วันอังคาร ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 22:19 น.

กทม-สาธารณสุข

4 กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบก่อนสัมผัสโรค

วันอังคาร ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2561, 10.51 น.

4 กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบก่อนสัมผัสโรค เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย 

 

 
กรมควบคุมโรค แนะ 4 กลุ่มเสี่ยงที่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบก่อนสัมผัสโรค เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ชี้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบก่อนสัมผัสโรคแล้ว หากถูกสัตว์กัด ข่วนหรือเลีย       ก็ต้องพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนกระตุ้นต่อ ส่วนประชาชนทั่วไป แนะนำให้เป็นวัคซีนทางเลือกและต้องปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเป็นรายๆ ไป
 
 
นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การฉีดวัคซีนแบบก่อนสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้านั้น เป็นวัคซีนชนิดเดียวกับวัคซีนที่ฉีดหลังสัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคในกลุ่มเสี่ยงสูง ได้แก่ 1. คนที่ทำงานคลุกคลี สัมผัสดูแล รักษาสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตลอดเวลา อาทิ สัตว์แพทย์และผู้ช่วยในคลินิกรักษาสัตว์  อาสาสมัครปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านที่ช่วยฉีดวัคซีนในสัตว์ เป็นต้น 2.ผู้ที่มีอาชีพเพาะเลี้ยง หรือเพาะพันธุ์สัตว์ จำพวก สุนัข แมว และสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่เลี้ยงลูกด้วยนม 3.ผู้ที่มีอาชีพหาของป่าที่อาจมีอันตรายจากสัตว์ป่ากัด และ        4.นักทัศนาจรที่เดินทางจากเขตปลอดโรคแล้วเดินทางเข้าไปในพื้นที่ระบาดหรือโรคชุกชุม 
 
 
การฉีดวัคซีนป้องกันแบบก่อนสัมผัสโรคนั้นจะฉีดทั้งหมด 3 เข็มในระยะห่างตามที่กำหนด และถ้าหากมีการสัมผัสโรคหลังจากฉีดวัคซีน ก็จะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกเพียง 1 หรือ 2 เข็ม โดยมิต้องฉีดเซรุ่มที่เรียกว่า อิมมูโนโกลบูลิน การฉีดวัคซีนป้องกันแบบก่อนสัมผัสโรค หรือ แบบล่วงหน้านั้น จึงเป็นการฉีดวัคซีนทางเลือกที่ผู้รับบริการฉีดวัคซีนต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง โดยต้องปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเป็นรายๆ ไป 
 
 
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ ประชาชนต่างให้ความสนใจในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแบบก่อนสัมผัสโรคจำนวนมาก ซึ่งบ่งชี้ว่าประชาชนให้ความตระหนักในการป้องกันโรคมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ขอให้ข้อมูลว่าไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับหรือไม่ได้รับวัคซีนป้องกันก่อนสัมผัสโรค ก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกัน และหากถูกสุนัข แมวกัดหรือข่วน และมีแผลแม้เพียงเล็กน้อย ต้องล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 10 นาที และใส่ยาโพวิโดนไอโอดีน (เบตาดีน)    หลังล้างแผล เพื่อลดปริมาณเชื้อที่จะเข้าสู่ร่างกาย จากนั้นรีบไป พบแพทย์ทันที เพื่อพิจารณาเรื่องการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งหากได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ควรไปรับวัคซีนตามนัดทุกครั้ง ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค           ได้จัดพิมพ์เอกสารคำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนแบบหลังสัมผัสโรคฉบับมาตรฐานแจกจ่ายไปยังสถานบริการสาธารณสุขทั่วประเทศแล้ว เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ประชาชนผู้มีประวัติเคยถูกกัด ข่วน ในช่วง 1-2 เดือน แต่ไม่ได้เข้าไปฉีดวัคซีน ขอแนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อปรึกษารับการฉีดวัคซีนภายหลังสัมผัสโรค หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข