วันศุกร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2567 17:44 น.

กทม-สาธารณสุข

โรงพยาบาลสุโขทัย นำร่อง Platform Social Telecare ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง

วันพุธ ที่ 08 มีนาคม พ.ศ. 2566, 08.58 น.

โรงพยาบาลสุโขทัย นำร่อง Platform Social Telecare ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง  คนพิการ สนับสนุนการทำงานทีมสหวิชาชีพ ทำให้การเข้าถึง ส่งต่อ ช่วยเหลือเคส รวดเร็ว ตรงเป้าหมาย   

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคีเครือข่าย จัดทำโครงการพัฒนาเสริมสมรรถนะกลไกและเครือข่ายการดูแลทางสังคมของสหวิชาชีพ โดยใช้ Platform Social Telecare เป็น 1จาก 12 Sandbox   ซึ่งพัฒนาเครือข่ายการดูแลทางสังคมกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นคนพิการ เพื่อสนับสนุนระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิของโรงพยาบาลสุโขทัย จัดบริการแบบการจัดการรายกรณี กลุ่มคนพิการที่มีภาวะพึ่งพิงปานกลาง ซึ่งได้ข้อมูลจากการใช้ Platform Social Telecare ทำงานได้คล่องตัวขึ้น เข้าถึงเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือ และจัดการช่วยเหลือได้ตรงตามปัญหา ทำให้การทำงานเป็นระบบ ไม่เสียเวลาในการค้นหาข้อมูล การช่วยเหลือไม่ซ้ำซ้อน สามารถต่อยอดการดูแลได้รวดเร็ว  
นพ.มาโนช อู่วุฒิพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุโขทัย ระบุว่า ปัจจุบันการดูแลผู้ป่วยในระดับปฐมภูมิ บุคลากร ต้องทำงานเชิงรุก นักสังคมสงเคราะห์ซึ่งแต่เดิมเคยตั้งรับอยู่ในโรงพยาบาลต้องมีภารกิจเชิงรุกออกไปนอกโรงพยาบาล ลงไปเชื่อมต่อกับสถานบริการปฐมภูมิ ทั้งกับ อสม.และนักวิชาชีพอื่นที่จะช่วยกันดูแลผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนมากเดินทางมาใช้บริการที่โรงพยาบาล หรือการเข้าถึงการให้บริการค่อนข้างยากลำบาก Platform Social Telecare นี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้สะดวกขึ้น เชื่อมต่อกันได้ง่ายขึ้น จะทำให้ทีมสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลในระดับหนึ่งเพื่อเป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาพยาบาล และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยกลุ่มนี้ต่อไป  
 
นางพรรณิภา ช่วยเพ็ญ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ หัวหน้ากลุ่มงานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลสุโขทัย ระบุว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยคนพิการย้อนหลังระยะ1ปี ด้วยPlatform Social Telecare พบว่า ระดับความรุนแรงของปัญหากลุ่มคนพิการทางการเคลื่อนไหวและร่างกายเพื่อออกแบบบริการที่เหมาะสม แบ่งเป็น 3 กลุ่มหรือ 3 ระดับคือ กลุ่มสีแดง ได้แก่กลุ่มคนพิการติดเตียง   สีเหลือง ได้แก่กลุ่มคนพิการติดบ้าน และสีเขียว กลุ่มคนพิการที่มีความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวันได้ บางคนทำงานได้  จากการดำเนินงานกับกลุ่มสีเหลือง พบว่าเป็นกลุ่มของผู้สูงอายุ มีปัญหาในเรื่องของสุขภาพร่วม แผนการจัดบริการประกอบด้วยการฟื้นฟูการทำกิจวัตรประจำวัน   การฟื้นฟูสมรรถภาพด้านกายภาพบำบัด จัดหาอุปกรณ์ เครื่องช่วยความพิการที่จำเป็น ซ่อมแซม ปรับสภาพแวดล้อมในบ้าน  ที่สำคัญคือต้องดูแลสุขอนามัย และโรคร่วมโดยทีมสหวิชาชีพ ของโรงพยาบาลสุโขทัย และสถานีอนามัยเมืองเก่าเฉลิมพระเกียรติ  กรณีเร่งด่วนที่มีภาวะในเรื่องของสุขภาพจิตที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย ทีมจิตเวชก็จะเข้าไปให้การช่วยเหลือทันที  ทั้งนี้ จากทำงานโดยใช้ Platform Social Telecare พบว่าจากเดิมที่ข้อมูลในรูปแบบเอกสารเสี่ยงสูญหาย เมื่อเป็นการป้อนข้อมูลเข้าระบบทำให้บริการจัดการข้อมูลเรียบร้อยขึ้น การประสานข้อมูลเพื่อส่งต่อผู้ป่วยทำได้รวดเร็ว  
 
ด้านนางศิริพร ไร่นุ่น ผู้อำนวยการศูนย์บริการคนพิการจังหวัดสุโขทัย  ระบุว่า Platform Social Telecare ทำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นทั้งคนพิการและครอบครัวที่อาจจะอยู่ในทั้งกลุ่มสีแดง สีเหลืองและสีเขียว ทำให้การพัฒนาศักยภาพทั้งคนพิการและผู้ดูแลทั้งครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นก็ผู้ดูแลทั้งครอบครัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว และตรงตามความต้องการจำเป็นของคนพิการและครอบครัว  และเห็นว่าควรมีการขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ ให้ครอบคลุมทั่วทั้งจังหวัด 
 
นางสาวปุณฎีกา เทียนเส็ง นักพัฒนาชุมชน อบต.เมืองเก่า กล่าวว่า  การเข้ามามีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนการดูแลบริการสำหรับประชาชน การพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ อบต.เมืองเก่า ได้รับและตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นทำให้ทราบถึงปัญหาของผู้ป่วย และประสานงานเพื่อของบประมาณจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ในกรณีที่มีคนพิการที่ต้องปรับสภาพที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม ท้องถิ่นได้รับรู้ข้อมูลและทำงานประสานกับทีมสหวิชาชีพของโรงพยาบาลสุโขทัยและเครือข่าย  ทำให้การทำงานรวดเร็วยิ่งขึ้น

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข