วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567 14:05 น.

กทม-สาธารณสุข

“กระบวนการตามสอบย้อนกลับ” ช่วยให้กินผัก-ผลไม้สบายใจ ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง

วันศุกร์ ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2567, 09.33 น.

    เราอาจเลือกชนิดอาหารที่กินได้ แต่เราเลือกแหล่งผลิตที่มาอาหารได้จริงหรือไม่ เราจะมั่นใจได้หรือไม่ว่าเราเลือกถูก?  ยิ่งถ้าปรับพฤติกรรมการกินแล้วแต่อาหารไม่ปลอดภัยอยู่ดี อะไรคือทางเลือก ทางออก... ? 

    รศ. ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ หัวหน้าศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์ นักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์โภชนาการ ที่สนใจเรื่องอาหารและสุขภาพในหลายมิติ ชี้ให้เห็นบริบทแวดล้อมของเส้นทางอาหารในประเทศไทย 

จากวิถีชีวิตที่เน้นความสะดวก เร่งรีบ ทำให้เกิดพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs (Non-Communicale diseases)  ทั้งไม่ออกกำลังกาย บริโภคอาหารไม่เหมาะสมตามหลักโภชนาการ เลือกบริโภคอาหารแปรรูป อาหารพร้อมบริโภค ซึ่งมี รสชาติ หวาน มัน เค็ม มากเกินความจำเป็น เมื่อรวมถึงพฤติกรรมทางกายที่เคร่งเครียด พักผ่อนน้อย ละเว้นการออกกำลังกาย ทานอาหารไม่เป็นเวลา ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพสะสมกลายเป็นโรค NCDs ในที่สุด  
 
    ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก แนะนำว่า ควรบริโภคผักและผลไม้ให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัม และพบข้อมูลสำคัญจากองค์การอนามัยโลกที่ได้คาดประมาณว่า มีการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งของประชากรโลกกว่า 5.2 ล้านคน อันเป็นผลมาจากการบริโภคผักและผลไม้ไม่เพียงพอ แต่ในขณะเดียวกันก็พบงานสำรวจว่าคนส่วนหนึ่งไม่กินผักเพราะกลัวเรื่องความปลอดภัยจากสารพิษปนเปื้อนในผัก ในขณะที่เราต้องบริโภคผักและผลไม้ให้ได้อย่างน้อยวันละ 400 กรัมต่อวันตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ  ในฐานะผู้บริโภค จะมีความมั่นใจได้อย่างไรว่าผักที่เราทานมีความปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง 

     สถานการณ์สารเคมีตกค้างในผักและผลไม้ของไทย ข้อมูลจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)  พบว่า จากการสุ่มตัวอย่างผัก 9 ชนิด และผลไม้ 5 ชนิด ที่เป็นที่นิยมจากในตลาดและซุปเปอร์มาร์เก็ตจำนวน 268 ตัวอย่าง พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างรวม 103 ชนิด ใน 212 ตัวอย่าง  เกือบทั้งหมดมีสารพิษตกค้างเกินค่า MRL ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และยังพบว่า ผักผลไม้ที่นำเข้าและผลิตในประเทศมีความเสี่ยงพอ ๆ กัน โดยพบการตกค้างเกินมาตรฐานในผักผลไม้ที่ผลิตในประเทศ 54.01% จากจำนวนผักที่ส่งตรวจทั้งหมด 274 ตัวอย่าง ส่วนผักผลไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศพบตกค้างเกินมาตรฐาน 56.1% จากจำนวนตัวอย่างที่ทราบว่านำเข้ามาทั้งหมด 82 ตัวอย่าง ทั้งนี้ผักผลไม้จำนวนมาก (153 ตัวอย่าง) ไม่ระบุแหล่งที่มาและไม่สามารถตรวจสอบจากผู้ขายได้ว่ามาจากแหล่งผลิตใด 

     ดังนั้น เส้นทางของผักกำหนึ่งกว่าจะมาถึงผู้บริโภคนั้น เริ่มตั้งแต่การปลูกที่แปลงของเกษตรกรรายย่อย รวบรวมเก็บผลผลิตมาส่งที่พ่อค้าคนกลางรายย่อย  จากพ่อค้าคนกลางรายย่อยหลายๆ กลุ่มรวบรวมส่งเข้ามาถึงตลาดกลางค้าส่งสินค้าเกษตร แล้วขายต่อถึงพ่อค้าผักรายย่อย หรือหรือส่งเข้าโรงคัดบรรจุผัก ผลไม้ เพื่อส่งเข้าห้าง ซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ จนถึงมือผู้บริโภคไปเลือกซื้อหาจากแผงขาย ผู้บริโภคแทบไม่สามารถรู้ได้เลยว่าผักในมือนั้นมาจากแหล่งปลูกที่ใด และโดยใคร 

     หากมองย้อนกลับไปที่กระบวนวิธีการทำงานเรื่องการเฝ้าระวังการตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้สดของประเทศไทย จะพบว่ามีการทำงานร่วมกัน 2 ส่วนระหว่าง 2 กระทรวงหลัก คือ หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการเฝ้าระวังตามบทบาทหน้าที่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สำหรับกรุงเทพมหานครมีสำนักอนามัยกรุงเทพมหานครเป็นผู้ตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหารสำหรับแผงค้าในตลาดใหญ่ๆ  ซึ่งยังมีข้อจำกัด เช่น ไม่สามารถตรวจสอบครอบคลุมทุกแปลงทั่วทั้งประเทศ การเก็บข้อมูลเป็นภาพรวมสถานการณ์ในแต่ละปี และไม่สามารถตามสอบย้อนกลับไปที่ต้นทางแหล่งผลิตได้ ขณะเดียวกันในเส้นทางระหว่างขนส่ง จากแปลงสู่แหล่งรวบรวมผลผลิต ก็สามารถพบตรวจพบสารเคมีตกค้างจากที่ร้านค้าหรือจากการขนส่งเพื่อยืดอายุผลผลิตได้เช่นกัน 

     จากช่องว่างดังกล่าว จึงต้องมีการบูรณาการระบบข้อมูลสารกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้สดตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยบูรณาการข้ามภาคส่วนระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร เพื่อทำให้เกิดการร่วมแบ่งปันข้อมูล อัพเดทข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน มีเครื่องมือแสดงข้อมูลสถานการณ์การตกค้างของสารกำจัดศัตรูพืชในภาพรวมของประเทศ ที่สามารถบ่งชี้ชนิดสารตกค้าง ชนิดผลผลิต ที่สัมพันธ์กับแหล่งจำหน่ายและพื้นที่ปลูก โดยใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับการตามสอบย้อนกลับของผลผลิตที่มีปัญหาไปยังต้นน้ำ (แปลงปลูก)  สร้างเครือข่ายและร่วมกันกำหนดแนวทางการสุ่มตัวอย่างและเทคนิคตรวจวิเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง เพื่อสามารถบ่งบอกสถานการณ์ภาพรวมของประเทศ และมีช่องทางการเข้าถึงข้อมูลผักผลไม้ปลอดภัยเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนและส่งเสริมการตลาดได้ 

    กระบวนการตามสอบย้อนกลับที่สามารถย้อนไปถึงแปลงปลูก จะเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือให้กับผู้บริโภค ที่ทำให้เกิดการตื่นตัวในระบบการผลิตที่ต้องคำนึงถึงกระบวนการปลูกที่ปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภคมากขึ้น ในมุมของผู้ผลิตหรือเกษตรกรเองหากเกิดเหตุการณ์ตรวจวันนี้พบสารเคมีปนเปื้อนตกค้าง  แต่เมื่อเดือนก่อนไม่พบ ขั้นตอนการตามสอบย้อนกลับจะช่วยแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้เช่นกัน คนปลูกจะรู้ได้ว่าปัญหาตกค้างมาจากตรงไหน ขั้นตอนใด ในขณะเดียวกันกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขได้ตรงจุดมากขึ้น  
ความมุ่งมั่นและพยายามในการลดช่องว่างระหว่างทางนี้  เป็นความคาดหวังที่จะเอื้อประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่าย ทั้งในฐานะผู้ผลิต-เกษตรกร ผู้จำหน่าย-ตลาด ซุปเปอร์มาร์เก็ต และผู้บริโภค รวมถึงสุขภาพของคนไทยที่จะกินผักผลไม้ได้อย่างสบายใจ ห่างไกลจากโรค NCDs.  

หน้าแรก » กทม-สาธารณสุข