กทม-สาธารณสุข
“สาธิต” ชูต้นแบบ “ระยองโมเดล” สร้าง 5 แนวทางลดอุบัติเหตุทางถนน
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่

“สาธิต” ชื่นชม สสส.-สถาบันยุวทัศน์ฯ-อาชีวศึกษาระยอง สานพลังลดอุบัติเหตุทางถนน สร้าง 5 แนวทางลดสูญเสียกลุ่มนักเรียน-นักศึกษาได้สำเร็จ 1 ปี ตายเป็นศูนย์ พร้อมส่งต่อระยองโมเดลสู่พื้นที่อื่นต่อไป
วันที่ 31 ต.ค. 2565 ณ วิทยาลัยการอาชีพแกลง อ.แกลง จ.ระยอง สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย(ยท.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และวิทยาลัยอาชีวศึกษา 5 แห่งใน จ.ระยอง แถลงข่าวผลสำเร็จการดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่องการลดอุบัติเหตุทางถนนของนักศึกษาอาชีวศึกษา โดยใน 1 ปีที่ผ่านมาสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของนักศึกษาเป็นศูนย์ได้ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1 กล่าวว่า สภาพแวดล้อมในปัจจุบันมีความต้องการใช้รถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น บางพื้นที่ระบบขนส่งสาธารณะยังไม่ครอบคลุม รถจักรยานยนต์จึงเป็นตัวเลือกให้เด็ก และเยาวชน เดินทางไปเรียน หรือประกอบอาชีพ เพิ่มสูงขึ้น
ดร.สาธิต กล่าวว่า ข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนจากกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าปี 2554–2563 ไทยมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน สะสมถึง 206,589 คน เฉลี่ย 20,659 คนต่อปี โดยอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนการเสียชีวิตสูงถึง 73.59% กลุ่มอายุที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ รถจักรยานยนต์สูงสุดคือ กลุ่มอายุ 15-19 ปี ขณะที่ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่จังหวัดระยอง ปี พ.ศ. 2564 พบว่ามีผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 16,739 คน และผู้เสียชีวิตรวม 390 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 10-24 ปี ที่บาดเจ็บจำนวน 5,430 คน และเสียชีวิตถึงจำนวน 91 คนความร่วมมือกันระหว่างสถาบันยุวทัศน์ ฯ และ สสส. กับสถาบันอาชีวศึกษา 5 แห่ง ประกอบด้วยวิทยาลัยเทคนิคระยอง วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด วิทยาลัยเทคนิคบ้านค่าย วิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง และวิทยาลัยการอาชีพแกลง จึงเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการลดอุบัติเหตุทางถนนของกลุ่มเด็กและเยาวชน
“จากการดำเนินงานตลอดระยะ 1 ปีที่ผ่านมา สามารถทำให้อัตราการเสียชีวิตของนักศึกษาเป็นศูนย์ได้ตามเป้าหมาย โดยมีจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน 16 ราย ซึ่งลดลงได้ชัดเจนหากเทียบกับปี 2562 ที่มีนักศึกษาเสียชีวิต 8 ราย และได้รับบาดเจ็บถึง 179 ราย หรือลดลงได้กว่า 91% และแม้ในช่วงปี 2563-2564 ที่อยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการปิดการเรียนการสอนก็ยังมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยปี 2563 เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บ 214 คน และปีงบประมาณ 2564 เสียชีวิต 4 คน บาดเจ็บ 103 คน จึงเห็นได้ชัดเจนว่ามาตรการรอบด้าน เช่น การบังคับใช้กฎหมาย การสร้างองค์ความรู้ที่ต่อเนื่อง การฝึกทักษะการขับขี่รถจักรยานยนต์ และการมีความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพนั้นทำให้อุบัติเหตุทางถนนลดลงอย่างเป็นรูปธรรม จึงอยากฝากไปยังสถานศึกษาอื่น ๆ ด้วยว่าหากเราร่วมมือกันในลักษณะนี้ทุกจังหวัดทุกพื้นที่ก็จะทำให้อัตราการเสียชีวิตของลูกหลานเราลดลงจนเป็นศูนย์ได้แน่นอน” ดร.สาธิต กล่าว
นางรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่าสสส.สนับสนุนการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน ผ่านหน่วยงานภาคีเครือข่าย เช่น โครงการเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงทางสังคม โดยมียธ. ที่เป็นหนึ่งหน่วยงานในการร่วมขับเคลื่อนและขยายผล ในการสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนในกลุ่มเด็กและเยาวชน ผ่านการสนับสนุนข้อมูลงานวิชาการเพื่อในนำไปออกแบบการทำงานด้านการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุทางถนน ให้เหมาะสมตามบริบทของแต่พื้นที่ พร้อมทั้งสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพและความรู้ด้านอุบัติเหตุทางถนนให้แก่เครือข่ายและเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มอายุ 15-19 ปี ที่สามารถทำใบขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ได้แล้ว แต่ยังคงต้องเพิ่มทักษะการประเมินสถานการณ์ความเสี่ยง การตัดสินใจและรวมถึงการควบคุมรถเมื่อเผชิญเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะเรื่องของการเบรกรถให้มีทักษะเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และฝากเน้นย้ำในเรื่องของการสวมหมวกนิรภัยเมื่อขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ เพราะนั่นจะสามารถลดความเสี่ยงและความรุนแรงจากการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ถึง 72%
นายชูชีพ อรุณเหลือง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคระยอง ในฐานะประธานคณะกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัดระยอง (อศจ.ระยอง) กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ผลสำเร็จของการดำเนินงานในครั้งนี้ วิทยาลัยอาชีวศึกษาของรัฐทั้ง 5 แห่ง ได้ดำเนินงานอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ตามมาตรการต่าง ๆ ได้แก่ 1. การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสถานีตำรวจภูธรทุกพื้นที่ รวมถึงการบังคับใช้กฎระเบียบของสถานศึกษาว่าด้วยความประพฤติของนักศึกษา 2.ประกาศนโยบายสถานศึกษาปลอดภัย (Safety School) 3. พัฒนาและสร้างองค์ความรู้ เช่น อบรมฝึกทักษะการขับขี่รถจักรยานยนต์ตามขนาดกำลังเครื่องยนต์ 4. กิจกรรมส่งเสริมให้นักศึกษามีใบอนุญาตขับขี่รถจักรยานยนต์ 5. มาตรการด้านสภาพแวดล้อม เช่น ศึกษาจุดเสี่ยงโดยรอบสถานศึกษา ส่งเรื่องให้หน่วยงานในพื้นที่แก้ไขปรับปรุง ส่งเสริมให้ใช้หมวกนิรภัย 100%
“นอกจากมาตรการต่างๆ ได้มีการบำรุงรักษารถจักรยานยนต์ของนักศึกษาทุกคันให้มีความพร้อม และไม่ดัดแปลงสภาพรถจักรยานยนต์ พร้อมพัฒนานวัตกรรมตู้เก็บหมวกนิรภัยของนักศึกษาที่มีความสามารถฆ่าเชื้อ และลดกลิ่นอับของหมวกนิรภัย และเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าสถาบันอาชีวศึกษาจังหวัดระยองได้มีความร่วมมือที่สามารถเป็นแบบอย่างได้ จึงอยากให้ความร่วมมือของพื้นที่จังหวัดระยอง เป็นแบบอย่างแก่สถานศึกษาหรือหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อร่วมกันผลักดันให้อนาคตของชาติมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง พร้อมเติบโตไปเป็นกำลังในการพัฒนาชาติด้วย” นายชูชีพ กล่าว
ติดตามข่าวด่วน กระแสข่าวบน Facebook คลิกที่นี่
หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข
ข่าวในหมวดกทม-สาธารณสุข ![]()
“อภัยภูเบศร” ผนึกกำลังเรือนจำปราจีนบุรี ต่อยอดสมุนไพรครบวงจร พร้อมบินลัดฟ้าสู่ World Expo 2025 โอซากา โปรโมท Thai Wellness สู่เวทีโลก 11:18 น.
- “สมศักดิ์”ถวายความรู้พระสงฆ์ปลอดโรค NCDs หลังพบ พระสงฆ์เสี่ยงป่วย NCDs ถึง 78% ตั้งเป้าปี 68 16:58 น.
- ฉลองครบรอบ 87 ปี มอบสุขภาพดีด้วย.. ชุดตรวจสุขภาพและวัคซีนป้องกันโรค 16:21 น.
- “สมศักดิ์” ลุยต่อ จ.ลำพูน ยกทัพ 10 คลินิก ส่งเสริม-คัดกรอง-ป้องกัน-รักษาโรค NCDs มาให้บริการเต็มที่ 12:04 น.
- “สมศักดิ์” ลุยต่อจังหวัดเชียงใหม่ เปิด”โครงการบริการทุกช่วงวัย” หลัง นายกฯ Kick off ใหญ่เมื่อเช้า 19:01 น.