วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 09:18 น.

กิจกรรม

อพท.วัดความสุขด้านการท่องเที่ยวยกระดับสู่มาตรฐานสากล

วันจันทร์ ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2562, 14.30 น.

อพท.และ Planet Alliance ลงนามความร่วมมือ (MOU) นำดัชนี Happiness Index สำรวจความสุขของชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว ประเดิมพื้นที่พิเศษ ระบุเป็นครั้งแรกของประเทศไทยของการนำเครื่องมือระดับสากลมาใช้วัดความสุขด้านการท่องเที่ยว

ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ได้ร่วมลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ Planet Alliance  ดำเนินการในพื้นที่มรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอยุธยา รวมถึงพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้าง พื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง พื้นที่พิเศษเลย พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน และพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง เพื่อแสดงให้เห็นว่าความเป็นอยู่และความสุขของชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวนั้นมีความสำคัญเช่นเดียวกับตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยว และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP)  สำหรับเครื่องมือ Happiness Index นับเป็นดัชนีชี้วัดที่สะท้อนให้เห็นถึงการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในระดับสากล

รองผู้อำนวยการ อพท. กล่าวอีกว่า ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว ทาง Planet Alliance  ยังได้จัดกิจกรรมนำร่องภายใต้กรอบ MOU จะเป็นการฝึกอบรม Planet Happiness Index ให้แก่เจ้าหน้าที่ อพท. และสถาบันการศึกษาที่เป็นพันธมิตรกับ อพท. เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและวิธีการใช้เครื่องมือวัดความสุข Happiness Index โดยมีผู้เชี่ยวชาญ คือนางลอร์ร่า มูซิคานส์คี นักเขียน นักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญด้านความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีมากว่า 8 ปี และ ดร.พอล โรเจอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและยังเป็นที่ปรึกษาโครงการต่างๆด้านการท่องเที่ยวขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ในการให้ความรู้ด้วย

นอกจากนี้ยังได้มีการนำแบบสำรวจความสุข Planet Happiness Index ที่ง่ายต่อการเข้าใจและใช้งานอันจะช่วยให้ อพท. สามารถนำไปปรับใช้ในการลงพื้นที่ทำการสำรวจความสุขของชุมชนแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอยุธยา โดยใช้เกณฑ์ Planet Happiness Index ใน 6 องค์ประกอบ ได้แก่ ความพึงพอใจต่อชีวิต การเข้าถึงธรรมชาติและศิลปะ การมีส่วนร่วมของชุมชน มาตรฐานการครองชีพ การเรียนรู้ตลอดชีวิตและสุขภาพของสมาชิกในชุมชน

ทั้งนี้การทำงานของ Planet Happiness มีเป้าหมายเพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของสภาความสุขสากล (Global Happiness Council) มีจุดมุ่งหมายหลัก 2 ประการคือการสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างการท่องเที่ยวและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวและเพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมในความสุขมวลรวมประชาชาติ Gross National Happiness (GNH) มากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP)โดยเป็นความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวและสื่อสารมวลชน กับ Happiness Alliance และการสำรวจ (happiness survey) จะถูกนำไปใช้ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกขององค์การยูเนสโกที่ได้รับการจดทะเบียนจำนวน 1,073 แห่งทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม “ความยั่งยืนของการท่องเที่ยวนั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพชีวิตที่ดีและการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการท่องเที่ยวของสมาชิกในชุมชนแหล่งท่องเที่ยว อพท. ในฐานะหน่วยงานประสาน ส่งเสริม และสนับสนุน การพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษและการท่องเที่ยวโดยชุมชน จะได้นำดัชนีวัดความสุข Happiness Index มาปรับใช้ในการสำรวจคุณภาพชีวิตและความสุขของชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆที่ อพท. รับผิดชอบ ซึ่งความอยู่ดีมีสุขถือได้ว่าเป็นตัวชี้วัดการดำเนินงานในระดับ Outcome ที่สะท้อนภารกิจตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งองค์กร  นอกจากนี้ ยังจะได้นำผล/ข้อมูลที่ได้จากการประเมิน มาปรับปรุงแก้ไขเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความสุขให้กับชุมชนในแหล่งท่องเที่ยวต่อไป

ดร.พอล โรเจอร์ส ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการของ Planet Alliance  กล่าวว่า ปัจจุบันแบบสำรวจ Happiness Index surveys ถูกนำไปใช้สำรวจความสุขของชุมชนแหล่งท่องเที่ยวกว่า 10 ประเทศแล้ว ได้แก่ ตุรกี เนปาล อินโดนีเซีย อังกฤษ โมซัมบิก เวียดนามและลาว สำหรับในประเทศไทยนั้น กรอบความร่วมมือ (MOU) กับ อพท. ถือเป็นพันธมิตรองค์กรภาครัฐรายแรก และเป็นต้นแบบให้แก่หน่วยงานบริหารจัดการการท่องเที่ยวภาครัฐในประเทศต่างๆทั่วโลก ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการวัดความสุขและความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเป้าหมายของ  Planet Alliance ที่จะได้ทำงานร่วมกับองค์กรการท่องเที่ยวภาครัฐและมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อส่งเสริมความสุขของชุมชนที่เป็นเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆเชกเช่นเดียวกับ อพท. ที่มีวัตถุประสงค์ในการทำงานเพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เราจะนำการท่องเที่ยวให้เป็นมากกว่าเงินดอลลาร์และจีดีพี ซึ่งก็คือการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในด้านของความสุขและวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่นนั่นเอง