วันศุกร์ ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 19:49 น.

กทม-สาธารณสุข

สสส.เร่งสร้างนวัตกรรมนักพากย์เรือเยาวชนต้านแอลกอฮอล์

วันพุธ ที่ 02 ตุลาคม พ.ศ. 2562, 17.12 น.

สสส.เครือข่ายงดเหล้าจัดแข่ง “นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุขชิงถ้วยพระราชทาน” สร้างเครือข่ายเยาวชนสร้างสุขทั่วประเทศ ยกระดับให้เกิดนวัตกรรมนักพากย์เรือต้านแอลกอฮอล์ จุดประกายฝันเยาวชนร่วมสืบสานวัฒนธรรมประเพณีแข่งเรือยาว

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง กรุงเทพฯ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ ๑ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานแถลงข่าวการจัดประกวด “นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุขชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 1” ว่า สสส. ได้สนับสนุนการรณรงค์แข่งเรือปลอดเหล้าต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 ปัจจุบัน ในปี 2562 มีพื้นที่เข้าร่วมโครงการแข่งเรือปลอดเหล้าร่วมกับ สสส. และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) 80 พื้นที่ จาก 200 สนามแข่งเรือทั่วประเทศ ในปีนี้ สสส. จึงร่วมกับ สคล. เครือข่ายนักพากย์เรือสร้างสุข จัดประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถือเป็นครั้งแรกของประเทศ ที่มีการแข่งขันพากย์เรือชิงถ้วยพระราชทาน  โดย สสส. คาดหวังให้กิจกรรมสร้างสรรค์ที่ริเริ่มต่อยอดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นการจุดประกายครั้งใหญ่ในวงการเรือแข่ง ที่ได้ร่วมกันเปิดพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กเยาวชน ได้เข้ามีส่วนร่วมสานต่อมรดกภูมิปัญญาประเพณีการแข่งเรือปลอดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นพ.คำนวณ กล่าวต่อว่า จากการสำรวจปี 2560 มีงานแข่งเรือปลอดเหล้าร้อยละ 56.41 ต่อมาในปีในปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 69.5 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและธรรมเนียมปฏิบัติของสังคมที่ว่า การดื่มเหล้าเบียร์ในงานแข่งเรือเป็นเรื่องไม่ปกติ สอดคล้องกับผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้มาเที่ยวชมงาน ผู้จัดงาน ผู้แสดงทางวัฒนธรรม และผู้จำหน่ายสินค้า ร้อยละ 97.50 เห็นด้วยกับการจัดงานแข่งเรือปลอดเหล้า เนื่องจากเห็นผลดีจากการที่ไม่มีเหตุทะเลาะวิวาท ไม่มีคนมึนเมาในงาน สอดคล้องกับการเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลน่านรอบ 10 ปี (ปี 2550-2559) พบว่าสถิติการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากความมึนเมาในช่วง 3 เดือนของฤดูกาลแข่งเรือที่จังหวัดน่านลดลงถึงร้อยละ 85  กลายเป็นตัวอย่างที่ดี นำไปสู่การขยายผลต่อในงานประเพณีอื่นๆ

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์  ผู้จัดการแผนงานนโยบายสาธารณะและปรับเปลี่ยนค่านิยมทางสังคม สคล.กล่าวว่า ปัจจุบันการจัดงานแข่งเรือกลายเป็นพื้นที่ธุรกิจ นักพากย์เรือมีบทบาทสำคัญในกระบวนการแข่งเรือ เป็นผู้ทำหน้าที่ในการส่งต่อหลักคิดภูมิปัญญาความลุ่มลึก ในวิถีของงานแข่งเรือไปสู่สาธารณะ ซึ่งหนึ่งในยุทธศาสตร์การทำงานรณรงค์แข่งเรือปลอดเหล้าที่สำคัญคือ การพัฒนาและส่งเสริมนักพากย์เรือเยาวชนรุ่นใหม่ ให้เกิดความเข้าใจและส่งต่อสืบทอดวิถีวัฒนธรรมสายน้ำ จากนักพากย์รุ่นใหญ่สู่นักพากย์รุ่นเยาวชน เพื่อทำหน้าที่ในการสืบสานประเพณี ขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างการรู้เท่าทันและตระหนักถึงผลกระทบจากการตลาดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีต่อสังคมชุมชนโดยเฉพาะผ่านประเพณีวัฒนธรรมการแข่งเรือ และยังทำหน้าที่ในการสร้างเสริมสุขภาพสร้างสุขให้สังคมไปในคราวเดียวกันด้วย

นายพีระพงศ์ พรหมบุตร ผู้ประสานงานโครงการนักพากย์เรือสร้างสุข กล่าวว่า ได้ร่วมกับ สสส. จัดเวทีอบรมนักพากย์เรือปลอดเหล้าตั้งแต่ปี 2553  มีเยาวชนเข้าร่วมโครงการฯ 200 กว่าคน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนามุ่งไปสู่การสร้างเครือข่ายนักพากย์เรือที่มีคุณภาพและสร้างสุขให้แก่สังคมในอนาคต การจัดประกวดครั้งนี้ โดยคณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกเยาวชนจาก 4 ภูมิภาคทั่วไทยเข้าร่วมในกิจกรรม เพื่อเป็นแสดงความสามารถที่มีเทคนิคและลีลาเฉพาะในการพากย์เรือของแต่ละภูมิภาค หลักเกณฑ์ของการตัดสิน เน้นเรื่องทักษะการพากย์เรือ การใช้ภาษาและน้ำเสียง การนำเสนอประเพณีท้องถิ่นต่างๆ ประกอบการบรรยาย ความรู้เรื่องประวัติเรือแข่ง ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลการรณรงค์ลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการพนัน ลีลา ไหวพริบการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ ทั้งนี้ แกนนำเครือข่ายนักพากย์เรือสร้างสุขได้จัดแข่งขันในกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กเยาวชนอายุตั้งแต่ 10-25 ปี แบ่งเป็นประเภทเดี่ยวบุคคล ภูมิภาคละ 3 คน รวม 12 คน และประเภททีม (5 คน) 4 ทีม รวม 20 คน ร่วมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ในวันที่ 25-27 ตุลาคมนี้  ที่เทศบาลตำบลท่าตูม อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข