ต่างประเทศ
แบรนด์ 'ทุเรียนไทย' แข็งแกร่ง รับบท 'ทูตวัฒนธรรม' ท่ามกลางการแข่งขัน
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

หนานหนิง, 27 พ.ค. (ซินหัว) -- การกินทุเรียน ชิมอาหารไทย และชมการแสดงนาฏศิลป์ ในบรรยากาศช่วงต้นฤดูร้อนแสนผ่อนคลายในเมืองใหญ่ทางตอนใต้ของจีน กำลังกลายมาเป็นสื่อกลางในการนำเสนอและเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นในหมู่ชาวจีน
ปัจจุบันรัฐบาลไทยได้จัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ "เทศกาลไทย" "เทศกาลทุเรียน" ขึ้นในหลายๆ เมืองของจีน จนกลายเป็นไฮไลต์ใหม่ในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-จีน ไม่นานนี้ สำนักงานฝ่ายการพาณิชย์ประจำสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครหนานหนิง ก็ได้จัดงาน "เทศกาลชอปปิงผลิตภัณฑ์ยอดนิยมและเทศกาลทุเรียนไทยปี 2025" ในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ภายในงานมีสินค้าไทยหลากหลาย ทั้งอาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน หัตถกรรม ฯลฯ โดย "ทุเรียน" เป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจมากที่สุดจนกลายเป็น "ดาวเด่น" ประจำงาน
ข้อมูลจากศุลกากรจีนระบุว่าปี 2024 จีนนำเข้าทุเรียนสูงเป็นประวัติการณ์ แตะที่ 1.56 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.28 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 และร้อยละ 4.1 ตามลำดับ เมื่อเทียบปีต่อปี โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกทุเรียนสู่ตลาดจีนรวม 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.3 แสนล้านบาท)
ด้วยความพยายามร่วมกันของภาครัฐและภาคเอกชนไทย ทุเรียนซึ่งเป็น "ราชาแห่งผลไม้" ได้พลิกบทบาทจากผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร มาเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการสะท้อนถึงวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศของไทย โดยรัฐบาลไทยทำให้ "เทศกาลทุเรียน" เป็นทั้งกิจกรรมส่งเสริมการขาย และยังเป็นเวทีการสื่อสารแบบครบวงจร ที่ผสานทั้งการโปรโมตแบรนด์สินค้า การแสดงออกทางวัฒนธรรม และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้บริโภค
ยอดขายทุเรียนไทยที่พุ่งสูง คือภาพสะท้อนของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีน-ไทยที่แน่นแฟ้นมากขึ้น การเปิดช่องทางโลจิสติกส์ เช่น ทางรถไฟจีน-ลาว และผลประโยชน์ด้านนโยบายจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ทำให้ความรวดเร็วและปริมาณสินค้าเกษตรไทยหลั่งไหลเข้าสู่จีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เฉินอี้เฉียว ผู้จำหน่ายผลไม้ที่ตลาดค้าส่งผลไม้ไห่จี๋ซิงในกว่างซี เผยว่าทุเรียนไทยได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในเมืองระดับ 1 ทั้งยังถูกจัดให้เป็น "สินค้าสุดฮอต" ในบรรดาเมืองระดับ 3 และ 4 หลายต่อหลายครั้ง แค่หนานหนิงเพียงแห่งเดียว ปริมาณการนำเข้าทุเรียนเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับตัวเลขเมื่อ 5 ปีก่อน แม้ว่าจะมีทุเรียนจากเวียดนาม มาเลเซีย และที่อื่นๆ เข้ามาตีตลาดจีน แต่ทุเรียนไทยยังคงมีข้อได้เปรียบจากห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงและชื่อเสียงของแบรนด์
ขณะเดียวกัน การเลือกซื้อทุเรียนของผู้บริโภคชาวจีนมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่การซื้อตามซูเปอร์มาร์เก็ต การซื้อแบบกลุ่ม ไปจนถึงการซื้อทางออนไลน์ผ่านไลฟ์สดพร้อมจัดส่งแบบทันที ช่วยให้ทุเรียนเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์แปรรูปทุเรียน เช่น ชานมทุเรียน ขนมไหว้พระจันทร์ทุเรียน และขนมทุเรียน ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น "ปัจจุบันทุเรียนไม่ได้เป็นแค่ผลไม้ แต่เป็นสื่อกลางในการเสพประสบการณ์ของผู้บริโภค" เฉินกล่าว
ทุเรียนไทยกำลังค่อยๆ พลิกบทบาทสู่ "ทูตวัฒนธรรม" ที่เชื่อมโยงหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว องค์กรธุรกิจ ผู้ประกอบการ บริษัทข้ามชาติ ตลอดจนทรัพยากรทางวัฒนธรรม อุตสาหกรรม และการทูตของไทยเข้าไว้ด้วยกัน
ท่ามกลางการแข่งขันระดับภูมิภาคที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ไทยพยายามใช้ทุเรียนเป็นสื่อกลางเพื่อสร้างการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมที่ยั่งยืน ทุเรียนอาจเป็นเพียงการเปิดประสบการณ์รสชาติแปลกใหม่สำหรับผู้บริโภคชาวต่างชาติ ทว่าเมื่อมองให้ลึกลงไป เราย่อมจะได้เห็นถึงการคัดสรรและการแสดงออกของคุณค่าทางวัฒนธรรมของไทย
(แฟ้มภาพซินหัว : เทศกาลชอปปิงผลิตภัณฑ์ยอดนิยมและเทศกาลทุเรียนไทยปี 2025 ในนครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน)
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » ต่างประเทศ
ข่าวในหมวดต่างประเทศ ![]()
จีนเริ่มปรับอัตรา “ภาษีนำเข้า” สินค้าจากสหรัฐฯ 18:49 น.
- "ทรัมป์" ปิดดีลซาอุฯลงทุนกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ - เปิดข้อเสนอ 5 ข้อหลักสหรัฐฯเสนอไทย 09:27 น.
- "ทรัมป์" เยือน 3 ชาติตะวันออกกลาง กระชับสัมพันธ์พลังงาน-เทคโนโลยี สหรัฐฯชมไทยมีข้อเสนอเด่นเรื่องภาษี 21:34 น.
- บทความคิดเห็น : จีน-สหรัฐฯ หารือการค้า เรียกความเชื่อมั่น "เศรษฐกิจโลก" 16:44 น.
- "ทรัมป์" ยินดี! โลกได้พระสันตะปาปาองค์ใหม่แล้ว "โป๊ปลีโอที่ 14" ประสูติ ณ ชิคาโก เผยภารกิจปฏิรูปคริสตจักร 08:09 น.