเภทคือปุพเพนิวาสานุสติญาณคือการระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น จุตูปปาตญาณ คือการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย อาสวักขยญาณคือรู้วิธีกำจัดกิเลสด้วยอริยสัจ4 คือรู้หลักการและวิธีปฏิบัติของ 4 ขั้นตอน คือตั้งแต่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคมีองค์แปดประการ

ปัญหาที่อาจจะมีข้อถกเถียงและต้องพูดจากันก็คือ หากผู้ที่ได้ญาณข้อแรกและข้อที่สอง คือปุพเพนิวาสานุสติญาณและจุตูปปาตญาณ ซึ่งเป็นญาณระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่น ตลอดจนญาณในส่วนการรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย แล้วต้องการแสดงให้คนอื่นๆ รับรู้ ด้วยวิธีการที่เรียกชื่อต่างกันไปว่าเชื่อมจิต จูนจิต เปิดโลก เชื่อมพลังจักรวาล นั้น จะมีคำอธิบายจากผู้แสดงนั้นอย่างไร เป็นเรื่องที่สังคมและกลุ่มคนจะยอมรับไม่เกิดความขัดแย้ง อย่างที่เคยมีการเกิดข้อถกเถียงเรื่องว่าอะไรเป็นมงคลในสมัยพุทธเจ้า ที่ทำให้การวิวาทะขยายวงไปทั้งสามโลก คือโลกมนุษย์ เทวดาโลกและพรหมโลกสังคมจะมีวิธีการรับมือกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างไร 

การนำสิ่งที่ผู้เชื่อผู้ศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นอดีตชาติ กรรมเวรชาติที่แล้ว ต่าง ๆ มาเปิดเผย ด้วยคุณธรรมวิเศษชั้นสูงอย่างปุพเพนิวาสานุสติญาณและจุตูปปาตญาณ นั้น หรือมีทีมงานที่บริหารจัดการเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จะเป็นเรื่องที่สังคมมองว่าเหมาะสม หรือจะนำมาซึ่งประโยชน์ ซึ่งความสุข ความเกื้อกูลโลกสีน้ำเงินที่เราอาศัยหรือไม่ หากไม่ใช่ ก็ไม่ควรจะเชื่อมจิต ไม่ควรจะจูนจิต หรือไม่ต้องเชื่อมพลังจักรวาลใด ๆ จะเป็นการดีกว่าหรือไม่

ปล่อยให้มนุษย์ สังคม โลกและจักรวาล เป็นไปตามกฎเกณฑ์ กฎแห่งนิยาม ความเป็นไปอันมีระเบียบแน่นอนของธรรมชาติ และสรรพสิ่ง จะดีกว่าหรือไม่ซึ่งสรรพสิ่งล้วนเป็นไปตามกฎเกณฑ์หรือนิยามของตนๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตุนิยาม(physical laws) คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น อุณหภูมิ ดินฟ้าอากาศ สิ่งแวดล้อมพีชนิยาม(biological laws) คือ กฎธรรมชาติที่เกี่ยวกับพันธุกรรม กระบวนการถ่ายทอดข้อมูลของสิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ เชื้อโรค ผ่านการสืบพันธุ์จิตนิยาม(psychic law) คือ กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการทำงานของจิต เจตสิกกรรมนิยาม(Karmic Laws) คือ กฎแห่งกรรม คือกฎแห่งการกระทำและผลของการกระทำหรือธรรมนิยาม(General Laws) อันได้แก่กฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ความเชื่อเรื่องความวิเศษของตนเองหรือการอ้างตัวว่าเป็นผู้วิเศษมักมีหลายประการ และมักพบว่าคุณวิเศษคือปุพเพนิวาสานุสติญาณและจุตูปปาตญาณ นี้ เป็นเหตุผลที่ถูกนำมาอ้างยุคสมัยของผู้ที่อ้างอิงความวิเศษของตน ๆ ในจักรวาลนี้

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าคุณวิเศษเป็นเรื่องที่จะมีการนำมาอ้างอิงเสมอในการสอนของคน ไม่ใช่เรื่องแปลก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกยุคสมัย คือคนที่อ่อนด้อยกว่าจะยกย่องคนที่สูงส่งกว่า คนจะสอนคนอื่นก็จำเป็นต้องมีความรู้ที่สูงกว่าพิเศษกว่าเขา หรือสิ่งที่คนอื่นฟังแล้วจะเชื่อได้ว่าเป็นเรื่องที่พิเศษและสำคัญพอที่จะปฏิบัติตามในขั้นต่อไป 

คำถามที่ตามมาคือ แล้วอะไรคือสิ่งที่เรียกว่าคุณวิเศษ หลังคำถามนี้ ส่วนมากจะพบคำตอบคือเรื่องฤทธิ์เรื่องเดช เป็นคำตอบที่ได้ฟังมามาก ที่นำมากล่าวอ้างให้เห็นจริงเพื่อเป็นเครื่องมือสอนคนอื่น หมายความว่า คนที่จะทำให้ผู้อื่นศรัทธาต้องมีทั้งฤทธิ์เดช มีคำสอนที่เป็นประโยชน์ช่วยทำให้เข้าถึงความสุข หรือไปไกลสุดคือเข้าสู่การบรรลุสัจจธรรมแห่งชีวิต

ดังนั้น หากจะมีทัศนะต่อปาฏิหาริย์ สังคมต้องมองว่าเป็นปกติธรรม แต่เหตุที่ไม่ปกติก็เนื่องจากหลายปัจจัย อย่างเช่น อย่างแรก คือในสังคมขณะนี้ ขาดผู้ที่มีความสามารถจะแสดงฤทธิ์เดช แสดงปาฏิหาริย์  หรือแม้แต่จะมีผู้มีญาณวิเศษ ท่านก็คิดว่าไม่ใช่เรื่องที่จะต้องออกมาแสดง ไม่มีประโยชน์ที่จะต้องแสดง ซึ่งในพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้ายังทรงมีชีวิตอยู่ ก็มีพระอรหันต์แสดงอิทธิปาฏิหาริย์เหาะขึ้นไปเอาบาตรไม้จันทน์แดง ที่เศรษฐีท่านหนึ่งท้าว่า หากโลกนี้มีพระอรหันต์ก็จงเหาะไปนำบาตรที่แขวนไว้บนยอดเสาลงมา แล้วจะพร้อมด้วยบุตรและภรรยาจะยอมเป็นพุทธมามกะนับถือพระพุทธศาสนาจนพระปิณโฑลภารทวาชเถระได้ออกไปแสดงฤทธิ์เหาะขึ้นไปนำบาตรลงมา สำหรับประวัติพระเถระรูปนี้ ท่านมีพื้นเพเป็นบุตรชายของพราหมณ์มหาศาละ ตระกูลภารทวาชะซึ่งตระกูลนี้เป็นปุโรหิตของพระเจ้าอุเทน พระราชาแห่งเมืองโกสัมพี ชื่อเดิมของท่านคือ ภารทวาชมาณพ จบการศึกษาสูงสุดฝ่ายพราหมณ์ คือจบไตรเพท ต่อมาได้เข้ามาบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา จนสำเร็จพระอรหันต์ ได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นผู้เยี่ยมในปาฏิหาริย์ บันลือสีหนาท ต่อมาแม้ว่าจะแสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนามีพระอรหันต์อยู่ แต่การแสดงปาฏิหาริย์ครั้งนั้นก็ถูกพระพุทธองค์ตำหนิ และตรัสสั่งห้ามไว้

ในพุทธศาสนา มีการระบุเรื่องฤทธิ์เดชนี้ไว้ในขอบเขตที่ว่าปาฏิหารย์ ได้แก่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ เป็นความอัศจรรย์ หรือการทำสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ตามปกติ ในพระพุทธศาสนาพบว่า พระพุทธเจ้าทรงใช้ปาฏิหาริย์เป็นเครื่องมือหรือเป็นวิธีสอนคนแต่ทรงมีการใช้ที่แตกต่างกันไป ปาฏิหาริย์ ที่แปลว่าสิ่งน่าอัศจรรย์ หรือสิ่งที่มีผลสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์ เพราะสามารถทำให้คนเกิดความรู้ถึงขั้นวิชชาญาณได้ และมีการเปลี่ยนแปลงได้ถึงขั้นเป็นพระอริยบุคคล ปาฏิหาริย์ที่กล่าวข้างต้นมี3  ชนิดคือ

1.อิทธิปาฏิหาริย์ การสอนด้วยการใช้ความสามารถพิเศษ เพื่อปราบคนร้ายๆ ที่ไม่ยอมรับคำสอนง่ายๆ ให้สิ้นพยศ เช่น ทรงแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ให้อุรุเวลากัสสปะและบริวาร แสดงฤทธิ์ปราบนาค ยักษ์ เป็นต้น

2.อาเทสนาปาฏิหาริย์ การสอนโดยวิธีดักใจ วิธีนี้พระองค์ทรงใช้กับบุคคลประเภทอุคฆฏิตัญญูและวิปจิตัญญูคนที่มีสติปัญญาระดับสูง

3.อนุสาสนีปาฏิหาริย์ การสอนด้วยการบรรยายลำพังพระองค์เดียว หรือการบรรยายแบบโต้ตอบสนทนา พระองค์ทรงใช้วิธีนี้กับคนประเภทเนยยะกลุ่มที่มีสติปัญญาปานกลางและต้องใช้วิธีพูดคุย ยกตัวอย่างให้เข้าใจได้ง่าย

             เรื่องปาฏิหาริย์ 3  ประเภทนี้เกี่ยวกับการสอนคน เพราะทรงตรัสไว้ว่าพรหมจรรย์ใด(หมายถึงหลักคำสอนทางศาสนาหรือศาสนา) ถ้าศาสดาเป็นพระเถระ รู้ราตรีนาน บวชนาน ล่วงกาลผ่านวัยมาโดยลำดับ แต่ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นสาวกของศาสดานั้น ไม่เป็นเถระ ไม่เป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่สามารถเพื่อจะกล่าว พระสัทธรรมได้โดยชอบ ไม่สามารถเพื่อแสดงธรรมให้มีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรับปวาทที่เกิดขึ้นแล้วได้ด้วยดีโดยชอบธรรม พรหมจรรย์นั้น ย่อมไม่ครบถ้วน บริสุทธิ์บริบูรณ์

ที่น่าสังเกตคือ ในกาลต่อมาเรื่องปาฏิหาริย์ข้อแรก คืออิทธิปาฏิหาริย์ ก็ค่อยๆ ขยับตัวเป็นสาเหตุแรก ๆ ที่ทำให้คนศรัทธาตัวเองว่าเป็นผู้มีความพิเศษหรือเป็นบุคคลที่สำคัญต่อชีวิตหรือสังคม

ความเชื่อ ความศรัทธา ต่อปาฏิหาริย์ข้างต้น จึงจำแนกชนิดหรือระดับของคนในสังคมให้ออกมาเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ซึ่งขึ้นกับปัจจัยที่จะส่งผลต่อความเชื่อ ความศรัทธา ซึ่งมีทั้งในมิติความเชื่อในตนเอง ประสบการณ์ ความเชื่อมั่นในเจตจำนงเสรี อีกหลายปัจจัย

หมายความว่า ความเชื่อ ความศรัทธานั้น บางครั้งคนอาจมีความเชื่ออันยิ่งใหญ่ในความสามารถหรือลักษณะพิเศษของตนเอง ซึ่งอาจทำให้พวกเขาเริ่มเชื่อว่าตนเองมีคุณสมบัติพิเศษเหนือกว่าคนทั่วไป

ประสบการณ์หรือการเรียนรู้บางครั้งการประสบการณ์หรือการเรียนรู้บางอย่างที่มีมาก่อนหน้าอาจทำให้คนรู้สึกว่าตนเองมีความเฉพาะเจาะจงหรือมีความรู้ที่ไม่ธรรมดา เช่น การฝึกฝนในสายงานหรือการเรียนรู้เรื่องทางวิทยาศาสตร์หรือปรัชญาที่ลึกซึ้งกว่า

ความเชื่อในเจตจำนงเสรีบางครั้งคนอาจรู้สึกว่าตนเองเป็นผู้มีอิสระทางจิตใจและไม่เหมือนใคร ซึ่งส่งผลให้พวกเขารู้สึกว่าตนเองมีความพิเศษในส่วนตัว

การรับรู้และความเชื่อในการศรัทธาในบางกรณี ความเชื่อทางศาสนาหรือเชื้อชาติก็สามารถทำให้คนรู้สึกว่าตนเองมีส่วนที่พิเศษและเชื่อว่าตนเองมีเส้นทางที่เฉพาะเจาะจง

ความเชื่อในชีวิตหลังความตายบางคนอาจมีความเชื่อทางศาสนาหรือวิญญาณว่าตนเองมีบุคลิกภาพหรือเกิดมาเพื่อทำภารกิจหนึ่งๆ หลังจากความตาย เช่น การเป็นบุคคลที่มีบุญคุณหรือส่งเสริมสันติภาพในโลก

การเชื่อในความวิเศษของตนเองเป็นเรื่องส่วนบุคคลและมีหลายประการ การเชื่อนี้อาจมีผลกระทบในการดำเนินชีวิตและการเข้าถึงความเป็นจริงของแต่ละบุคคลได้ตามความเชื่อและประสบการณ์ของแต่ละบุคคลเอง

ความเชื่อเป็นรสนิยมของแต่ละคน ที่มีปัจจัยหลายปัจจัยที่หล่อหลอมให้เกิดขึ้น ในสังคมแต่ละยุคสมัยมีปัจจัยที่ต่างกัน จึงทำให้ความเชื่อกลายเป็นรสนิยมที่ต่างกันออกไปด้วย หากจะพูดในเชิงสังคมวิทยาที่เป็นหลักวิชาการก็คือ ความเชื่อเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนธรรมเนียมที่สืบ ๆ กันมา ทำให้เกิดมุมมองและความเชื่อ การทำพิธีกรรม การสร้างวัตถุตัวแทนความเชื่อที่เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อนั้นขึ้นมา ตามภาพความคิดที่แต่ละยุคสมัยเห็นว่าเป็นอย่างนั้น ๆ  มีการปฏิบัติตามพิธีกรรมนั้น ทำต่อเนื่องสืบกันมา จนทำให้ความเชื่อนั้นกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของแต่ละกลุ่มชน เป็นประเพณี เป็นวัฒนธรรม ทั้งที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น ประเทศ ขยายวงกว้างไกลในประเทศต่าง ๆ

บางความเชื่อ บางสัญลักษณ์ก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามความเชื่อของแต่ละภูมิสังคมของแต่ละแห่งด้วยความเชื่อของบุคคลส่วนใหญ่มักมีผลต่อปฏิกิริยาและการกระทำในสังคม เชื่อฟังและเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคมต่าง ๆ ได้แก่

การเชื่อเรื่องความเท่าเทียม ตามหลักสิทธิมนุษยชนในขณะนี้บางครั้งความเชื่อในเรื่องของความเท่าเทียมและความยุติธรรมมักทำให้บุคคลมองเห็นปัญหาและการกำเนิดปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทางสังคมอย่างแตกต่าง

การเชื่อเรื่องศาสนาความเชื่อทางศาสนามักมีผลต่อความคิดและพฤติกรรมของบุคคลในสังคม โดยส่งผลให้มีแนวคิดและการกระทำที่เฉพาะเจาะจงตามความเชื่อศาสนา

การเชื่อเรื่องวัฒนธรรมวัฒนธรรมที่ต่างกันมักสร้างความเชื่อมั่นและทำให้มีการพึ่งพากันตามกฎหมายหรือแนวปฏิบัติที่แตกต่างกัน

การเชื่อเรื่องสังคมและสมัยนิยมความเชื่อทางสังคมและการมีรสนิยมในการดำเนินชีวิต มีผลต่อวิธีการใช้ชีวิตและการเข้าถึงปรากฏการณ์ในสังคม ซึ่งอาจส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงและการดำเนินชีวิตที่หลากหลายตามความเชื่อนั้น ๆ

การเชื่อเรื่องสิ่งแวดล้อมส่งผลให้มีการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนหรือสังคมความเชื่อในสังคมที่มีความหลากหลายและจะมีผลต่อกระแสความคิดและพฤติกรรมของบุคคลในสังคมแต่ละแห่งมีส่วนทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมที่แตกต่างไปตามความเชื่อและมุมมองของแต่ละบุคคล จะเห็นได้ว่า ความเชื่อและความศรัทธาเป็นส่วนหนึ่งของทางศาสนาและวัฒนธรรมที่มีความหมายและลักษณะที่แตกต่างกันไป

ความเชื่ออาจหมายถึงความเชื่อในเรื่องทางจิตวิญญาณ หรือความเชื่อในเรื่องทางวิทยาศาสตร์ และเรื่องที่เชื่อมักมีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ ศึกษา หรือการรับรู้ที่แตกต่างกันไปของแต่ละบุคคลความเชื่อมักมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่เราวิเคราะห์หรือได้ยินมาและมักมีรากฐานในความเป็นส่วนตัวของบุคคลนั้น ๆ

ในขณะที่คำจำกัดความของความศรัทธา มีเรื่องที่ให้ทำความเข้าใจและต้องเข้าใจอย่างมากด้วยเช่นกัน เพราะทุกวันนี้กิจกรรมทุกอย่าง ล้วนดำเนินไปตามหลักความเชื่อของตัวเองและความเชื่อทางสังคม ที่จะส่งไปยังความเชื่อทางการเมือง เศรษฐกิจและอื่น ๆ อย่างมากมาย นั่นหมายความว่า รูปแบบและพฤติกรรมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่หากมองในมุมของประวัติศาสตร์ นั่นคือตัววัฒนธรรมของมนุษยชาติ ที่สะท้อนออกมาเชิงวัตถุที่เป็นวัฒนธรรมทางวัตถุสิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือน ที่เป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนการดำเนินชีวิตของมนุษย์ให้สะดวกมากขึ้น ในขณะวัฒนธรรมอีกชนิดหนึ่งนั้นคือสิ่งที่เกี่ยวกับจิตใจ ความคิด ความเชื่อ รสนิยมในการใช้ชีวิต เป็นเรื่องของนามธรรม เป็นทัศนคิ เป็นศาสนา เป็นปรัชญา วรรณกรรมต่าง ๆ หรือรวมไปถึงศิลปกรรม หัตถกรรม หรือแม้แต่ทัศนศิลป์ชนิดอื่น ๆ ด้วย เป็นวัฒนธรรมที่ไม่สามารถจับต้องได้ด้วยสัมผัสทางกายภาพ แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่และสัมผัสผ่านจิต ความคิด ความเชื่อว่ามีอยู่ จะว่าไปวัฒนธรรมเป็นเรื่องของภูมิปัญญาของมนุษย์ ที่มีอยู่หลายหมวดหมู่ตามที่นักวิชาการได้รวบรวมไว้ เป็น 10 เรื่อง ๆ 

ภูมิปัญญาในท้องถิ่นที่ใช้กันในภูมิสังคมต่าง ๆ ที่ถูกยกระดับเป็นภูมิปัญญาของโลก เป็นของมวลมนุษยชาติ ก็รวมถึงวัฒนธรรมที่เป็นทั้งวัตถุและจิตใจ ที่เป็นวิถีชีวิตของคนในสังคม สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลง บางสิ่งก็ดับสลายไป และมีสิ่งเกิดขึ้นใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนกว่าชีวิตจะสิ้นสุดและโลกจะดับสลาย เป็นระเบียบของวิถีชีวิต เป็นขั้นตอน เป็นกระบวนการทางสังคมที่ช่วยกล่อมเกลาและเป็นสิ่งที่สังคมตกลงร่วมกันเป็นสัญญาประชาคมที่ทั้งมั่นคง และทั้งที่มีการปรับแก้ให้เหมาะสมกับความต้องการของสังคม แม้ว่าจะมีบางกลุ่มในสังคมพอใจหรือไม่ หรือเสียประโยชน์ไปบ้างก็ตาม แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังดำรงอยู่และดำเนินไปภายใต้ความเชื่อทางสังคมที่อยู่ในรูปแบบของศาสนา พิธีกรรม การเมือง ระบบเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมที่ห่อหุ้มด้วยความทันสมัยของวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การศึกษา และนวัตกรรมแต่ละยุคสมัย ไม่ขาดสาย เรื่อยมา

หากจะมองในมุมข้างต้น ก็อาจจะพูดได้ว่าพฤติกรรมทางสังคมหรือการกระทำทางสังคมที่เราปฏิบัติต่อกันนั้น ล้วนเป็นผลจากศรัทธา จากความเชื่อด้วยเช่นกัน เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องค่อนข้างใหญ่ทีเดียว เรื่องศรัทธาของคนในสังคม ศาสดาผู้นำศาสนาจึงกล่าวไว้ว่าหากมีศรัทธาก็สามารถเคลื่อนย้ายภูเขาได้ ศรัทธา ที่เป็นตัวแปรพื้นฐานที่เป็นส่วนของสภาวะแวดล้อมเป็นบริบททางสังคม(ปรโตโฆสะ)จะต้องนำมาใช้ควบคู่กับสมรรถนะทางสติปัญญา(โยนิโสมนสิการ)ของคนในสังคม ความเชื่อ ความศรัทธาที่สมดุล จะเป็นประโยชน์ได้มากนั้น ก็ต้องขึ้นกับว่ามนุษย์ใช้ปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการ ให้มีคุณภาพที่ดีด้วย ต้องประคับประคองสร้างเสริมให้ไปในทิศทางที่เหมาะสม มีสมดุลย เป็นเรื่องสำคัญ

อีกมุมหนึงคือ ในแง่ของศาสนานอกจากจะพูดถึงความศรัทธาที่มักเป็นการยอมรับหรือการเชื่อมั่นในบางสิ่งบางอย่างโดยไม่ต้องมีหลักฐานหรือการพิสูจน์ทางทางวิทยาศาสตร์ความศรัทธายังมักมีความสัมพันธ์กับเชื้อชาติ ทางวัฒนธรรม และการรับรู้ทางสังคม และมักมีต่อศาสนาหรือสิ่งที่มีความสำคัญต่อบุคคลหรือชุมชนหมายความว่า หลักความเชื่อและความศรัทธานั้นเป็นเรื่องส่วนบุคคลและมีลักษณะที่หลากหลาย เนื่องจากมีการมองเห็นและเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ในทางที่แตกต่างกัน การเชื่อและความศรัทธาอาจมีบทบาทที่สำคัญในการกำหนดพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของบุคคลแต่ละคนในสังคม

พระพุทธศาสนา มีหลายมิติเรื่องศรัทธา ที่สอนแนะแนวทางในการปฏิบัติชีวิตในทางที่ดีและมีคุณค่า เพื่อให้ผู้ศรัทธาได้พัฒนาตนเองและสร้างสังคมที่ดี หลักการนี้ได้รับการอบรมสั่งสอนไว้อย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างคำสอนเรื่องศรัทธา เช่น

กัมมสัทธา ความเชื่อกรรม เชื่อกฎแห่งกรรม เชื่อว่ากรรมมีอยู่จริง คือ เชื่อว่า เมื่อทำอะไรโดยมีเจตนา คือ จงใจทำทั้งรู้ ย่อมเป็นกรรม คือ เป็นความชั่วความดีมีขึ้นในตน เป็นเหตุปัจจัยก่อให้เกิดผลดีผลร้ายสืบเนื่องต่อไป การกระทำไม่ว่างเปล่า และเชื่อว่าผลที่ต้องการ จะสำเร็จได้ด้วยการกระทำ มิใช่ด้วยอ้อนวอนหรือนอนคอยโชค เป็นต้น

วิปากสัทธา เชื่อในวิบากกรรม เชื่อผลของกรรม เชื่อว่าผลของกรรมมีจริง คือ เชื่อว่ากรรมที่ทำแล้วย่อมมีผล และผลต้องมีเหตุ ผลดีเกิดจากกรรมดี ผลชั่วเกิดจากกรรมชั่ว

กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน เชื่อว่าแต่ละคนเป็นเจ้าของ จะต้องรับผิดชอบเสวยวิบาก เป็นไปตามกรรมของตน

ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มั่นใจในองค์พระศาสดาตถาคต ว่าเป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ทรงพระคุณทั้ง 9 ประการ ตรัสธรรม บัญญัติวินัยไว้ด้วยดี ทรงเป็นผู้นำทางที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ คือเราทุกคนนี้ หากฝึกตนด้วยดีก็สามารถเข้าถึงธรรมสูงสุด บริสุทธิ์หลุดพ้นได้ ดังที่พระองค์ทรงบำเพ็ญไว้

อย่างไรก็ตาม การมีศรัทธาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลที่อาจจะเชื่อหรือทำตามอย่างที่ตนเองเชื่อ แต่ก็ต้องพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่จะทำ จะคิด ที่จะมีผลต่อศรัทธาของตนเองด้วย นี่อาจเป็นเหตุผลประการหนึ่ง ที่ในพระพุทธศาสนา แม้จะขึ้นต้นให้คนมีความเชื่อมีความศรัทธาไว้ก็ตาม แต่ก็มีหลักธรรมข้ออื่น ๆ อีก ที่เป็นชุดธรรมะ ที่กล่าวไว้หลังจากสอนเรื่องศรัทธาตอนต้นไว้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าศรัทธา เป็นองค์ประกอบในหลายๆหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ได้แก่พละ5 และอินทรีย์5 (สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา)สมชีวิธรรม4 (สมสัทธา สมสีลา สมจาคา สมปัญญา)เวสารัชชกรณธรรม5 (สัทธา ศีล พาหุสัจจะ วิริยารัมภะ ปัญญา)อริยวัฑฒิหรืออารยวัฑฒิ5 (สัทธา สีล สุตะ จาคะ ปัญญา)อริยทรัพย์7 (สัทธาสีล หิริ โอตตัปปะ พาหุสัจจะ จาคะ ปัญญา)สัปปุริสธรรม ได้กล่าวศรัทธาเป็นข้อแรกในจำนวนข้อธรรม 7 ข้อคือ มีสัทธา มีหิริ มีโอตตัปปะ เป็นพหูสูต มีความเพียรอันปรารภแล้ว มีสติมั่นคง มีปัญญา

ปัจจุบันเราจะพบว่ามีปรากฏการณ์ทางศาสนาที่เกี่ยวกับศรัทธาในผู้คน ที่เป็นตั้งแต่คนธรรมดาจนไปถึงคนวิเศษ  แบบธรรมชาตินิยม ศรัทธาในธรรมชาติ และวิญญาณนิยม ศรัทธาในวิญญาณบรรดามีในจักรวาล ที่อยู่ในสภาวะน้ำ ดิน หิน ทราย จำนวนมากและหลากหลาย

อย่างไรก็ตาม ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งรัฐไทย แม้จะระบุให้เป็นเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคล แต่ก็มีข้อกฎหมายอีกหลายฉบับที่ควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการมีความเชื่อ ความศรัทธา ไม่ให้กระทบต่อผู้อื่นด้วย ขณะเดียวกันก็มีกฎกระทรวง ประกาศใช้ในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิความเป็นมนุษย์ เป็นเด็ก เป็นสตรี ที่ผู้เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นบิดา มารดาหรือผู้ปกครองต่าง ๆ ต้องทำความเข้าใจ ไม่ให้คนที่ใกล้ชิดได้รับการกระทำที่นอกจากความเชื่อทางสังคม ความเชื่อทางศาสนา ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายแห่งรัฐด้วย เป็นสิ่งที่สังคมต้องใส่ใจและให้ความสำคัญควบคู่กันไปกับเสรีภาพบุคคลและหลักมนุษยธรรม ความเป็นมนุษย์

สังคมต้องทำเข้าใจและให้ความสำคัญและความเป็นธรรมต่อปรากฏการณ์ทางสังคมกรณีนรมิตเทวาจุติ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปรากฏการณ์ฮีโร่ทางสังคม ศาสนาและเทววิทยาอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก สิ่งนี้เป็นอกาลิโก เป็นสิ่งที่วิญญูชนรู้ได้ด้วยตน(ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ของโลก ต้องใช้เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรมและเมตตามโนกรรมในเบื้องต้น แล้วค่อยประคับประคองให้เป็นเรื่องนี้เกิดประโยชน์แก่สังคม และป้องกันไม่ให้สิ่งที่เป็นโทษเกิดขึ้น

การเกิดขึ้นของฮีโร่ในสังคมหลายแห่ง จะส่งผลกระทบในหลายด้าน เรื่องราวของฮีโร่มักถูกนำเสนอในวรรณกรรม เพลง ภาพยนตร์หรือสื่อในฐานะเป็นตัวแทนของค่านิยมและคุณค่าที่คนหลายคนในสังคมต้องการเหมือนกัน นอกจากนี้ฮีโร่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนในพหุสังคมเชิงคุณค่าความคิด ไม่ว่าจะเป็น ความกล้าหาญ ความเมตตา ความยุติธรรมที่สำคัญฮีโร่เป็นตัวแทนของความภูมิใจของคนในสังคมที่อยู่อาจแตกต่างกันแต่ละวัฒนธรรมหรือสังคมตามความเชื่อหรือปรัชญา ตลอดจนค่านิยมของแต่ละท้องถิ่น

ศรัทธา ความเชื่อควรจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่เรียกว่าสัทธาญาณสัมปยุตต์ คือมาคู่กัน ศรัทธากับความรู้ที่เท่าเทียม ควรจะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา ที่จะสร้างให้สังคมและวัฒนธรรมไปในทิศทางของอารยะ มองในมุมนี้จะเห็นได้ว่าศรัทธา ความเชื่อจึงเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของสังคม ไปไกลกว่าจะมองว่าเป็นเรื่องของบุคคล ครอบครัว แต่เป็นเรื่องของสังคมส่วนรวมซึ่งต้องใช้ศรัทธาให้เหมาะสมกับปัญญาที่มี ใช้ความเพียรให้เหมาะสมกับสมาธิจิต โดยทุกกิจกรรมที่ผู้มีศรัทธามีความเชื่อ ต้องใช้สติเป็นฐานรากประคับประคองของความคิด ใช้สติให้เป็นโซ่ข้อกลาง ทำให้เกิดสมดุล ให้เป็นความสุข ให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่น

อย่างไรก็ตามศรัทธา ความเชื่อที่เป็นไปเพื่อสันติสุขของมวลมนุษยชาติและสังคม ตลอดจนเป็นไปเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นแก่โลก คนที่เชื่อ คนที่ศรัทธาตามนั้น ไม่สร้างวาทกรรมเพื่อวิวาทะต่อกัน คิดอะไรๆ ก็คิดด้วยเมตตา พูดอะไรๆ ก็พูดด้วยเมตตา ทำอะไรๆ ก็ทำด้วยเมตตา ไม่เป็นต้นเหตุทำให้สังคมวุ่นวาย จึงจะเป็นศรัทธา เป็นความเชื่อที่สังคมต้องการอย่างแท้จริง