วันพฤหัสบดี ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2567 05:48 น.

กทม-สาธารณสุข

‘หมอชลน่าน’ห่วงอากาศร้อนจัด ต้องระวังโรคฮีทสโตรก  อาจหมดสติ ชักเกร็งถึงตายได้ แนะดื่มน้ำให้เเยอะ

วันพฤหัสบดี ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2567, 09.08 น.

‘หมอชลน่าน’ห่วงอากาศร้อนจัด ต้องระวังโรคฮีทสโตรก  อาจหมดสติ ชักเกร็งถึงตายได้ แนะดื่มน้ำให้เเยอะ ใส่เสื้อผ้าสีอ่อนเลี่ยงอยู่กลางแจ้งนาน   

เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567  น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมืองเปิดเผยว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชนเสี่ยงโรคฮีทสโตรก ( Heat Stroke )  หรือโรคลมร้อน หลังพบมีผู้เสียชีวิตหลายรายจากสภาพอากาศของประเทศไทยร้อนจัดในขณะนี้ เพราะอุณหภูมิพุ่งสูงเกิน 40 องศา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนที่ต้องสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน หรืออยู่ในที่มีความร้อนสูงจนร่างกายไม่สามารถปรับตัวต่อความร้อนได้ ทำให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานผิดปกติ มีอาการ ตัวร้อน วิงเวียน ปวดศรีษะ สับสน กระวนกระวาย คลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นแรง พูดไม่รู้เรื่อง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ซึมลง เป็นลม หมดสติ หรือเกิดอาการชัก และเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที 

  ประชาชนกลุ่มเสี่ยงของโรคที่เกิดจากความร้อน ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กทารกและเด็กเล็ก (0 - 5 ปี) ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง ผู้มีภาวะอ้วนที่มีน้ำหนักเกินปกติเป็นต้น หญิงตั้งครรภ์ ผู้ประกอบอาชีพที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น เกษตรกร ก่อสร้าง กลุ่มอาชีพอิสระ เช่น พนักงานส่งของ ฯลฯ ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายหรือทำงานหนักเกินไปในสภาวะที่อากาศร้อนจัด พักผ่อนน้อย หรือนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ  

น.ส.ตรีชฎากล่าวว่า วิธีป้องกันโรคลมร้อน หรือฮีท สโตรก ใช้หลัก 3 ควร และ 3 หลีกเลี่ยง โดย 3 ควร ได้แก่ 1. ดื่มน้ำสะอาด หรือเครื่องดื่มเกลือแร่ 2. ใส่เสื้อผ้าสีอ่อน ช่วยระบายอากาศ เลี่ยงเสื้่อผ้าสีเข้ม 3. อยู่กันเป็นกลุ่มเพื่อช่วยเหลือหากมีเหตุฉุกเฉิน อยู่ในห้ัองที่มีเครื่องปรับอากาศ เพื่อให้เย็นสบายสำหรับ 3 หลีกเลี่ยง ได้แก่ 1. การอยู่ในที่แดดจัดหรือในที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก ออกกำลังกายกลางแจ้ง การโดนแดดโดยตรง  2. การทิ้งเด็กไว้ในรถที่จอดกลางแจ้ง 3. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์     วิธีปฐมพยาบาลผู้ป่วยเบื้องต้น เช่น นำผู้ป่วยเข้าที่ร่มหรือที่มีอาการถ่ายเท จัดให้นอนราบ คลายเสื้อผ้าออก ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามร่างกาย ใช้พัดลมช่วยเป่าระบายความร้อน หาก  ผู้ป่วยหมดสติให้จับนอนตะแคง ป้องกันการอุดตันทางเดินหายใจ นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล หรือแจ้งสายด่วน 1669 ภัยใกล้ตัวที่ต้องระวัง