วันพุธ ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 07:06 น.

การเมือง » คอลัมน์

แยกรัชวิภา

บ้านเมืองออนไลน์ : วันพุธ ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2567, 19.21 น.

หมูเถื่อนเจอตอ ... ฤา “เหยื่อ” ต้องทำใจ

หมูเถื่อนเจอตอ ... ฤา “เหยื่อ” ต้องทำใจ

โดย วลัญช์ ศรัทธา 

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า “สินค้าราคาถูกที่ทะลักเข้าไทยมากมาย ทั้งที่ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมายในลักษณะลักลอบนำเข้า และสำแดงเท็จ คล้ายกรณีสินค้า “หมูเถื่อน” ที่สำแดงเป็นอาหารทะเล ทำให้การตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานสินค้าเป็นไปได้ยาก ซึ่งถ้ามาตรการควบคุมดูแลของประเทศไทยดีจะไม่กระทบภาคการผลิตของประเทศขนาดนี้ แต่เวลานี้ SME หลายรายต้องปิดตัว จึงเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนกับภาครัฐต้องมาร่วมกันหาทางแก้ไขอย่างจริงจังก่อนที่จะสายเกินไป”

นับเป็นมุมมองที่สะท้อนว่า ถึงเวลาจำเป็นอย่างยิ่งแล้วที่ประเทศไทย ต้องดำเนินการเกี่ยวกับมาตรการควบคุมดูแลการนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าผิดกฎหมาย ทุกชนิดเพราะมันกระทบภาคการผลิตและเศรษฐกิจของประเทศอย่างประเมินค่าไม่ได้ แต่เมื่อหันมามอง คดีหมูเถื่อนที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี ก็สะท้อนใจว่า มาตรการดีๆ ที่ ประธาน ส.อ.ท.พูดถึง จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ขนาดคดีดังอย่างหมูเถื่อนยังเจอ “ตอ” จนต้องสะดุดหยุดเดินหน้า และปล่อยให้เงียบหายไปกับสายลม

ฤา “เหยื่อ” อย่างคนเลี้ยงหมูไทย ต้องทำใจยอมรับความผิดหวังที่ไม่สามารถ จับกุม “ผู้บงการ” หมูเถื่อนได้ เพียงเพราะอิทธิพลระดับนักการเมือง มีพาวเวอร์มากพอที่จะทำให้ดำกลายเป็นขาว ผิดกลายเป็นถูก และไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายมูลค่าหมื่นล้านของเศรษฐกิจชาติเลยแม้แต่น้อย 

เรื่องราวของหมูเถื่อนถูกพูดถึงน้อยลง และค่อยๆ เจือจางจนเหมือนหายไป นับเป็นประโยชน์กับพวกมิจฉาชีพยิ่งนัก  เสียงเรียกร้องของคนเลี้ยงหมูคงแผ่วเบาเสียจนผู้รักษากฎหมายไม่ได้ยิน ล่าสุด ที่เกษตรกรออกมาถามหาผลการตรวจสอบท่าเรือคลองเตยซึ่งพบตู้คอนเทนเนอร์แช่เย็นตกค้างอีกหลายตู้ก็ “ไม่มีสัญญาณตอบรับ” ใดๆ จากการท่าเรือ หรือ กรมศุลกากร ยิ่งทำให้คนเลี้ยงหมู “หมดใจ” 

หากเกษตรกรต้องทำใจยอมรับว่า “ผู้ร้าย” คงลอยนวลเป็นแน่ อย่างน้อยก็ขอให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ สร้างรูปแบบการบริหารจัดการและป้องกันของเถื่อนเสียใหม่ อย่าให้เกิดเหตุการณ์ “หมูเถื่อน” เกิดขึ้นมาซ้ำรอยอีกในอนาคต ก็อาจจะยังพอต่อความมั่นใจให้เกษตรกรไทยประกอบอาชีพนี้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงมาตรการดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง ที่กำกับดูแลกรมศุลกากร ซึ่งเป็นด่านหน้าที่ต้องเปลี่ยนรูปแบบการตรวจสอบสินค้าเข้าประเทศให้เข้มข้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ดูแลกรมปศุสัตว์และกรมประมงที่ต้องมีสายตาสัปปะรด รู้เท่าทันปริมาณผลผลิตในประเทศเชื่อมโยงถึงปริมาณสินค้าที่ลักลอบหรือแม้แต่ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในที่ต้องกำกับการค้าขายเนื้อหมู ต้องจับสังเกตุได้ถึงราคาที่ตกต่ำจากปริมาณเนื้อหมูที่มากเกินจริงและต้องส่งสัญญาณอันตรายไปยังหน่วยงานต้นน้ำ รวมถึงเร่งตรวจสอบห้องเย็นห้างร้านที่อาจวางจำหน่ายของเถื่อน ตลอดจน กระทรวงมหาดไทย ที่ต้องเข้มบังคับใช้กฎหมาย หรือแม้แต่ กระทรวงยุติธรรม ที่กำกับดูแล DSI หรือหน่วยงานที่พร้อมจัดการเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมือง ก็ต้องเข้มแข็งเด็ดขาดเช่นกัน ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐทำงานกันเป็นเครือข่ายใยแมงมุมเช่นนี้ ก็น่าจะปกป้องคนไทยให้ปลอดภัยจากการถูก “ของเถื่อน” รุกรานได้... เศรษฐกิจไทยจะไม่ชอกช้ำดังที่กำลังเกิดขึ้น

หรือสิ่งที่ขอนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้น ... เหมือน “ของเถื่อน” และ “คอรัปชั่น” ที่ไม่มีทางหมดไป